ภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2554 ยังคงสะท้อนถึงทิศทางการขยายตัวในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณการฟื้นตัวของเครื่องชี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ทยอยปรากฎขึ้นหลังปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาพด้านบวกของการฟื้นกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทย และภาพการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้นหลังการเลือกตั้ง น่าที่จะเป็นบรรยากาศที่เอื้อให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 สามารถขยายตัวได้สูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 4.0-5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก (วิกฤตด้านการคลังสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน) และจากแรงกดดันของความเสี่ยงเงินเฟ้อและการปรับสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตสำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศ
ภาคการผลิต และการใช้จ่ายในประเทศ…สะท้อนสัญญาณเชิงบวกบางส่วน
การทยอยฟื้นกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ช่วยทำให้ภาพรวมของเครื่องชี้ด้านการผลิตและปริมาณการจำหน่ายยานยนต์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2554 ขณะที่ บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน) ก็ได้รับแรงหนุนบางส่วนจากเม็ดเงินสะพัดในช่วงก่อนการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 และจากทิศทางของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ (ยกเว้นดีเซล) ที่ปรับตัวลงในกรอบร้อยละ 1.2-1.6 ในระหว่างเดือน
ทั้งนี้ การผลิตในหมวดอุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อการส่งออก พลิกกลับมาขยายตัวได้อย่างโดดเด่นในเดือนมิ.ย. (+6.2% YoY) หลังจากที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนก.พ.-พ.ค. นำโดย การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟเพื่อชดเชยระดับสินค้าคงคลังที่ลดลง ตลอดจนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและหลอดอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน นำโดย การผลิตยานยนต์ที่หดตัวในอัตราที่น้อยลงค่อนข้างมาก (-2.8% YoY ในเดือนมิ.ย. จาก -32.5% YoY ในเดือนพ.ค.) หลังจากที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทยอยคลี่คลายลงตั้งแต่ในช่วงสิ้นเดือนพ.ค.เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหลายรายการยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง (+5.6% YoY) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (+12.0% YoY) และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (+4.2% YoY) ขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ ก็สามารถพลิกจากที่ต้องเผชิญภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีในเดือนพ.ค.มาขยายตัวอีกครั้ง (+4.6% YoY) ในเดือนมิ.ย. ตามทิศทางที่ดีขึ้นของการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์
ทั้งนี้ แม้เครื่องชี้การลงทุนในภาพรวมจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางการนำเข้าสินค้าทุนที่เร่งตัวไปค่อนข้างมากแล้วในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า แต่เครื่องชี้การลงทุนในรายการอื่นๆ ในเดือนมิ.ย. อาทิ พื้นที่รับอนุญาตในเขตเทศบาล (+4.6% YoY) และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (+3.7% YoY) ยังคงขยายตัวได้ใกล้เคียง หรือสูงกว่าในเดือนพ.ค. ขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ก็หดตัวในอัตราที่ชะลอลง (-0.3% YoY)
มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวสูงจากเดือนก่อนหน้า…หนุนฐานะการเกินดุลต่างประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น
แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นแกนหลักของโลก จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมากขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2/2554 (ทั้งจากวิกฤตด้านการคลัง/หนี้สาธารณะในสหรัฐฯ และยูโรโซน และจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีภาพที่ชัดเจนขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินเชิงคุมเข้มอย่างต่อเนื่อง) อย่างไรก็ดี ภาพรวมของการส่งออกของไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ยังคงรักษาโมเมนตัมการขยายตัวในระดับที่ดีกว่าที่คาดไว้ได้
ส่วนในด้านมูลค่าการนำเข้านั้น ให้ภาพที่ตรงกันข้ามกับการส่งออก โดยการนำเข้าหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 8.2 (MoM) และชะลอการขยายตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 23.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เทียบกับที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 34.4 (YoY) ในเดือนพ.ค. โดยผลส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงค่อนข้างมาก ตามการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในระหว่างเดือน
บทรุป และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วนจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่กดดันมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 ทั้งจากการพุ่งสูงขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิต ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การฟื้นกำลังการผลิตจากฝั่งญี่ปุ่นในระดับที่เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และเม็ดเงินสะพัดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง น่าที่จะช่วยทำให้ระดับการชะลอตัวที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2/2554 ของไทยอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 อาจอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 0.5-0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ,s.a.) หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมร้อยละ 3.0-3.5 (YoY) ที่ประเมินไว้ในช่วงหลังเหตุพิบัติภัยในญี่ปุ่นเดือนมี.ค.
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากแรงเสียดทานทางการเมืองลดระดับลง หลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศและสามารถผลักดันบางมาตรการ อาทิ นโยบายการปรับเพิ่มรายได้ผ่านการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีและโครงการจำนำข้าว (ตลอดจนมาตรการตรึงราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซเอ็นจีวี ที่ใกล้ครบกำหนดสิ้นสุดระยะของมาตรการ) ได้ทันภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ก็อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และช่วยกระตุ้นให้การบริโภคของภาคเอกชนสามารถขยายตัวในกรอบที่สูงขึ้นกว่าร้อยละ 4.0 (YoY) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ซึ่งเป็นภาพด้านบวกที่ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี ที่การบริโภคอาจขยายตัวได้ราวร้อยละ 3.0 (YoY)
นอกจากนี้ การเร่งฟื้นกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยจากภาวะที่หยุดชะงักไปในช่วงไตรมาส 2/2554 ก็น่าที่จะช่วยหักล้างผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการส่งออกของไทยไปได้บ้างบางส่วน ซึ่งภาพด้านบวกทั้งหมดดังกล่าว เมื่อรวมกับปัจจัยฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่มีระดับต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0-5.6 (YoY) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบการขยายตัวร้อยละ 3.2-3.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 (ซึ่งทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.0)
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนควรติดตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ได้แก่ สถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลก (ทั้งในส่วนของแกนหลัก สหรัฐฯ และยุโรป ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการคลัง และภูมิภาคเอเชียที่ต้องคงขั้วนโยบายการเงินเป็นเชิงคุมเข้มเพื่อสกัดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก) ตลอดจนรายละเอียดที่ชัดเจนของมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน