5 มาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออก…ยังคงไม่เปลี่ยนโจทย์เงินบาทแข็งค่า

หลังจากที่มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2553 ที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ระบุในเอกสารเผยแพร่ลงวันที่ 23 กันยายน 25531 ว่า กระทรวงการคลังจะออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่บุคคลรับอนญาต (ฉบับที่ 8) และประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 4) เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้นิติบุคคลและบุคคลไทยสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ สาระสำคัญสามารถสรุปออกเป็น 5 มาตรการหลัก ซึ่งรายละเอียดมีความสอดคล้องกับกระแสข่าวที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นนี้ ดังนี้:-

มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย
การผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินของทางการไทยในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความกังวลว่า กระแสการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนสู่ตลาดการเงินไทย (ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น) อาจทำให้มีแรงขายเงินตราต่างประเทศมากกว่าความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศ ซึ่งย่อมหนุนให้เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น โดยเงินทุนไหลเข้าดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ร่วมกับปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท (อาทิ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยโดยเปรียบเทียบ) ที่หนุนให้เงินบาททะยานทุบสถิติแข็งค่าสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 (แข็งค่าสุดในรอบ 13 ปี) ใกล้ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะขยับอ่อนค่าเล็กน้อยมายืนที่ระดับ 30.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ ขณะนี้ (บ่ายวันที่ 23 กันยายน 2553) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า …

ตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ปรับตัวรับรู้รายละเอียดของ 5 มาตรการนี้ไปมากแล้ว ขณะที่ เนื้อหาของบางมาตรการเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการที่ธปท.ได้เสนอไปยังกระทรวงการคลังแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมา
5 มาตรการที่ได้รับการผ่อนคลาย น่าที่จะเป็นมาตรการที่มุ่งวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และเอื้อประโยชน์ เพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่น ให้แก่ภาคเอกชนในการทำธุรกิจมากขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่มาตรการที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นสกัดการแข็งค่าของเงินบาท

แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทยังไม่เปลี่ยนแปลงหากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยและต่างประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในระยะใกล้ๆ นี้ โดยหากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามคาด และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ขณะที่ ตลาดการเงินโลกน่าที่จะยังให้น้ำหนักกับความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เช่นเดิม (แต่โอกาสของการเกิด Double Dip Recession ยังอยู่ในระดับต่ำ)

ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีโอกาสได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลงได้อีกในระยะข้างหน้าจากการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ รอบใหม่ (Quantitative Easing รอบ 2) ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในปี 2553 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแรงส่งต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แผ่วลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเครือธนาคารกสิกรไทย มองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าไปที่ระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2553 นี้ และมีโอกาสขยับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 2554

ดังนั้นคงต้องติดตามพัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางดังกล่าว อาจเป็นตัวสะท้อนว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย (ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนหนึ่งที่ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ) จะมีความต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้าหรือไม่ นอกจากนี้ คงต้องจับตามาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำมาใช้เพิ่มเติม (ตามรายงานข่าวจะเป็นเรื่องการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการกลุ่มเดินเรือสามารถชำระค่าระวางเป็นเงินสกุลต่างประเทศได้จากเดิมที่ต้องชำระเป็นเงินบาท) ซึ่งก็อาจรวมไปถึงการปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรเงินบาทในรูปแบบอื่นๆ หากอัตราการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะท้อนความเสี่ยงของการลงทุนที่มีลักษณะเพื่อการเก็งกำไร