ยูโอบี สิงคโปร์: เศรษฐกิจเอเชียเตรียมพร้อมรับการไหลออกของเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการยกเลิกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE)

ธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ (UOB) คาดเศรษฐกิจเอเชียจะสามารถจัดการกับการไหลออกของเงินทุนราว 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ[1] ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ

จิมมี่ โค หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนและวิจัยของธนาคารยูโอบี สิงคโปร์กล่าวว่า การลด QE และอัตราดอกเบี้ยที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอาจนำไปสู่การที่เงินทุนระดับโลกไหลออกจากเอเชีย สถานการณ์นี้อาจทำให้มีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องกับเงินเอเชียสกุลต่างๆ ซึ่งอ่อนตัวลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2556[2] โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเงินบาทไทยลดลงร้อยละ 10 ต่อดอลลาร์สหรัฐจากเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน และคาดว่าค่าเงินบาทไทยจะยังคงผันผวน และมีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่สาม และมีแนวโน้มจะคงที่อยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงสิ้นปีนี้

“การลดค่าเงินเมื่อเร็วๆ นี้ในประเทศเอเชียไม่ได้เป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่เป็นผลของข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากสหรัฐฯ” มร.โค กล่าว

“บริษัทและสถาบันการเงินต่างๆ ของเอเชียที่เคยเรียนรู้จากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา ได้สร้างงบดุลที่แข็งแรงขึ้นและระดับหนี้สินต่อทุน (gearing levels) ที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งทำให้องค์กรเหล่านี้มีความยืดหยุ่น และอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในการจัดการกับความไม่แน่นอนของตลาด ผู้กำหนดนโยบายขององค์กรเหล่านี้ในเอเชียทำงานแบบเชิงรุกและเตรียมความพร้อมก่อนเพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อของราคาสินทรัพย์และเครดิตของผู้บริโภค เรามั่นใจว่าเศรษฐกิจเอเชียในวันนี้พร้อมแล้วที่จะรับมือกับวงจรเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน”

ตามที่ มร. โค ได้กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเพียงแค่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในปีพ.ศ. 2558 เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ในเอเชียมีเวลาในการปรับนโยบายทางการเงิน และทำให้นักลงทุนและนักธุรกิจมีเวลาในการจัดการกับต้นทุนการกู้ยืมที่อาจสูงขึ้นได้

แม้ว่ายูโอบี สิงคโปร์ไม่ได้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงสิ้นปีพ.ศ. 2556 แต่ ก็เชื่อว่ายังมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะลดลงต่ำกว่าอัตราปัจจุบันที่ร้อยละ 2.5 หากมีความจำเป็นที่จะป้องกันความเสี่ยงเชิงลบต่อความต้องการในประเทศ

การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย (GDP) ในไตรมาสที่สองหดตัวเป็นครั้งที่สอง ที่ร้อยละ 0.35 เมื่อเทียบกับการปรับตัวไตรมาสต่อไตรมาส ตามหลักการแล้วถือว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย ในมุมมองของการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยูโอบี สิงคโปร์คาดว่าการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นไปอย่างช้าๆ และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะโตที่ร้อยละ 3.8 ในปีพ.ศ. 2556 เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม มร.โค กล่าวว่าเศรษฐกิจเอเชียจะยังคงได้รับประโยชน์จากการเติบโตด้านการค้า การลงทุน และความ มั่งคั่งของผู้บริโภคภายในภูมิภาค แนวโน้มระยะยาวเหล่านี้จะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และป้องกันเศรษฐกิจจากการไหลออกของเงินทุนระดับโลกที่อาจเกิดขึ้น

“การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยจะยังคงส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 40 ในปีนี้ ทำให้การบริโภคเติบโตขึ้น โดยมีหลักฐานเป็นตัวเลขยอดค้าปลีกที่ดีขึ้น อีกทั้งแผนโครงสร้างขั้นพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่คาดหมายว่าจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อภาคเอกชน และจะเป็นแรงสนับสนุนความเชื่อมั่นในการลงทุนในปีพ.ศ. 2559 เมื่อร้อยละ 70 ของจำนวนเงินที่ลงทุนคาดว่าจะได้รับการเบิกจ่าย”

[1] แหล่งข้อมูล: Institute of International Finance (IIF), Capital Flows to Emerging Market Economies, 26 มิถุนายน 2556. IIF คาดการณ์ว่าจะมีเงินทุนไหลออกจากประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้ และไทย) ประมาณ 628 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี2556 และ737 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี2557

[2] ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 อัตราเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินเยน (US$/?) ปิดที่ 100.61 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่เกินระดับ 100 เยน ครั้งแรกในรอบสี่ปี เป็นการจุดประกายการเพิ่มค่าของดอลลาร์สหรัฐต่อสกุลเงินเอเชียในวงกว้าง เนื่องจากตลาดมุ่งความสนใจไปยังการปล่อยช้อมูลเชิงบวกของสหรัฐ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกลางสหรัฐระบุถึงความเป็นไปได้ถึงเรื่องการชะลอตัวในการกระตุ้นการเงิน