เบียร์สิงห์ รุกตลาดหนักโค้งสุดท้ายรับไฮซีซันไตรมาส 4 อัดงบการตลาดหนัก เดินหน้ากระตุ้นยอดขายโต 4% รับตลาดเบียร์ 1 แสนล้านบาท ติดลบ 2 ปีซ้อน โอดปีนี้ติดลบ 8% หลังมีปัจจัยลบรุมเร้า เท 100 ล้านบาท ระเบิดแคมเปญใหญ่ “ต้องกล้า คนหัวใจสิงห์” ดึงศิลปิน 18 คน ลุยรายการไลฟ์ ซีรีส์ สิ้นปีรั้งบัลลังก์ครองแชร์ 60%
นายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการกลุ่มการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ กล่าวว่า สภาพตลาดเบียร์โดยรวมมูลค่า 1 แสนล้านบาท ในช่วง 8 เดือน ติดลบ 4% และคาดว่า สิ้นปีนี้ตลาดจะติดลบ 8% เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการติดลบในรอบ 2 ปีของตลาดเบียร์ จากปีที่ผ่านมาสภาพตลาดเบียร์ก็ติดลบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 หรือฤดูกาลจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริษัททุ่มงบสัดส่วนถึง 35-45% จากงบการตลาดรวมทั้งหมด เมื่อเทียบกับงบไตรมาส1และ3 ใช้ 30-40% และไตรมาส 2 ราว 25%
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตลาดเชิงรุกและกระตุ้นยอดขายสิ้นปีนี้ให้เติบโต 4% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และตอกย้ำผู้นำตลาดเบียร์โดยรวมครองส่วน 60% จากมูลค่า 1 แสนล้านบาท ล่าสุดบริษัททุ่มงบ100ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญ “ต้องกล้า คนหัวใจสิงห์” โดยการนำศิลปินและบุคคลที่มีชื่อสียงด้านต่างๆ 18 คน มาร่วมท้าทายความกล้า ไลฟ์ ซีรีส์ ภายใต้คอนเซปต์ “คิดดี กล้าทำ” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่คนในสังคมให้กล้าที่จะเอาชนะอุปสรรคสำคัญ คือ การชนะใจตัวเอง
การทำแคมเปญนี้มีด้วยกัน 3รูปแบบ ได้แก่ 1.การทำรายการโทรทัศน์ไลฟ์ ซีรีส์ 18 คนหัวใจสิงห์ของเมืองไทย ซึ่งให้แต่ละคนท้าทายความกล้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจคนในสังคม และรูปแบบที่ 2.การทำภาพยนตร์โฆษณา 8-9 ตัว ส่วนรูปแบบที่ 3.บนสื่อออนไลน์ในรูปแบบมิวสิก 7 เรื่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม กระทั่งถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าแคมเปญดังกล่าวผลักดันแบรนด์เบียร์สิงห์ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นภายใต้สโลแกน “คน หัวใจสิงห์”
ด้าน นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นฤดูกาลจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริษัทคาดว่าตลาดเบียร์ไม่เติบโต เนื่องจากยังมีปัจจัยลบต่างๆ เกิดขึ้น แต่หากมองสถานการณ์โดยรวม หรือบรรยากาศอาจจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า ด้วยการดำเนินตลาดเชิงรุก สิ้นปีนี้บริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตมาจากการช่วงชิงส่วนแบ่งจากคู่แข่งเป็นหลัก