ไซแมนเทคเผยผลวิจัยระดับโลกบ่งชี้ ผู้ดูแลดาต้าเซ็นเตอร์ กำลังเผชิญความกดดัน

ไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงผลการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่จัดทำขึ้นปีนี้เป็นปีที่สอง พบว่าผู้ดูแลดาต้าเซ็นเตอร์ กำลังติดอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน ระหว่างความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ความต้องการประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น แต่ลดค่าใช้จ่าย จากรายงานพบว่าดาต้าเซ็นเตอร์ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ระบบเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจถูกใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งแผนงานกู้คืนระบบ (Disaster Recovery Plan) ก็ล้าหลัง สุดท้ายข้อมูลจากแบบสอบถามระบุว่าความริเริ่มด้านระบบดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวที่กำลังทำอยู่นั้น เขาก็ทำอยู่เช่นกันแต่เป็นการทำเพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก

“การวิจัยครั้งนี้ เป็นการยืนยันถึงสิ่งที่เราเห็นเช่นกัน” ร็อบ โซเดอร์เบอรี รองประธานอาวุโส กลุ่มบริหารจัดการด้านสตอเรจและความพร้อมของระบบงาน ของไซแมนเทค กล่าว “ความสนใจขององค์กรมุ่งมาที่ความริเริ่มใหม่ๆ ที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ทันที แทนโครงการที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการคืนทุนในระยะยาว ระบบสตอเรจได้กลายเป็นเป้าหมายสำหรับแนวคิดริเริ่มเหล่านี้ เนื่องจากความต้องการในเรื่องของปริมาณการจัดเก็บข้อมูลยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่องแม้จะมีภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปัจจุบัน”

ทำงานมากขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง
จากผลการสำรวจ ร้อยละ 75 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุถึงความคาดหวังของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปและอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ร้อยละ 60 มองว่าการตอบสนองความต้องการการบริการในระดับที่สูงขึ้นขององค์กรนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือยากมาก มีเพียงร้อยละ 10 ที่เห็นว่าสามารถทำได้ง่าย

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการขอให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุถึงวัตถุประสงค์หลักในปีนี้ พบว่าการลดค่าใช้จ่ายเป็นเป้าหมายที่คนพูดถึงบ่อยที่สุด กล่าวคือจำนวนบริษัทที่มีเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายมีจำนวนมากกว่าบริษัทที่มีเป้าหมายที่ต่างกัน 2 อันดับถัดไปรวมกัน (คือการปรับปรุงระดับการบริการและการตอบสนองความต้องการ)

ความริเริ่มหลักในส่วนดาต้าเซ็นเตอร์ในการทำไปสู่เป้าหมาย“ผลมากขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง” มีตั้งแต่ระบบการทำงานอัตโนมัติ (ร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสอบถามอ้างถึงเรื่องนี้) การจัดฝึกอบรมข้ามแผนก (ร้อยละ 40) และลดความซับซ้อนของดาต้าเซ็นเตอร์ (ร้อยละ 35)

เรื่องบุคลากรยังคงเป็นปัญหาใหญ่
จากผลการศึกษา บุคลากรยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 36 รายงานถึงการขาดแคลนบุคลากร มีเพียงร้อยละ 4 ที่แจ้งว่ามีบุคลากรมากเกินความต้องการ นอกจากนี้ ร้อยละ 43 พบว่าการหาผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนั้นนับเป็นปัญหาหลักหรือเป็นปัญหาใหญ่

การตอบโจทย์เรื่องของบุคลากรนั้น ต้องอาศัยการจัดจ้างแบบเอาท์ซอร์สรวมถึงการฝึกอบรม เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (ร้อยละ 45) มีการเอาท์ซอร์สงานหลักออกไป เพื่อให้พนักงานที่ดูแลดาต้าเซ็นเตอร์มีเวลามากขึ้นในการมุ่งเน้นงานส่วนอื่น หน้าที่การทำงานด้านไอทีหลักๆ 3 ประการที่มีการเอาท์ซอร์สออกไปได้แก่เรื่องของการดูแลความต่อเนื่องของธุรกิจ (ร้อยละ 46) งานแบ็กอัพ (ร้อยละ 43) และการบริหารจัดการสตอเรจ (ร้อยละ 39) ร้อยละ 68 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าการฝึกอบรมเป็นเรื่องกลยุทธ์ โดยร้อยละ 78 คาดหวังงบประมาณด้านการฝึกอบรมที่มากขึ้นหรือคงที่ต่อเนื่องตลอดสองปีข้างหน้า

เซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจ ยังคงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
องค์กรธุรกิจในปี 2552 รายงานว่าเซิร์ฟเวอร์ดาต้าเซ็นเตอร์ทำงานเพียงแค่ 53 เปอร์เซ็นต์ของความสามารถทั้งหมด การใช้งานสตอเรจของดาต้าเซ็นเตอร์ยิ่งต่ำไปกว่านั้น คือมีการใช้งานเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ไซแมนเทคพบว่ามีกิจกรรมมากมายที่พุ่งเป้าไปที่การทำให้ทั้งระบบงานทั้งสองส่วนที่กล่าวมาสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ความริเริ่มหลักๆ ที่เกี่ยวกับเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงการรวมระบบงานของเซิร์ฟเวอร์ (Server Consolidation) (80 เปอร์เซ็นต์) และการทำเวอร์ชวลไลเซชันบนเซิร์ฟเวอร์ (Server Virtualization) (80 เปอร์เซ็นต์) สำหรับในส่วนของสตอเรจนั้น ความริเริ่มอันดับต้นคือการทำเวอร์ชวลไลเซชันบนระบบสตอเรจ (76 เปอร์เซ็นต์) การปกป้องข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (71 เปอร์เซ็นต์) และการบริหารจัดการทรัพยากรสตอเรจ (71 เปอร์เซ็นต์)

แผนกู้คืนข้อมูลที่ล้าหลัง
การบริหารศูนย์คอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นช่องว่างที่ต้องปรับปรุงในส่วน Disaster Recovery อันที่จริงมีเพียง 35 เปอร์เซ็นต์ ที่แสดงให้เห็นว่ามีแผนการกู้คืนจากภัยพิบัติที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ 27 เปอร์เซ็นต์ต้องได้รับการปรับปรุง และ 9 เปอร์เซ็นต์มีแผนแบบไม่เป็นทางการหรือไม่มีการทำเป็นเอกสารชัดเจน องค์กรยังคงพบว่าความผิดพลาดของผู้ใช้เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาระบบหยุดทำงาน (unplanned downtime) ประมาณ 25เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การหยุดทำงานจากความล้มเหลวของฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์ และไฟดับเป็นสาเหตุในสัดส่วนที่ใกล้เคียง

ดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวผลักดันด้วยเป้าหมายด้านค่าใช้จ่าย
แนวโน้มที่ถูกจับตามองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 คือการมุ่งเน้นเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียว ซึ่งมีการผลักดันสืบเนื่องมาจากการลดค่าใช้จ่ายในปี 2551 และด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาได้มีการสอบถามองค์กรธุรกิจถึงเหตุผลว่าทำไมการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวจึงนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กร ร้อยละ 54 ของผู้ตอบได้อ้างถึงการลดการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ตามด้วยการลดค่าใช้จ่ายจากการที่ระบบทำงานน้อยลง (ร้อยละ 51) และความรู้สึกของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม (ร้อยละ 42)

ผลการรายงานชี้ให้เห็นถึงความต้องการด้านโซลูชัน
การศึกษาที่จัดทำขึ้นในปีนี้ แสดงให้เห็นความสำคัญอย่างต่อเนื่องสำหรับองค์กรธุรกิจในการดูแลควบคุมในเรื่องของค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนของดาต้าเซ็นเตอร์ องค์กรธุรกิจจึงขวนขวายหาโซลูชันที่ใช้แล้วเห็นผลลัพธ์ทันทีในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายลงแต่ให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น

“ผู้ดูแลระบบไอทีและผู้บริหารต่างตกอยู่ในสถานภาพที่ลำบาก” นายโซเดอร์เบอรี กล่าว “การลดค่าใช้จ่ายเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่สามารถต่อรองได้ในปีนี้ ในขณะที่ผู้ใช้ยังคงคาดหวังการบริการที่สูงและมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องน่าสนใจในการนำเสนอโซลูชันที่ช่วยให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจอีกทั้งสามารถให้ผลประโยชน์แก่ลูกค้าได้เห็นผลในทันที ในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายด้านเซิรฟเวอร์และสตอเรจ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน”

เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ของดาต้าเซ็นเตอร์
รายงานสถานการณ์ของดาต้าเซ็นเตอร์ประจำปีในปีที่สองนี้ เป็นผลที่ได้จากการจัดทำสำรวจในเดือนกันยายนและตุลาคม 2551 โดยมุ่งเน้นการศึกษาที่ผู้ดูแลดาต้าเซ็นเตอร์จำนวนกว่า 1,600 คน จากองค์กรชั้นนำในกลุ่ม 5000 (Global 5000) และองค์กรภาครัฐขนาดใหญ่ใน 21 ประเทศ ทั้งนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ดาต้าเซ็นเตอร์ในปี 2550 และ ปี 2551 หรือดูข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ดาต้าเซ็นเตอร์ได้ที่ ชุดข้อมูลออนไลน์สำหรับสื่อที่ State of the Data Center

เกี่ยวกับ ไซแมนเทค
ไซแมนเทค เป็นผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่องค์กรและผู้บริโภคภายใต้โลกที่เชื่อมต่อถึงกัน และยังช่วยปกป้องโครงสร้างพื้นฐานระบบไอที ข้อมูลสารสนเทศ และการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ด้วยซอฟต์แวร์และบริการที่ช่วยจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้ครอบคลุมทุกจุดมากยิ่งขึ้น ให้ประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจไม่ว่าจะมีการใช้งานหรือจัดเก็บข้อมูลอยู่ที่ใดก็ตาม สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่ w.symantec.com