ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์รวมในประเทศปี 2556 นี้ มีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ 1 ถึง 6 คิดเป็นจำนวนยอดขายรถจักรยานยนต์ 2 – 2.1 ล้านคัน โดยยอดขายรายเดือนมีโอกาสหดตัวต่อเนื่องนับจากนี้ไปถึงสิ้นปี เนื่องจากกำลังซื้อของเกษตรกรและแรงงานลดลง ขณะที่ยังเหลือช่วงเวลาแห่งฤดูมรสุมซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่นอีกกว่า 2 เดือน ตรงข้ามกับ ตลาดบิ๊กไบค์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 หรือคิดเป็นยอดขายมากกว่า 7 หมื่นคัน โตต่อเนื่องจากปีก่อนที่ขยายตัวกว่า 3 เท่า หลังนักลงทุนต่างชาติต่างทยอยเข้ามาลงทุนผลิตบิ๊กไบค์ในไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
เช่นเดียวกันกับตลาดรถยนต์ในประเทศที่เริ่มบ่งชี้ถึงช่วงขาลง จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ซึ่งยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ทางด้านตลาดรถจักรยานยนต์เองก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงทิศทางการหดตัวลงของยอดขายในปีนี้เช่นเดียวกัน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 รถจักรยานยนต์มียอดขายรวมกว่า 1.438 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากผลของการหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศ ซึ่งทิศทางการหดตัวดังกล่าวคาดว่าจะยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไปเช่นนี้อีกหลายเดือน จากหลากปัจจัยลบที่เข้ามานับจากนี้ ได้แก่
• ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพในปัจจุบัน ทั้งค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง และอื่นๆ ต่างปรับเพิ่มขึ้นหลายรายการ ทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับประชาชนกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นผู้ซื้อส่วนใหญ่ของตลาดรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นจากผลของความไม่สงบในตะวันออกกลาง ย่อมก่อให้เกิดความวิตกกังวลถึงต้นทุนในการถือครองรถจักรยานยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นของผู้ซื้อได้
• ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จนสูงถึงระดับร้อยละ 77.5 ของจีดีพี จากหลากปัจจัยที่มากระตุ้น โดยเฉพาะการใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลบางนโยบายที่ทำให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งกลุ่มที่มีปัญหาในการจัดการกับภาระหนี้ ก็จะเป็นกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ไม่มากนัก ซึ่งภาระหนี้ที่สูงนี่เองทำให้แต่ละครัวเรือนจำเป็นต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกก่อน ซึ่งรถจักรยานยนต์ก็นับว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
• รายได้ของกลุ่มลูกค้าหลักลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทั้งราคารับจำนำข้าวที่ปรับลดลง และราคายางที่ลดลงจากการมีอุปทานส่วนเกินในตลาดอยู่มาก เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการลดกำลังการผลิตลง เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่เผชิญปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังการผลิตลดลงหลังการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถคันแรกใกล้เสร็จสิ้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เผชิญกับภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง
ซึ่งปัจจัยลบที่มีอยู่รอบด้านนี้ เมื่อผนวกกับช่วงฤดูมรสุมที่ยังดำเนินอยู่ ต่อไปอีกกว่า 2 เดือน ซึ่งนับเป็นช่วงที่ตลาดรถจักรยานยนต์จะซบเซาเป็นปกติตามฤดูกาลแล้ว ย่อมส่งผลกดดันตลาดพอสมควร แม้ว่าในระหว่างนี้จะยังคงมีปัจจัยที่ทยอยเข้ามากระตุ้นตลาดอยู่บ้างก็ตาม อย่างการระดมจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดในรูปแบบต่างๆของแต่ละค่ายรถจักรยานยนต์และสถาบันการเงิน โดยเฉพาะ การเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำพร้อมดาวน์ 0% รวมถึงการเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆออกมาดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ทั้งปี 2556 นี้ อาจหดตัวระหว่างร้อยละ 1 ถึง 6 หรือคิดเป็นยอดขายรถจักรยานยนต์ประมาณ 2 ถึง 2.1 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนที่ทำยอดขายได้ 2,130,041คัน (ขยายตัวร้อยละ 6.1)
ตลาดบิ๊กไบค์ ปี’56 โตแรงสวนทางตลาด…คาดขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45
แม้ตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงที่ผ่านมาจะมีทิศทางหดตัวอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกันกับตลาดบิ๊กไบค์ที่มีระดับยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบันที่ 5,866 คัน สูงกว่ายอดขายเฉลี่ยต่อเดือนปีที่แล้วที่ 3,997 คัน ถึงร้อยละ 46.7 แสดงให้เห็นถึงการตอบรับที่ดีของตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนของบิ๊กไบค์ในตลาดรถจักรยานยนต์รวมขึ้นมาอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 3 ในปีนี้ จากร้อยละ 2 ในปีที่แล้ว สวนทางกับตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทอื่นๆท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยปัจจัยที่เป็นแรงผลักสำคัญทำให้ตลาดบิ๊กไบค์ยังขยายไปได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การที่กลุ่มผู้ซื้อหลักเป็นกลุ่มที่มีฐานะมั่นคงระดับหนึ่ง ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการเงินน้อยกว่า ขณะเดียวกันการลงทุนผลิตบิ๊กไบค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากหลายค่ายหลายสัญชาติ ทั้งญี่ปุ่น จีน และยุโรป ที่ทยอยเข้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ราคาขายบิ๊กไบค์ถูกลง และทำให้ตลาดบิ๊กไบค์คึกคักขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2555 โดยกลุ่มผู้ซื้อได้ขยายฐานออกไปกว้างมากขึ้น
ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปี 2556 นี้ น่าจะยังเป็นอีกปีที่ตลาดบิ๊กไบค์ขยายตัวออกไปได้อีกมาก โดยคาดว่าจะมียอดจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 หรือคิดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 70,000 คัน ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวมากกว่า 3 เท่าในปี 2555 ที่จำนวน 47,960 คัน โดยบิ๊กไบค์ส่วนใหญ่นั้นทำตลาดได้ดีในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินดี เนื่องจากบิ๊กไบค์เป็นรถจักรยานยนต์ที่ใช้ตอบสนองต่อการใช้เพื่องานอดิเรกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมถึงมีระดับราคาที่สูงกว่ารถจักรยานยนต์ทั่วไปค่อนข้างมาก ส่งผลให้บิ๊กไบค์ใหม่กว่าร้อยละ 45 จดทะเบียนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบิ๊กไบค์รุ่นใหญ่ราคาแพง
ส่วนตลาดบิ๊กไบค์ในอนาคตข้างหน้าในไทย คาดว่าจะยังมีโอกาสขยายตัวไปได้อีกมาก หลังค่ายรถจักรยานยนต์ที่ผลิตบิ๊กไบค์จากต่างชาติต่างยังทยอยมาตั้งโรงงานผลิตในไทย เนื่องจากมองเห็นศักยภาพทางการตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะ เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับรายได้ประชากรที่มีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะในท้องที่ต่างจังหวัด และการเปิดเสรีภายใต้กรอบ AEC ในปี 2558 ก็จะยิ่งผลักดันให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นประเทศผู้ผลิตบิ๊กไบค์เพื่อส่งออกมากขึ้นด้วย หลังจากที่ปัจจุบันมีตลาดหลักอย่าง ประเทศในกลุ่มยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
กล่าวโดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดรถจักรยานยนต์รวมในประเทศปี 2556 นี้ อาจยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังซื้อของกลุ่มผู้ซื้อหลักที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสหดตัวลงจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูเฉพาะตลาดบิ๊กไบค์แล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้อีกมาก ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้การลงทุนผลิตบิ๊กไบค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ธุรกิจดีลเลอร์จำหน่ายและซ่อมบำรุงบิ๊กไบค์ และธุรกิจ ลีสซิ่ง เป็นต้น อาจต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับกำลังการผลิต และขนาดความต้องการในตลาดที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทั้งจำนวนและคุณภาพเพื่อรองรับ