พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เผยผลวิจัยความต้องการที่อยู่อาศัยในอนาคตของ Generation Y ในกรุงเทพฯ พบทำเลกรุงเทพฯ ชั้นในและกรุงเทพฯ ตะวันตกได้รับความนิยมสูงสุด เพราะชื่นชอบทำเลและความสะดวกสบายในการคมนาคม ชี้อายุ ทำเลและประเภทของที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีผลอย่างมากต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต พร้อมเชื่อความต้องการที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2 ล้านในเขตที่ใกล้แหล่งธุรกิจและชุมชนจะเป็น real demand ในตลาดได้ในอนาคตอันใกล้
นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า จากการวิจัยกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 19 – 30 ปี ที่ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Generation Y) จำนวน 400 คน ที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล เพื่อศึกษาพฤติกรรมการอยู่อาศัยและความต้องการที่อยู่อาศัยในอนาคตของคนรุ่นใหม่ พบว่า ทำเลที่กลุ่ม Gen Y สนใจซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต ได้แก่ กรุงเทพฯ ชั้นใน ร้อยละ 23.5, กรุงเทพฯ ตะวันตก ร้อยละ 23.5 และกรุงเทพฯ ตอนบน ร้อยละ 21.3 ซึ่งเหตุผลในการตัดสินซื้อ คือ ทำเลน่าสนใจและมีความชื่นชอบศักยภาพของทำเลนั้นๆ ส่วนการคมนาคมสะดวกเป็นปัจจัยรองลงมา นอกจากนั้น ทำเลที่ใกล้แหล่งธุรกิจและใกล้ที่ทำงาน รวมทั้งใกล้ที่พักอาศัยเดิมของครอบครัวก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเช่นกัน
“อายุยังเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกัน เพราะกลุ่มคนอายุน้อยกว่า (อายุระหว่าง 19 – 26 ปี) จะเลือกซื้อคอนโดมิเนียมมากกว่าคนอายุระหว่าง 27 – 30 ปี เพราะคนที่อายุน้อยหรือเพิ่งเริ่มต้นทำงานต้องการความสะดวก รวดเร็วและมีความคล่องตัวในการใช้ชีวิตสูง ส่วนทำเลที่อยู่ปัจจุบันก็เป็นอีกปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างคำนึงเวลาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเช่นกัน เพราะคนที่เคยชินกับการอยู่อาศัยในเมืองหรือกรุงเทพฯ ชั้นในจะมีการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียมสูงกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งเหตุผลประการหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเคยชินกับสภาพแวดล้อม ตลอดจนความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตและคมนาคมที่ได้รับในปัจจุบัน นอกจากนั้น คนที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือหอพัก อพาร์ตเมนต์ ยังมีแนวโน้มที่จะซื้อคอนโดมิเนียมในอนาคตมากกว่าคนที่อยู่บ้านหรือทาวน์เฮาส์อีกด้วย”
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า ในอนาคตคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะกับ Generation Y ที่มีอายุน้อย (19-26 ปี) แม้ว่าจะมีการกลัวว่าจะเป็น demand แฝงในตลาดคอนโดฯ ระดับนี้ เนื่องจากท้ายที่สุดคนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการซื้อบ้านเดี่ยวหรือบ้านแฝดซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม จากความต้องการซื้อมีสัญญาณบางอย่างสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการคอนโดของคนในกลุ่ม Generation Y มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น จากในอดีตบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เป็นความต้องการสูงสุด แต่ปัจจุบันปรับมาเป็นบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ คาดว่าเป็นผลจากระยะไม่กี่ปีมานี้ที่ supply คอนโดฯ มีจำนวนมากขึ้น คนทุนน้อยหรือมีความต้องการความคล่องตัวจะหันมาพักอาศัยในคอนโดฯ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ วัฒนธรรมเหล่านี้อาจแทรกซึมจนเกิดเป็น real demand ใหม่ ในระบบตลาดได้ในที่สุด
“จากผลการวิจัย ทำให้เราได้มองเห็นว่า ปัจจุบันแม้คอนโดมิเนียมยังไปได้ดีกับคน Generation Y ที่พักอาศัยในโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน เช่น สาทร พญาไท สุขุมวิท ฯลฯ และอาจจะเป็นที่ต้องการน้อยในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตก แต่อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ที่มีย่านธุรกิจ แหล่งงานหรือแหล่งชุมชนหนาแน่น เช่น บริเวณใกล้ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ รามคำแหง รามอินทรา หรือปิ่นเกล้า ก็ยังเป็นพื้นที่ที่คอนโดมิเนียมได้รับความสนใจจากคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากต้องการตอบสนองไลฟ์ไตล์การใช้ชีวิตที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางไปยังสถานที่ทำงาน ดังนั้น หากมีโครงการคอนโดมิเนียมที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทขึ้นในบริเวณดังกล่าวก็น่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่ม Gen Y เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องเป็นโครงการที่มีคุณภาพด้านงานก่อสร้าง การบริการหลังการขายและระบบรักษาความปลอดภัย” นายอนุกูล กล่าวสรุป