ตลาดนมถั่วเหลืองปลายปี 2554: เทศกาลกินเจกระตุ้นยอดจำหน่าย

เทศกาลกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 27 กันยายน -5 ตุลาคม ซึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนมถั่วเหลืองสูตรเจเป็นสินค้าหนึ่งที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงปกติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงเทศกาลนมถั่วเหลืองสูตรเจจะมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการทั้งการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ ซึ่งมีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น นับเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้ตลาดนมถั่วเหลืองในประเทศปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 10.0

ตลาดนมถั่วเหลืองปี ’54 มูลค่า 14,000 ล้านบาท: ผู้ประกอบการกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง

นมถั่วเหลืองเป็นผลิตภัณฑ์นมทางเลือก (Dairy Alternative) ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีการเติบโตสูง จนในปัจจุบันมูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 35 ของตลาดนมพร้อมดื่มในประเทศไทยที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 40,000 ล้านบาท1 เนื่องจากกระแสสุขภาพส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมเครื่องดื่มที่ทำมาจากธัญพืชมากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภครับรู้ถึงคุณประโยชน์ของนมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำตลาดอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการ โดยนมถั่วเหลืองนับเป็นผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับการกระตุ้นตลาดจากผู้ประกอบการมาโดยตลอด ตั้งแต่การคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านรสชาติที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อขยายฐานผู้บริโภค และการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้มีความสะดวกในการบริโภคมากขึ้น รวมทั้ง มีการนำกลยุทธ์ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าและเป็นการกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดนมถั่วเหลืองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้ในปี 54 ตลาดนมถั่วเหลืองขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้

  • การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำนมดิบ
  • จากกรณีที่ในปีนี้ราคาน้ำนมดิบในตลาดปรับเพิ่มขึ้นมา 2 ครั้ง จนมีราคาเป็น 18 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกนมวัวที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่นมถั่วเหลืองยังคงมีการตรึงราคาสินค้าต่อไป เนื่องจากมีส่วนประกอบจากน้ำนมดิบเพียงประมาณร้อยละ 1ทำให้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาของน้ำนมดิบไม่มากนัก อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่บริหารจัดการลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ แทน ซึ่งจากปัจจัยทางด้านราคา นับเป็นโอกาสของนมถั่วเหลืองที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาดื่มแทนนมวัวมากขึ้น เพราะลักษณะของสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ หากราคาน้ำนมดิบลดลง ผู้บริโภคอาจหันไปนิยมดื่มนมวัวตามปกติ

  • การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่
  • ซึ่งเข้ามาในตลาดนมถั่วเหลืองด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ หรือแบบ “นมถั่วเหลืองผง” ซึ่งถือเป็นการเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดที่หลีกเลี่ยงเผชิญการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายเก่า นับเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาสร้างเซกเมนต์ใหม่ให้กับตลาดนมถั่วเหลือง และอาจดึงดูดให้ผู้บริโภคที่นิยมดื่มน้ำเต้าหู้ เข้ามาสู่ตลาดนมถั่วเหลืองมากขึ้น

    จากปัจจัยดังกล่าวทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2554 มูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองโดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.0 จากปี 2553 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ดีกว่าปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 7 เนื่องจาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาและปริมาณเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มนมถั่วเหลืองที่มีรสชาติแบบดั้งเดิมที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของมูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองทั้งหมด

    นมถั่วเหลืองยุคใหม่…ต้องมีเซ็กเมนท์เตชั่น

    ตลาดนมถั่วเหลืองจากเดิมที่เน้นเจาะตลาดแมสจับกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายด้วยผลิตภัณฑ์เดียว และถูกมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์นมเพื่อตอบสนองความอิ่มท้อง หรือเพื่อใช้ดื่มระหว่างมื้ออาหารเท่านั้น แต่ในปัจจุบันตลาดนมถั่วเหลืองมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีการแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) ตามคุณลักษณะของลูกค้า เช่น เพศ อายุ หรือตามกระแสความนิยมต่างๆ อาทิ กระแสสุขภาพและความงาม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แต่ละประเภทจะเน้นการสร้างจุดขายเฉพาะกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เพื่อขยายตลาดนมถั่วเหลืองให้กว้างและครอบคลุมกับต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และเป็นจุดที่สามารถสร้างสินค้าให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ ทั้งนี้ สามารถจำแนกลักษณะของนมถั่วเหลืองที่นับเป็นแนวโน้มในอนาคตและทิศทางต่อไปของตลาดนมถั่วเหลือง ได้ดังนี้

    cellspacing=”2″>

    style=”vertical-align: top; text-align: center; font-weight: bold;”>ลักษณะนมถั่วเหลือง

    style=”vertical-align: top; text-align: center; font-weight: bold;”>รายละเอียด

    style=”vertical-align: top; text-align: center; font-weight: bold;”>เพิ่มส่วนผสม

    (Soya Plus)

    ด้วยลักษณะกลิ่นของนมถั่วเหลือง
    อาจเป็นข้อจำกัดในการขยายตลาด ดังนั้น
    การปรุงแต่งนมถั่วเหลืองด้วยกลิ่นสังเคราะห์ต่างๆ
    หรือการเพิ่มเติมรสชาติอื่นๆ ลงในส่วนผสม เช่น รสชาติของผลไม้ ชาเขียว
    หรือชอคโกแลต อาจสร้างจุดสนใจ หรือกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคได้
    เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดนมถั่วเหลือง
    และเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดของตลาดเครื่องดื่มประเภทอื่น
    อันจะเป็นการรักษาฐานลูกค้าของตลาดนมถั่วเหลืองต่อไป

    style=”vertical-align: top; text-align: center; font-weight: bold;”>ปลอดสารพิษ

    (Organic)

    เทรนด์ของการรับประทานอาหาร
    Organic (อาหารที่ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี และสารชีวภาพต่างๆ
    ในทุกขั้นตอนการผลิต) มีแนวโน้มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในอนาคต
    เป็นผลมาจากการดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ของผู้บริโภค
    ดังนั้น จากความต้องการดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์
    โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้สารเคมี
    และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะใดๆ ทั้งสิ้น
    เพื่อให้ได้เป็นนมถั่วเหลืองที่ปลอดสารพิษแท้จริง

    style=”vertical-align: top; text-align: center; font-weight: bold;”>คุณค่าทางอาหาร

    (Functional)

    ถั่วเหลืองมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
    แต่อาจยังไม่เทียบเท่ากับนม ไข่ หรือเนื้อสัตว์ ดังนั้น
    การเพิ่มคุณค่าทางอาหารลงไป อาทิ ธัญพืช วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ
    โดยต่อยอดจากสูตรดั้งเดิม เพื่อคุณค่าทางโภชนาการที่เพิ่มขึ้น
    และเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละวัย
    ทั้งนี้ ตลาดนมถั่วเหลืองของไทย
    มีผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองประเภทนี้อยู่เป็นจำนวนมาก
    และมีแนวโน้มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

    style=”vertical-align: top; text-align: center; font-weight: bold;”>สูตรน้ำตาลน้อย

    (Low Calorie/Diet)

    นมถั่วเหลืองประเภทนี้เข้ามาในตลาดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
    แต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน
    ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่รักสุขภาพ รูปร่าง และผิวพรรณ
    ทั้งนี้อาจมีการเพิ่มคุณค่าทางอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพและผิวพรรณที่ดี
    เพื่อให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

    เทศกาลกินเจปี’ 54…กระตุ้นยอดขายนมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.0

    นมถั่วเหลืองสูตรเจ นับเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนท์ที่มียอดจำหน่ายสูงในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเทศกาลกินเจเป็นฤดูกาลขายของนมถั่วเหลือง โดยในปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ นมถั่วเหลืองสูตรเจจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 900 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจาก ในปีนี้ผู้ประกอบหันมาทำตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ในส่วนของนมถั่วเหลืองผสมสูตรเจมากขึ้น ซึ่งเป็นนมถั่วเหลืองที่มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการเสริมวัตถุดิบอื่นๆ มาผสม อาทิ ธัญพืช วิตามิน สารอาหารต่างๆ เป็นต้น เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและความงามมากขึ้น ประกอบกับนมถั่วเหลือง 100% สูตรเจ หรือแบบดั้งเดิม ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอยู่ เนื่องจาก มีลักษณะและรสชาติที่ผู้บริโภคคุ้นเคย รวมทั้งมีราคาถูก นอกจากนี้ การกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการในช่วงก่อนหน้าเทศกาลด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเสนอสินค้าด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น โฆษณาทางโทรทัศน์ แผ่นป้ายโฆษณา เป็นต้น รวมไปถึงการนำสินค้าวางจำหน่ายในตำแหน่งที่ดีบนชั้นวางสินค้า อาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาสนใจตลาดนมถั่วเหลือง และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการซื้อในช่วงเทศกาลมากขึ้น

    ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลกินเจคาดว่า นมถั่วเหลืองอาจมีปริมาณการผลิตสูงถึงประมาณ 17 ล้านลิตร เพื่อตอบสนองความต้องการที่คาดว่ามีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มนมถั่วเหลืองสูตรเจได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • นมถั่วเหลือง 100 % สูตรเจ คือ นมถั่วเหลืองสูตรเจที่ไม่มีส่วนผสมอื่นๆ ปะปน คาดว่ามีปริมาณการผลิตประมาณ 8 ล้านลิตร หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 335 ล้านบาท
  • นมถั่วเหลืองผสมสูตรเจ คือ นมถั่วเหลืองสูตรเจที่มีวัตถุดิบอื่นๆ มาผสม เช่น ธัญพืช วิตามิน สารอาหารต่างๆ เป็นต้น คาดว่ามีปริมาณการผลิตประมาณ 9 ล้านลิตร หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 565 ล้านบาท
  • ปัจจัยเสี่ยงหลักในอุตสาหกรรมนมถั่วเหลือง

    ถีงแม้ว่าตลาดนมถั่วเหลืองจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตนมถั่วเหลืองของไทยยังประสบกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของตลาด คือ ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องวัตถุดิบที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และปัจจัยเสี่ยงทางด้านการแข่งขัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ปริมาณเมล็ดถั่วเหลืองที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยภาพรวมตลาดถั่วเหลืองในประเทศไทยคาดว่า ปี 2554 ความต้องการใช้ถั่วเหลืองภายในประเทศมีประมาณ 2.07 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.87 ล้านตันในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.70 แต่ผลผลิตในประเทศปี 2554 คาดว่า จะผลิตได้เพียง 0.19 ล้านตัน1 ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา และสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจาก ราคาเมล็ดถั่วเหลืองที่นำเข้ามีราคาสูงอยู่ที่ประมาณ 18.50 -19.00 บาทต่อกิโลกรัม แต่อย่างไรก็ตาม ถั่วเหลืองที่นำเข้านับได้ว่ามีคุณภาพดีเหมาะแก่การแปรรูปเป็นเครื่องดื่มนมถั่วเหลือง ในขณะที่เมล็ดถั่วเหลืองของไทยอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของคุณภาพ แต่มีความได้เปรียบในเรื่องของราคาถูก
  • ดังนั้น ในอนาคตการแก้ไขปัญหาเรื่องผลผลิตไม่เพียงพอ อาจทำได้โดยการทำสัญญาในลักษณะตลาดข้อตกลงกับกลุ่มเกษตรกรไทย (Contract Farming) เป็นการรองรับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจในปริมาณวัตถุดิบ ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการลดสัดส่วนการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรไทย และเป็นการส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูก และพัฒนาเมล็ดถั่วเหลืองให้มีคุณภาพตามที่ผู้ประกอบการต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงต้องมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศ เนื่องจากคุณภาพและปริมาณของเมล็ดถั่วเหลืองไทย ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการไทย

  • การเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการแข่งขันที่เผชิญกับคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ในปัจจุบันการเข้ามาในตลาดนมถั่วเหลืองของผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพในด้านเครื่องดื่ม ส่งผลให้การแข่งขันของตลาดนมถั่วเหลืองรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก ผู้ประกอบการต่างใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเข้มข้น เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักและสามารถครองใจของผู้บริโภคได้ แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่นับเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเปลี่ยนไปบริโภคสินค้าของคู่แข่ง โดยเฉพาะหากมีปัจจัยทางด้านราคาและปริมาณเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเลือกซื้อ ก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงแบรนด์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
  • สำหรับการแข่งขันกับคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ น้ำเต้าหู้ ซึ่งมีราคาจำหน่ายจำหน่ายถูก รวมทั้งสามารถหาซื้อได้ง่าย และเครื่องดื่มธัญพืช เช่น น้ำข้าวกล้อง น้ำนมข้าว หรือน้ำข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกับนมถั่วเหลืองที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการที่ผู้บริโภคต้องการ ทำให้โอกาสที่นมถั่วเหลืองจะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดมีมากขึ้น

    กล่าวโดยสรุป นมถั่วเหลืองสูตรเจ นับเป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงในช่วงเทศกาลกินเจ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคต้องการรักษาศีลกินเจสามารถบริโภคได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปี 2554 นี้ นมถั่วเหลืองสูตรเจจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลกินเจในปีก่อนหน้า เนื่องจาก ในปีนี้ผู้ประกอบการหันมาทำตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ในส่วนของนมถั่วเหลืองผสมสูตรเจมากขึ้น รวมทั้งนมถั่วเหลือง 100% สูตรเจ หรือแบบรสชาติดั้งเดิม ก็ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอยู่ นอกจากนี้ การกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการในช่วงก่อนหน้าเทศกาลด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเสนอสินค้าด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาจมีส่วนช่วยให้เกิดการซื้อนมถั่วเหลืองสูตรเจในช่วงเทศกาลมากขึ้น

    แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของอุตสาหกรรมนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มที่มีระดับการกระจุกตัวสูง กล่าวคือ ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ทำให้การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่อาจทำได้ยาก ดังนั้น การเติบโตของตลาดนมถั่วเหลือง อาจขึ้นอยู่กับการกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในตลาด ทั้งการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด และการส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคตผู้ประกอบการจะหันไปแข่งขันที่ไม่ใช่ทางด้านราคามากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านตัวผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายพยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และพยายามทำให้สินค้ามีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ทั้งทางด้านบรรจุภัณฑ์ ส่วนประกอบ วัตถุดิบ และตราสินค้า รวมถึงการแข่งขันพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย

    ทั้งนี้ การพัฒนาสินค้าใหม่นอกจากจะคำนึงถึงการสร้างจุดขายเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคแล้ว อาจต้องคำนึงถึงในเรื่องของรสชาติที่จะต้องถูกปากผู้บริโภค ความสะดวกในเรื่องของบรรจุภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่าย และสุขภาพที่อาจกล่าวถึงคุณประโยชน์จากการบริโภคนมถั่วเหลือง หรือการเพิ่มเติมสารอาหารที่ประโยชน์ต่อร่างกายลงในเครื่องดื่มนมถั่วเหลือง