นักเศรษฐศาสตร์จี้หารูปแบบพัฒนารัฐวิสาหกิจ หวังทุกฝ่ายยอมรับ-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ

นักเศรษฐศาสตร์หนุนรัฐเดินหน้าพัฒนารัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หนึ่งของรัฐบาล เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น สร้างความสามารถในการแข่งขัน แนะศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมในการแปรรูปที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า ภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาล เป็นการให้บริการพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพทางราคา

“ที่ผ่านมาหลายรัฐวิสาหกิจก็มีการปรับตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการรัฐวิสาหกิจและสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันและอนาคต” นายธนวรรธน์กล่าว

ขณะเดียวกันการพัฒนารัฐวิสาหกิจก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้มีขั้นตอนการดำเนินงานในการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ชัดเจนภายใต้กรอบ กติกา และมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การร่วมทุน หรือการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ภายใต้กรอบความคาดหวังเดียวกันคือต้องการที่จะให้ประชาชนผู้บริโภคต้องได้รับการบริการที่ดีขึ้น ด้วยราคาที่ยุติธรรม และมีมาตรฐาน

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวด้วยว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ถือว่ามีประโยชน์เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเศรษฐกิจการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุนของประเทศ เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และการให้บริการที่มีคุณภาพดีขึ้น

“การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะเพิ่มศักยภาพขององค์กรให้ดีขึ้น สามารถตอบสนองกลไกของตลาดได้มากขึ้นทั้งเรื่องของคุณภาพและราคา แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ทั้งหมด เพราบางกรณีการเป็นรัฐวิสาหกิจก็จำเป็นที่จะต้องดำรงอยู่เช่นกัน ดังนั้นต้องศึกษาว่ากระบวนการแปรรูปแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (GSPA NIDA) กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการประหยัดทรัพยากรภาครัฐ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งถือเป็นช่องทางการระดมทุนในการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจทั้ง 60 กว่าแห่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก ทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งถ้าเกิดการแปรรูปจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการแข่งขันและดำเนินงาน รวมไปถึงรัฐก็ไม่ต้องใส่เงินลงทุนให้กับรัฐวิสาหกิจ สามารถนำเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อย่างมากมาย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบงบประมาณของชาติ

“การพัฒนารัฐวิสาหกิจจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ การให้บริการก็จะมีคุณภาพมากขึ้น การแข่งขันก็จะมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรัฐวิสาหกิจไทยมีประสิทธิภาพในภาพรวมแล้วความเชื่อมั่นต่อระบบการคลังหรือเศรษฐกิจของประเทศก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คงต้องมาพิจารณากันให้ละเอียดกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่ารัฐวิสาหกิจไหนสมควรและเหมาะสมที่จะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปบ้าง เพราะแต่ละรัฐวิสาหกิจก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไปซึ่งอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือให้มีความชัดเจน