เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ประกาศร่างสรุปข้อสนเทศฉบับใหม่สำหรับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and Beyond ในย่านความถี่ 2.1 GHz โดยในเนื้อหาได้มีการแก้ไข และเพิ่มเติมรายละเอียดในบางประเด็นที่เป็นข้อสงสัย และเป็นที่ถกเถียงกันจากในร่างฯ เดิม ที่ประกาศไว้เมื่อเดือนกันยายน 2552 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไข
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงร่างดังกล่าวที่น่าจะมีต่อผู้ให้บริการ และสภาพตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนี้
มูลค่าใบอนุญาตที่สูงขึ้น…อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกระทบต้นทุน
จากการที่เนื้อหาในร่างฯ ฉบับใหม่ ได้ปรับมูลค่าขั้นต่ำของใบอนุญาตเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว ในขณะที่ลดจำนวนใบอนุญาตลง น่าจะทำให้ผู้ให้บริการต้องเผชิญต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าแผนการณ์เดิมตามราคาที่กำหนดไว้ในร่างฯฉบับก่อน ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระค่าใบอนุญาตให้สามารถแบ่งชำระเป็น 3 งวด ซึ่งน่าจะบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และการจัดหาเงินลงทุนไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ภายใต้เงื่อนไขด้านความครอบคลุมการให้บริการที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดการให้บริการในระบบใหม่ต้องครอบคลุมทุกจังหวัดในปีที่ 2 ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถเลือกลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดผู้ใช้บริการเสริมที่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง จึงอาจจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนในการลงทุนของผู้ให้บริการในระยะแรก
ทั้งนี้การเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาต 3G ของผู้ให้บริการแต่ละราย น่าจะพิจารณาจากต้นทุนที่จะเกิดขึ้น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการให้บริการในระบบใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ร่างฯฉบับใหม่ อาจทำให้ต้นทุนในการให้บริการในระบบ 3G เพิ่มขึ้น แต่ยังคงเห็นว่า ประโยชน์จากต้นทุนรายปีที่อาจลดลงในส่วนที่ผู้ให้บริการเอกชนในระบบ 2G เดิมต้องเสียให้กับรัฐวิสาหกิจในอัตราร้อยละ 20-30 ต่อปี หรือราว 5,000-20,000 ล้านบาท (ขึ้นกับรายได้ของผู้ให้บริการแต่ละราย) น่าจะเป็นส่วนสำคัญให้การลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งการเปิดบริการในระบบ 3G มีความคุ้มค่า และยังคงดึงดูดให้ผู้ให้บริการเอกชนตัดสินใจเข้าร่วมประมูล
แต่อย่างไรก็ดีการใช้กลยุทธ์ในการโน้มน้าวให้ผู้ใช้บริการย้ายจากระบบ 2G มายังระบบใหม่ที่ผู้ให้บริการมีใบอนุญาตเอง เป็นโจทย์ท้าทายผู้ให้บริการ เพราะจะสะท้อนถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในเม็ดเงินมหาศาลนี้ หากผู้ให้บริการรายใดมีความพร้อมในการเปิดให้บริการก่อนคู่แข่ง อีกทั้งมีอัตราค่าบริการหรือโปรโมชั่นที่น่าสนใจ ก็น่าจะจูงใจลูกค้าให้ย้ายมาระบบใหม่ได้เร็ว และยังอาจเป็นโอกาสดีในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งโดยมีมาตรการคงสิทธิเลขหมายที่ กทช. กำหนดให้เปิดให้บริการภายในเดือนสิงหาคม 2553 เป็นปัจจัยหนุนให้ผู้ใช้ตัดสินใจเปลี่ยนเครือข่ายได้ง่ายขึ้น
สร้างโอกาสให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ในฐานะ MVNO
ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 95 ถือครองโดยผู้ให้บริการเอกชนรายใหญ่เพียง 3 ราย เนื่องจากการลงทุนด้านโทรคมนาคมต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากทั้งการลงทุนในโครงข่าย ระบบ และอุปกรณ์ ประกอบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมค่อนข้างจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานรัฐมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากเป็นบริการพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ทั้งนี้แม้ว่าช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการที่เป็นรัฐวิสาหกิจจะเพิ่มบทบาทในการดำเนินงานเชิงธุรกิจมากขึ้น แต่อาจยังไม่สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากเอกชนได้มากนัก เนื่องจากความครอบคลุมของโครงข่ายที่ยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ รวมถึงยังเป็นช่วงต้นของการลงทุนซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นในบริการให้แก่ผู้ใช้โดยทั่วไป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายอื่นเข้าร่วมใช้โครงข่ายเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะ MVNO (Mobile Virtual Network Operators) น่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่อาจมีทุนไม่มากนักเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น โดยในเบื้องต้นธุรกิจที่น่าจะขอเข้าร่วมเช่าใช้โครงข่าย น่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหรือเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เช่น ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการเพิ่มบทบาทของผู้ให้บริการเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตในฐานะผู้ค้าส่งบริการ ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งแหล่งรายได้ใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ดีก็อาจจะส่งผลต่อการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปบางส่วน อันเนื่องจากผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากขึ้น
สร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาตในแง่ประสิทธิภาพของความถี่
การเปิดประมูลใบอนุญาต 3G โดยปรับความกว้างแถบความถี่ (Bandwidth) ให้เท่ากับ 2×15 MHz ทุกใบ จะทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทุกรายมีปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าความเหลื่อมล้ำของคุณภาพความถี่จะคลี่คลายลงไป แต่ความสามารถในการบริหารจัดการความถี่ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การให้บริการในแต่ละเครือข่ายมีความแตกต่างกัน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งกว่าน่าจะได้เปรียบ ทั้งการพัฒนาระบบ อุปกรณ์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความถี่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการขยายความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการก่อนคู่แข่ง รวมถึงการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆเสริม เช่น การโฆษณาที่เข้มข้น การออกโปรโมชั่น และการใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่จูงใจผู้ใช้ได้เสมอ
ประเด็นที่ต้องติดตาม
มูลค่าใบอนุญาตขั้นต่ำที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากมูลค่าต่ำเกินไป ก็อาจกระทบต่อรายได้ที่จะกลับเข้าสู่รัฐ และหากมูลค่าสูงเกินไป อาจกีดกันผู้ให้บริการบางราย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงภาวะการแข่งขันในตลาด รวมถึงค่าบริการในระบบใหม่ที่อาจสูงขึ้นและจะเป็นภาระของผู้บริโภคในที่สุด
ความชัดเจนในการใช้เทคโนโลยีในความถี่ที่เปิดประมูล เนื่องจากการเปิดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz มีความล่าช้ามานาน ดังนั้น กทช. จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้ผู้ได้รับใบอนุญาตได้ก้าวผ่านระบบ 3G ไปสู่ระบบ 3.9G ที่มีความเร็วที่สูงกว่าถึง 20 เท่า แต่อย่างไรก็ดีร่างฯฉบับใหม่มิได้กำหนดว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องเปิดให้บริการในระบบใด ในขณะเดียวกันก็ยังคงกำหนดอัตราการส่งข้อมูลจากสถานีฐานไปยังผู้ใช้บริการขั้นต่ำอยู่ที่ 700 kbps เช่นเดิม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลควรติดตามความชัดเจน เนื่องจากจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านโครงข่ายและระบบ ที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม
แนวคิดการแปรสัญญาสัมปทานก่อนเปิดประมูล แนวคิดนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานที่ต้องขาดส่วนแบ่งรายได้ที่ถือว่าเป็นรายได้หลัก หากผู้ให้บริการเอกชนที่เป็นคู่สัญญาย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานไปยังระบบ 3G ที่มีใบอนุญาตเอง ซึ่งการแปรสัญญาสัมปทานอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงภายใต้สัญญาสัมปทานเดิม หรือมีเงื่อนไขบางอย่างเพื่อมาชดเชยกับระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งที่ผู้ให้บริการเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลควรจะนำมาพิจารณา
ความคืบหน้าของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ระบุถึงการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะมีอำนาจโดยตรงในการจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. … ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าวประเมินว่า การจัดตั้งกสทช. น่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2554 โดย กสทช. จะมีบทบาทในการกำหนดสภาพแวดล้อมการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมในอนาคต ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนที่เข้าร่วมประมูลอาจต้องพิจารณาประกอบด้วย
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหา และการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมบางส่วนในร่างสรุปข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and Beyond ย่านความถี่ 2.1 GHz ฉบับใหม่นี้ อาจนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ให้บริการ ในขณะเดียวกันก็อาจเพิ่มภาวะการแข่งขันในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่มีทุนไม่มากนัก เข้ามาทำตลาดในลักษณะผู้เช่าใช้โครงข่าย (MVNO)
อย่างไรก็ดีแม้ว่าการปรับปรุงร่างฯใหม่จะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ยังมีหลายประเด็นที่ต้องจับตา เช่น มูลค่าขั้นต่ำของใบอนุญาตที่เหมาะสม ความชัดเจนในการกำหนดระดับการใช้เทคโนโลยีในคลื่นความถี่ใหม่ การแปรสัญญาสัมปทานก่อนการเปิดประมูล ซึ่งล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อการวางแผนทางการเงินของผู้ให้บริการทั้งสิ้น โดยผู้ให้บริการยังคงต้องติดตามการทำประชาพิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน นี้ ที่อาจก่อให้เกิดประเด็นใหม่ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางประการ และอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดกรอบเวลาว่าจะสามารถเปิดประมูลภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ตามที่ กทช. คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้นหรือไม่
ระบบ 3G ความถี่ 2.1GHz จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเสริมที่ต้องอาศัยคุณภาพโครงข่าย และคลื่นความถี่ที่มีความกว้างเพียงพอที่จะทำให้การรับส่งข้อมูลมีความรวดเร็ว ซึ่งน่าจะทำให้อัตราการเติบโตของตลาดบริการเสริมมีทิศทางที่ดีขึ้นจากที่ผ่านมาที่แม้ว่ามูลค่าตลาดจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่ลดลง อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านคุณภาพคลื่นที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าสู่ตลาด
ทั้งนี้แม้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนจะเปิดให้บริการ 3G บนความถี่เดิมบ้างแล้ว แต่เนื่องจากการให้บริการยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ อีกทั้งประสิทธิภาพของความถี่ที่มีข้อจำกัด จึงอาจกระตุ้นการเติบโตของบริการเสริมในปีนี้ได้ไม่มากนัก สำหรับปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดบริการเสริมน่าจะมีมูลค่าประมาณ 27,000-28,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5-14.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 15.22 แต่หลังจากการเปิดให้บริการด้วยเทคโนโลยี 3G บนความถี่ 2.1 GHz อย่างเต็มรูปแบบแล้ว มูลค่าตลาดบริการเสริมน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้ในระดับสูงขึ้นในปีข้างหน้า