เอสซีจี ฉลอง 8 รอบแห่งความยั่งยืน ประกาศเป็นต้นแบบองค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสู่การเป็นธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ เน้นนำวัสดุเหลือใช้หรือของเสียจากอุตสาหกรรมมาปรับปรุงใช้เป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติ ลดการตัดต้นไม้ป่าปลูกได้ 2.5 ล้านต้นจากเยื่อ Eco Fiber ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตันต่อปีจากลมร้อนเหลือใช้ ตั้งงบวิจัยพัฒนา 1,000 ล้าน พัฒนาสินค้านวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค สร้างฝายชะลอน้ำครบ 20,000 ฝาย เพิ่มความชุ่มชื้นผืนป่าและเสริมความเข้มแข็งชุมชน
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวในโอกาส “SCG 96 ปี 8 รอบแห่งความยั่งยืน” ว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2456 มาจนถึงปีที่ 96 นั้น เอสซีจี มีความมุ่งมั่นเป็นต้นแบบธุรกิจที่ดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากปรัชญาการดำเนินธุรกิจตามหลักอุดมการณ์ 4 ของเอสซีจี เพราะเชื่อมั่นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะนำพาธุรกิจและสังคมเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างมั่นคง โดยดำเนินกลยุทธ์เพื่อสร้างความสมดุลในทุกๆ ด้าน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการพัฒนากระบวนการผลิต รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก SCG eco value
“ในฐานะผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เอสซีจีให้ความสำคัญในการเป็นแบบอย่างที่ดีของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากร โดยนำวัสดุเหลือใช้หรือของเสียจากอุตสาหกรรมมาปรับปรุงใช้เป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงทดแทน เช่น การนำขวดแก้วใช้แล้วเป็นวัตถุดิบในการผลิตฉนวนกันความร้อนแทนการใช้ทรายธรรมชาติ การใช้เยื่อ Eco Fiber เยื่อจากผลิตผลการเกษตรหรือเศษกระดาษใช้แล้ว มาผลิตเป็นกระดาษรีไซเคิล “Idea Green” ซึ่งสามารถช่วยลดการตัดต้นไม้จากป่าปลูกได้ถึง 2.5 ล้านต้น การใช้ระบบหมุนเวียนน้ำในการผลิตเคมีภัณฑ์ ที่สามารถช่วยลดการใช้น้ำใหม่ได้ถึง 2,700 ล้านลิตร และการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการนำเอาลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์กลับมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 300,000 ตันต่อปี
ส่วนด้านสังคม มุ่งดูแลชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล พึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาสู่การเป็นชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคน มอบทุนการศึกษาเยาวชนทั้งในไทยและในประเทศอาเซียนที่เอสซีจีเข้าไปลงทุน รวมปีละ 5,000 ทุน และมุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการ SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต สนับสนุนชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อความชุ่มชื้นของผืนป่า คืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2546 เอสซีจีได้ร่วมสร้างฝายกับชุมชนแล้ว 16,000 ฝาย และตั้งเป้าหมายที่จะสร้างให้ครบ 20,000 ฝาย ภายในปีนี้ เพื่อร่วมฉลอง 8 รอบแห่งความยั่งยืน
สำหรับด้านเศรษฐกิจ เอสซีจีมุ่งพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการ ที่แท้จริงและยกระดับความพึงพอใจของผู้บริโภค ในปีที่ผ่าน สามารถสร้างยอดขายจากสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added) ได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 25% ของยอดขายรวม หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยใช้งบด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) 880 ล้านบาท และในปีนี้ได้ตั้งเป้างบ R&D เพิ่มขึ้นเป็น1,000 ล้านบาท” นายกานต์ กล่าว
นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า การมุ่งมั่นเป็นต้นแบบการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากจะต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอแล้ว ยังต้องเชิญชวนให้ผู้ประกอบรายอื่นพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนด้วย โดยล่าสุด เอสซีจี ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในมาบตาพุด ได้แก่ ปตท บีแอลซีพี โกลว์ และดาว เคมิคอล จัดตั้งกลุ่ม “เพื่อนชุมชน” ซึ่งนับเป็นความร่วมมือของอุตสาหกรรมครั้งแรกของไทย ทำข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาต้นแบบโรงงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมตรวจสอบดูแลกันเอง และเน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา เพื่อให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและอย่างยั่งยืน
“ด้วยแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม บนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เอสซีจียึดถือมาโดยตลอด จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เอสซีจีเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง พร้อมก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง” นายกานต์ กล่าวในตอนท้าย