ในช่วงเทศกาลเปิดเทอม นับว่าเป็นช่วงเวลาที่บรรดาผู้ปกครองต่างเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่ของบุตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลเปิดเทอมปี 2555 จะมีมูลค่าประมาณ 22,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า โดยในช่วงเปิดเทอมปีนี้ ผู้ปกครองจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีบุตรศึกษาอยู่ในโรงเรียนเอกชน จะมีค่าเล่าเรียนที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5-15 หากเทียบกับปีการศึกษาก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนบางส่วน จะยังคงไม่ปรับราคาขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ผู้ปกครองยังคงต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและราคาพลังงาน ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้ปกครองมีแนวโน้มชะลอลง และมีความระมัดระวังในการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น โดยกลุ่มผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการวางแผนก่อนการซื้อสินค้า ปรับลดการใช้จ่าย รวมทั้งชะลอการใช้จ่ายในสิ่งที่ยังไม่จำเป็นออกไป
เปิดเทอมปี’55…..ผู้ปกครองหวั่นภาระค่าครองชีพ และค่าเล่าเรียนพุ่ง
ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่นักเรียนต่างเตรียมตัวเพื่อเปิดภาคเรียนใหม่ ในขณะเดียวกันเหล่าบรรรดาผู้ปกครองก็ต่างเตรียมจัดสรรและกันเงินส่วนหนึ่งสำหรับภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลาน โดยในช่วงเปิดเทอมปีนี้ บรรดาผู้ปกครองยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากภาวะค่าครองชีพสูง และค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาของบุตรที่เพิ่มขึ้น
โดยภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีทิศทางราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากช่วงที่เกิดวิกฤตมหาอุทกภัย ประกอบกับทิศทางขาขึ้นของราคาน้ำมันและพลังงานเชื้อเพลิงต่างๆ ยิ่งผลักดันให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า รวมทั้งราคาจำหน่ายปรับตัวเพิ่มตามไปด้วย ทั้งนี้ ส่งผลให้ภายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับภาระค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาของบุตรในปีนี้ คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของค่าเล่าเรียน ค่าเรียนเสริมทักษะและเรียนกวดวิชาต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลเปิดเทอมปี 2555 จะมีมูลค่าประมาณ 22,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวจำแนกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังคงเป็นค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาที่จ่ายให้กับทางโรงเรียน (ประมาณร้อยละ 33.3) แม้ว่าทางภาครัฐ จะมีการดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปี รวมทั้งการอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและหนังสือเรียน แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าว สามารถช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครองบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งค่าเล่าเรียนที่ทางรัฐบาลสนับสนุนจะครอบคลุมเฉพาะโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาล สำหรับกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ภายในโรงเรียนเอกชน นอกจากยังคงต้องมีภาระค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าโรงเรียนรัฐบาล และค่าเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาท สำหรับระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10) และประมาณ 5,000-6,000 บาท สำหรับระดับอุดมศึกษา1 (หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-15) โดยการปรับขึ้นของค่าเล่าเรียนส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่สถานศึกษาวางแผนเพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนอาจารย์ และบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นเงินเดือนอาจารย์ระดับปริญญาตรีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 และค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทสำหรับพนักงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2555
ค่าเรียนกวดวิชา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การซื้อคอมพิวเตอร์2 กลายเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญอีกส่วนหนึ่งสำหรับการศึกษาของบุตร (ประมาณร้อยละ 29.3) เนื่องจาก ปัจจุบันภาวะการแข่งขันทางการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนบางกลุ่มต่างมีความเชื่อว่าการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม จะสามารถช่วยเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการทำข้อสอบมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาตามที่ตนเองคาดหวังเอาไว้ จึงทำให้มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยเต็มใจที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยเฉลี่ยอัตราค่าเรียนพิเศษจะคิดเป็นรายวิชา เฉลี่ยวิชาละ 2,500-3,000 บาทสำหรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา และมีอัตราค่ากวดวิชาจะเพิ่มขึ้นเป็นวิชาละ 3,000-5,500 บาทสำหรับเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ประมาณร้อยละ 19.6) เช่น ค่ากิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน (ค่ากิจกรรมวิชาการ กิจกรรมทัศนศึกษา การให้บริการสารสนเทศ) รวมทั้งค่าเรียนเสริมทักษะต่างๆ (ทักษะทางด้านดนตรี วาดภาพ ว่ายน้ำ คอมพิวเตอร์และภาษาต่างประเทศ) ซึ่งผู้ปกครองจะมีภาระในส่วนนี้โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1,500-2,000 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของการเรียนเสริมทักษะ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและเลือกที่จะส่งเสริมให้ลูกได้มีกิจกรรมยามวางตามที่มีความสนใจ โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าการทำกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ลูกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ยังเป็นการฝึกสมาธิ และช่วยให้ลูกผ่อนคลายจากความเครียดจากการเรียน
ค่าใช้จ่ายในส่วนเครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียน (ประมาณร้อยละ 17.8) โดยภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจาก ภาครัฐได้มีการให้เงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของเครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียนแก่เด็กนักเรียน โดยจะทำการอุดหนุนในรูปแบบของการจ่ายเงินสมทบ ประกอบกับภาวะการแข่งขันในตลาดในกลุ่มสินค้าเครื่องแบบนักเรียน และเครื่องเขียนมีการแข่งขันค่อนข้างสูงในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งทำให้ยากต่อการที่ผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มราคาจำหน่าย นอกจากนี้ ทางหน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนของเครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียนจะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ แต่เงินสมทบที่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้บางส่วน เนื่องจากจำนวนเงินสมทบยังคงมีภายใต้วงเงินที่จำกัด ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการซื้อเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนเพียงบางส่วนเท่านั้น ประกอบกับขั้นตอนในการขอรับเงินสมทบดังกล่าว ผู้ปกครองจำเป็นต้องสำรองจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อน และนำใบเสร็จในการซื้อสินค้าไปเบิกคืนได้ในภายหลัง ทำให้ผู้ปกครองยังคงต้องเตรียมจัดสรรเงินค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวอยู่เช่นเดิม
ช่วงเปิดเทอมปี’55…….ผู้ปกครองวางแผนการจับจ่าย ยึดหลักคิดก่อนซื้อ
สำหรับการจัดสรรเงินสำหรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาบุตรในปีนี้ ภายใต้แรงกดดันจากภาวะค่าครองชีพสูง และแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนบุตร ส่งผลการจับจ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปีนี้ มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยมีการวางแผนการใช้จ่าย และการจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นภายในช่วง 1-2 เดือนนี้ ทั้งนี้ สำหรับในเรื่องของการศึกษาบุตร ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญและจัดให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเล่าเรียน ค่าเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะต่างๆ โดยผู้ปกครองยังคงจัดสรรเงินสำหรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่มีความสำคัญน้อยกว่า และไม่กระทบต่อการเรียนของบุตรหลาน เช่น การซื้อเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน อีกทั้งยังรวมไปถึง การลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของครอบครัวที่มีความสำคัญในลำดับรองลงมา เช่น การท่องเที่ยว และการซื้อสินค้าต่างๆ รวมทั้งการเลี้ยงสังสรรค์
โดยแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของผู้ปกครอง มีดังนี้
การลดค่าใช้จ่ายในส่วนของเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ แม้ว่าผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ จะยังคงไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่าย แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องลดภาระการใช้จ่ายในส่วนนี้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะวางแผนการจับจ่าย โดยจะดูจากขนาดและสภาพของเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ของบุตร หากเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนเก่ายังคงมีสภาพที่สามารถใส่ได้ ไม่ชำรุดและไม่มีขนาดเล็กจนเกินไป ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกจะใช้งานต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องซื้อเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนใหม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะหันไปเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการจัดรายการโปรโมชั่นลดราคาในกลุ่มสินค้า Back to School ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางในการทำตลาดทางหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการค้าปลีกนิยมมาก ทั้งในร้านค้าปลีกที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ห้างสรรพสินค้า ตลอดจน ดิสเคาน์สโตร์ต่างๆ
การลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของครอบครัว โดยอาจเลือกลดในส่วนของการใช้จ่ายที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญและ ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนออกไป ภายในช่วงก่อนเปิดเทอม เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ของคนในครอบครัว (การท่องเที่ยว การซื้อเสื้อผ้าและสินค้าต่างๆ การทานอาหารนอกบ้าน รวมถึงการร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ) โดยอาจเลือกทำกิจกรรมอื่นที่มีค่าใช้จ่ายน้อยลง หรือใช้เวลาว่างทำกิจกรรมภายในบ้านเพื่อลดภาระการใช้จ่ายของครอบครัวลง
โดยสรุป ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครอบครัว โดยภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่จ่ายให้แก่บุตรหลานเพื่อการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากค่าธรรมเนียมทางการศึกษาที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายในส่วนของกิจกรรมการศึกษา และการเรียนเสริมทักษะภายนอกชั้นเรียน ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้บรรดาผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลเปิดเทอมปี 2555 จะมีมูลค่าประมาณ 22,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การจับจ่ายของผู้ปกครองในช่วงก่อนเปิดเทอม ภายใต้แรงกดดันจากภาวะค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่วางแผนในการเลือกซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น เพื่อจัดสรรเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบุตรโดยตรง เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเรียนกวดวิชา และค่าเรียนเสริมทักษะ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญ โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงเปิดเทอม ผู้ปกครองอาจลดการใช้จ่ายในส่วนที่คิดว่าจะสามารถลดลงได้ และไม่กระทบต่อการศึกษาของบุตรมากนัก หรือมีความสำคัญในลำดับรองลงมา เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ที่จะคำนึงถึงความประหยัด รวมทั้ง อาจจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว เช่น การท่องเที่ยว การซื้อสินค้า และการสังสรรค์
อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี และอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ แต่ค่าเล่าเรียนที่รัฐบาลสนับสนุนนั้น ครอบคลุมนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนสังกัดภาครัฐ ประกอบกับค่าเครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์การเรียน ก็ยังคงให้การอุดหนุนในวงเงินที่จำกัด และช่วยลดภาระของผู้ปกครองได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชามากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ค่อนข้างสูง ดังนั้น แนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองสำหรับการศึกษาของบุตรหลานในระยะยาว ทางภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ ควรเร่งปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ภายในชั้นเรียนได้มากที่สุด เพื่อลดการพึ่งพิงการเรียนพิเศษจากโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ผู้ปกครองต้องแบกรับได้ อีกทั้ง ทางภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ ควรพัฒนาหลักสูตรและวิชา เพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมกับอนาคตภายหลังจากที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015 ระบบการศึกษาของไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้สามารถผลิตคนที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้ ขณะเดียวกัน การเปิดประตูสู่ AEC ก็อาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับธุรกิจการศึกษาของไทย ซึ่งด้วยศักยภาพของสถาบันการศึกษาชั้นนำบางแห่ง ที่มีคุณภาพในระดับสากลอาจเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสามารถกลายเป็นศูนย์การทางการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต