ไทย” ติดอันดับ 61 จาก 93 ประเทศ จากการวัดความสามารถในการแข่งขันการผลิต ดึงดูด รักษาคนเก่งทั่วโลก ปี 2014

“อเด็คโก้” ร่วมศึกษา “การเพิ่มจำนวนคนเก่งเพื่อวันนี้และวันข้างหน้า” เผย “ไทย” ติดอันดับ 61 จาก 93 ประเทศทั่วโลกดัชนีชี้วัดความสามารถแข่งขันการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่งทั่วโลก
 
การเพิ่มจำนวนคนเก่งเพื่อวันนี้และวันข้างหน้า : ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะที่เหมาะสมกับงานและอาชีวศึกษา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น
 
ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 61 จาก 93 ประเทศ
 
• ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่งทั่วโลก ปี 2014 (Global Talent Competitiveness Index-GTCI-2014) จัดอันดับ 93 ประเทศ จากความสามารถในการเติบโต ดึงดูด และรักษาคนเก่งไว้ เนื่องจากพบว่าทั่วโลกไม่สามารถหาคนที่ตรงกับงานได้ทั้งๆ ที่มีการว่างงานจำนวนมาก
 
• ผลวิจัยที่จัดทำโดยสถาบัน INSEAD, HCLI ร่วมกับกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ พบว่าหลักสำคัญในการดึงดูด รักษา และพัฒนาคนเก่งคือการลงทุนกับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับงาน และการศึกษาที่สร้างความรู้ความชำนาญในสายอาชีพ
 
• ประเทศไทยมีสภาวะตลาดแรงงานที่ดี (เป็นตัวกระตุ้น) และมีประสิทธิภาพในการขยายกลุ่มคนเก่งของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาในการดึงดูดคนเก่งอยู่บ้าง (ทั้งในระดับประเทศและจากต่างประเทศ) และในการเปลี่ยนคนที่เก่งอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยทักษะที่เหมาะสมกับงาน (รวมถึงทักษะที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ) และมีผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น
 
คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคไทย-เวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ร่วมกับสถาบันพัฒนาความเป็นผู้นำของทรัพยากรมนุษย์แห่งประเทศสิงคโปร์ (HCLI) และสถาบัน INSEAD มหาวิทยาลัยชั้นนำในเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศ เผยดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่งทั่วโลกประจำปี 2014 (GTCI) การศึกษาในครั้งนี้ให้ความสนใจในเรื่อง “การเพิ่มจำนวนคนเก่งเพื่อวันนี้และวันข้างหน้า” ซึ่งดัชนีนี้คือตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ จากคุณภาพในการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่ง โดยมีประเทศสวิตเซอร์แลนด์อยู่ในอันดับ 1 และประเทศสิงคโปร์ และลักเซมเบิร์ก อยู่ในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ
 
โดยศึกษาจาก 93 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็น 83.8% ของจำนวนประชากรทั้งโลก และ 96.2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลที่สามารถนำมาใช้จริงในการสร้างกลยุทธสำหรับภาครัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงกำไร เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย อย่างเช่น เรื่องการศึกษา ทรัพยากรบุคคล และการโยกย้ายถิ่นฐาน ผลการศึกษาพบว่า “ทักษะที่เหมาะสมกับงาน” และการลงทุนในเรื่องการศึกษาที่สร้างความรู้ความชำนาญในสายอาชีพเป็นรากฐานที่สำคัญของความสำเร็จในการพัฒนา ดึงดูด และรักษาคนเก่งในระดับต้นๆ
 
“บริษัทในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยี ยังคงขยายตัวไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นในการพัฒนาคนเก่งในประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก เราควรร่วมมือกันในระดับประเทศเพื่อมองหาหนทางใหม่ๆ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่งของเรา” คุณธิดารัตน์กล่าวปิดท้าย     
 
10 อ้นดับประเทศที่มีคุณภาพในการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่ง ปี 2014
1. สวิตเซอร์แลนด์
2. สิงคโปร์
3. ลักเซมเบิร์ก
4. สหรัฐอเมริกา
5. แคนาดา
6. สวีเดน
7. สหราชอาณาจักร
8. เดนมาร์ก
9. ออสเตรเลีย
10. ไอร์แลนด์
 
Ilian Mihov อธิการบดีแห่งสถาบัน INSEAD กล่าวถึงผลของการศึกษาในปีนี้ว่า “เราอยู่ในโลกที่คนเก่งเป็นแกนหลักของการแข่งขัน ทั้งสำหรับธุรกิจและเศรษฐกิจระดับประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานได้ ภาคเอกชนและรัฐบาลต่างก็ต้องการผู้นำและเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับทักษะที่ช่วยให้องค์กรและประเทศของพวกเขาเติบโตในสภาวะเศรษฐกิจโลก เพื่อช่วยให้องค์กรตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้องในสภาวะแวดล้อมที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราต้องมีตัวชี้วัดอย่างเช่นดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่งทั่วโลกนี้
 
ในปี 2013 ประเทศที่มีคุณภาพในการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่งในอันดับต้นๆ มักเป็นประเทศในทวีปยุโรป และมีเพียงแค่ 6 ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรปใน 20 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (2) สหรัฐอเมริกา (5) แคนาดา (5) ออสเตรเลีย (9) นิวซีแลนด์ (16) และญี่ปุ่น (20)
 
Bruno Lanvin ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายดัชนีชี้วัดภาวะต่างๆ ทั่วโลกแห่งสถาบัน INSEAD และผู้เขียนร่วมของผลการศึกษานี้กล่าวว่า “ผลที่ได้น่าสนใจมากเพราะประเทศที่อยู่ใน 3 อันดับแรกคือ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และลักเซมเบิร์ก 2 ประเทศไม่มีทางออกทะเลและอีก 1 ประเทศเป็นเกาะ จากข้อจำกัดของสภาพทางภูมิศาสตร์และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากต้องเปิดประเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการหาคนเก่งที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ในปีนี้มีความเป็นโลกาภิวัฒน์ และใช้มันให้เป็นประโยชน์” ส่วนอีกหลายประเทศใน 20 อันดับแรกก็มีการโยกย้ายถิ่นฐานที่มีระบบระเบียบชัดเจน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา (4) แคนาดา (5) สวีเดน (6) สหราชอาณาจักร (7) และออสเตรเลีย (9) ประเทศที่มีระดับของประสิทธิภาพสูงยังมีระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของประเทศมาอย่างยาวนาน อย่างเช่นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียทุกประเทศก็อยู่ใน 15 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก (8) นอร์เวย์ (11) และฟินแลนด์ (13)
 
Paul Evans ศาสตราจารย์ผู้นำฝ่ายการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล Emeritus แห่งสถาบัน INSEAD และผู้เขียนร่วมของผลการศึกษานี้ให้ความเห็นไว้ว่า “ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจที่สุดในปีนี้คือกลับไปให้ความสนใจเรื่องความสำคัญของการศึกษาที่สร้างความรู้ความชำนาญในสายอาชีพ ทุกวันนี้เรื่องการศึกษาที่สูงขึ้นไม่ใช่เรื่องสำคัญเพียงอย่างเดียว ยังต้องนำการเรียนรู้เพื่อสร้างความชำนาญในสายอาชีพมาผสมผสานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นำการสร้างทักษะให้ตรงกับงานมาไว้ในโรงเรียนตั้งแต่ช่วงต้นๆ 70% ของเด็กวัย 15 ในสวิตเซอร์แลนด์จะเข้าร่วมในสิ่งที่เรียกว่าการฝึกงานด้วยประสบการณ์จริง เป็นการรวมประสบการณ์การทำงานที่ปฏิบัติจริงกับการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีตามรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งในคณะรัฐบาลสวิสชุดปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรีมาจากสายอาชีวศึกษา สำหรับการแข่งขันเพื่อให้ได้คนเก่งที่มีคุณภาพ แต่ละประเทศต้องให้ความสนใจกับสายอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาที่สอนการสร้างทักษะที่ตรงกับงาน ให้จริงจังมากขึ้นกว่าเดิม”
 
Patrick De Maeseneire ซีอีโอของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญการฝึกงานสำหรับขยายกลุ่มคนเก่งให้มากยิ่งขึ้น “การจับคู่คนเก่งได้ไม่ตรงกับงานเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีคนถึง 33 ล้านคนที่กำลังหางานในสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีตำแหน่งว่างกว่า 8 ตำแหน่งที่ยังหาคนไม่ได้ ในขณะเดียวกันมีคนหนุ่มสาวที่ยังว่างงานกันอยู่กว่า 50% ในประเทศยุโรปบางประเทศ การผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปของโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญเพื่อการสร้างงานในยุโรปและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐบาลและเอกชน อย่างเช่นพวกเราควรร่วมมือกันส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้ประสบการณ์ในการทำงานแรก การศึกษา และการฝึกงานเป็นการเตรียมตัวที่ดี เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีความพร้อมสำหรับสิ่งที่องค์กรต้องการ”
 
การศึกษาอย่างเป็นทางการในเอเชียกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมกับความต้องการพื้นที่ในสังคมของชนชั้นกลางที่มีเพิ่มมากขึ้น Kwan Chee Wei ซีอีโอของสถาบันพัฒนาความเป็นผู้นำของทรัพยากรมนุษย์แห่งประเทศสิงคโปร์ (HCLI) กล่าวว่า “ประเทศในเอเชียบางประเทศต้องมองถึงความสำคัญและความคุ้มค่าของทั้งพนักงานระดับมืออาชีพและเจ้าหน้าที่เทคนิค นอกจากนี้ ลำดับชั้นและระบบเจ้าขุนมูลนายในองค์กรเอเชียหลายองค์กรมักเป็นตัวฉุดรั้งการเปิดกว้าง ความโปร่งใส และการเพิ่มขีดความสามารถ สิ่งสำคัญที่ช่วยเร่งอัตราการเติบโตของจำนวนคนเก่ง”
 
ประเทศที่ได้รับคะแนนนำใน 20 อันดับแรกในการศึกษาดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่งทั่วโลก ปี 2014 คือประเทศที่มีประชากรที่มีรายได้สูง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเลย เนื่องจากประเทศที่ร่ำรวยมักจะมีสถานศึกษาที่ดีกว่าและมีความสามารถในการดึงดูดคนเก่งจากต่างประเทศได้ดีกว่าด้วยการมีคุณภาพชีวิตและค่าตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถดึงดูดคนเก่งได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความสัมพันธ์ขั้นสูงระหว่างความสามารถในการดึงดูดคนเก่งกับความร่ำรวยแล้ว การศึกษาดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันการผลิต ดึงดูด และรักษาคนเก่งทั่วโลก ยังเผยให้เห็นปัจจัยหลัก 6 ประการที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันดึงดูดคนเก่งในประเทศที่มีระดับการพัฒนาประเทศและรายได้ต่อหัวของประชากรที่แตกต่างกัน
 
1. การเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ คือหลักสำคัญของความสามารถในการแข่งขันดึงดูดคนเก่ง ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และลักเซมเบิร์ก เปิดกว้างอย่างมากในเรื่องการค้าขาย การลงทุน การโยกย้ายถิ่นฐาน และแนวความคิดใหม่ๆ ยอมรับเรื่องโลกาภิวัฒน์ และในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรบุคคล
 
2. ประเทศที่มีความมั่นคงทางการเงินอยู่แล้วจำเป็นต้องมีความสามารถในการแข่งขันดึงดูดคนเก่งเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศที่รำรวยเพราะน้ำมันหรือแร่ธาตุ หรือประเทศที่มีความได้เปรียบในทางใดทางหนึ่ง ควรสร้างความสามารถในการดึงดูดคนเก่งเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
 
3. การเติบโตของจำนวนคนเก่งเกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอก บางประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จกับการมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาคนเก่งภายในประเทศของตัวเอง ในขณะที่บางประเทศ อย่างเช่นประเทศจีน ใช้วิธีดึงดูดคนเก่งจากต่างประเทศหรือส่งคนเก่งในประเทศไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
 
4. แต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญเรื่องทักษะที่เหมาะสมกับงานหรือเสี่ยงที่จะมีอัตราการว่างงานสูง “สร้างคนเก่งเพื่อการเจริญเติบโต” หมายถึง การเติมเต็มความต้องการที่แท้จริงของเศรษฐกิจระดับชาติ สวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศนอร์ดิก ปรับระบบการศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะกับการทำงานในระดับที่เหมาะสม
 
5. ระบบการศึกษาต้องมีการพิจารณาวิธีการเรียนรู้แบบดั้งเดิมเสียใหม่ การพัฒนาคนเก่งในศตวรรษที่ 21 ต้องมีมากกว่าแค่การศึกษาที่เป็นทางการแบบดังเดิมและเพิ่มการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ
 
6. เทคโนโลยีคือการเปลี่ยนแปลงความหมายของทักษะที่เหมาะกับงาน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลต่อคนกลุ่มใหม่ในตลาดแรงงาน มีผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานบนพื้นฐานความรู้ (knowledge worker) 250 ล้านคนทั่วโลก