Digital Agenda Thailand ครั้งที่ 4 เปิดเวทีนักคิดไทย ถกประเด็นเรื่อง “สิทธิ กับกฎหมายลิขสิทธิ์”

Digital Agenda Thailand หรือ“วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย”  โครงการดีๆ  ยังคงมุ่งมั่นรณรงค์ให้ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสื่อยุคดิจิทัลทุกเรื่อง   เพื่อให้คนไทยรู้ทันยุคและก้าวทันโลกในปัจจุบัน  ล่าสุดจัดสัมมนาต่อเนื่องเป็นซีรี่ส์ที่ 4  ภายใต้หัวข้อ  “Content & Creativity in the Digital Thailand” เพื่อกระตุ้นผู้ผลิต นักคิด และนักสร้างสรรค์ให้เตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวสู่ยุคของสื่อดิจิทัล  ทั้งในแง่การสร้างสรรค์ Content  และเรื่องของลิขสิทธิ์ Content  เพราะกว่าที่ธุรกิจหรือรายการดีๆ รายการหนึ่งจะเกิดขึ้นได้  ย่อมต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง รวมถึงมันสมองและต้นทุน  สิ่งเหล่านี้จึงควรได้รับการปกป้องอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะในยุคสื่อดิจิทัลที่เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์  และการก๊อปปี้ผลงานเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดเสวนา เปิดเวทีนักคิดไทย โดยเชิญทั้งผู้ผลิต นักคิด นักสร้างสรรค์รวมถึงนักกฎหมายและผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจสื่อโทรทัศน์มาร่วมถกในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของ “สิทธิ กับลิขสิทธิ์”  ซึ่งประเด็นที่ทุกคนกำลังจับตาคงหนีไม่พ้นเรื่องกรณี “จอดำ” ศึกฟาดแข้งฟุตบอลยูโรระหว่างคู่เด็ดนอกสนามอย่าง แกรมมี่ และ ทรูวิชั่นส์นั่นเอง ดังนั้นการเสวนาครั้งนี้จึงคึกคักและเข้มข้นไปด้วยผู้ร่วมเสวนา ที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านหลักการ ประสบการณ์  ตลอดจนมุมมองความคิด แต่ทุกคนต่างเห็นเหมือนกันว่า นี่คือ กรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งของสังคมไทย

 

ถามว่า สังคมไทย ได้อะไรจากกรณี “จอดำ”???

  รศ.สุธรรม  อยู่ในธรรม  คณบดี คณะนิติศาสตร์และประธานสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและในฐานะผู้ร่วมผลักดันโครงการ Digital Agenda Thailand “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย”   ในประเทศไทย   ชี้ว่ากรณี “จอดำ” คือการเคารพลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

“กฎหมายประเทศไทยรองรับเรื่องของสิทธิในการออกอากาศมานานแล้ว  เรื่องนี้ต้องขอชมสถานีโทรทัศน์ช่อง 3  5  7  9  11  หรือแม้แต่ ThaiPBS   ประเทศไทยอาจจะมีเรื่องการละเมิดลิขสิทธ์มากมาย  แต่ทีวีไทยที่ผ่านมาได้ให้การเคารพเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญามาโดยตลอดจนทุกวันนี้    ดังนั้นการที่บ้านเราเกิดกรณี “จอดำ”  ก็เป็นเพราะเราเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาผู้อื่น   เพราะถ้าไม่เคารพก็จะไม่มีจอดำเกิดขึ้น  อีกประเด็นคือเรื่องของสิทธิ  ประเทศไทยไม่มีใครได้ลิขสิทธิ์ในส่วนนี้มาแท้จริง  แต่ได้สิทธิที่ใช้ในการออกอากาศ  ซึ่งสิทธินี้จะหมดไปเมื่อออกแล้วไม่สามารถนำมารีรันได้  ดังนั้นหากมีผู้อ้างสิทธิในฐานะผู้บริโภค และต้องการบังคับให้ผู้ได้สิทธิมาส่งสัญญาณให้นั้น ตอบว่า ไม่ได้ เพราะถ้าในทรัพย์สินหรือสิทธิซึ่งเขาไม่มี จะไปบังคับให้เขาทำได้อย่างไร “

ด้านผู้ที่ได้รับสิทธิในการออกอากาศ  และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไม่แพ้ผู้เรียกร้องสิทธิ์อย่างแกรมมี่  ธนา  เธียรอัจฉริยะ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี เอ็ม เอ็ม แซท จำกัด แสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ขอให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับกสทช. หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์  ด้วยการทำหน้าที่ร่างกฎระเบียบ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจได้นำไปใช้เป็นแนวทางต่อไป  เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากการไม่มีกฎระเบียบให้ยึดปฎิบัติ ภาคเอกชนจึงทำธุรกิจโดยยึดหลักเกณฑ์จากปลายทางหรือเจ้าของสิทธิเป็นหลัก  

ส่วน เอกชัย  ภัคดุรงค์  ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานกิจการองค์กร  บริษัท ไทยคม จำกัดในฐานะผู้ให้บริการด้านจานดาวเทียม นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้  กรณี จอดำ ว่าไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคหรือ Platform ปัญหาจริงๆ คือกฎหมายลิขสิทธิ์  เรื่องของสิทธิและเรื่องของ regulation ในประเทศของเรา 

“ บางประเทศในอเมริกา  ยุโรป  และเอเชีย เขามี regulation ที่เรียกว่า Must Carry  เป็นกฎระเบียบสำหรับธุรกิจเคเบิ้ลทีวีว่ามีหน้าที่ต้อง carry content  ของช่อง free TV  เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิได้รับชม free TV ผ่านทางเคเบิ้ลแต่มีเงื่อนไขว่าเช่น ไม่ใช่  free TV  ทุกช่องที่จะได้สิทธิตรงนี้  โดยรัฐบาลจะเป็นคนเลือกว่าช่องไหนที่คิดว่าประชาชนจำเป็นจะต้องได้รับข้อมูลจากทางช่องก็จะบังคับว่าช่องนี้เคเบิลจะต้องเอาไปลง   ซึ่งต่างกับไทยเพราะเคเบิ้ลทีวีไทยอยากได้  free TV  ไปลง

และบางประเทศก็มี Must Carry  ที่ระบุว่าให้  free TV  มีสิทธิ retransmission consent ที่จะไม่ให้ก็ได้ เป็นการให้สิทธิ free TV  เรื่องบริหาร content  ถ้า free TV  คิดว่า Content ตัวเองไม่อยากจะออกก็สามารถเรียกเก็บค่าตอบแทนประการใดๆ จากเคเบิ้ลได้เหมือนกัน เป็นการสร้าง  balance ในธุรกิจ” 

จากมุมมองการนำเสนอดังกล่าว ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา พิธีกรฝากปากกล้าจากรายการตอบโจทย์ในฐานะผู้ตั้งประเด็นคำถามบนเวที มองว่าหากในอนาคต กสทช. ต้องการออกกฎ Must Carry  กับช่อง free TV  ทั้งหมดบ้าง หรืออาจจะ apply ใช้กับกรณียูโร ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ใครจะต้อง carry ใคร ใครคือผู้รับต้นทุนในการ carry ตรงนี้

 ในมุมมองของนักกฎหมาย รศ. สุธรรม แสดงความเห็นว่า  สามารถทำได้แต่ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์   

“ เพราะความเป็นจริง  regulator มีอำนาจเฉพาะในส่วนที่เรียกว่า broadcast regulation แต่ในส่วนที่เรียกว่า media regulation  กับ content regulation มันคนละเรื่องกัน  โดยในอเมริกาค่อนข้างจะชัดเจนในเรื่องของ media, content  เพราะฉะนั้นการที่ regulator จะออกกฎ  Must Carry  เพื่อบังคับให้ออกรายการอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นรายการในประเทศไทยหรือรายการต่างประเทศ หรือรายการที่เราไม่มี copy right ก็กลายเป็นประเทศไทยบังคับใช้สิทธิของคนต่างชาติ  ปัญหาก็คือไม่ว่าจะเป็นใครต้องใช้สิทธิที่ตัวเองไม่มีสิทธิ คำถามคือ กฎหมายนี้คือกฎหมายอะไร  มันไม่ใช่กฎหมายของ กสทช.  นะ  

กสทช. มีกฎหมายแต่ก็ไม่สามารถที่จะยกเว้นสิทธิที่กฎหมายการันตีไว้แล้วตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้ ถ้าจะยกเว้นกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ต้องไปเข้า Rule ของกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อน การรอนสิทธิต้องใช้สิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์ อันนี้เฉพาะในประเทศไทย”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นร้อนที่ถูกนำมาถก นอกจากเรื่องของสิทธิของผู้ครอบครองลิขสิทธิ์ สิทธิของผู้ได้รับมอบลิขสิทธิ์ อีก สิทธิสำคัญที่ถูกนำมาเรียกร้องในปัจจุบันคือ เรื่องของสิทธิผู้บริโภค ตามรัฐธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  เส้นแบ่งของกฎหมายระหว่างลิขสิทธิ์กับสิทธิผู้บริโภคอยู่ตรงไหน ใครสามารถทำอะไรได้อย่างไรบ้างในเรื่องนี้ เป็นอีกคำถามบนเวทีที่มีคำตอบ  ในอนาคตอีกไม่นานเรื่องการถ่ายทอดโอลิมปิก ซึ่งถือเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ อาจมีเรียกร้องที่กว้างขวางกว่านี้อีกก็เป็นได้

“ เราต้องเดินตามกฎหมายต่อไป กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยมีแล้ว กฎหมาย WTO ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิก  เพราะฉะนั้นในแง่ของกฎหมายเราเดินตามกฎหมายตลอดและผมไม่คิดว่า การที่กฎหมายลิขสิทธิ์เขียนจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญซึ่งต้องไปร้องอีกทีนะครับ” คำตอบจากนักกฎหมาย

“ในอนาคตมันเป็นเรื่องระดับชาติ  ถ้าเป็นเรื่องระดับชาติ ชาติต้องจัดการครับ  รัฐบาลต้องจัดการ  เรามีหน่วยงานที่จะต้องพร้อมที่จะตอบ  อย่างโอลิมปิกที่ผ่านมาก็เป็นของทีวีพูล ซึ่งก็เป็นเรื่องของการตกลงของเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว มันไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อนเลย เรื่องนี้มันเป็นเรื่อง Business Deal ที่เป็นเรื่องปกติมาก ที่ผมตลกมากเลย อันนี้ก็อนุญาตท่านรัฐมนตรี  อันนี้มันเป็นเรื่องทางธุรกิจเรื่องทางเสรี  ซึ่งเขาไม่เคยบอกว่า ข้อจำกัดมันคืออะไร แต่ว่ากำลังลักไก่เล็กน้อยเผื่อได้ดู  หากในอนาคตระดับชาติคือ โอลิมปิก ก็ทำเหมือนเดิมครับคือทีวีพูลเขาก็รวมตัวกันหาสปอนเซอร์แล้วไปซื้อลิขสิทธิ์มาทำฟรีออกอากาศ ไม่ว่าใน Platform ไหนแล้วก็ดูกันไปได้เลยและก็มีคนรับผิดชอบไป  ผมว่าจริงๆ ปัญหานี้ basic มาก ๆ เลย ผมไม่รู้ว่า ทุกวันนี้ผมอ่านหนังสือพิมพ์ผมปวดหัวมาก เพราะดูมันซับซ้อนไม่จบ จนบอลผ่านรอบ 2 ไปแล้ว” ความเห็นของยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการแผนกต่างประเทศ บริษัทจีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด

 

หันมาทางนักสร้างสรรค์ อย่างนักแต่งเพลงบ้าง เขามองเรื่องนี้อย่างไร ???

หนึ่ง – ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์   

“ ผมมองในมุมของเป็นผู้บริโภคที่รู้น้อยสุด  ผมว่าเรื่องลิขสิทธิ์มันเป็นเรื่องถูกต้องเท่านั้นเอง …ไม่มีของฟรีในโลก …. มันไม่เหมือนเพลงที่จะดาวน์โหลดฟรีทางอินเตอร์เน็ตได้ง่าย  

“ ผมอยากให้เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ทางเพลง ทางหนังเป็นข่าวดังอย่าง จอดำ ในยูโรบ้าง  รู้สึกว่าในเรื่องของทางเพลง ทางหนังมันมีข่าวเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เยอะมากเลย แต่มันไม่เกิดอะไรขึ้นไม่เคยเป็นวาระแห่งชาติเลย  อยากให้ทางรัฐบาลลองมาสนใจทางหนังทางเพลงบ้างนอกจากเรื่องฟุตบอล  ผมก็เข้าใจในแง่ของการรับสิทธิ์มา อย่างตัวเองก็เคยแต่งเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของเกาหลี ซื้อทำนองมา มันจะมีเงื่อนไขเยอะแยะมากมายเลย คือ ผมเป็นคนเขียนเนื้อไทยเข้าไปแต่สิทธิ์ในการเผยแพร่จะบ่งบอกเลยว่า โอเค สามารถเผยแพร่ได้แค่ copy เท่านั้น ต้องทำการเผยแพร่ทางสื่อนี้สื่อนี้  ถ้าผมจะเอาเพลงนี้ในชื่อผมแต่งในเวอร์ชั่นไทยมาขึ้นคอนเสิร์ตเรายังต้องขอลิขสิทธิ์จากทางเกาหลีเลยว่า  ถ้าจะเอาเพลงนี้มาขึ้นคอนเสิร์ต คุณคิดเท่าไร  อันนี้ต้องเคารพกติกากันและอยู่ที่เงื่อนไขที่เขาจะบอกว่า อนุญาตหรือไม่อนุญาต

สุดท้ายในฐานะคนทำของ คนทำ content ยงยุทธ  ทองกองทุน   บอกว่า

“ ผมว่าสิ่งนี้มันเป็น case study ที่ดี  ทำให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องการเคารพสิทธิและเราจะรู้สึกหวงของของเรา  ยกตัวอย่างของหนังเพราะหนังเป็นเหมือนแหล่งรวมของศาสตร์และศิลปะมากมายซึ่งด้านภาพ  ด้านการแสดง  ด้านเสื้อผ้า ด้านอะไรเหล่านี้ ของพวกนี้หนังเรื่องหนึ่งมันเป็นแคตาล็อก  เวลาเราไปฉายนู่นนี่มันเป็นการสร้างกลุ่ม สร้างวงจรชีวิตให้สินค้า  เวลาเราฉายหนังเรื่องหนึ่งได้กำไรมา  เราเอาส่วนแบ่งๆให้ทุกคน  เพราะฉะนั้นถ้าเราปลูกฝังให้เราเคารพสิทธิคนอื่นและคนอื่นเคารพเราสิ่งเหล่านี้จะสร้างความแข็งแรงให้กับทุกอุตสาหกรรม  เพราะฉะนั้นรู้สึกว่ากรณีนี้ดีแต่ว่าควรจบได้แล้ว   เพราะเป็นเรื่อง Commonsense มากๆ ครับ”

เวทีนี้ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างเดียว แต่ยังได้หาคำตอบให้กับสังคมไทยแล้วว่า “ ได้อะไร” จากกรณี “จอดำ” บ้าง!!