“นมวัวแดง” ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 รุกหนัก เน้น Brand Awareness ย้ำนมคนไทยใช้นมโค 100% เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายฐานคนดื่มนมออร์แกนิค ส่งออกโคนมรับมือFTA ต่อเนื่อง AEC เสริมภูมิคุ้มกันเกษตรกรไทย ชูแกร่งนวัตกรรมบนฐานองค์ความรู้ 50 ปี เลี้ยงโคนมเหนือคู่แข่งภูมิภาคอาเซียน หวังปีนี้เติบโตกว่า 8 % หรือคิดเป็นมูลค่า กว่า 1,000 ล้านบาท ในมูลค่าตลาดไทยกว่า 40,000 ล้านบาท
นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการ รักษาการ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริคที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ได้ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ นั่นคือวันแห่งประวัติศาสตร์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย เพราะถือเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลและลึกซึ้ง ที่ทรงอยากให้เกษตรกรชาวไทย ได้มีความมั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต และพึ่งพาตนเองได้
ตลอดระยะเวลา 50 ปีของภารกิจในการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้รู้จักเข้าใจในการเลี้ยง โคนม และสร้างแบรนด์ให้กับ “นมวัวแดง” ของ อ.ส.ค. นับเป็นภารกิจที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่บุคลากรของ อ.ส.ค.เป็นอย่างมากที่มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยและ “นมวัวแดง” ถือเป็นนมโคสดแท้ 100% ที่อยู่เคียงคู่สังคมไทยมาตลอด 50 ปี
“ภารกิจหลักของ อ.ส.ค. คือการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนมและความมั่นคงด้านอาหารของไทย ซึ่งทำให้ค่านิยมการดื่มนมโคเกิดขึ้นในสังคม กระทั่งสร้างมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมนมในเมืองไทยเติบโตในปัจจุบันถึงกว่า 40,000 ล้านบาท ในอัตราเติบโตต่อเนื่องโดยเฉลี่ยต่อปีกว่า 8 % และภารกิจที่ท้าทายสำหรับการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 6 ของ อ.ส.ค.นี้ เรากำลังยืนอยู่ท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งการเปิดเขตการค้าเสรี กับ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีผลให้การนำเข้านมผงจากทั้งสองประเทศภาษีเป็น 0 ในปี 2568 และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 นี้
ซึ่งอ.ส.ค. ที่มีเครือข่ายเกษตรกรโคนมเป็นสมาชิกอยู่ทั่วประเทศได้เริ่มให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื่องมาเป็นระยะ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมปรับตัวและพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้”
โดยเน้นการสร้าง Brand Awareness เพิ่มขึ้น เพราะจุดแข็งสำคัญของ อ.ส.ค. คือ เป็น นมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง ในขณะที่ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอกย้ำต่อผู้บริโภคใน วงกว้างอย่างเพียงพอ ประกอบกับความจงรักภักดีต่อแบรนด์ “นมวัวแดง” ยังคงได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ยุทธศาสตร์ในปี 55 นี้ จึงจะเน้นการจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อตอกย้ำให้เกิดความตระหนักและกระตุ้นให้เห็นถึงประโยชน์สูงสุดของการดื่มนมโคสดแท้ 100% ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคที่จะเสริมกลยุทธ์ให้ตัวแทนจำหน่ายเข้มแข็งยิ่งขึ้น
พร้อมๆกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เสริมความเข้มแข็งให้กับ “นมวัวแดง” โดยจะขยายฐานการผลิตนมสดพาสเจอร์ไรส์ให้มากขึ้น พร้อมกับเปิดตัว โยเกิร์ต และไอศกรีม จากนมสด 100% เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่ ภักดีต่อ “นมวัวแดง” โดยมีเป้าหมายการตลาดจะเพิ่มการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้าน/ปี ภายในระยะเวลา 5 ปี “อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการทำตลาดในเมืองไทยคือพฤติกรรมการดื่มนมของคนไทยยังน้อยมาก แม้ว่าปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นเป็น 14 ลิตรต่อคนต่อปี แต่ ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ดื่มถึง 50 ลิตรต่อคนต่อปี มาเลเซีย 20 ลิตรต่อคนต่อปี เรามองว่าโอกาสในการขยายตลาดในนมพาสเจอร์ไรส์ยังมีอยู่มาก เพราะมายึดนโยบายว่า “นมวัวแดง” จะผลิตแต่สินค้าคุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคเท่านั้น เราจึงเชื่อว่านมพาสเจอร์ไรส์จะเติบโตคู่กับ นม ยู.เอช.ที ในอนาคต และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดโดยภาพรวมของ “นมวัวแดง” เติบโตเพิ่มขึ้น ในขณะที่จุดแข็งเรามีสมาชิกสหกรณ์โคนมทั่วประเทศและเป็นนมโคสดแท้” รักษาการ ผอ.อ.ส.ค.กล่าว
นอกจากนี้ทิศทางแนวโน้มของการดื่มนมในปัจจุบัน ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพยิ่งขึ้น นมอินทรีย์จึงเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ “นมวัวแดง” จะใช้เป็นทีเด็ดสำคัญในการเพิ่มทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภค ด้วยเหตุผลสำคัญของการรับมือกับการเปิดเขตการค้าเสรีกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้ อ.ส.ค.ได้เริ่มปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคนมให้กับสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้หันมาผลิตนมอินทรีย์มากขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ทำให้วันนี้ อ.ส.ค.สามารถผลิตน้ำนมดิบป้อนบริษัท บัตเตอร์ฟลาย จำกัด ผู้ผลิตนมอินทรีย์ ได้วันละ 200 กิโลกรัม หรือปีละ 70-80 ตัน ในขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศมีสูงถึง 300 – 400 ตันต่อปี
โดยปัจจุบัน อ.ส.ค.มีฟาร์มโคนมอินทรีย์ทั้งหมดฟาร์ม 5 ฟาร์มมีโคนมอินทรีย์ฟาร์มละ 20 ตัว มีพื้นที่ปลูกหญ้าเลี้ยงโคนมแห่งละ 40 ไร่ ตั้งเป้าหมายให้ในปี 56 เพิ่มอีก 10 ฟาร์ม ปี 57 เพิ่มอีก 15 ฟาร์ม และปี 58 เพิ่มเป็น 20 ฟาร์ม เพื่อให้ผลิตป้อนตลาดให้ได้วันละ 4-5 ตัน โดยได้ทยอยเปลี่ยนให้แม่โคนมจำนวน 400 ตัวเศษ มาเป็น Organic Dairy Farm ที่เลี้ยงด้วยพืชอาหารสัตว์ที่เป็นอาหารหยาบมากขึ้น ปลอดสารเคมี และยาปฏิชีวนะ พร้อมๆกับการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์โคนมให้เป็นสายพันธุ์ โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ที่ให้น้ำนมมากมาผสมกับพันธุ์ ซาฮีวาล เรด ซินดี้ และบราห์มันที่ทนต่อสภาพอากาศ และโรคระบาด เพราะโคนมอินทรีย์ต้องปลอดการใช้เคมีและยาปฏิชีวนะนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน อ.ส.ค.จะเร่งเพิ่มพื้นที่ปลูกหญ้า กระถิน ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลืองอินทรีย์ที่ปราศจากการตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMO และเพิ่มการซื้อรำข้าวอินทรีย์จากเกษตรกรมากยิ่งขึ้นเพื่อมาเป็นอาหารให้กับโคนมอินทรีย์ ซึ่งนอกเหนือจากรองรับความต้องการดื่มนมเพื่อสุขภาพในประเทศแล้ว ยังจะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลที่เป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในอนาคตอีกด้วย
สำหรับจุดเด่นสำคัญของนมอินทรีย์ นอกจากปลอดสารเคมีแล้วยังอุดมด้วย โอเมก้า 3, โอเมก้า 6 ,สาร CLA ที่เป็นส่วนสำคัญในการบำรุงสมองและต่อต้านอนุมูลอิสระ กลิ่นไม่คาวเพราะไม่ใช้เคมีและยาปฏิชีวนะ แต่แม่โคนมจะให้น้ำนมเพียงไม่ถึง 10 กิโลกรัม/ตัว ซึ่งน้อยกว่าโคนมที่เลี้ยงในฟาร์มทั่วไปที่ให้น้ำนมมากถึง 13 กิโลกรัมต่อตัว แต่ราคารับซื้อน้ำนมอินทรีย์จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 23 – 25 บาท ในขณะที่น้ำนมดิบปกติจะอยู่ที่ 16-17 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนด้านอาหารของโคนมปกติจะสูงถึง 50-60% ของต้นทุนอาหารทั้งหมด โดยสัดส่วนของต้นทุนอาหารโคนมอินทรีย์ต่อน้ำนมดิบตก 10 บาทเศษต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม ในขณะที่โคนมปกติ ตก 14-16 บาท ต่อน้ำนมดิบ 1 กิโลกรัม ซึ่งในที่สุดหากสามารถปรับเปลี่ยนการเลี้ยงของเกษตรกรโคนมได้ทั้งระบบจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตน้ำนมของไทย รวมถึงสุขภาพของคนไทยอีกด้วย
“ในการรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC นั้น เราได้เริ่มมาแล้วเป็นระยะๆ อย่างการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ หรือการเปิดตลาดต่างประเทศเราได้ตั้งตัวแทนจำหน่ายทั้งในลาว กัมพูชา และจะเพิ่มขยายไปยังประเทศอื่นๆมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่เราส่งออกไปแล้วก็จะขยายสัดส่วนให้เข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคยิ่งขึ้น เพราะอายุ 50 ปีกับองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมของเราเป็นที่ยอมรับ และเข้มแข็งที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีอยู่ เราจึงเน้นยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของนวัตกรรมที่เหนือกว่าเป็นสำคัญ
และความเชี่ยวชาญหนึ่งของ อ.ส.ค. คือการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตน้ำนม และการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์โคนม ที่ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศแถบร้อนชื้นที่ได้พัฒนามาโดยตลอด ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ส่งออกแม่พันธุ์โคนมไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียมาเป็นระยะ และเราจะใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดสำคัญในการรับมือกับตลาด AEC ที่ขณะนี้เวียดนาม ซึ่งมีจำนวนประชากรราว 90 ล้านคน ในขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้เกิดขึ้น และได้นำเข้าแม่พันธุ์โคนมของเราไปต่อเนื่อง เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่อ.ส.ค.จะใช้เป็นทีเด็ดสำคัญในปี 2555 นี้” นายนพดลกล่าว