NIDA Business School-SCRI ชี้ครบปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินครบรอบ 1 ปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประเทศใดสอบผ่าน-สอบตกจากการประเมินด้วยเกณฑ์การฟื้นตัวของ GDP ของ G-3 และเอเชีย พบสหรัฐฯ ต้นตอปัญหามีการฟื้นตัวทาง GDP ที่แข็งแกร่งที่สุดใน G-3 แต่ภาคการเงินยังคงอ่อนแอที่สุด ขณะที่ประเทศไทยสอบตกในด้านการฟื้นตัวและการบริโภคภายในเมื่อเทียบกับชาติเอเชียที่พบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วยกัน แนะจับตาความเสี่ยงรอบใหม่โดยเฉพาะผลกระทบข้างเคียง จากภาวะเงินเฟ้อ การเก็งกำไรและภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์และตราสารบางประเภท

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) จัดเสวนาวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน Crisis Watch series 10 ในหัวข้อ “ครบรอบปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประเทศใดสอบผ่านหรือตก” โดย รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School เปิดเผยว่า หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งกระทบความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯและยุโรป ต่อเนื่องไปจนถึงภาคธุรกิจที่แท้จริงทั่วโลก ที่ต้องประสบปัญหาความต้องการสินค้าลดลง การผลิตและการลงทุนของภาคเอกชนลดลง ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน ภาคการส่งออกย่ำแย่ เงินเฟ้อและอัตราการเติบโตติดลบ

คณบดี NIDA Business School กล่าวว่า ทั้งนี้ จากประสิทธิภาพของมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลดีเกินคาด ทำให้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ และส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจากการประเมินว่าประเทศใดสอบผ่านหรือสอบตกในการแก้วิกฤตครั้งนี้ ทาง NIDA Business School และ SCRI ได้แบ่งประเทศที่พบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประเทศ G-3 ที่มีวิกฤตสถาบันการเงิน ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น กับกลุ่มประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศไทยซึ่งไม่มีปัญหาด้านสถาบันการเงินแต่พึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก

สำหรับกลุ่มแรก ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นนั้น จากการประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในขณะที่ญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวที่แย่ที่สุดเมื่อเทียบกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรป แต่ถ้าพิจารณาในด้านการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินพบว่า สถาบันการเงินของญี่ปุ่นนั้นเข้มแข็งที่สุดโดยได้ทำการเพิ่มทุน 3 เท่าของความเสียหายในการลงทุนในตราสาร Sub-prime ในขณะที่สหรัฐฯและยุโรปนั้นยังเพิ่มทุนสถาบันการเงินไม่เท่ากับความเสียหายที่เกิดจากการลงทุนในตราสาร Sub-Prime อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป พบว่าเยอรมนีและฝรั่งเศส ทำได้ดีกว่าสหรัฐฯ ในด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ประเทศในเอเชียในกลุ่มที่สองซึ่งพบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจซึ่งในปัจจุบันนี้ ชาติเอเชียนั้นได้พ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเชิงเทคนิคหมดแล้ว แต่เมื่อประเมินความเข้มแข็งของการฟื้นตัวในลักษณะเปรียบเทียบกันพบว่า สิงคโปร์มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในกลุ่มที่สองรวมในขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่งเป็นอันดับสองในกลุ่มที่สองรองจากเกาหลีใต้ ในขณะที่ไต้หวัน แม้มีการฟื้นตัวทาง GDP ที่แข็งแกร่งเท่ากับสิงคโปร์แต่การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแออยู่ สำหรับประเทศเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์นั้นยังคงมีการฟื้นตัวทาง GDP ที่ไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเอเชียในกลุ่มที่ 2 ด้วยกันแต่มีการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในระดับสูง โดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางการบริโภคภายในประเทศที่สูงที่สุดในกลุ่มที่สอง สะท้อนถึงการ Re-balance growth และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

“ประเทศในกลุ่มที่สองที่มีระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในกลุ่มคือประเทศไทยซึ่งไม่เพียงแต่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดเท่านั้นหากแต่การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศยังแย่ที่สุดในกลุ่มที่สอง ในขณะที่ มาเลเซีย แม้ว่าจะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีเท่ากับประเทศอื่นรวมทั้งการบริโภคภายในประเทศด้วยแต่ตัวเลขของมาเลเซียในสองด้านนี้ยังดีกว่าประเทศไทย” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤติการเงินและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีผลช่วยให้เกิดการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง (Change) ในหลายภาคส่วน แต่สำหรับความเห็นของ SCRI ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงยังคงไม่เท่ากับความคาดหวังหรือความตั้งใจของผู้ดำเนินนโยบาย (Policy maker) ดังนั้น จึงประเมินว่าวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ จึงยังคงไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ

สำหรับเรื่องที่จะเป็นประเด็นสำคัญในช่วง 1 ปีจากนี้ไป คือ การแยกตัวกันของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน รวมถึงวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากัน ซึ่งผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจคาดว่าจะเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ในเบื้องต้นสามารถสรุปได้ว่า ประเทศในเอเชียมีโอกาสมากที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศในสหรัฐฯและยุโรปเนื่องจากภาคสถาบันการเงินมีความพร้อมในการกลับมาปล่อยสินเชื่อได้เร็วกว่า เนื่องจากเกิดความเสียหายไม่มาก และที่สำคัญประเทศในเอเชียสามารถระดมทุนในประเทศได้แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นก็ตาม

ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าทุกประเทศทั่วโลกคงต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 1 ปีข้างหน้า โดยเร็วที่สุดน่าจะเป็นไตรมาสที่ 1/53 ทั้งนี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะเริ่มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าวัตถุดิบเริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว โดยเฉพาะวัตถุดิบหลัก เช่น น้ำมัน เหล็ก สินค้าเกษตร ในขณะเดียวกัน คาดว่า ปริมาณเงินที่อยู่ในระบบเป็นจำนวนมากจะเริ่มส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเงินเฟ้อมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายจะส่งผลให้ระดับของความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจลดลง โดยมีความเสี่ยงที่จะหันกลับมาดูแลเศรษฐกิจของประเทศตนเองมากขึ้น โดยปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ คือ การค้าระหว่างประเทศที่ลดลง