แนวโน้มเงินบาทครึ่งหลังปี 2552…อาจได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย

หลังจากที่เงินบาทปรับตัวอย่างผันผวนในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยเงินบาทได้อ่อนค่าลงประมาณ 3.7% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ก่อนที่จะหักล้างช่วงติดลบทั้งหมดลง และฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพและยังคงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค แม้ว่าจะมีอัตราการแข็งค่าที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียโดยเปรียบเทียบก็ตาม ทั้งนี้ เงินบาท ณ ระดับปัจจุบัน (3 ก.ค. 2552) แข็งค่าขึ้นประมาณ 2.1% จากระดับปิดตลาดปลายปี 2551 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาค รองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม สัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยปรากฏขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และอาจต่อเนื่องในระยะถัดไป อาจกลายมาเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อสถานการณ์ของภาคส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 ดังนั้น การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจึงอาจเป็นประเด็นที่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อแนวโน้มเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังนี้ :-

? การเคลื่อนไหวของเงินบาทครึ่งแรกของปี 2552…ขึ้นกับทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ผนวกแรงหนุนจากการเกินดุลการค้าของไทย
การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นไปอย่างผันผวน โดยเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี สะท้อนแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีความสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินและแนวโน้มของเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2552 ตามกระแสการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ทยอยลดความรุนแรงลง นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงหนุนสำคัญจากยอดเกินดุลการค้าของไทยถึง 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา อีกด้วย

เมื่อพิจารณาภาพรวมของความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะพบว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ แต่เงินบาทจะมีอัตราการแข็งค่าที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียโดยเปรียบเทียบ โดยเงินบาทซึ่งแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย รองจากเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่แข็งค่าประมาณ 6.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

? แนวโน้มเงินบาทครึ่งหลังของปี 2552
เงินบาทเปิดไตรมาสที่ 3/2552 ด้วยการปรับตัวอ่อนค่ากว่าระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นไตรมาสที่ 2/2552 โดยตัวเลขการปรับลดตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ที่มากเกินคาด ขณะที่ อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีในเดือนมิถุนายน 2552 ได้บั่นทอนกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินภายใต้สภาวะวิกฤตในรอบนี้ อย่างไรก็ตาม หากมองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังนี้:-

ในกรณีฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลก อาจทยอยสะท้อนสัญญาณเชิงบวกออกมามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 (พัฒนาการทางเศรษฐกิจสะท้อนออกมาในลักษณะใกล้เคียงกับ U-Shaped) ซึ่งน่าที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนกระแสการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพื่อแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เมื่อประกอบเข้ากับแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมทั้งเศรษฐกิจไทย แล้ว ก็อาจทำให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ตามกระแสความแข็งแกร่งของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ในขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังคงอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัวเท่านั้น

ด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการผ่อนปรนด้านอื่นๆ ทำให้จีนถูกประเมินว่า ได้แตะจุดต่ำสุดของภาวะการชะลอตัวไปแล้วในช่วงไตรมาส 1/2552 และอาจขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่านั้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/2552 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนอาจเป็นธนาคารกลางแห่งแรกๆ ที่ต้องคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของจีนจะเกิดขึ้นก่อนทางฝั่งเศรษฐกิจแกนหลักของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ G-3 ทั้งนี้ แนวโน้มที่แข็งแกร่งมากขึ้นของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี 2552 ได้ถูกประเมินเข้าไว้ในการคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินหยวน ที่สะท้อนจากสัญญาล่วงหน้าที่ไม่มีการส่งมอบสกุลดอลลาร์ฯ/หยวนประเภท 1 ปี ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้พลิกมุมมองที่มีต่อการคาดการณ์เงินหยวนตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมาว่า เงินหยวนอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะ 1 ปีข้างหน้า หลังจากที่ปรับตัวสะท้อนการคาดการณ์การอ่อนค่าของเงินหยวนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2551

ในทิศทางที่สอดคล้องกัน สัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เมื่อประกอบเข้ากับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายๆ แห่งในเอเชีย ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่สดใสมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้ สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยได้หลุดพ้นจากนิยามภาวะถดถอยทางเทคนิคของวงจรการทรุดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบนี้มาแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2/2552 โดยอัตราการเติบโตของ GDP ของไทยอาจปรับตัวในทิศทางที่สะท้อนการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของธปท.

ดังนั้น นอกเหนือไปจากประเด็นการคาดการณ์การแข็งค่าของค่าเงินหยวนแล้ว ประเด็นที่เกี่ยวกับการคาดการณ์ที่มีต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายๆ แห่งในเอเชีย ตลอดจนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มเศรษฐกิจ G-3 โดยเปรียบเทียบในช่วงเวลานั้น ก็อาจกลายเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยหนุนการปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในเอเชีย และเงินบาท ในช่วงที่เหลือของปี 2552 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทอาจปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์ฯ เพื่อนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ แรงหนุนที่เงินบาทจะได้รับจากฐานะการเกินดุลการค้าก็น่าจะลดลงเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552) ในขณะที่ ธปท.ก็น่าที่จะยังคงจุดยืนของการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เน้นเสถียรภาพของค่าเงินบาท ลดความผันผวนของค่าเงิน และเป็นไปตามกลไกตลาด โดยในกรณีฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทอาจปรับตัวโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ และหากแรงหนุนยังคงมีความต่อเนื่อง เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นไปที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ในช่วงปลายปี 2552

แม้ว่าเงินบาทน่าที่จะแข็งค่าขึ้นตามการวิเคราะห์ดังกล่าว แต่สำหรับกรณีเลวร้าย ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า สัญญาณเชิงบวกของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ปรากฏขึ้นนั้น อาจไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดของวิกฤตมาแล้วก็ตาม (พัฒนาการทางเศรษฐกิจมีลักษณะใกล้เคียงกับ L-Shaped ซึ่งช่วงเวลาของการฟื้นตัวยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน) โดยในกรณีเลวร้ายนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัว ซึ่งภายใต้สถานการณ์นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ค่าเงินเอเชียบางสกุล ซึ่งอาจหมายความรวมถึงค่าเงินบาท อาจไม่สามารถขยับแข็งค่าได้มากนักเนื่องจากความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยสำหรับในกรณีเลวร้าย ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะปรับตัวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ภายใต้สภาวการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าว ข่าวร้ายทางเศรษฐกิจและภาคการเงินที่ทยอยถูกเปิดเผยออกมาในระยะข้างหน้า น่าที่จะทำให้นักลงทุนปรับลดสถานะการลงทุนที่มีความเสี่ยง และเข้าซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยประเด็นเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ และความกังขาเกี่ยวกับบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินสำรองของโลก ก็คงจะเบาบางลงไปภายใต้สถานการณ์นี้ เมื่อนักลงทุนยังคงต้องหมุนเวียนเงินลงทุนกลับเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่ำในท้ายที่สุด ดังนั้น แนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคบางสกุล และอาจรวมถึงค่าเงินบาท ก็อาจไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะมีสกุลเงินบางสกุลในเอเชียต้องปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่เปราะบางมากกว่า เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น อาจต้องรักษาวินัยทางการคลัง และอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดอื่นๆ ในการดำเนินมาตรการและ/หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยสรุป การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นไปอย่างผันผวน โดยเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี สะท้อนแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีความสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินและแนวโน้มของเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัย มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ท่ามกลางกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กระจายไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2552 ตามกระแสการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ทยอยลดความรุนแรงลง นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงหนุนสำคัญจากยอดเกินดุลการค้าของไทยถึง 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา อีกด้วย ทั้งนี้ เงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ แต่เงินบาทจะมีอัตราการแข็งค่าที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียโดยเปรียบเทียบ โดยเงินบาทซึ่งแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย รองจากเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่แข็งค่าประมาณ 6.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีฐาน ซึ่งสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลก อาจทยอยสะท้อนสัญญาณเชิงบวกออกมามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 (พัฒนาการทางเศรษฐกิจมีลักษณะใกล้เคียงกับ U-Shaped) น่าที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนกระแสการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพื่อแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เมื่อประกอบเข้ากับแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมทั้งเศรษฐกิจไทย แล้ว ก็อาจทำให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ตามกระแสความแข็งแกร่งของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ในขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังคงอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัวเท่านั้น นอกจากนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยรวม ที่อาจทยอยเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจมาพร้อมๆ กับแนวโน้มขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งก็อาจทำให้มีความเป็นได้ว่า ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศในเอเชีย นำโดย ธนาคารกลางจีน จะเป็นธนาคารกลางแห่งแรกๆ ที่ต้องดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งกระแสการคาดการณ์ต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจเกิดขึ้นก่อนทางฝั่งเศรษฐกิจแกนหลักของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ G-3 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น โดยภายใต้กรณีฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทอาจปรับตัวโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ และหากแรงหนุนยังคงมีความต่อเนื่อง เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นไปที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ในช่วงปลายปี 2552

แม้ว่าเงินบาทน่าที่จะแข็งค่าขึ้นตามการวิเคราะห์ดังกล่าว แต่สำหรับกรณีเลวร้าย ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า สัญญาณเชิงบวกของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ปรากฏขึ้นนั้น อาจไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดของวิกฤตมาแล้วก็ตาม (พัฒนาการทางเศรษฐกิจสะท้อนออกมาในลักษณะใกล้เคียงกับ L-Shaped ซึ่งช่วงเวลาของการฟื้นตัวยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน) โดยในกรณีเลวร้ายนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ช่วงเวลาของการฟื้นตัวสำหรับเศรษฐกิจเอเชีย ต้องลากยาวออกไปเช่นเดียวกับแนวโน้มที่ซบเซายาวนานของเศรษฐกิจโลก ซึ่งภายใต้สถานการณ์นี้ ค่าเงินเอเชียบางสกุล ซึ่งอาจหมายความรวมถึงค่าเงินบาท อาจไม่สามารถขยับแข็งค่าได้มากนักเนื่องจากความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยสำหรับในกรณีเลวร้ายนี้ ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะปรับตัวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ดังนั้น สัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป ยังคงต้องถูกประเมินอย่างรอบคอบ เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเหล่านั้น ไม่เพียงจะบ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและลักษณะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มกระแสการไหลเวียนเงินลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน ดังนั้น เสถียรภาพและศักยภาพในการแข่งขันของค่าเงินบาท ก็อาจเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ที่อาจทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายของวิกฤตในรอบนี้ไปแล้ว ?