ดิ เอ็มเพอเร่อร์ฯ ยุคทศวรรษที่ 3 RE-VISION ปรับทิศองค์กร ก้าวสู่ผู้นำการสร้างงานสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า-ครบวงจร

ดิ เอ็มเพอเร่อร์ฯ ยุคทศวรรษที่ 3 RE-VISION ปรับทิศองค์กร เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง ก้าวสู่ผู้นำการออกแบบและสร้างงานสถาปัตยกรรมคลาสสิคที่ทรงคุณค่า- ครบวงจร ขึ้นแท่นผู้สร้างตำนานบ้านพักอาศัยระดับพรีเมี่ยม ชูจุดแข็งที่โดดเด่นและแตกต่างกับ 3 มาตรฐานระดับ ดิ เอ็มเพอเร่อร์ฯ ทั้งงานออกแบบ งานก่อสร้าง และงานบริการ ให้ลูกค้าอยู่บ้านอย่างไร้กังวล ปีนี้ขอรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเดิมไว้

นายสุรัตน์ชัย กึงฮะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด ผู้นำบริษัทรับสร้างบ้านระดับพรีเมี่ยม เปิดเผยว่า ปี 2552 เป็นปีที่บริษัทได้ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของการดำเนินงาน ดังนั้นเพื่อรักษาตำแหน่งทางการตลาดในกลุ่มบ้านระดับราคาสูงกว่า 20 ล้านบาท จึงได้มีการ Re-Vision องค์กรอีกครั้ง เพี่อปรับทิศทางการดำเนินงานขององค์กรพร้อมทั้งกำหนด ”วิสัยทัศน์” องค์กรใหม่อีกครั้ง โดยยังคงมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในการสร้างบ้านพักอาศัยระดับพรีเมี่ยม พร้อมตั้งเป้าขยายการเป็นบริษัทผู้นำในการออกแบบและก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมคลาสสิคที่ทรงคุณค่าและครบวงจร โดยจะไม่จำกัดอยู่ที่งานสถาปัตยกรรมประเภทพักอาศัยเท่านั้น แต่จะขยายไปยังสถาปัตยกรรมคลาสสิคลักษณะอื่น ๆด้วย อาทิ อาคารสาธารณะ สถานที่สำคัญทางศาสนา หอประชุม หรืออาคารหน่วยงานราชการ เป็นต้น และรวมไปถึงการออกแบบบ้านสไตล์คลาสลิคอื่นๆอีกด้วย

นอกจากการปรับวิสัยทัศน์องค์กรใหม่แล้ว ยังได้กำหนด 3 แนวทางมาตรฐานการสร้างบ้านระดับ ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ มาเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำบ้านระดับพรีเมี่ยม ได้แก่ 1) ด้านการออกแบบ ที่คำนึงถึงผู้สูงอายุมากขึ้น หรือ การเตรียมระบบความปลอดภัยสำหรับสิ่งที่ไม่คาดคิด เป็นต้น 2) ด้านการก่อสร้าง มีการเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่คำนึงถึงคุณภาพและอายุการใช้งานที่ยาวนาน รวมถึงขั้นตอนการจัดการบริหารงานก่อสร้างแบบมืออาชีพ และ 3) ด้านการบริการลูกค้า ที่เตรียมบุคคลากรที่มีความรู้ในเรื่องของงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก มัณฑนากรรวมถึงวิศวกรที่จะให้คำแนะนำกับลูกค้าเสมือนญาติสนิท เป็นต้น ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าการมีภาพลักษณ์ใหม่และไปในทิศทางเดียวกันจะช่วยให้บริษัทฯมีแนวทางใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยทั้ง 3 แนวทางนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นและไม่ซ้ำแบบใคร

นายสุรัตน์ชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของผลประกอบการในปี 2551 ที่ผ่านมา มีรายได้รวมประมาณ 260 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากงานก่อสร้างบ้าน 190 ล้านบาท รายได้จากงานตกแต่งภายใน 70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 : 1 ตามลำดับ อย่างไรก็ดีในปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ของงานสร้างบ้าน ประมาณ 110 ล้านบาท และตกแต่งภายในประมาณ 160 ล้านบาท ถึงแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะชะลอตัว และกำลังซื้อก็หายไปจากตลาดกลุ่มที่มีเงินออมก็ไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจจึงไม่กล้าใช้จ่าย แต่บริษัทฯเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของตลาดรับสร้างบ้านระดับพรีเมี่ยมยังมีความต้องการในตลาด และกำลังซื้อยังคงมีสูงอยู่ ตลอดจนมีการเติบโตที่ต่อเนื่องซึ่งจะเห็นได้จากผลตอบรับจากการจัดงานมหกรรมรับสร้างบ้าน ที่จัดโดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตลาดรับสร้างบ้านโดยรวมยังคงแข็งแกร่งอยู่ มียอดขายจากงานสูงถึง 470 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2552 ถึงแม้จะไม่ขยายตัวแต่ผู้ประกอบการก็จำเป็นที่จะต้องรุกเข้าไปดึงแชร์จากผู้รับเหมาเพิ่มอีกด้วยเช่นกัน โดยหากคิดจากมูลค่ายอดขายรวม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 52,000 ล้านบาท จากยอดขายประมาณการของปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่มูลค่าประมาณ 55,000 ล้านบาท

ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่โดยธรรมชาติของธุรกิจจะไม่ค่อยอ่อนไหวกับภาพรวมของเศรษฐกิจเร็วมากนัก กล่าวคือ แม้ช่วงไตรมาสแรกตัวเลขทางเศรษฐกิจจะสะท้อนการหดตัวอย่างชัดเจนแต่พฤติกรรมของผู้บริโภคในกลุ่มสร้างบ้านนั้นมักจะมีแผนหรือมีการเตรียมการกับการสร้างบ้านมาก่อนล่วงหน้าแล้ว จึงสังเกตได้ว่าในช่วงไตรมาสแรกจึงยังจะไม่มีผลกระทบกับตัวเลขการสร้างบ้านมากนัก อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่นอนแล้วว่าทิศทางของเศรษฐกิจจะยังคงเป็นไปในทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้ อย่างแน่นอน

สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากมาตรการที่ผ่านมาเป็นมาตรการที่อยู่อาศัยไม่ใช่มาตรการกระตุ้นหรือสร้างกำลังซื้อใหม่ๆเข้ามาในตลาด หากพิจารณาข้อมูลทางการตลาดจะพบว่าลูกค้าในกลุ่มสร้างบ้านเองนั้นโดยพฤติกรรมแล้วกว่า 70% จะใช้เงินออม ส่วนอีก 30% เป็นการกู้ผ่านสถาบันการเงิน ดังนั้นรัฐบาลควรให้การสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มที่ใช้เงินออมมากกว่า

ส่วนมูลค่าตลาดรวมที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากปัจจัยบวกหลายทางที่เข้ามาสนับสนุน อาทิ ราคาวัสดุก่อสร้างที่คงที่ อัตราดอกเบี้ยของธนาคาร รวมไปถึงการจัดโปรโมชั่นพิเศษของบริษัทรับสร้างบ้านเอง ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสนใจสร้างบ้านเองกับบริษัทรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีบริษัทฯเชื่อมั่นว่าตลาดรับสร้างบ้านโดยรวมยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถฟื้นต้วได้ ซึ่งผู้ประกอบการเองต้องเน้นคุณภาพและการบริการมากขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับมาตรการและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอีกด้วย