โรลส์-รอยซ์ ผู้นำระดับโลกในด้านอุปกรณ์การเดินเรือ ชนะสัญญามูลค่า 96 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์พลังงานและแรงขับเคลื่อน ซึ่งได้แก่ เครื่องยนต์แก็สเทอร์ไบน์จำนวน 4 เครื่อง เพื่อใช้ขับเคลื่อนเรือ HMS Queen Elizabeth และ HMS Prince of Wales ซึ่งเป็นเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เรือบรบลำใหม่ทั้ง 2 ลำ เป็นเรือสำหรับบรรทุกอากาศยานซึ่งมีน้ำหนักถึง 65,000 ตัน
การสั่งซื้อครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในกลยุทธ์ธุรกิจการเดินเรือของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งมุ่งเพื่อการเป็นผู้จัดหาระบบพลังงานแบบบูรณาการและระบบแรงขับเคลื่อนรายหลักให้แก่เรือกลาโหมและเรือการค้า
ปัจจุบัน โรลส์-รอยซ์อยู่ในระหว่างดำเนินการจัดหาเครื่องยนต์แก็สเทอร์ไบน์ MT30 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงที่สุดในตลาดการเดินเรือ เครื่องยนต์ MT30 เป็นส่วนหนึ่งของระบบบูรณาการ ที่รวมการควบคุมทั้งใบพัด และเพลาใบพัดสำหรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ และยังรวมถึงหางเสือ ครีบกันโคลง และระบบไฟฟ้าบางระบบอีกด้วย
นายจอห์น แพทเทอร์สัน ประธานด้านการเดินเรือของโรลส์รอยซ์ กล่าวว่า “สัญญาฉบับนี้ถือเป็นการยืนยันความสามารถของเราในการเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์พลังงานและแรงขับเคลื่อนหลากหลายรูปแบบเพื่อใช้กับระบบควบคุมแบบบูรณาการ สัญญานี้ถือเป็นโครงการด้านกลาโหมโครงการที่สามที่ใช้เครื่องยนต์ MT30 เป็นตัวขับเคลื่อน เครื่องยนต์ MT30 ได้รับเลือกเพื่อใช้ขับเคลื่อนเรือรบใกล้ชายฝั่ง (Littoral Combat Ship) ของบริษัท Lockheed Martin และเรือพิฆาต DDG-1000 สำหรับกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา”
โรลส์-รอยซ์จัดหาอุปกรณ์ในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่ม “อนุสหพันธ์” (sub-alliance) ที่มีหน้าที่จัดส่งระบบพลังงานและระบบขับเคลื่อนทั้งระบบ สัญญาฉบับนี้เป็นสัญญาที่โรลส์-รอยซ์ได้ลงนามกับบริษัทเธลส์ ยูเค ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของโครงการ
โรลส์-รอยซ์ยังคงเดินหน้าหารือเกี่ยวกับทางเลือกเพื่อบำรุงรักษาอุปกรณ์สำหรับเรือทั้ง 2 ลำ ในอนาคต ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2557 และ 2559 เครื่องยนต์แก็สเทอร์ไบน์ MT30 จะได้รับการประกอบและทดสอบที่เมืองบริสตอล และมีกำหนดส่งมอบในปี พ.ศ. 2554 และ 2556
ในประเทศไทย โรลส์-รอยซ์ยังคงสานความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเรือไทย ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เมื่อโรลส์-รอยซ์ ได้รับความไว้วางใจให้ร่วมดำเนินการต่อเรือหลวงมกุฏราชกุมารของกองทัพเรือ ซึ่งถือเป็นเรือรบขนาดกลางแบบอเนกประสงค์ (Multipurpose frigate) ลำแรกของราชนาวีไทย อุปกรณ์ที่ทางโรลส์-รอยซ์ ได้จัดหาไว้บนเรือหลวงมกุฏราชกุมารนั้น รวมถึงเทคโนโลยีแก็สเทอร์ไบน์รุ่นโอลิมปัส มารีน (Olympus Marine Gas Turbine) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซล Crossley-Pielstick ที่โรลส์-รอยซ์จัดสร้างขึ้น นอกจากนั้น โรลส์-รอยซ์ยังเป็นผู้จัดหาท่อนกันโคลง ตลับลูกปืน (propulsion bearings) และระบบเพลาปรับมุมใบจักร อีกด้วย และในต้นปี พ.ศ. 2551 เรือลาดตระเวนเร็วของราชนาวีจะเริ่มปฏิบัติการโดยใช้เครื่องยนต์วอเตอร์เจ็ท Kamewa