เศรษฐกิจซบเซา…คนกรุงฯปรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหาร

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปี 2552 ทำให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวลถึงความมั่นคงของอาชีพการงาน และความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเน้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างประหยัด แม้กระทั่งสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภค และเป็นสินค้าที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในบรรดาสินค้าและบริการทั้งหมด แต่ปัจจุบันก็ยังได้รับผลกระทบจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารของคนกรุงเทพฯ” ระหว่างวันที่ 9-23 มกราคม 2552 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,025 คน โดยกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอาชีพ เนื่องจากในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาอาชีพเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยแต่ละอาชีพจะมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพต่อไป และความแน่นอนของรายได้ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อความวิตกกังวลถึงความมั่นคงของอาชีพและความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต นอกจากนี้ ในการกระจายกลุ่มตัวอย่างนั้นยังเน้นการแจกแจงประเภทของพนักงานบริษัทหรือลูกจ้างด้วย เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยแยกประเภทของลูกจ้างด้วยลักษณะการจ่ายเงิน ดังนี้ ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายชั่วโมง ลูกจ้างตามผลงาน และลูกจ้างงานเหมา ในการสำรวจนั้นยังเน้นการกระจายอุตสาหกรรมในเขตต่างๆของกรุงเทพฯ อุตสาหกรรมที่ดำเนินการสำรวจได้แก่ โรงงานผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูป โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตรองเท้า โรงงานทอผ้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจรับเย็บเสื้อโหล ลูกจ้างที่ทำงานในธุรกิจและบริการต่างๆ เช่น สถาบันการเงิน โรงแรม ร้านอาหาร อู่ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น

ผลจากการปรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อประคองตัวให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

คนกรุงเทพฯร้อยละ 44.0…คาดว่าจะมีรายได้ลดลง
ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงความมั่นคงในอาชีพการงานและความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต จากการสำรวจพบว่า
– คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.0 ยังมีรายได้เป็นไปตามความคาดหมาย โดยแยกเป็นร้อยละ 63.8 ยังได้ขึ้นเงินเดือนตามปกติ ร้อยละ 15.1 ยังได้รับโบนัส และที่เหลืออีกร้อยละ 21.1 ยังได้รับเงินค่าทำงานล่วงเวลา

– ส่วนคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 44.0 คาดว่ารายได้มีแนวโน้มลดลง โดยแยกเป็นร้อยละ 21.0 ถูกลด/ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน/ค่าจ้าง ร้อยละ 16.9 ได้รับเงินค่าล่วงเวลาลดลง ร้อยละ 13.1 ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ร้อยละ 12.4 ไม่ได้รับโบนัส ร้อยละ 12.1 ได้รับเงินโบนัสลดลง ที่เหลืออีกร้อยละ 24.5 มีรายได้ลดลงจากหลากหลายเหตุผล เช่น ยอดขายลดลง ปริมาณงานลดลง ถูกให้ออกจากงาน สถานประกอบการปิดกิจการ เป็นต้น อาชีพที่รายได้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากที่สุด คือ ลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างงานเหมา และลูกจ้างตามผลงาน รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง และอาชีพค้าขาย/กิจการส่วนตัว

คนกรุงฯ 66.4% เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าประเภทอาหาร
จากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.4 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าอาหาร ทั้งนี้ เป็นการปรับพฤติกรรมการจับจ่ายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่เหลืออีกร้อยละ 33.5 ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าอาหารนั้นแยกออกเป็น ร้อยละ 49.2 ของกลุ่มนี้เลือกที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ แต่คงค่าใช้จ่ายด้านอาหาร โดยเฉพาะค่าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และค่าเครื่องสำอาง ร้อยละ 30.9 ระบุว่าประหยัดมากอยู่แล้ว จึงไม่สามารถปรับพฤติกรรมเพิ่มเติมได้อีก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 19.9 ยังคงมีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม

สำหรับคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าอาหารนั้น แยกออกเป็น ร้อยละ 77.0 ปรับการบริโภคสินค้าอาหารบางประเภท ร้อยละ 22.6 ลดค่าใช้จ่ายสินค้าอาหาร และที่เหลืออีกร้อยละ 0.4 ต้องปรับพฤติกรรมเนื่องจากมีรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างลดค่าใช้จ่ายด้านสินค้าอาหารโดยเฉลี่ยร้อยละ 25.6 จากค่าใช้จ่ายเดิม ซึ่งทั้งการลดค่าใช้จ่าย และการปรับตัวของคนกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร ซึ่งต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ

สินค้าอาหาร 10 อันดับแรก…ที่คนกรุงเทพฯปรับพฤติกรรมการบริโภคปี 2552
ประเด็นสำคัญของพฤติกรรมในการจับจ่ายสินค้าประเภทอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปที่พบในการสำรวจ คือ
– การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารแยกออกได้อย่างชัดเจนระหว่างสินค้าอาหารประเภทอาหารสด และอาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูป กล่าวคือ ในการซื้อสินค้าอาหารประเภทอาหารสดคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เลือกปรับพฤติกรรมในการเปลี่ยนสถานที่ซื้อเป็นส่วนใหญ่ โดยการเลือกซื้อสินค้าครั้งละไม่มากหรือมีความถี่ในการซื้อมากขึ้น เลือกซื้อจากตลาดนัดหรือร้านชำใกล้บ้าน/ใกล้ที่ทำงาน และตลาดสด ส่วนการซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูป คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเลือกปรับพฤติกรรมโดยการลดปริมาณการบริโภค นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าการเปลี่ยนสถานที่ซื้อและการเปลี่ยนยี่ห้อสินค้านั้นมีสาเหตุมาจากการแสวงหาราคาที่ถูกที่สุดเป็นหลัก ส่วนประเด็นในการลดปริมาณการบริโภค และการเลิก/งดการบริโภค รวมทั้งการหันไปบริโภคสินค้าอื่นๆทดแทนนั้น สาเหตุสำคัญคือ การปรับราคาขึ้นของแต่ละสินค้าเป็นหลัก ทำให้ผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจซบเซาต้องมีการปรับพฤติกรรมตามไปด้วย

-ประเภทอาหารที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก โดยใช้เกณฑ์ความรุนแรงในการปรับตัวเป็นหลัก ดังนี้

1.กลุ่มสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการปรับตัวอย่างรุนแรง สินค้าอาหารกลุ่มนี้ผู้บริโภคมองว่าไม่จำเป็นในการบริโภค ดังนั้นการปรับพฤติกรรมในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา จึงเป็นการปรับตัวที่รุนแรง โดยผู้บริโภคเลือกการเลิก/งดการบริโภค ในการสำรวจพบสินค้าอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ 2 ประเภทคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มชูกำลัง

2.สินค้าอาหารที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมน้อยที่สุด สินค้าอาหารกลุ่มนี้ผู้บริโภคมองว่ายังเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นในการบริโภค หรือบริโภคเพื่อสุขภาพ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งที่ยังคงการบริโภค เพียงแต่เลือกสถานที่ซื้อ และยี่ห้อ ทั้งนี้เพื่อหาสินค้าอาหารประเภทเดียวกันในราคาที่ถูกที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคเห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แม้ว่าจะมีคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างบางส่วนลดปริมาณการบริโภค และบางส่วนหันไปบริโภคสินค้าอื่นๆทดแทน แต่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกการเลิก/งดการบริโภคนั้นค่อนข้างน้อย

จะเห็นได้ว่าในสินค้าอาหารกลุ่มนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังคงเป็นที่นิยมบริโภคของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยเลือกที่จะเปลี่ยนสถานที่ซื้อหรือเปลี่ยนยี่ห้อมากที่สุด ในขณะที่มีการลดปริมาณการบริโภคน้อยที่สุด ส่วนนมพร้อมดื่มและผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นั้น คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไม่ค่อยหันไปหาสินค้าอาหารอื่นๆมาบริโภคทดแทน

3.กลุ่มสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมไม่รุนแรง สินค้าอาหารในกลุ่มนี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงเลือกที่จะบริโภคอยู่ โดยกลุ่มที่เลือกการปรับพฤติกรรมเลิก/งดการบริโภคนั้นน้อยกว่าในกลุ่มแรกอย่างชัดเจน รวมทั้งการปรับพฤติกรรมโดยการเปลี่ยนสถานที่ซื้อ หรือเปลี่ยนยี่ห้อก็น้อยกว่ากลุ่มสินค้าอาหารกลุ่มที่สอง แสดงว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมองว่าสินค้าอาหารกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการบริโภคมากนัก โดยถ้าเรียงลำดับโดยคำนึงถึงภาพรวมของการปรับพฤติกรรม ขนมขบเคี้ยวจะมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ อาหารสำเร็จรูป/บรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่

การปรับตัวของผู้ประกอบการ…ปรับกลยุทธ์รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา คนวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคต ผู้บริโภคเน้นประหยัด กำลังซื้อที่ถดถอยจากภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า สินค้าอาหารที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก คือ สินค้าอาหารสด เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะเปลี่ยนสถานที่ซื้อเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สินค้าอาหารที่ได้รับผลกระทบในการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคคือ สินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปและสินค้าอาหารสำเร็จรูป คาดว่าภาวะการแข่งขันในตลาดของสินค้าอาหารทั้งสองประเภทนี้จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในปี 2552 นี้ โดย ผู้บริโภคพิจารณาตรายี่ห้อน้อยลง แต่หันไปซื้อสินค้าด้วยปัจจัยทางด้านราคาเป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีความอ่อนไหวเรื่องราคามากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าจะส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าอื่นทดแทน หรือลดปริมาณการบริโภคทันที เรื่องเหล่านี้นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการในปัจจุบัน

ในปีที่ผ่านๆมาบรรดาผู้ประกอบการพยายามหาพื้นที่การตลาดใหม่ๆที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าไปถึง ซึ่งเมื่อค้นพบแล้วผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ท่ามกลางภาวะปัจจุบันผู้ประกอบการต้องกลับมามองตัวเองว่า มีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง และพัฒนาเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งการตลาดที่มากกว่าเดิม หรือการหาจุดแข็งของตนเอง มุ่งเป้าไปที่สินค้าหลัก และเน้นจุดแข็งของตนเองมากขึ้น ซึ่งต้องพึ่งพิงข้อมูลการวิจัยตลาด ทั้งนี้ ผลการวิจัยตลาดที่แม่ยำ และทันเหตุการณ์ความได้เปรียบในการกำหนดทิศทางการตลาดที่ถูกต้อง และรุกเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ การมองตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าที่แม่นยำ นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในภาวะปัจจุบัน โดยถ้าผู้ประกอบการเป็นผู้นำตลาดต้องเน้นการรักษาส่วนแบ่งตลาด และสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำตลาดจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ตาม ต้องเน้นในการหาโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนตรายี่ห้อสินค้า โดยการสร้างความแตกต่างของสินค้าให้ผู้บริโภครับรู้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ในยุคเศรษฐกิจซบเซานี้ เมื่อผู้บริโภคพิจารณาราคามากขึ้น กลยุทธ์การส่งเสริมการขายจะเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้น แต่คงต้องมีการคุมเข้มค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิผลของการส่งเสริมการตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมทั้งการหันมาเน้นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่มีความคุ้มค่าและคุ้มราคา อย่างไรก็ตาม ในภาวะปัจจุบันการออกสินค้าใหม่ยังจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่คงต้องรอดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

บทสรุป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ“พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารของคนกรุงเทพฯ”
พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.0 คาดว่ารายได้มีแนวโน้มลดลง เมื่อแยกพิจารณากลุ่มตัวอย่างตามอาชีพแล้ว ปรากฎว่าอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ เนื่องจากมีความวิตกกังวลในเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน และรายได้ในอนาคตน้อยกว่า ส่วนอาชีพที่เผชิญผลกระทบอย่างมาก คือ พนักงานบริษัทหรือลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างงานเหมา และลูกจ้างตามผลงาน (ในกลุ่มอาชีพลูกจ้างด้วยกันลูกจ้างรายเดือนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด) รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง และค้าขาย/กิจการส่วนตัว

จากการสำรวจยังพบว่า คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.4 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าอาหาร ทั้งนี้ เป็นการปรับพฤติกรรมการจับจ่ายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปี 2552 การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างแยกออกได้อย่างชัดเจนระหว่างสินค้าอาหารประเภทอาหารสด และอาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูป กล่าวคือ สินค้าประเภทอาหารสดยังเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค ในการซื้อสินค้าอาหารประเภทอาหารสด คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เลือกปรับพฤติกรรมในการเปลี่ยนสถานที่ซื้อเป็นส่วนใหญ่ โดยการเลือกซื้อสินค้าครั้งละไม่มาก คือ ซื้อเท่าที่จำเป็น เลือกซื้อจากตลาดนัดหรือร้านชำใกล้บ้าน/ใกล้ที่ทำงาน และตลาดสด ส่วนการซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูปคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเลือกปรับพฤติกรรมโดยการลดปริมาณการบริโภค เปลี่ยนสถานที่ซื้อ เปลี่ยนยี่ห้อ เลิก/งดการบริโภค หรือหันไปบริโภคสินค้าอื่นทดแทน

สำหรับประเภทอาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูปที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคนั้นแยกพิจารณาได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรุนแรงคือ เลิก/งดการบริโภค ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมน้อยที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคยังเห็นว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภค หรือเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ดังนั้นผู้บริโภคจึงเลือกที่จะเปลี่ยนสถานที่ซื้อ และเปลี่ยนยี่ห้อ เพื่อหาซื้อสินค้าอาหารเหล่านี้ในราคาที่ถูกที่สุด สินค้าอาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมพร้อมดื่มและผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และน้ำผักผลไม้ สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมไม่รุนแรง โดยเรียงลำดับตาม การพิจารณาปัจจัยต่างๆร่วมกัน ซึ่งสินค้าอาหารกลุ่มนี้สัดส่วนของผู้บริโภคที่เลือก เลิก/งดการบริโภคน้อยกว่าสินค้าอาหารกลุ่มแรก ในขณะที่สัดส่วนการเลือกเปลี่ยนสถานที่ซื้อหรือเปลี่ยนยี่ห้อมากกว่ากลุ่มที่สอง ซึ่งสินค้าอาหารที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ อาหารสำเร็จรูป/บรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ เบเกอรี่

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา คนวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคต ผู้บริโภคเน้นประหยัด เพราะเผชิญกับกำลังซื้อที่ถดถอยจากภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า ในขณะที่ภาวะการแข่งขันในตลาดของสินค้าอาหารโดยเฉพาะอาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูปจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในปี 2552 นี้ โดยผู้บริโภคพิจารณาตรายี่ห้อน้อยลง และมีความอ่อนไหวเรื่องราคามากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าจะส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าอื่นทดแทน หรือลดปริมาณการบริโภคทันที เรื่องเหล่านี้นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการในปัจจุบันที่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อประคองตัวให้อยู่รอดได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา