ผ่าแนวรบค้าปลีก เซ็นทรัล VS เดอะมอลล์

ถือเป็นการลั่นกลองรบครั้งใหญ่ “เซ็นทรัล และเดอะมอลล์” บิ๊กธุรกิจค้าปลีกของไทยที่ครองตลาดมายาวนาน กับยุทธศาสตร์การลงทุนครั้งใหม่ เพื่อช่วงชิงโอกาสในสนามค้าปลีกที่กำลังดำเนินไปอย่างมีสีสัน

ค่ายเซ็นทรัล ยังคงสวมบท “เสี่ยสั่งลุย” เดินหน้าขยายการลงทุนอย่างเข้มข้น ล่าสุด บริษัทเซ็นทรัล ประกาศใช้เงินลงทุน 53,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ คือระหว่างปี 2558-2559 ไปกับ 8 โครงการ ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองต่างจังหวัด ทั้งที่เป็นเมืองหลักและเมืองรอง ขยายพื้นที่ค้าปลีก รองรับกำลังซื้อที่กำลังขยายตัวในต่างจังหวัด
 
สาขาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558  ประกอบไปด้วย เซ็นทรัลเวสท์เกต บางใหญ่ มูลค่าลงทุน 14,000 ล้านบาท โดยซีพีเอ็นตั้งใจให้เป็นต้นแบบซูเปอร์รีจินัลมอลล์ระดับเอเชีย, เซ็นทรัลพลาซา ระยอง มูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านบาท เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์ วิลล์ ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา มูลค่าลงทุน 6,000 ล้านบาท เป็นรูปแบบของไลฟ์สไตล์มอลล์แบบเอาต์ดอร์ เนื้อที่ 1.5 แสนตารางเมตร

ปี 2559 จะเป็นคิวของโครงการเซ็นทรัลพลาซา นครศรีธรรมราช ลงทุน 4,000 ล้านบาท เซ็นทรัลนครราชสีมา มูลค่าลงทุน 9,300 ล้านบาท พื้นที่ 2.5 แสนตารางเมตร และเซ็นทรัล ภูเก็ต มูลค่าลงทุน 12,700 ล้านบาท เนื้อที่ 3 แสนตารางเมตร เปิดดำเนินการปี 2560

ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นการ “รีโนเวต” ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ด้วยงบลงทุน 2,300 ล้านบาท และเซ็นทรัล บางนา ด้วยงบ 1,200 ล้านบาท จะเสร็จในปี 2558

เมื่อนำโครงการใหม่ข้างต้นมารวมกับโครงการปัจจุบันที่เปิดไปแล้ว  25 สาขา มีพื้นที่ค้าปลีก 5 ล้านตารางเมตร จะทำให้เซ็นทรัลมีสาขารวมกัน 31 สาขา และเพิ่มพื้นที่ค้าปลีก 7 ล้านตารางเมตร โดยจะสร้างการเติบโตให้กับซีพีเอ็น 15% ต่อปี

ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา หรือ ซีพีเอ็น มองว่า นอกเหนือจาก 8 โครงการที่เปิดในอีก 3 ปีข้างหน้า ยังมีโครงการใหม่อีกไม่น้อยกว่า 20 แห่งที่อยู่ในความสนใจ 

การเดินเกมรุกขยายสาขาของกลุ่มเซ็นทรัลดำเนินต่อเนื่องมาตลอดหลายปีมานี้ ด้วยการขยายสาขาทั้งในเขตปริมณฑล หัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด รวมทั้งหัวเมืองรองในต่างจังหวัด เพื่อช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้น รวมถึงธุรกิจในต่างจังหวัดที่กำลังโตวันโตคืน การเติบโตของกำลังซื้อ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการไม่แพ้คนเมือง

กลยุทธ์ของเซ็นทรัล คือ การนำพาเอาร้านค้า ร้านอาหาร ประสบการณ์ในการชอปไปให้กับลูกค้าต่างจังหวัดได้กิน ได้ชอป ได้สัมผัสกับเทรนด์ใหม่ๆ ไม่ต่างจากคนในกรุงเทพฯ สอดรับกับการขยายตัวคนชั้นกลางในต่างจังหวัด กำลังซื้อเพิ่มขึ้น การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมความต้องการของคนต่างจังหวัดไม่แตกต่างไปจากคนเมือง ซึ่งเซ็นทรัลเองก็หันมาให้น้ำหนักกับเรื่องของการดีไซน์ตัวห้าง และมีรายละเอียดบางอย่างที่ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ และบริบทของลูกค้าในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

การขยายสาขาของเซ็นทรัล ยังนำพาธุรกิจให้กับธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นท็อปส์มาร์เก็ต บีทูเอส ออฟฟิศเมท รวมถึงเครือข่ายของพันธมิตร ร้านค้าแบรนด์ต่างๆ ขยายไปยังฐานลูกค้าในระดับกว้าง และยังสร้างอำนาจต่อรองในการแข่งขันทั้งจากคู่แข่งในต่างจังหวัด รวมถึงสกัดคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาในสนามค้าปลีก

นอกจากนี้ ภายใต้เครือข่ายของกลุ่มเซ็นทรัล ยังมีห้าง “โรบินสัน” เป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ ใช้บุกเข้าสู่ต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรอง ขยายไปในกลุ่มระดับบีลงมา ที่มีความเป็นแมสมากกว่าห้างเซ็นทรัล

ส่วนสาขาในกรุงเทพฯ ต้องมีการขยับปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มีการเติมเทรนด์ใหม่ๆ จากต่างประเทศ เข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง ที่รับเอาวัฒนธรรมการชิม การชอป จากทั่วโลกมาอย่างรวดเร็ว นอกจากจะมีห้างระดับลักซ์ชัวรี่ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี มาตอบโจทย์นักชอประดับไฮเอนด์แล้ว การรีโนเวตสาขาเดิมจึงต้องทำถี่ขึ้น เร็วขึ้น เพื่อให้ “เซ็นทรัล” อินเทรนด์ตลอดเวลา และทำให้เซ็นทรัลเวิลด์อยู่ในแผนที่เซ็นทรัลเตรียม “รีโนเวต” ครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน 

ในขณะที่เซ็นทรัลเดินเกมรุกธุรกิจด้วยการแผ่ขยายอาณาจักร สร้างโอกาสจากการขยายพื้นที่การค้าใหม่ๆ ไปยังผู้บริโภคเป้าหมายอย่างกว้างขวาง ค่ายเดอะมอลล์เอง กลับเดินเกมคนละแบบกับคู่แข่ง

เดอะมอลล์ เลือกใช้กลยุทธ์ยืนปักหลักพลิกโฉมศูนย์การค้าในทำเลเดิมให้ใหญ่ขึ้น อย่าง “ดิเอ็มโพเรียม” ถนนสุขุมวิท ที่ถูกพัฒนาใหม่ ขยายทั้งขนาดของพื้นที่ และเติมความหรูหรา เปลี่ยนจากห้างสรรพสินค้าให้กลายเป็น “ย่านการค้า” เพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนในเมือง มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม แหล่งบันเทิง แบบครบวงจร 

รองรับนักชอปที่มีกำลังซื้อจากคนไทยและต่างชาติ ด้วยเนื้อที่ค้าปลีกของทั้งสามโครงการรวมกัน 6.5 แสนตารางเมตร โดยใช้เงินลงทุนทั้งของเดอะมอลล์และพันธมิตรรวมกัน 50,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปีหน้า

ขณะเดียวกัน ในปีหน้าจะเป็นปีที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์พลิกโฉมครั้งใหญ่ เพื่อล้างภาพลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นห้างชานเมือง ให้ทันสมัย มีความเป็นเมืองมากขึ้น โดยจะใช้งบลงทุน 1,700 ล้านบาทในการปรับเปลี่ยนตัวศูนย์การค้า และอีก 500 ล้านบาทในการทำตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อใหม่ๆ และรับมือการแข่งขันที่กำลังถาโถมเข้ามา

“โจทย์ใหญ่ของเดอะมอลล์ คือ เรามีฐานลูกค้าเป็นครอบครัวที่มีอายุเยอะมาก กลุ่มครอบครัวรุ่นใหม่ คนทำงาน และคนรุ่นใหม่น้อยมาก การจะดึงกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาเราปรับเปลี่ยนตัวศูนย์การค้า เพิ่มร้านค้าที่โดนใจ มีอีเวนต์ที่ตอบโจทย์เขาให้ได้” ดวงตา พงษ์วิไลย์ ผู้จัดการใหญ่การตลาด ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บอก

แผนงานสำคัญในปีหน้าของเดอะมอลล์ คือ การให้น้ำหนักไปกับการปรับพื้นที่ของศูนย์การค้า การเพิ่มแบรนด์แฟชั่นดัง ร้านอาหารระดับแม่เหล็กของคนรุ่นใหม่ เช่น มิสเตอร์โจนส์, อาฟเตอร์ยู, Kagonoya, Tudari Express ร้านอาหารเกาหลี และเพิ่มโซนสถาบันการเงิน โซนเอ็ดดูเทนเมนต์ สตรีตแฟชั่น เติมความเป็นโมเดิร์น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น วัยรุ่น กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ และกลุ่มลูกค้าบีบวกขึ้นไป ที่ยังมีสัดส่วนน้อยมากเพราะที่แล้วมาเดอะมอลล์ถูกมองว่าเป็นห้างของครอบครัว เด็กวัยรุ่นไม่เดิน 

อย่างไรก็ตาม การแปลงโฉมเดอะมอลล์ถึงขั้น “รีโนเวต” ใช่ว่าจะง่าย เนื่องจากใช้โมเดลให้ร้านค้าเช่าระยะยาว 30 ปี เป็นโมเดลในยุคเริ่มต้น ทำให้เดอะมอลล์ได้เงินก้อนใหญ่มาใช้ลงทุนในช่วงแรก แต่มาถึงวันนี้การขยับปรับเปลี่ยนทำได้ยากลำบาก “ร้านค้าจ่ายค่าเช่าไปแล้วก็ไม่อยากเปลี่ยน” จึงต้องใช้การต่อเติม ปรับโซนนิ่ง เพื่มร้านค้าใหม่ๆ และใช้ “อีเวนต์” มาดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ

“อีเวนต์” จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในปีหน้า ที่จะใช้งบ 500 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 5 ปี เพื่อใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่แค่เทศกาลเดือนละครั้ง แต่ต้องจัดถี่ยิบตลอดทั้งปี และจัดทุกสาขา เฉพาะอีเวนต์ใหญ่อย่างต่ำๆ ก็ต้องมี 150 งาน มีทั้งแฟชั่น บิวตี้ บ้าน กีฬา อาหาร ออแกไนเซอร์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างทราฟฟิก และดึงดูดลูกค้ากระเป๋าหนักมาเข้าห้างเดอะมอลล์

สำหรับสาขาที่จะให้น้ำหนักกับการ “รีโนเวต” มากเป็นพิเศษ คือ “เดอะมอลล์ สาขาโคราช” จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปี โดยจะใช้งบ 80% จากงบการรีโนเวต 2,000 ล้านบาท เพราะเป็นสาขาที่มีศักยภาพ เปรียบเป็นพารากอนแห่งอีสาน ทราฟฟิกลูกค้าแน่นตลอด เวลามีงานใหญ่หรืออีเวนต์ในอีสานต้องมาจัดที่นี่ แต่ไม่ได้ปรับใหญ่มานาน 15 ปี 

เป้าหมายหลัก คือ การขยายพื้นที่โครงการเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 60% เพื่อเพิ่มร้านแฟชั่นแบรนด์ดัง เพิ่มโซนร้านอาหารแบรนด์ดังๆ รวมทั้งจัดโซนใหม่ ธนาคาร และสถาบันการศึกษา ใส่ความเป็นเมือง ให้ลูกค้าได้ชอป และชิมไม่ต่างจากห้างในกรุงเทพฯ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อในโคราช ที่สำคัญเพื่อรับมือกับการมาของกลุ่มเซ็นทรัล ที่จะมาเปิดสาขาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

โดยหลังจากรีโนเวตสาขาโคราช จะมีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น 30-50% จากปัจจุบันลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 8 หมื่นคนในวันธรรมดา และ 1 แสนคนต่อวันในวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่นเดียวกับสาขาโดยรวมจะมีทราฟฟิกเพิ่มขึ้น 15-20% ที่สำคัญ โฉมใหม่ของเดอะมอลล์จะสร้างการรับรู้ใหม่ ให้กลายเป็นความทันสมัย มีความเป็นเมืองมากขึ้น เพื่อดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ แม้ว่าจะเป็นแผนระยะยาวที่จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีก็ตาม

แม้จะเป็นการเดินกันคนละเกม แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การขยายพื้นที่ค้าปลีก ยึดครองฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและเดอะมอลล์คาดหวังว่า จะทำให้พวกเขายังยึดครองฐานที่มั่นในสนามค้าปลีกเหมือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการแข่งขันที่รุมเร้าเข้ามาทุกที จากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ และเก่าที่กำลังดาหน้าเข้ามาในสนามนี้