เฟดอัดฉีดสภาพคล่องครั้งใหญ่พลิกฟื้นวิกฤตสหรัฐฯ

ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม 2552 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินอีกครั้ง ด้วยการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการสร้างสภาวะผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ โดยการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ และขยายวงเงินการรับซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนอง พร้อมกันนี้ เฟดยังได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม อีกด้วย

?? ผลการประชุมเฟด
ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม 2552 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ได้ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมด้วยมาตรการเชิงปริมาณ (Quantitative Easing Monetary Policy) เพื่อช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากที่เฟดได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) มาอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2550 – ธันวาคม 2551 จนทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมายืนที่ระดับต่ำใกล้ 0% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา

??เครื่องมือนโยบายการเงิน … เฟดระบุ จะใช้ทุกเครื่องมือที่มีในการสนับสนุนเศรษฐกิจและเสริมสร้างเสถียรภาพราคา
? เฟดมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตาม เฟดได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับที่ต่ำเป็นพิเศษใกล้ 0% นี้ไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายยืนที่ระดับปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การประชุมเดือนธันวาคม 2551

? พร้อมกันนี้ เฟดยังสร้างความต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์จากการขยายงบดุลของเฟดผ่านเครื่องมือที่มีอยู่เดิม เพื่อช่วยพลิกฟื้นตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ โดย

1) เฟดได้ปรับเพิ่มขนาดการรับซื้อตราสารหนี้ที่หนุนหลังด้วยสัญญาจำนองที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (Agency Mortgage-Backed Securities) อีก 7.50 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็นวงเงินใหม่ 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ภายในปีนี้ จากวงเงินเดิมที่ 5.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ

2) เฟดได้ขยายวงเงินรับซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (Housing Related Government Sponsored Enterprises (GSEs) ได้แก่ แฟนนี เม เฟรดดี แมค และ Federal Home Loan Banks) อีก 1.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็นวงเงินใหม่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ภายในปีนี้

3) เฟดได้ตัดสินใจอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำธุรกรรมรับซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเฟดสาขานิวยอร์กจะเป็นผู้ดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มจากสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป และจะเข้าซื้อด้วยความถี่ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ เฟดสาขานิวยอร์กยังได้เปิดเผยในเบื้องต้นว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เฟดอาจเข้าซื้อจะมีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 2-10 ปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังกล่าว ในด้านหนึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจำนอง (ที่อิงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) ปรับตัวลง ขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นการช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามาในอีกด้านหนึ่งด้วย

4) เฟดระบุว่า เฟดจะพิจารณาการขยายโครงการปล่อยกู้สำหรับหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินทรัพย์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก โดยให้ครอบคลุมสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่นๆ ในวงกว้างขึ้น จากปัจจุบันที่รับการประมูลเฉพาะเงินกู้ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการให้เงินกู้สำหรับนักศึกษา รถยนต์ บัตรเครดิต และธุรกิจขนาดเล็ก เท่านั้น

??มุมมองต่อเศรษฐกิจ … มีการปรับเปลี่ยนภาษาที่สะท้อนแนวโน้มทางเศรษฐกิจในแถลงการณ์ของเฟด
? สภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่การประชุมรอบก่อนหน้าในเดือนมกราคม 2552 สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง การเลิกจ้างงาน การปรับตัวลงของความมั่งคั่งของภาคครัวเรือน ตลอดจนสภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อนั้น เป็นปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ แนวโน้มของยอดขายที่อ่อนแอ และความยากลำบากในการเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจ ได้ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจปรับลดสินค้าคงคลังและการลงทุนลง ส่วนการส่งออกของสหรัฐฯ ได้หดตัวลงตามสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

? เงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตกไปอีกระยะหนึ่ง เฟดระบุว่า ท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และต่างประเทศ คณะกรรมการฯ คาดว่า เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ และอาจทรงตัวต่ำต่อเนื่องกว่าระดับที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระดับราคาในระยะยาวไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น้ำเสียงของเฟดในแถลงการณ์ยังคงตอกย้ำภาพความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าเฟดได้ทำการปรับเปลี่ยนภาษาที่สะท้อนแนวโน้มทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแถลงการณ์หลังการประชุมในรอบนี้มาเป็นระบุว่า “แม้แนวโน้มระยะสั้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงอ่อนแอ คณะกรรมการฯ คาดว่า มาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพตลาดการเงินและสถาบันการเงิน ควบคู่ไปกับแรงกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายจะช่วยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” หลังจากที่เคยระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมในเดือนมกราคม 2552 ว่า “คณะกรรมการฯ คาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ความเสี่ยงในช่วงขาลงของการคาดการณ์ดังกล่าวยังคงมีนัยสำคัญ”

?? การตอบรับของตลาดการเงิน
ในภาพรวม ตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ค่อนข้างประหลาดใจกับการดำเนินการที่สะท้อนท่าทีที่หนักแน่นมากขึ้นของเฟดจากการประชุมรอบนี้ ในการที่จะปลดล็อคตลาดสินเชื่อภาคเอกชน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำใกล้ 0% ไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ และปีหน้าเป็นอย่างน้อย

การปรับตัวตอบรับผลการประชุมเฟด
ค่าเงินดอลลาร์ฯ ดัชนีเงินดอลลาร์ฯ (เทียบกับเงินสกุลหลัก 6 สกุล) ร่วงลงถึง 3% ซึ่งนับเป็นอัตราการอ่อนค่าที่รุนแรงที่สุดภายใน 1 วัน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 เนื่องจากความต้องการเสี่ยงฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งรับข่าวการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฟด

ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ การประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของเฟด ได้ส่งผลกดดันในทันทีต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดิ่งลงด้วยขนาดที่รุนแรงที่สุด (ภายใน 1 วัน) นับตั้งแต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงปี ค.ศ. 1987

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สัญญาณที่บ่งชี้ถึงความพยายามของเฟดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขึ้นมาจากสภาวะถดถอย ด้วยการประกาศซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี นั้น ถือเป็นข่าวดีของตลาดหุ้น โดยหุ้นกลุ่มการเงินและก่อสร้างบ้านส่งแรงหนุนตลาดมากที่สุด ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า การดำเนินการของเฟดด้วยมาตรการล่าสุดนี้จะกระตุ้นการปล่อยกู้ในตลาดสินเชื่อภาคเอกชน

อัตราดอกเบี้ยจำนอง อัตราดอกเบี้ยจำนองรับข่าวดีของการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจำนองด้วยการปรับตัวลงเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยจำนองระยะ 30 ปี ปรับลดลงมากถึง 0.375% สู่ระดับประมาณ 5.0% ซึ่งเป็นการขยับเข้าใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ มีการประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยจำนองประเภทอื่นๆ อาจทยอยปรับลดลงตามมา
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

?? มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย และบทสรุป
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม 2552 ด้วยการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการสร้างสภาวะผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยนอกเหนือไปจากมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบ 0.0-0.25% ตามเดิมแล้ว เฟดได้ประกาศมาตรการเชิงปริมาณ (ในทิศทางที่สอดคล้องกับการดำเนินการของธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์) เพิ่มเติมเพื่อช่วยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย การเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ การขยายวงเงินการรับซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนองเป็น 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (จาก 5.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ) และเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นวงเงินใหม่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ (จาก 1.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ)

ท่าทีที่สะท้อนความจริงจังในการแก้ไขภาวะความตึงตัวของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจำนองและพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ของเฟดในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวเชิงบวกที่ได้รับการตอบรับจากตลาดการเงินอย่างกว้างขวาง โดยภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของการเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน (จากการขยายงบดุลของเฟด) เพื่อพลิกฟื้นกลไกการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อประกอบเข้ากับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทีมบริหารของทำเนียบขาวนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นคืนกลับมาบางส่วน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (กิจกรรมภาคการผลิตที่ยังคงหดตัว ความไม่ชัดเจนของสัญญาณเสถียรภาพในตลาดที่อยู่อาศัย ขณะที่ อัตราการว่างงานที่ยังคงมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก จากระดับ 8.1% ในปัจจุบัน) นั้น ยังคงต้องการความต่อเนื่องของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเชิงปริมาณ นอกเหนือไปจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำใกล้ 0%

ทั้งนี้ ในระยะสั้น คงไม่สามารถปฏิเสธว่า ข่าวในเชิงบวกของมาตรการต่อสู้กับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ มาตรการแก้ไขสภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินการเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ของเฟดและทางการสหรัฐฯ ที่อาจทยอยเปิดเผยรายละเอียดในช่วงระยะถัดไปนั้น อาจจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ความต้องการเสี่ยงฟื้นกลับคืนมาสู่ตลาดหุ้น แต่ก็อาจส่งผลกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ในทางกลับกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องการความชัดเจนก่อนที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ในรอบนี้ ได้ผ่านพ้นสภาวะที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยประสิทธิผลของมาตรการของทางการสหรัฐฯ และเฟด อาจถูกประเมินผลจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลที่จะทยอยถูกเปิดเผยออกมาในระยะถัดไป โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน และราคาที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องชี้ในภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆ ซึ่งหากความคาดหวังในเชิงบวกยังไม่ถูกยืนยันด้วยความชัดเจนของแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจกลับมาได้รับแรงหนุนจากกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนระลอกใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เนื่องจากการขยายงบดุลของเฟดผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ในรอบนี้ มีความแตกต่างไปจากการเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วง 40 ปีก่อนหน้า (ช่วง ค.ศ. 1961-1965) ที่ปริมาณเงินในระบบไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก (มีการ Sterilization) เพราะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวและขายพันธบัตรระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ของเฟดในรอบนี้ อาจจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบเพื่อเอื้อต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ

ดังนั้น สิ่งที่ยังต้องติดตามก็คือ แนวโน้มเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย อาทิ สภาพคล่อง/ปริมาณเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการขยายขนาดงบดุลของเฟด และการปรับตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจากความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าวอาจจะกลายมาเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดให้กับเฟดในการใช้งบดุลของตนเพื่อสนับสนุนตลาดสินเชื่อและเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เฟดอาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจสามารถสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเท่านั้น ขณะที่ เฟดอาจจะต้องเตรียมกระบวนการถอยออกจากมาตรการขั้นพิเศษเชิงปริมาณดังกล่าวทันทีที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ?