เฟดมั่นใจเศรษฐกิจฟื้น : ส่งสัญญาณถอยจากมาตรการเสริมสภาพคล่อง

ในการประชุมวันที่ 22-23 กันยายน 2552 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์หลังการประชุมในส่วนที่ส่งสัญญาณการทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing Measures) ที่ชัดเจนมากขึ้นนั้น กลับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากตลาดการเงินมากกว่า เนื่องจากกังวลว่า แรงสนับสนุนต่อการการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะหายไปบางส่วนหากเฟดยุติมาตรการสนับสนุนเชิงปริมาณดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ดึงประเด็นที่น่าสนใจจากแถลงการณ์หลังการประชุมเฟดในรอบนี้ไว้ดังนี้ :-

– เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.00-0.25% ตามเดิม
แม้เฟดจะมีมุมมองเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังต้องแบกรับปัจจัยเปราะบางของภาคครัวเรือน (ความอ่อนแอของตลาดแรงงาน การถดถอยของรายได้และความมั่งคั่งในภาคครัวเรือน ตลอดจนภาวะสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ตึงตัว) และภาคธุรกิจ (การปรับลดการลงทุน และการปลดพนักงาน ที่ยังไม่สิ้นสุดแม้จะเริ่มชะลอลง) ไปในเวลาเดียวกัน ทำให้เฟดยังคงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะถัดไปอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่อาจทรงตัวในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ก็เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เฟดสามารถยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เฟดส่งสัญญาณการทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ
เฟดทำการปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับซื้อหลักทรัพย์อีกครั้งในการประชุมรอบนี้ โดยเฟดได้มีมติให้ขยายกรอบเวลาสำหรับมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2553 พร้อมกับระบุว่า จะรับซื้อตราสารในส่วนหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองเต็มวงเงิน 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และจะรับซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในวงเงินไม่เกิน 2.00 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยกระบวนการรับซื้อตราสารใน 2 ส่วนนี้ จะชะลอลงเพื่อให้ตลาดมีการปรับตัวอย่างราบรื่นมากขึ้นก่อนที่มาตรการในส่วนนี้จะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปตรวจสอบแถลงการณ์ในการประชุมรอบก่อนหน้า (วันที่ 11-12 ส.ค.52) จะพบว่า เฟดได้เคยใช้ถ้อยแถลงแบบเดียวกันนี้มาแล้ว โดยเฟดได้ระบุถึงการชะลอซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และขยายกรอบเวลาการซื้อออกไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2552 ในแถลงการณ์หลังการประชุมรอบนั้น

ตลาดการเงินตอบรับแถลงการณ์หลังการประชุมในด้านที่แตกต่างกัน
ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าตอบรับแถลงการณ์ของเฟดในส่วนที่ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกยืนไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยถ้อยแถลงในส่วนนี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปีปรับตัวลง 3.1 bps มาปิดตลาดที่ระดับ 3.4194% ภายหลังการประชุม ขณะที่ ความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมเดือนเมษายน 2553 สะท้อนจากตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าลดลงมาอยู่ที่ 88% จากที่เคยเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในช่วงก่อนการประชุมเฟดรอบนี้ ทั้งนี้ การคาดการณ์เต็มที่ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดได้ถูกเลื่อนออกไปจนถึงรอบการประชุมเดือนมิถุนายน 2553

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับตอบรับแถลงการณ์เฟดในส่วนที่ระบุถึง การชะลอซื้อตราสารหนี้และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน โดยมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่เฟดใช้สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงถดถอย ทั้งนี้ ถ้อยแถลงในส่วนนี้ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดร่วงลง (หลังจากที่ปรับตัวขึ้นในช่วงแรกจากมุมมองเชิงบวกของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบกับเงินยูโรและตะกร้าเงิน 6 สกุล

โดยสรุป ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.00-0.25% ตามเดิม พร้อมกับสะท้อนมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาในแถลงการณ์หลังการประชุมในรอบนี้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า เฟดจะยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 2553 โดยมองว่าความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ หากเฟดสะท้อนมุมมองต่อตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเชิงบวกมากขึ้นในการประชุมรอบถัดๆ ไป

นอกจากนี้ เฟดยังได้เริ่มส่งสัญญาณการทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing Measures) โดยการชะลอการรับซื้อตราสารหนี้และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และขยายกรอบเวลาออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2553 (จากเดิมที่จะหมดอายุลงในสิ้นปี 2552 นี้) หลังจากที่ได้เคยใช้ถ้อยแถลงแบบเดียวกันนี้กับโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในแถลงการณ์หลังการประชุมรอบก่อนหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่เฟดส่งสัญญาณการทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในการประชุมรอบนี้แม้เครื่องชี้ตลาดที่อยู่อาศัยหลายๆ ตัวยังไม่ฟื้นคืนอย่างเต็มที่กลับไปสู่ระดับก่อนวิกฤตซับไพร์มนั้น ก็อาจเป็นเพราะว่า เฟดมีความเชื่อมั่นต่อสัญญาณเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ และตลาดการเงินในหลายๆ ส่วน ที่เริ่มทยอยปรากฏขึ้น และต้องการให้กระบวนการถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเป็นไปอย่างราบรื่น ตลอดจนเพื่อให้ตลาดมั่นใจว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดจะไม่เป็นตัวการก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อขึ้นในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าแนวทางการทยอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณดังกล่าวจะถูกวางเอาไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ก็คงจะต้องจับตาดูว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทำนองเดียวกันหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมาตรการด้านสภาพคล่องที่เคยสนับสนุนตลาดสินเชื่อทยอยผ่อนแรงลงในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นและมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของเฟดจะถูกยืนยันโดยทิศทางของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ซึ่งหากเครื่องชี้เศรษฐกิจยังคงมีทิศทางที่ปะปน ก็อาจส่งผลต่อเนื่องให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ต้องเผชิญแรงเทขาย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจได้รับแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยอีกครั้ง และสำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท.น่าที่จะยังคงให้น้ำหนักกับโจทย์ในการประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อจังหวะเวลาในการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ?