แม้มีหลายปัจจัยรอหนุนราคาสินค้า…แต่ทางการไทย ยังมีเครื่องมือเพียงพอในการดูแลเงินเฟ้อ

แม้เดือนตุลาคม 2553 น่าจะเป็นเดือนที่มีหลากหลายปัจจัยหนุนระดับราคาผู้บริโภคให้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในเรื่องของปัจจัยทางด้านฤดูกาลจากเทศกาลกินเจ และปัจจัยเพิ่มเติมจากการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก และผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร อย่างไรก็ดี จากรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2553 ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 สะท้อนว่า ราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปยังคงมีระดับที่ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า (ปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.03 MoM เท่านั้น) เนื่องจากปัญหาอุทกภัยหลายแห่งทั่วประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม 2553 ยังคงส่งผลไม่ชัดเจนมากนักต่อดัชนีราคาผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คงจะต้องจับตาทิศทางของราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 ต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่า ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ขยายวงกว้างออกไป อาจหนุนให้ราคาสินค้าอาหารสดในบางหมวดเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่ ยังคงมีอีกหลากหลายปัจจัยที่รอกำหนดทิศทางของเงินเฟ้อในช่วงปี 2554 อาทิ ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ตลอดจนการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานทั้งในส่วนของภาคเอกชนและเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 2.5-4.0 ในปี 2554 เทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2553 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 3.3-3.6 กระนั้นก็ดี คาดว่า ทางการไทยยังคงมีเครื่องมือเพียงพอที่จะใช้ดูแลความเสี่ยงของเงินเฟ้อในช่วงปีข้างหน้า โดยภาครัฐก็อาจพิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ และการตรึงราคาพลังงานออกไป ขณะที่ ธปท.ก็ยังคงสามารถกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ หลังจากที่อาจจะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2553 เพื่อประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย

? ภาพรวมตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2553
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2553 ชะลอลงมากเกินคาดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่ากับระดับในเดือนก่อนหน้า เป็นสถานการณ์ที่ตอกย้ำว่า แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความกังวลต่อความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้ออาจผ่อนคลายลงได้บ้างในระยะสั้น สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.4 (YoY) และร้อยละ 0.9 (YoY) ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2553 ชะลอตัวเกินคาดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยระดับราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.03 จากเดือนก่อนหน้า (Month on Month: MoM) โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีระดับลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวลงถึงร้อยละ 0.39 (เนื่องจากราคาอาหารบางประเภทลดต่ำลงในช่วงเทศกาลกินเจ อาทิ เนื้อหมูลดลงร้อยละ 4.0 และไข่ลดลงร้อยละ 2.5) ซึ่งได้ส่งผลหักล้างการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าในอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ขยับขึ้นร้อยละ 0.28 ตามการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศร้อยละ 2.6 เป็นสำคัญ

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดเพียงร้อยละ 2.8 (Year on Year: YoY) ในเดือนตุลาคม (เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 จากผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters และร้อยละ 3.5 ที่ประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ต่ำลงจากร้อยละ 3.0 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในเดือนตุลาคม 2552 เป็นสำคัญ ซึ่งทิศทางของอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงดังกล่าว อาจสะท้อนให้เห็นถึง ผลกระทบจากน้ำท่วมที่มีต่อราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงไม่ชัดเจน และ/หรือยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่มากนัก ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเข้าดูแลราคาสินค้าผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคม 2553 ยังคงทรงตัว โดยระดับราคาสินค้าผู้บริโภคที่ไม่นับรวมหมวดอาหารสดและพลังงาน ขยับขึ้นอีกร้อยละ 0.11 (MoM) ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคม ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.1 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับเดือนกันยายน และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 1.1-1.2 ตลอดต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สะท้อนว่า แรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศ ยังคงไม่เร่งตัวขึ้นมากจนสร้างความกังวลให้กับจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท. อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ขณะที่ ผู้ประกอบการในประเทศก็ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรึงราคาสินค้าไว้ต่อเนื่อง แม้ว่าอาจต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นไว้บางส่วนก็ตาม

? แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2553 และปี 2554
แม้แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จะมีลักษณะการเร่งตัวที่ช้ากว่าที่คาด และน่าจะทำให้ความกังวลต่อความเสี่ยงของเสถียรภาพทางด้านราคาผ่อนคลายลงไปบางส่วนในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คงจะต้องจับตาทิศทางของราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 ต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่า ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ขยายวงกว้างออกไป อาจหนุนให้ราคาสินค้าอาหารสดในบางหมวดเร่งตัวสูงขึ้น ประกอบกับเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ไม่สะดวก ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการกระจายสินค้าที่ไม่ทั่วถึงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 4/2553 อาจมีค่าใกล้เคียง หรือต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา แม้ว่าปัญหาอุทกภัยจะส่งผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นต่อทิศทางของราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.9 (YoY) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 3.3 ในช่วงไตรมาสที่ 3/2553 ที่ผ่านมา ขณะที่ การดูแลติดตามทิศทางราคาสินค้าผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่นัก น่าที่จะช่วยทำให้แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสามารถรักษาทิศทางการปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ต่อไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553

กระนั้นก็ดี ต้นทุนการผลิตที่ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของราคาวัตถุดิบนั้น อาจเป็นสถานการณ์ที่บีบให้มาร์จินของผู้ประกอบการหดแคบลง และอาจนำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาสินค้าในระยะถัดๆ ไป นอกจากนี้ การทะยานขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (สวนทางกับทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ) การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชนช่วงต้นปี 2554 และตามมาด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในช่วงเดือนเมษายน 2554 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของเงินเฟ้อในปี 2554 ด้วยเช่นกัน โดยประมาณการเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 อาจมีค่าอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 2.5-4.0 เทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2553 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 3.3-3.6

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการไทยยังคงมีเครื่องมือที่เพียงพอในการดูแลความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยในส่วนของภาครัฐ ก็อาจเลือกพิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ (หลังครบกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2553) และการตรึงราคาก๊าซ LPG/ NGV (หลังครบกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554) ออกไป ร่วมกับการดูแลราคาน้ำมันดีเซลและราคาสินค้าผู้บริโภคอื่นๆ ขณะที่ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ก็อาจกลับมาทำการคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปีข้างหน้า (หลังจากที่อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ตลอดในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้) หากแนวโน้มเงินเฟ้อโดยเฉพาะในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อเสถียรภาพทางด้านราคาอันเป็นภารกิจหลักของธปท. อย่างไรก็ดี คาดว่า ธปท.จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ก็เพื่อบรรเทาผลทางอ้อมที่มีต่อต้นทุนดอกเบี้ยของภาคธุรกิจ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ย และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ท่ามกลางแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่อาจชะลอตัวลงสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก