การประชุมกลุ่มจี 20 : มุ่งขจัดมาตรการทางการค้า … อาจช่วยบรรเทาการค้าโลกหดตัวปี 2552

การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา 20 ชาติ หรือกลุ่มจี 20 ในวันที่ 2 เมษายน นี้ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่ผู้นำจาก 20 ชาติสมาชิกที่มีบทบาทหลักต่อเศรษฐกิจโลกเนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มจี 20 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของจีดีพีทั้งโลก จะร่วมมือหาแนวทางรับมือกับเศรษฐกิจโลกถดถอยเพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่อย่างหนักในปีนี้ แม้ความพยายามที่หาข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ ยังมีระดับที่แตกต่างกัน อีกทั้งการมุ่งรักษาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก ทำให้การประสานนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกร่วมกันคาดว่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก หากข้อตกลงร่วมกันของที่ประชุมกลุ่มจี 20ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปฏิรูปและปรับปรุงภาคเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมถึงการรักษาการค้าระหว่างประเทศในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันประสบผลสำเร็จ คาดว่าจะเรียกความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกได้มาก

บทบาทของนายกรัฐมนตรีไทยในฐานะประธานอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมจี 20 ครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนให้สอดคล้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกรวมทั้งการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขจัดมาตรการทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เป้าหมายการจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ที่ถือเป็นการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะและเงินทุนที่เปิดกว้างมากขึ้น ที่ได้ประกาศในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน ประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และการประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม ได้แก่ อาเซียน+3 (ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนนี้ ณ เมืองพัทยา เพื่อสานต่อการดำเนินการเปิดเสรีของอาเซียนในระดับภูมิภาค ได้สะท้อนถึงเป้าหมายของอาเซียนที่ยังคงรักษาการดำเนินการเปิดเสรีทั้งภายในอาเซียนและระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการส่งออก ภาคบริการและการลงทุน

เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรง แม้ในปัจจุบันจะมีปัจจัยบวกบางประการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือของทางการสหรัฐฯ ส่งผลให้เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่เป็นต้นตอของวิกฤตซับไพร์ม (Sub-Prime) ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากเดือนก่อนหน้า หลังจากหดตัวติดต่อกัน 6 เดือน ส่วนยอดขายบ้านที่มีอยู่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากปรับลดลงมา 6 เดือน ถือเป็นสัญญาณบวกในภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ส่วนสินค้าคงคลังของญี่ปุ่นปรับลดลงร้อยละ 4.2 ในเดือนกุมภาพันธ์นับว่าเป็นการปรับลดมากที่สุดตั้งแต่บันทึกข้อมูลในปี 2496 ทำให้คาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอาจปรับตัวดีขึ้น แต่ภาคส่งออกของญี่ปุ่นที่ยังคงต้องเผชิญกับการหดตัวรุนแรงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 49.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นปัจจัยลบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยภาคการเงินของสหรัฐฯ ยังคงเปราะบางถือเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป ส่วนปัญหาการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นถือเป็นปัจจัยลบที่ประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ โดยการว่างงานของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 8.5 ในเดือนมีนาคม ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปี จากร้อยละ 8.1 และร้อยละ 7.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ และมกราคม 2552 ตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยยาวนานที่สุดในรอบ 70 ปี อัตราการว่างงานในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากร้อยละ 4.1 ในเดือนมกราคม ถือเป็นระดับสูงสุดในเดือนมกราคม 2549 ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของสหภาพยุโรปที่หดตัวส่งผลให้มีการปรับลดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของยุโรปต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) คาดการณ์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอาจส่งผลให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ในปีนี้ โดยอัตราการขยายตัวของประเทศอุตสาหกรรม 30 ชาติสมาชิกมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 4.2 ในปี 2552 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากร้อยละ 0.5 ที่คาดการณ์ในเดือนมกราคม เป็นหดตัวร้อยละ 0.5-1.0 ในปีนี้ ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 60 ปี

การค้าโลกติดลบ ภาวะหดตัวรุนแรงของการค้าโลกส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูง รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียและไทยด้วย วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวรุนแรงตามอุปสงค์ในตลาดโลกทุกภูมิภาคที่อ่อนแรง และยังถูกซ้ำเติมด้วยมาตรการทางการค้าที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้เพื่อปกป้องตลาดภายในประเทศ ถือเป็นปัจจัยท้าทายให้การค้าโลกหดตัวมากขึ้นอีก มาตรการทางการค้าในหลายรูปแบบที่ถูกนำมาใช้มีทั้งมาตรการด้านภาษี ได้แก่ การขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้า และมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้าในระดับสูง และการอุดหนุนการผลิตและการส่งออก นโยบายปกป้องทางการค้าถือเป็นตัวบั่นทอนความพยายามของทั่วโลกในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก องค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกปีนี้ติดลบร้อยละ 9 ย่ำแย่ที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่มูลค่าการค้าโลกเริ่มเติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 2 ในปี 2551 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 2550 โดยคาดว่ามูลค่าการค้าของประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มจะติดลบถึงร้อยละ 10 ในปีนี้ ส่วนการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศแนวโน้มลดลงราวร้อยละ 2-3

กระแสกีดกันการค้าในช่วงเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี ค.ศ.1930 (Great Depression) ส่งผลให้การค้าโลกหดตัวรุนแรง แม้ในปัจจุบันยังมีข้อดีเนื่องจากกฎเกณ์ข้อผูกพันด้านภาษีขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ช่วยไม่ให้ประเทศต่างๆ ปรับขึ้นภาษีสินค้าอย่างรุนแรงเหมือนในอดีต แต่ประเทศต่างๆ ก็ยังคงปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรได้ หากอัตราภาษีที่เก็บจริง (Applied Rate) ยังต่ำกว่าระดับที่ผูกพันไว้ (Bound Rate) ทำให้ทางการประเทศต่างๆ ช่วยเหลือภาคส่งออกโดยการปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อสกัดกั้นสินค้านำเข้า โดยการใช้มาตรการทางภาษีคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของมาตรการทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เช่น รัสเซียขึ้นภาษีรถยนต์ใช้แล้ว และเอกวาดอร์ขึ้นภาษีสินค้ากว่า 600 รายการ

ขณะที่มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีก็รุนแรงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้าบางรายการอาจไม่สามารถทำได้เนื่องจากอัตราภาษีอยู่ในระดับที่ผูกพันไว้แล้ว ประเทศต่างๆ จึงหันมาใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีแทน โดยมาตรการที่มิใช่ภาษีในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกประสบภาวะซบเซารุนแรงขึ้น มาตรการเหล่านี้ เช่น การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) การเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน และมาตรการกำหนดมาตรฐานสินค้าทั้งด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ (SPS) และมาตรฐานด้านเทคนิค

– นโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของพรรคเดโมแครตที่ใช้มาตรการปกป้องทางการค้าหลายด้าน ที่สำคัญ เช่น ห้ามรถบรรทุกขนส่งสินค้าของเม็กซิโกผ่านแดนไปยังสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯอ้างว่าขัดกับมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ส่งผลให้เม็กซิโกออกมาตรการตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ กว่า 89 รายการ เช่น อาหาร/เนื้อสัตว์ และเครื่องจักร/รถยนต์/อุปกรณ์ การออกนโยบาย “Buy American” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในโดยเน้นการซื้อสินค้าภายในประเทศเท่านั้น การผ่านกฎหมายห้ามซื้อเหล็กและเหล็กกล้าจากต่างประเทศสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่อยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ให้ใช้สินค้าหรืออุปกรณ์ที่ผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้น รวมถึงการสกัดกั้นความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ และ FTA สหรัฐฯ-โคลัมเบีย ที่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปแล้วก็ตาม

– สหภาพยุโรปขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์พลาสติกของจีน รวมทั้งใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสินค้าสลักภัณฑ์จากจีน ส่งผลให้สินค้าสลักภัณฑ์ของจีน เช่น น็อต สกรู โบลท์ จากจีนต้องเสียภาษีเข้าสหภาพยุโรประหว่างร้อยละ 26.5-85 ซึ่งจีนอาจตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดกับสลักภัณฑ์ของสหภาพยุโรปเช่นกัน

-นอกจากนี้ มาตรการทางการค้าต่างๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาได้นำมาใช้ปัจจุบัน เช่น อินเดียขึ้นภาษีของเล่นจากจีน เกาหลีใต้ขึ้นภาษีน้ำมัน เม็กซิโกปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ 89 รายการ ยูเครนขึ้นภาษีอีกร้อยละ 13 สำหรับสินค้านำเข้าทุกรายการ ประเทศต่างๆ 10 ประเทศปรับขึ้นภาษีเหล็กนำเข้า รวมถึงสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีเหล็ก (steel pipes) จากจีน อาร์เจนตินากำหนดใบอนุญาตพิเศษสำหรับการนำเข้าของเล่น อาร์เจนตินา บราซิล แคนดานา รัสเซีย และยูเครน ปรับขึ้นภาษีรองเท้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าของจีนและเวียดนาม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศในรูปแบบต่างๆ โดยสหรัฐฯ บราซิลและฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ อินเดียกำหนดใบอนุญาตนำเข้าและ อาร์เจนตินากำหนดราคาสำหรับการนำเข้าส่วนประกอบรถยนต์จากต่างประเทศ

สรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้ความพยายามที่หาข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ ยังมีระดับที่แตกต่างกัน อีกทั้งการมุ่งรักษาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก ทำให้การประสานนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกร่วมกันคาดว่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก หากข้อตกลงร่วมกันของที่ประชุมกลุ่มจี 20ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปฏิรูปและปรับปรุงภาคเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมถึงการรักษาการค้าระหว่างประเทศในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันประสบผลสำเร็จ คาดว่าน่าจะเรียกความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกได้มาก

สำหรับมาตรการทางการค้าที่ประเทศต่างๆ นำออกมาใช้เพื่อปกป้องตลาดภายใน ส่งผลให้เกิดมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศคู่ค้า ซึ่งนำไปสู่อุปสรรคทางการค้ามากขึ้น อาจซ้ำเติมภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วในปัจจุบันให้รุนแรงขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศในเอเชียที่พึ่งพาภาคส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างประเทศไทยต้องเผชิญปัจจัยกดดันที่อาจส่งผลให้ภาคส่งออกของไทยต้องหดตัวมากขึ้นจากปัจจุบันที่ต้องเผชิญภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ต้องหดตัวร้อยละ 19 โดยการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ประเทศเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกต่างเผชิญการส่งออกติดลบเป็นเลข 2 หลักทั้งสิ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น (-47.6%) จีน (-21.2%) ฮ่องกง (-22.3%) เกาหลีใต้ (-25.6%) ไต้หวัน (-37.2%) และสิงคโปร์ (-30.8%)

ความหวังที่ผู้นำกลุ่มจี 20 จะย้ำถึงการดำเนินการตามข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าและไม่ถอยหลังกลับไปใช้มาตรการปกป้องทางการค้าในรูปแบบต่างๆ น่าจะมีน้ำหนักที่จะช่วยบรรเทาภาวะหดตัวรุนแรงของการค้าโลกในปีนี้ได้บ้าง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ความต้องการในตลาดโลกทรุดตัวอย่างหนัก เนื่องจากมูลค่าการค้าของกลุ่มจี 20 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการค้าโลกทั้งหมด ขณะที่ประชากรของกลุ่มจี 20 ถือเป็นตลาดบริโภคส่วนใหญ่ของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ทั้งนี้ประเทศนำเข้าหลักสำคัญของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 55 ของการนำเข้าทั้งหมดของโลก

ในส่วนของประเทศไทยที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มจี 20 ครั้งนี้ ในฐานะประธานอาเซียน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการขจัดมาตรการทางการค้าต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและบรรเทาผลกระทบของภาวะการค้าโลกหดตัว รวมถึงการแสดงท่าทีของอาเซียนที่ยังคงนโยบายการเปิดเสรีภายในกลุ่มที่มุ่งสร้างความแข็งแกร่งโดยการขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนอย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2558 รวมถึงการเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในกรอบต่างๆ (กรอบอาเซียน+1 และกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6) ที่จะช่วยสร้างโอกาสการขยายการค้าและการลงทุนภายนอกภูมิภาคด้วย

สำหรับในระยะยาว การค้าโลกในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่พึ่งพาภาคส่งออกมากในปัจจุบันต้องเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากการหดตัวของภาคส่งออก ทำให้กลับมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ที่หันมาพึ่งพาตลาดภายในมากขึ้น เช่น ประเทศจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ในอนาคต ขณะที่การบริโภคของประชาชนในสหรัฐฯ ที่ใช้จ่ายมากในปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นเก็บออมมากขึ้น ในกรณีเช่นนี้อาจทำให้การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอลงในระยะยาว ซึ่งคาดว่าการขยายการค้าในรูปแบบการรวมกลุ่มทางภูมิภาคและความต้องการจากเศรษฐกิจภายในจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นอกจากการขจัดมาตรการปกป้องทางการค้าต่างๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูการค้าโลกในยามวิกฤตแล้ว ความจำเป็นของการปฏิรูประบบการเงินโลกที่ซับซ้อนให้มีความโปร่งใสและชัดเจนจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินถึงผลดีหรือผลเสียของการลงทุนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพของเศรษฐกิจตามมาในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ การสร้างระบบการเงินโลกที่มั่นคงและมีเสถียรภาพยังช่วยป้องกันผลกระทบที่ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาด้วย เนื่องจากระบบการเงินโลกที่อ่อนแอในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบลูกโซ่มายังเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจภาคชนบท กลุ่มเกษตรกร ภาคธุรกิจ SMEs และประชาชนรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างต่ำอยู่แล้วต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งยิ่งส่งผลซ้ำเติมให้เกิดความแตกต่างของรายได้ของประชาชนและความแตกต่างทางสังคมมากขึ้น