จีดีพีไตรมาส 4/2552 พุ่ง 5.8% สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจแกร่ง …คาดไตรมาสที่ 1/2553 อาจเติบโตถึง 6%

จากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 4/2552 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ขณะที่มูลค่าจีดีพีที่ปรับฤดูกาลก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonal Adjusted Quarter-on-Quarter) สูงกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของการใช้จ่ายของรัฐบาล การผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ ซึ่งทิศทางดังกล่าวสะท้อนถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2552 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี เส้นทางข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนในหลายด้าน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองและข้อสังเกตต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุด และแนวโน้มในระยะต่อไป ดังนี้

– เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2552 เป็นก้าวย่างสำคัญสู่การฟื้นตัวที่แข็งแรงขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2552 ที่ขยายตัวสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมากนี้ นับว่าเป็นก้าวย่างของพัฒนาการที่สำคัญของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย ที่สะท้อนว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง และมีความยืดหยุ่นที่ทำให้สามารถประคองตัวฝ่ามรสุมในปี 2552 มาได้ดีกว่าที่คาด แม้ต้องเผชิญวิกฤต 2 ด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของโลกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง โดยภาพรวมทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นอัตราที่ดีกว่าที่มีการประเมินกันไว้ในช่วงต้นปี 2552 ว่าจีดีพีจะหดตัวลงในระดับที่รุนแรง

– ปัจจัยที่เกื้อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงขับเคลื่อนต่อ โดยวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นแรงหนุนที่สำคัญต่อกิจกรรมการผลิตและการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมหลักของไทย รวมทั้งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของภาคการเกษตร ส่วนปัจจัยสนับสนุนจากภายในประเทศที่สำคัญคือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นโครงการลงทุนระยะปานกลางที่จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2555 แม้ในระยะแรกอาจมีความล่าช้า แต่ก็คาดว่าการเบิกจ่ายจะค่อยๆ เร่งตัวดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการ ซึ่งเพิ่มความยืดหยุ่นของทางเลือกในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ

– ตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณบวกชัดเจนนี้ เพิ่มความมั่นใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างแสดงท่าทีที่ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถรักษาแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสัญญาณเศรษฐกิจในช่วงระยะต่อไปยังคงบ่งชี้การฟื้นตัวที่มั่นคง ก็น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อการกำหนดนโยบายในระยะต่อไป โดยเฉพาะการเริ่มทยอยถอนมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลง อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่มีความอ่อนไหว และมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจได้นั้น ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะสั้นนี้ ทางการน่าจะยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ประคับประคองการฟื้นตัวให้มีความต่อเนื่องต่อไปได้ และอาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายมากนัก ขณะที่อาจรอดูหากสถานการณ์ทางการเมืองผ่านไปได้โดยสงบเรียบร้อย และตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่จะมีการประกาศในรอบหน้า คือ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมยังคงมีภาพที่แข็งแกร่ง ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทย

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2553 อาจมีการเติบโตที่ชะลอลงเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ, SA) แต่อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีโอกาสที่จะขึ้นไปอยู่ในระดับสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 จากฐานของมูลค่าจีดีพีที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาด ประกอบกับเป็นการเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1/2552 ซึ่งเป็นช่วงต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจถดถอยของไทยในรอบที่แล้ว ที่จีดีพีหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 (YoY) ทั้งนี้ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นดังกล่าว จะเป็นฐานสำหรับการเติบโตในไตรมาสถัดๆ ไป ที่น่าจะสูงขึ้นกว่าระดับที่เคยคาดการณ์ไว้ และจะส่งผลให้กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ที่ สศช. ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 3.5-4.5 มีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

โดยสรุป ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2552 สะท้อนนัยว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมีแรงส่งต่อมาสู่ปี 2553 ทั้งนี้ แม้หนทางข้างหน้าจะยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน แต่จากฐานมูลค่าจีดีพีที่สูงขึ้นในไตรมาสก่อนหน้า จะส่งผลให้จีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 1/2553 มีโอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 และจะเป็นพื้นฐานสำหรับการฟื้นตัวอย่างมั่นคงขึ้นในระยะต่อไป หากสถานการณ์บ้านเมืองผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อย สำหรับผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความรุนแรงของเหตุการณ์ ถ้าเหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นความรุนแรง ก็จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ผ่านผลกระทบที่มีต่อการท่องเที่ยว การลงทุน การใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐที่อาจล่าช้าออกไป โดยในกรณีเลวร้าย จีดีพีอาจหายไปมากกว่าร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
– ทิศทางเศรษฐกิจจีน ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังให้เป็นการชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) หลังจากจีนเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาฟองสบู่และทางการจีนออกมาตรการควบคุมสินเชื่อมาเป็นระยะ แต่ยังคงต้องติดตามว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และฐานะของสถาบันการเงินในจีนเช่นใด

– การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทของไทย ทั้งนี้ การส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟด จากร้อยละ 0.50 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.75 นั้น สะท้อนว่าเฟดมีความมั่นใจพอสมควรว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแรงเพียงพอที่จะขับเคลื่อนต่อไปได้ภายใต้กลไกปกติ

– การแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศในยุโรป ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าแผนการควบคุมการขาดดุลการคลังและระดับหนี้สาธารณะของกรีซ สเปน โปรตุเกส และประเทศอื่นที่มีระดับสูงจนน่าวิตก อาจจำกัดศักยภาพในการฟื้นตัวของภูมิภาคยุโรปโดยรวม และอาจมีผลกระทบกลับมาที่ธนาคารและสถาบันการเงินในเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ประเทศดังกล่าว

– ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ในตลาดโลก และปัจจัยด้านสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาวะแล้งในประเทศ ที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น และเร่งภาวะเงินเฟ้อของไทย ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

– ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงตามกรอบเวลาที่ชี้แจงแก่นักลงทุนไว้ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้กลับคืนมา เนื่องจากปัจจุบัน ภายใต้สภาพแวดล้อมการเปิดเสรีและจะค่อยๆ ก้าวสู่การเปิดเสรีภายในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยจำเป็นต้องเสริมจุดแข็งเพื่อสร้างความน่าดึงดูดในการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอาเซียน