ซีดีจี ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจร เสนอ 4 แนวรุก สนับสนุนภาครัฐ ผลักดันฐานข้อมูลประเทศ รับเออีซี

กลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้นำด้านการให้บริการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจรแก่องค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ประกาศความพร้อมให้การสนับสนุนภาครัฐเร่งเดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนาฐานข้อมูลของประเทศและบูรณาการข้อมูลในด้านต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศให้พร้อมรับการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ภายหลังเปิด เออีซี ในปีหน้า โดยกลุ่มบริษัทฯ เตรียมนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ภาครัฐในหลายโครงการ คาดภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มูลค่าธุรกิจโครงการภาครัฐในประเทศจะเพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า พร้อมเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศกลุ่ม เออีซี ให้มีสัดส่วน 15% ของรายได้รวมภายในปี 2561

นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ซีดีจี กล่าวว่า “ในส่วนแผนการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินอยู่และมีความรุดหน้าเป็นลำดับ ทางกลุ่มบริษัท ซีดีจี พร้อมนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจรแก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อสนับสนุนศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศไทยให้พร้อมรับ เออีซี ผ่านการให้บริการ 3 ส่วน คือ 1.การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม 2. การยกระดับระบบการทำงาน back office และ core application ของหน่วยงาน และ 3. การยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐแก่ประชาชน เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ มองว่าภายหลังเปิด เออีซี ปีหน้า ประเทศไทยจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและท้าทายเป็นอย่างมากใน 4 ด้าน คือ ด้านสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน, ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ-ภาคธุรกิจ, ด้านสังคม และด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประเทศ ซึ่งกลุ่มบริษัทได้ปรับแนวรุกธุรกิจตามความท้าทายดังกล่าว เนื่องจากเล็งเห็นว่าการที่ภาครัฐมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลระดับประเทศที่ดีเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีอาเซียน”

โดยความท้าทายอันดับ หนึ่ง ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชนนั้น ล่าสุด กลุ่มบริษัท ซีดีจี ได้ให้การสนับสนุนโครงการจัดทำข้อมูลขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ของกรมการปกครอง โดยนำระบบและซอฟทแวร์ไปเสริม อีกทั้งช่วยดูแลบริหารจัดการดำเนินงานโครงการ โดยกลุ่มบริษัทฯ มองว่าการไหลบ่าเข้ามาของแรงงานต่างชาติจะเพิ่มความท้าทายให้แก่ภาครัฐในการดูแลสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน เนื่องจากเมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้น การควบคุมอาชญากรรมและอัตราการแพร่กระจายในกรณีที่เกิดโรคระบาดจะเป็นไปได้ยากขึ้นซึ่งหากมีการผนวกใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS – Geographic Information System) เข้ามาจะยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามการย้ายถิ่นฐานของประชาชนรวมถึงแรงงานต่างชาติ และทำให้การควบคุมในกรณีฉุกเฉินเป็นไปได้ง่ายขึ้น กลุ่มบริษัทฯ จึงมีแผนนำเสนอระบบดังกล่าวต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตอันใกล้

ความท้าทายอันดับสอง คือ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ-ภาคธุรกิจ ซึ่งจากการที่กลุ่มบริษัท ซีดีจี ได้เริ่มเข้าไปให้บริการ ‘สารบัญอิเลคทรอนิกส์’ ในรูปแบบการให้บริการซอฟท์แวร์ผ่านอินเตอร์เน็ท ที่เรียกว่า Software-as-a-Service โดยใช้เทคโนโลยี Cloud Computing แก่หน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงาน ทำให้กลุ่มบริษัทฯ เล็งเห็นความเป็นไปได้ที่ระบบดังกล่าวจะมาช่วยสนับสนุนการให้บริการนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งปกติต้องขอใบอนุญาตผ่านหลายหน่วยงานและใช้เวลานาน โดยมองว่าหากมีระบบสารสนเทศที่มาสนับสนุนการส่งต่อข้อมูล(Transaction) ตรงนี้ และมีการบูรณาการของฐานข้อมูล  หลาย ๆ หน่วยงานเข้าด้วยกัน จะช่วยลดขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยาก ลดต้นทุนด้านเอกสาร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ และสร้างความโปร่งใสให้ระบบ อีกทั้งจะช่วยจูงในนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

ในส่วนอื่นๆ อาทิ ด้านสังคม และด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการสาธารณูปโภค อาทิ การบริหารจัดการน้ำ ไฟฟ้า พื้นที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ทรัพยากรป่าไม้ ก็จะมีความท้าทายมากขึ้น เพราะเมื่อมีประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามามากขึ้น ก็ย่อมมีความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีและฐานข้อมูลที่แม่นยำ ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ มีประสบการณ์เข้าไปให้บริการในหลายโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการแผนที่สารสนเทศเพื่อบริหารจัดการภัยพิบัติ โครงการพัฒนาสารสนเทศระบบไฟฟ้าทางภูมิศาสตร์ โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท ซีดีจี เชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่นี้ จะรีบดำเนินการผลักดันโครงการต่างๆ ที่มีการดำเนินการมาแล้วบางส่วนให้รุดหน้า พร้อมผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันขอประเทศไทย ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ เอง ก็พร้อมเข้าไปสนับสนุน โดยภายหลังเปิด เออีซี กลุ่มบริษัท ซีดีจี คาดว่ามูลค่าธุรกิจโครงการภาครัฐในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

“หากไม่นับประเทศที่มีระบบไอซีทีที่เจริญก้าวหน้าไปมากแล้วอย่าง สิงค์โปร์ ประเทศคู่แข่งที่น่าจับตาของประเทศไทยที่น่าจะดึงความสนใจจากนักลงทุนได้มากในกลุ่ม เออีซี ก็คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ความพร้อมของระบบสารสนเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศได้” นายนาถ กล่าว “อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิก เออีซี ที่กำลังพัฒนา อาทิเวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของเราในการเข้าไปช่วยพัฒนาโครงสร้างต่างๆ พื้นฐานทางด้านไอทีเนื่องจากเรามีประสบการณ์ยาวนาน”

ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลากว่า 46 ปี กลุ่มบริษัท ซีดีจี ได้เข้าไปให้บริการด้านสารสนเทศแก่หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักงานสาขาในประเทศเวียดนาม ตลอดจนเข้าร่วมทุนกับบริษัทในประเทศอินโดนีเซีย และกำลังจะเปิดสำนักงานในประเทศพม่าอีกด้วย ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท ซีดีจี ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้จากตลาดอาเซียนประมาณ 15% ให้ได้ภายในปี 2561