แผนกอบกู้ภาคการเงินสหรัฐฯ … ขาดความชัดเจน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก

การแถลงมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินของนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ซึ่งระบุถึงวงเงินมูลค่าสูงถึง 2.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในการแก้ไขสินทรัพย์/ตราสารด้อยค่าของสถาบันการเงิน และกระตุ้นกลไกการปล่อยสินเชื่อสู่ภาคเอกชน พร้อมๆ กับข่าวดีจากการลงมติผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 8.38 แสนล้านดอลลาร์ฯ ของวุฒิสภาสหรัฐฯ ถือเป็นประเด็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งตลาดการเงินให้ความสนใจและจับตาเป็นพิเศษ โดยหากรวมเม็ดเงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินตามกระแสข่าวข้างต้นแล้ว อาจมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 3.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม วงเงินช่วยเหลือดังกล่าว ก็แทบจะไม่สามารถทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาในภาคการเงินและแนวโน้มถดถอยทางเศรษฐกิจลงได้อย่างที่ได้คาดหวังไว้ เนื่องจากรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แทบไม่ได้ให้รายละเอียดของแนวทางการใช้จ่ายวงเงินดังกล่าว โดยกล่าวเพียงกรอบโครงร่างกว้างๆ เกี่ยวกับแผนช่วยเหลือภาคการเงินเท่านั้น ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านการลงมติจากวุฒิสภา ก็ยังคงต้องถูกนำไปจัดเตรียมเป็นร่างกฎหมายฉบับสุดท้าย (ร่างที่ผ่านการรับรองจากทั้ง 2 สภา) อีกเป็นลำดับถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นแวดล้อมเกี่ยวกับแผนการแก้ไขวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ไว้ดังนี้

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ จากวงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นงบช่วยเหลือภาคการเงินส่วนที่ 2 ของมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่ได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ในการชดเชยความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการปล่อยกู้หลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินทรัพย์ (Term Asset-Backed Securities Loan Facility: TALF) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่มีเป้าหมายกระตุ้นให้นักลงทุนเอกชนเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ทั้งนี้ วงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ สำหรับโครงการ TALF ของเฟดดังกล่าว เป็นวงเงินที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นมาจากวงเงินเดิม 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในขณะที่ ตราสารที่สถาบันการเงินและ/หรือนักลงทุนสถาบันซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐฯ สามารถนำมาเข้าร่วมโครงการ TALF ได้นั้น ได้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นไปถึงหลักทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือขั้น ‘AAA’ ที่ได้รับการหนุนหลังโดยสินเชื่อจำนองประเภทอาคารพาณิชย์ และหลักทรัพย์ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อจำนองของสถาบันเอกชนที่ปล่อยใหม่เท่านั้น จากเดิมที่กำหนดไว้เพียงเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือขั้น ‘AAA’ ที่ได้รับการหนุนหลังโดยสินเชื่อปล่อยใหม่ โดยสินเชื่อปล่อยใหม่ดังกล่าวครอบคลุมถึงสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดย่อม ทั้งนี้ โครงการ TALF อาจสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนของสินเชื่อไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของมาตรการนี้อาจต้องขึ้นอยู่กับแนวทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนฟื้นกลับคืนมาอย่างมีนัยสำคัญ

กองทุนเพื่อการลงทุนโดยรัฐบาลและเอกชน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้รายละเอียดเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับกองทุนดังกล่าว โดยกล่าวเพียงว่า การจัดตั้งกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าจัดการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่กดดันงบดุลของสถาบันการเงินในขณะนี้ ซึ่งอาจมีมูลค่าระหว่าง 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการนี้อาจออกมาในรูปของการใช้เงินทุนจากทางการและเอกชนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของภาคเอกชน ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะมีบทบาทเป็นผู้ตัดสินใจแผนการลงทุน ซึ่งจะมีการกำหนดราคาภายใต้กลไกตลาด

การจัดสรรวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากวงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นงบช่วยเหลือภาคการเงินส่วนที่ 2 ของมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ให้กับมาตรการสกัดกระแสการพุ่งขึ้นของการบังคับจำนอง โดยมุ่งเป้าไปที่เจ้าของที่อยู่อาศัยระดับกลาง (Owner-Occupied Middle Class Homes) ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้รายเดือนของเจ้าของบ้าน ซึ่งสถาบันการเงินที่ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากแผนกอบกู้ภาคการเงินจะต้องเข้าร่วมแผนการหลีกเลี่ยงการบังคับจำนองที่ร่างโดยกระทรวงการคลัง

การเพิ่มทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องหลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้จัดสรรวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ จากมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดบ่งชี้ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1.95 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงิน 359 แห่ง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะทำการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่เรียกว่า “Financial Stability Trust” ขึ้นในขั้นตอนถัดไป เพื่อบริหารจัดการกับเงินลงทุนของทางการในสถาบันการเงิน โดยรายละเอียดของเงื่อนไขสำหรับสถาบันการเงินที่ต้องการเข้ารับความช่วยเหลือจะมีความเข้มงวดและมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผลตอบแทนของผู้บริหาร และนโยบายการจ่ายเงินปันผล นอกจากนี้ สถาบันการเงินเหล่านั้นจะต้องผ่านการทดสอบเพื่อรับประกันว่า จะมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะปล่อยกู้ต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต

การตอบรับของตลาดการเงิน
ตลาดการเงินตอบรับการเปิดเผยมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ในทิศทางที่สะท้อนให้เห็นว่า โครงร่างที่ขาดรายละเอียดของแผนการดังกล่าวนั้น ไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคการเงินให้กลับคืนมาได้ แม้วงเงินที่มาตรการเหล่านั้นครอบคลุมอาจสามารถสรุปออกมาที่วงเงินสูงถึง 2.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางปฏิบัติของการดำเนินการในแต่ละมาตรการยังมีความคลุมเครือและขาดรายละเอียด ในขณะที่ นักลงทุนกำลังทำการประเมินว่า มาตรการของทางการสหรัฐฯ จะส่งผลให้สถาบันการเงินสามารถรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับงบดุลที่อาจจะยังคงเพิ่มมากขึ้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

มาตรการช่วยเหลือภาคการเงินที่ยังคงคลุมเครือของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั้น ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของตลาดการเงิน โดยกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและแสวงหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยสะท้อนออกมาผ่าน

 การทรุดตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก นำโดย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งทรุดตัวลงมากกว่าร้อยละ 4 (ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลบร้อยละ 4.6 และดัชนี S&P 500 ลบร้อยละ 4.9 โดยดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงเกือบร้อยละ 14.0 ขณะที่ ดัชนี S&P หุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงร้อยละ 10.9) ในขณะที่ ตลาดหุ้นเอเชียวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 รับข่าวที่น่าผิดหวังของมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินของทางการสหรัฐฯ ด้วยการดิ่งลงอย่างถ้วนหน้า นำโดยหุ้นกลุ่มการเงินเช่นกัน

การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ได้รับแรงซื้อในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยท่ามกล่างสถานการณ์ที่นักลงทุนยังคงมีความกังวลกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ทั้งนี้ เงินเยนแข็งค่าขึ้นมายืนที่ระดับประมาณ 90.40 เยนต่อดอลลาร์ฯ (ตลาดเอเชีย – 11 ก.พ. 2552) เทียบกับระดับ 91.46 เยนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับปิดตลาดในวันทำการก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยมาตรการ (9 ก.พ. 2552) นอกจากนี้ เงินเยนยังแข็งค่าขึ้นสู่ระดับประมาณ 116.40 เยนต่อยูโร (ตลาดเอเชีย – 11 ก.พ. 2552) เทียบกับระดับ 119.03 เยนต่อยูโร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นวันทำการก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยมาตรการ ในลักษณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสู่ระดับประมาณ 1.2870 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร (ตลาดเอเชีย – 11 ก.พ. 2552) จาก 1.3009 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ซึ่งเป็นระดับปิดตลาดในวันทำการก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยมาตรการ (9 ก.พ. 2552)

การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นตามกระแสการแสวงหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย และได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี ร่วงลง 18 bps. สู่ระดับร้อยละ 2.82 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552

มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า
การเปิดเผยมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมานั้น แทบไม่สามารถพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา เนื่องจากแผนการดังกล่าวยังคงมีความคลุมเครือ ขาดรายละเอียดของแนวทางการเข้าจัดการกับวิกฤตการเงินอย่างชัดเจน แม้ว่าวงเงินที่ประเมินได้ในเบื้องต้นจากมาตรการเหล่านี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 2.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ก็ตาม

กระนั้นก็ดี พัฒนาการของวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกยังคงมีแนวโน้มบ่งชี้ว่า ปัญหาต่างๆ คงจะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดเงิน-ตลาดทุน ตลอดจนสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก (ยกเว้น เงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนว่า เป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัย) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจึงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงขนาดของความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับงบดุลของสถาบันการเงิน (ที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) ซึ่งต้องการสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมารองรับ

นั่นก็หมายความว่า ตลาดการเงินจะต้องจับตารูปแบบ และเงื่อนไขของการให้ความช่วยเหลือของมาตรการต่างๆ ที่อาจทยอยถูกเปิดเผยออกมาอีกในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสภาคองเกรสให้ดำเนินการใช้เงินในการช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างระมัดระวัง ซึ่งทำให้คาดว่า คงจะมีการตั้งเงื่อนไข เพื่อเป็นการแลกกับการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว นอกจากนี้ ตลาดยังคงต้องประเมินว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้เกิดต้นทุนที่อาจสร้างภาระทางการคลังให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างไร (เช่น ผลที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปให้การค้ำประกัน ตลอดจนส่วนที่ต้องชดเชยความสูญเสียจากการลงทุน เป็นต้น) โดยอุปทานพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ดังกล่าว ย่อมจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดพันธบัตรและแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยเฉพาะพันธบัตรที่มีอายุยาว

โดยรวมแล้ว แม้ว่าถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาด และส่งผลกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก แต่นักลงทุนยังคงต้องเฝ้าติดตามรายละเอียดของแผนการดำเนินงานที่น่าจะทยอยเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในระยะถัดๆ ไป โดยประเด็นหลักที่นักลงทุนคงจะพยายามประเมิน ก็คือ การดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าว เมื่อประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด ที่คาดว่าจะผ่านสภาคองเกรสและเสนอต่อประธานาธิบดีโอบามาเพื่อลงนามให้ได้ภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ (ตามแผนที่กำหนดไว้เบื้องต้น) แล้ว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างที่ได้ตั้งความหวังกันเอาไว้หรือไม่ ซึ่งหากโดยภาพรวมแล้ว รายละเอียดของมาตรการต่างๆ ที่ออกมา พอจะเป็นที่ยอมรับได้ ตลาดก็คงจะคลายความกังวล ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น และเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง แต่หากตลาดมองว่า มาตรการดังกล่าวยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยสถาบันการเงินอาจยังต้องเผชิญกับความสูญเสียอีกในอนาคต รวมทั้งยังคงมีความสงสัยต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นทั่วโลกก็อาจจะยังไม่ฟื้นกลับมา ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจยังคงได้รับแรงหนุนให้ปรับตัวแข็งค่าได้จากความต้องการของนักลงทุน ที่มองว่า ท่ามกลางความเสี่ยงของภาวะถดถอยทั่วโลกนั้น เงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีความปลอดภัยสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ