หลังเลือกตั้งกัมพูชา’56 … คาดรัฐบาลชุดใหม่ยังเน้นดึงการลงทุน-หนุนส่งออก เป็นหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 นี้ เป็นกำหนดวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา เพื่อชิงที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 123 ที่นั่ง ซึ่งพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก (62 ที่นั่ง) จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยในปีนี้มีพรรคการเมืองลงสมัครทั้งสิ้น 8 พรรค โดยมี 3 พรรคการเมืองใหญ่ที่มีบทบาทเด่น คือ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) นำโดย นายกรัฐมนตรีฮุน เซน พรรคกอบกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNRP) นำโดยนาย สม รังสี และพรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC Party) นำโดยเจ้านโรดม อรุณรัศมี ซึ่งทิศทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชาเป็นสิ่งที่ประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านคงต้องจับตาต่อไป ทั้งนี้ จากนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใหญ่ที่มีการนำเสนอในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นว่า พรรค CPP มีนโยบายเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในประเทศ เร่งดึงดูดการลงทุนสู่ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่พรรค CNRP เน้นนโยบายการยกระดับรายได้ขั้นต่ำและเพิ่มสวัสดิการของประชาชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ กัมพูชาภายใต้การบริหารรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซนในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นนโยบายการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงนโยบายด้านการลงทุนอันช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนมากขึ้น จนสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างก้าวกระโดดและสนับสนุนการเติบโตของภาคการผลิตเพื่อส่งออกของกัมพูชา ซึ่งหากผลการเลือกตั้งไม่นำมาสู่การเปลี่ยนพรรคผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ก็คาดว่า กัมพูชาจะยังคงเดินหน้านโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศต่อเนื่อง กัมพูชายังได้วางเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวที่สำคัญ อาทิ 1) ตั้งเป้ายกระดับรายได้เฉลี่ยของชาวกัมพูชาแตะระดับ 1,080 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีภายในปี 2556 ซึ่งจะมีผลให้กัมพูชาก้าวสู่กลุ่มประเทศ Lower-Middle-Income (มีระดับรายได้ระหว่าง 1,026-4,035 ดอลลาร์สหรัฐฯ) จากเดิมในกลุ่มประเทศ Low-Income ที่มีระดับรายได้ไม่เกิน 1,025 ดอลลาร์สหรัฐฯ 2) ตั้งเป้าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอัตราเลขหลักเดียว 3) ลดระดับความยากจนของประชาชนลงอย่างน้อยร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งคาดว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าวน่าจะยังคงได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของสถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ

คาดเน้นดึงการลงทุน-หนุนส่งออก…เป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภารกิจทางเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่คงให้ความสำคัญค่อนข้างมากเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ท่ามกลางพันธกิจสำคัญที่กัมพูชาต้องมีส่วนร่วม นั่นคือ การรวมตัวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้านี้ อันจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับกัมพูชาพอสมควร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชาคงจะต่อยอดศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านการสนับสนุนภาคการลงทุนและอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก อันจะเป็นฟันเฟืองหลักที่หนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะข้างหน้า โดยมีภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ คือ การเร่งยกระดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อันเป็นหัวใจสำคัญที่จะหนุนขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกๆด้านของกัมพูชา ซึ่งบนกรณีพื้นฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขับเคลื่อนต่อเนื่องจากแรงหนุนดังกล่าวเมื่อผนวกกับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่คาดว่าจะได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังอันจะหนุนความคล่องตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วง 3 ปีนับจากนี้จนก้าวสู่ AEC ในปี 2558 เศรษฐกิจกัมพูชาน่าจะมีอัตราเติบโตราวร้อยละ 7-7.5 ต่อปี

ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดดเด่นในฐานะประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ สินค้าเกษตรที่หลากหลาย ผนวกกับข้อได้เปรียบเรื่องกำลังแรงงานและต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งสิทธิพิเศษทางภาษีที่เป็นข้อได้เปรียบสำคัญ ยังเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเล็งเห็นศักยภาพการลงทุนในกัมพูชา ทั้งนี้ สาขาปลายทางดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่กัมพูชาที่น่าสนใจ มีดังนี้

• อุตสาหกรรมที่เน้นใช้ทรัพยากรและแรงงาน เพื่ออาศัยข้อได้เปรียบที่กัมพูชามีอยู่ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าเกษตร และแรงงานที่ยังมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ซึ่งเอื้อต่อการเป็นแหล่งลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตรหลากหลายชนิดที่กัมพูชามีศักยภาพในการเพาะปลูก อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลักและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมากกว่าร้อยละ 80 ของการส่งออกโดยรวม โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ (ราว 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2,400 บาทต่อเดือน) และยังมีทักษะฝีมือด้านการตัดเย็บ ทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติขยายฐานการผลิตเข้าไปในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

• อุตสาหกรรมที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญ ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นประเทศที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งนับว่าช่วยเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันแก่กัมพูชาได้ค่อนข้างมากท่ามกลางภาวะแข่งขันจากนานาประเทศที่รุนแรงขึ้นและแรงผลักดันด้านต้นทุนการผลิตที่ถีบตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ รูปแบบสิทธิพิเศษที่กัมพูชาได้รับ อาทิ สิทธิ GSP ซึ่งได้รับจากสหรัฐฯ เป็นการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 9 พันรายการ และสิทธิ EBA (Everything But Arms) ที่ได้รับจากสหภาพยุโรป โดยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดยกเว้นกลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์

• ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เป็นสาขาบริการที่สร้างรายได้ให้แก่กัมพูชาจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง และมีแผนการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของประเทศให้มีศักยภาพดึงดูดและรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งการยกระดับความพร้อมด้านโรงแรมที่พัก ร้านอาหารและบริการที่เกี่ยวเนื่อง การเพิ่มฝูงบินและเที่ยวบินตรง ตลอดจนถึงการวางแผนกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติรายประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของธุรกิจท่องเที่ยวในกัมพูชา) โดยในปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ท่องเที่ยวให้กัมพูชามากกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเลือกตั้งกัมพูชาปี 2556 นี้เป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชาที่จำเป็นต้องเร่งสร้างความพร้อมของประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายในระยะยาว โดยประเด็นทางเศรษฐกิจที่คาดว่ากัมพูชาจะให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมประเทศ อาทิ

• การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ของประเทศ รองรับการขยายตัวและพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะยาว อันจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีความพร้อมรองรับการขยายการลงทุนและการเติบโตของกิจกรรมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยปัจจุบันกัมพูชายังมีความพร้อมด้านโครงสร้างและโลจิสติกส์ในระดับที่ต่ำกว่าอาเซียนอื่นโดยเปรียบเทียบ ยกเว้นเมียนมาร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุนได้ อันจะเป็นการเสียโอกาสในการแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้

• การพัฒนาแรงงานให้สามารถรองรับกิจกรรมภาคการผลิตได้หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันแรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่ยังทำงานในภาคเกษตรกรรม ขณะที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่มเป็นหลัก ซึ่งด้วยโครงสร้างการใช้แรงงานดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานแรงงานที่จะรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตในกัมพูชาในระยะข้างหน้าได้

• การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน ลดความซับซ้อนและผ่อนคลายเงื่อนไขด้านกฎระเบียบการลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน รวมถึงการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

ในระยะข้างหน้า…ไทยยังคงมีโอกาสขยายการค้าการลงทุนกับกัมพูชาเพิ่มขึ้น

โอกาสสำหรับไทย ไทยยังมีโอกาสขยายการค้ากับกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะการค้าทางชายแดน ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญอันดับ 1 ของกัมพูชาด้วยสัดส่วนร้อยละ 28.4 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งการค้าชายแดนนับเป็นช่องทางการส่งออกสินค้าของไทยไปกัมพูชาที่มีบทบาทมากขึ้นเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกปี 2556 นี้ (จากประมาณร้อยละ 60 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีก่อน) โดยจังหวัดชายแดนสำคัญ ได้แก่ สระแก้ว (ครองส่วนแบ่งการส่งออกราวร้อยละ 60 ของการส่งออกทางชายแดนไทยไปกัมพูชา) รองลงมาคือจังหวัดตราดและจันทบุรี โดยมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนของไทยไปกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 34,907 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 19.2 (YoY) ซึ่งคาดว่าการส่งออกชายแดนไทยไปกัมพูชาทั้งปี 2556 น่าจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 15 หรือน่าจะมีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา อาทิ เครื่องยนต์ เครื่องจักรกล รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงน้ำตาลทราย ในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น สินค้าไทยยังได้รับความน่าเชื่อถือในสายตาผู้บริโภคกัมพูชาแต่อาจเผชิญการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนและเวียดนามมากขึ้น

ด้านการลงทุน เป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้ามเช่นกัน โดยมีโอกาสการลงทุนในธุรกิจด้านการเกษตรที่กัมพูชามุ่งมั่นให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการบริโภคและการส่งออก ขณะที่ปัจจุบันกัมพูชายังคงขาดแคลนปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตรในระบบการชลประทานที่ไม่ทั่วถึง อีกทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องที่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสการลงทุนและการค้าในธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีปัจจัยเอื้อที่สำคัญได้แก่ ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และ สิทธิ GSP ที่กัมพูชาได้รับ รวมถึงการเข้าไปทำตลาดสิ่งทอต้นน้ำ (เช่น ผ้าผืนและเส้นด้าย) เพื่อป้อนสายการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ที่ยังไม่มีฐานการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่เพียงพอ แต่อาจยังมีประเด็นการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ อาทิโรงงานผ้าผืน โรงงานฟอกย้อม ที่ยังคงต้องการการพัฒนาในระยะถัดไปเนื่องจากยังมีข้อจำกัดในด้านระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งระบบจัดการน้ำและน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และภาคการท่องเที่ยวที่ทางการกัมพูชาให้การสนับสนุน ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีข้อได้เปรียบด้านเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในธุรกิจบริการ จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยที่มีการดำเนินธุรกิจกับกัมพูชาไม่ว่าจะในทางการค้าหรือการลงทุน ควรตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบความราบรื่นของธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซับซ้อนของกฎระเบียบการค้า-การลงทุน ประเด็นการดูแลสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในกัมพูชา ตลอดจนประเด็นเรื่องการถือครองที่ดินที่อาจต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบและดำเนินการเอกสารต่างๆ อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการไทยมีความสัมพันธ์อันดีหรือมีพันธมิตรทางธุรกิจท้องถิ่นอยู่ อาจพิจารณาแนวทางการร่วมทุนทางธุรกิจเป็นอีกทางเลือกในการขยายโอกาสธุรกิจได้ นอกจากจะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาด และยังสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจในกัมพูชาได้มากขึ้นด้วย