แรงงานไทยในต่างประเทศปี’52 … เงินส่งกลับลดลง 5,000-10,000 ล้านบาท

แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกจะสะท้อนให้เห็นทิศทางของการฟื้นตัว และล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ก็ได้ปรับเพิ่มประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เป็นหดตัวร้อยละ 1.1 ในปีนี้ และขยายตัวสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 3.1 ในปี 2553 จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน ก.ค. 2552 ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวร้อยละ 1.4 ในปีนี้ และขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีสัญญาณที่น่ากังวลอยู่จากตัวเลขการว่างงานที่ยังคงมีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ภาวะดังกล่าว ย่อมมีส่วนส่งผลกระทบต่อตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ตลอดจนรายได้ส่งกลับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศล่าสุด
ตัวเลขแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศเดือนสิงหาคม 2552 ยังดีขึ้นไม่ทั่วถึงในทุกประเทศ
จากรายงานตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเบื้องต้นตั้งแต่ต้นปีพบว่า จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศสะสมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 7.3 (Year-on-Year: YoY) โดยมีจำนวน 102,761 คน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีแรงงานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวน 110,852 คน

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่า จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศล่าสุดในเดือนส.ค. 2552 อยู่ที่ 12,403 คน ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับที่เคยลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 14 ปีที่เพียง 9,592 คน ในเดือนมี.ค. 2552 ขณะที่ หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) แรงงานไทยในต่างประเทศในเดือนส.ค. ลดลงร้อยละ 3.2 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 4.5 ในเดือนก่อนหน้า อันสอดคล้องกับผลที่ได้จากการปรับปัจจัยด้านฤดูกาลที่หดตัวร้อยละ 1.1 (YoY, Seasonal Adjusted) ในเดือนส.ค.เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.6 ในเดือน ก.ค.

แม้การเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จะสะท้อนถึงสถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศในภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้น อันน่าจะเป็นผลส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month: MoM) การฟื้นตัวขึ้นของสถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศยังคงไม่มีเสถียรภาพ เห็นได้จากจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในเดือนส.ค.ที่ 12,403 คนดังกล่าว ยังคงลดลงร้อยละ 15.6 จากเดือนก.ค.ที่อยู่ที่ 14,700 คน นอกจากนี้ หากพิจารณาแยกเป็นรายประเทศแล้วพบว่า ตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในเดือนส.ค. 2552 ยังให้ภาพที่ไม่ชัดเจน โดยในบางประเทศก็ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ ในประเทศไต้หวัน และญี่ปุ่น ขณะที่ในบางประเทศยังคงมีจำนวนแรงงานไทยที่ลดลงจากเดือนก่อน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอิสราเอล

ขณะที่ รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยในต่างประเทศในเดือนสิงหาคม 2552 ลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน แม้จะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 16.8 ในเดือนก.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 11.3 (YoY) อย่างไรก็ตาม การหดตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้ส่งกลับในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 รายได้ส่งกลับมีเพียง 36,432 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.7 (YoY) เทียบกับที่เติบโตถึงร้อยละ 11.9 ในปี 2551 หรือคิดเป็นเงินที่หายไปประมาณ 6.2 พันล้านบาท

แนวโน้มแรงงานไทยในต่างประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2552 สัญญาณการฟื้นตัวยังคงเปราะบาง โดยอาจได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
เศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงาน แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะเริ่มมีสัญญาณบวกจากการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจบางส่วน แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง อย่างเช่น ประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็น 3 ประเทศแรกที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ล่าสุดทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ และจากมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ บ่งชี้ถึงสัญญาณการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศสิงคโปร์และเกาหลีใต้ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในเดือนก.ค.-ส.ค. 2552 หลังจากหดตัวเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2551 ขณะที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไต้หวันก็หดตัวน้อยลงในเดือนพ.ค. 2552 นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศด้วย โดยประเทศเกาหลีใต้ มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2552 ส่วนเศรษฐกิจของไต้หวันและสิงคโปร์ มีแนวโน้มหดตัวเท่ากันที่ร้อยละ 4.1 ในปีนี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการหดตัวที่น้อยลงจากมุมมองในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ประเทศปลายทางดังกล่าว ก็ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยประเทศไต้หวัน มีอัตราการว่างงานในเดือนส.ค. ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 เทียบกับร้อยละ 5.9 และร้อยละ 6.0 ในเดือนมิ.ย. และก.ค. ตามลำดับ อีกทั้งยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2551 ขณะที่ในประเทศสิงคโปร์ อัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.4 ตั้งแต่ไตรมาส 4/2551 พุ่งขึ้นสู่ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 4.2 ในไตรมาส 1/2552 และไตรมาส 2/2552 ตามลำดับ ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ แม้อัตราการว่างงานจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ในเดือนก.ค. และส.ค. แต่ก็ยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 3.1 สำหรับตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจแม้จะดูดีขึ้น แต่ก็คาดว่าเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลาในการดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกิน และแรงงานที่ว่างงานอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งในระหว่างนี้อาจทำให้ความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยยังคงชะลอตัว

นโยบายด้านแรงงานของประเทศปลายทางที่แรงงานไทยจะเดินทางไปทำงาน ในภาวะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ กำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศยังเหลืออยู่มาก อาจทำให้การจ้างแรงงานต่างชาติในหลายประเทศมีการจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติ ดังนี้

กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคแรกที่แรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศส่วนใหญ่จะเดินทางไปทำงาน (ประมาณร้อยละ 50 ของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศทั้งหมด) โดยประเทศที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงานสูงสุด 2 ประเทศคือ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเกือบครึ่งของแรงงานไทยที่ไปทำงานในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ประเทศไต้หวัน รัฐบาลเตรียมแก้ไขระเบียบการนำเข้าแรงงานต่างชาติ รวมถึงลดจำนวนแรงงานต่างชาติในสาขาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อให้คนท้องถิ่นได้เข้ามาทำงาน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ที่รัฐบาลมีนโยบายจูงใจให้จ้างแรงงานชาวสิงคโปร์มากกว่าแรงงานต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันแรงงานไทยได้รับอนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะในกลุ่มงานก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และงานรับใช้ในบ้าน แม้การจ้างงานในภาคก่อสร้างจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังคงขยายตัวได้ แต่ก็เป็นการเพิ่มในอัตราที่ชะลอลง

นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลมีโยบายรับแรงงานชาวญี่ปุ่นเข้าทำงานก่อน เว้นแต่งานบางประเภทที่คนญี่ปุ่นไม่ถนัดหรือไม่ทำ เช่น อาชีพเฉพาะทางหรือแรงงานกึ่งฝีมือในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะที่ มีการกำหนดคุณสมบัติแรงงานฝีมือชาวต่างชาติไว้ว่าต้องมีประสบการณ์ 10 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สูงมาก จึงทำให้การรับแรงงานต่างชาติเข้าสู่ตลาดแรงงานญี่ปุ่นในปีนี้น่าจะมีจำนวนไม่มากนัก

กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคในอันดับรองลงมาที่แรงงานไทยจะเดินทางไปทำงาน (ประมาณร้อยละ 20 ของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด) ก็มีข้อกัดด้านนโยบาย อาทิ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีนโยบายจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติ โดยลดจำนวนแรงงานต่างชาติและครอบครัวลงเหลือไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2556 และกำหนดโควต้าแรงงานต่างชาติแต่ละชาติไม่เกินร้อยละ 10 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานต่างชาติในแต่ละอาชีพ รวมไปถึงมาตรการจูงใจให้นายจ้างจ้างแรงงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น ประเทศบาห์เรน มีนโยบายจ้างแรงงานในประเทศแทนการจ้างแรงงานต่างชาติและเก็บค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างชาติให้สูงขึ้น ส่วนประเทศคูเวต ก็มีนโยบายจำกัดจำนวนแรงงานต่างด้าวด้วยเช่นกัน โดยหยุดการให้วีซ่าเป็นการชั่วคราวเป็นครั้งๆ ไป

ทั้งนี้ หากพิจารณาเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว ยังมีความแข็งแกร่ง จึงสามารถดำเนินโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหลักๆ ต่อไปได้ ทำให้มีความต้องการจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก จึงคาดว่าจะสามารถรองรับการจ้างแรงงานต่างชาติ รวมถึงแรงงานไทยในระยะกลาง และระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดแรงงานใหม่ในประเทศซาอุดิอาระเบียยังมีข้อจำกัดเนื่องจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียไม่อนุญาตให้นายจ้างจ้างแรงงานไทยเพิ่ม

ขณะที่ ประเทศอิสราเอล รัฐบาลก็พยายามลดจำนวนแรงงานต่างชาติลง เพื่อให้คนอิสราเอลเข้ามาทำงานแทน โดยเห็นได้จากโควต้าแรงงานต่างชาติในปี 2552 ที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติ และกำหนดนโยบายการจ้างงานแรงงานต่างชาติในปี 2552 เหลือเพียง 3 ประเภทงาน ได้แก่ 1) งานดูแลคนชราและผู้พิการ 2) งานเกษตร และ 3) งานร้านอาหาร จากเดิมที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานได้ 4 ประเภท คือ งานดูแลคนชราและผู้พิการ งานเกษตร งานร้านอาหาร และงานก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขที่สูงขึ้นในงานดูแลคนชราและผู้พิการ ขณะที่ งานเกษตรได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดวิธีการให้คนอิสราเอลมาทำงานและเสนอมาตรการลดจำนวนแรงงานต่างชาติ ส่วนงานร้านอาหาร ในปี 2552 อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานร้านอาหารได้เพียง 500 คน จนถึง 30 มิถุนายน 2553 และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 เป็นต้นไป ไม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานร้านอาหาร ยกเว้นผู้ชำนาญการ

โดยสรุป แม้สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศล่าสุดจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศทั้งสิ้นจำนวน 12,403 คน ในเดือนสิงหาคม 2552 ลดลงร้อยละ 3.2 (YoY) เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.5 ในเดือนก่อน ขณะที่ สถานการณ์ในภาพรวมฟื้นตัวขึ้นจากในเดือนมีนาคม 2552 ที่มีแรงงานได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศเพียง 9,592 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 14 ปี (นับตั้งแต่ที่มีการจัดเก็บข้อมูลรายเดือนในปี 2538) อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้ว จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศยังคงปรับลดลง ซึ่งสะท้อนว่าการฟื้นตัวอาจยังไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ หากพิจารณาแยกเป็นรายประเทศแล้วพบว่า ตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในบางประเทศยังคงปรับตัวแย่ลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน อาทิ ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอิสราเอล ขณะที่ รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ แม้จะหดตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 16.8 (YoY) ในเดือนก.ค. มาเป็นหดตัวร้อยละ 11.3 ในเดือนส.ค. แต่ก็เป็นการลดลงต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ส่งผลให้รายได้ส่งกลับลดลงร้อยละ 14.7 (YoY) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 ในปี 2551 หรือคิดเป็นเงินที่หายไปประมาณ 6.2 พันล้านบาท

สำหรับแนวโน้มแรงงานไทยในต่างประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการฟื้นตัวยังคงเปราะบาง ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการโดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายด้านแรงงานของประเทศปลายทาง ทั้งนี้ แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงานทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ จะมีสัญญาณบวกจากการปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานในประเทศดังกล่าวที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจทำให้ภาคธุรกิจคงต้องใช้เวลาในการดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกิน และแรงงานที่ว่างงานอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศยังมีข้อจำกัดจากนโยบายด้านแรงงานที่การจ้างงานในหลายประเทศปลายทางมีการจำกัด/ลดจำนวนแรงงานต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ประเทศไต้หวัน ที่รัฐบาลเตรียมแก้ไขระเบียบการนำเข้าแรงงานต่างชาติ รวมถึงลดจำนวนแรงงานต่างชาติในสาขาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อให้คนท้องถิ่นได้เข้ามาทำงาน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ที่รัฐบาลมีนโยบายจูงใจให้จ้างแรงงานชาวสิงคโปร์มากกว่าแรงงานต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันแรงงานไทยได้รับอนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะในกลุ่มงานก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และงานรับใช้ในบ้าน ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลมีนโยบายรับแรงงานชาวญี่ปุ่นเข้าทำงานก่อน เว้นแต่งานบางประเภทที่คนญี่ปุ่นไม่ถนัดหรือไม่ทำ กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ประเทศซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน คูเวต และอิสราเอล ก็มีข้อจำกัดด้านนโยบายเช่นกัน

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง และข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศในปี 2552 ไว้ที่ 152,300-159,700 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 1.3-5.9 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2551 ส่วนแนวโน้มรายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในระยะถัดไป แม้คาดว่า น่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนพฤศจิกายน (YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผนวกกับยังอาจได้รับผลบวกจากความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทาง แต่การลดลงในช่วงต้นปีเป็นต้นมาจากการปรับลดของความต้องการแรงงานของต่างประเทศดังกล่าว ยังคงทำให้รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศในปี 2552 อาจจะลดลงประมาณร้อยละ 8.3-15.8 จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าของเงินส่งกลับที่ลดลงประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 อย่างไรก็ตาม จากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว คาดว่าน่าจะหนุนให้สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 อันน่าจะมีนัยเชิงบวกต่อรายได้ส่งกลับของแรงงานไทยให้มีโอกาสทยอยฟื้นตัวขึ้นตามไปด้วย