จับตา 2 ทัพค้าปลีก “ทีซีซีแลนด์ – ทีซีซี แอสเซ็ทส์” “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่กำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ภายใต้กลยุทธ์แยกกันเดินร่วมกันตี !
นับจากนี้ สปอร์ตไลต์ธุรกิจค้าปลีก คงต้องจับมาที่ค่ายทีซีซี กรุ๊ป ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ตามดีกรีความเข้มข้นของการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกของค่ายนี้ เพราะไม่ได้มีแค่ ทีซีซีแลนด์ ภายใต้การดูแลของ วัลลภา และ โสมพัฒน์ ไตรโสรัส ลูกสาวคนโตและลูกเขย ที่กำลังบุกขยายธุรกิจค้าปลีกอย่างหนักเท่านั้น
แต่วันนี้ กลุ่มทีซีซี ยังมี “ทีซีซี แอสเซ็ทส์” เป็นอีกหนึ่งในแนวรบสำคัญของการบุกตะลุยธุรกิจค้าปลีก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายอสังหาริมทรัพย์ ประเภท “มิกซ์ยูส” ครอบคลุมทั้งโรงแรม รีเทล ที่เสี่ยเจริญมอบหมายให้ “ปณต สิริวัฒนภักดี” ลูกชายคนเล็ก มาเป็นผู้กุมบังเหียน
ทีซีซี แอสเซ็ทส์ เปิดฉากด้วยโครงการแรก คือ เดอะสตรีท รัชดา บนถนนรัชดาภิเษก มูลค่าการลงทุน 2,600 ล้านบาท จะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ได้ชื่อว่าเป็นทำเลระดับ CBD กำลังเดินตามรอยสุขุมวิท สาทร เพราะมีอาคารสำนักงานเกิดขึ้นมากมาย คอนโดมิเนียม แหล่งท่องเที่ยว
เดอะสตรีทรัชดา จึงถูกวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นศูนย์การค้าดีไซน์เรียบง่าย เน้นลูกค้าระดับกลาง คนทำงานออฟฟิศ รองรับกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ นักท่องเที่ยว คนพักอาศัย และใช้ชีวิตช่วงกลางคืน ให้มากิน ดื่ม ชอปปิ้ง เลิกงานมานั่งแฮงก์เอาต์ โดยเน้นจุดขายเปิด 24 ชั่วโมง คาดว่าคืนทุนในอีก 8-10 ปี
โครงการเดอะสตรีท รัชดา ปณต ไปได้ พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล อดีตผู้บริหารห้างแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ มาดูแลธุรกิจรีเทล เป็นโครงการศูนย์การค้าที่เน้นร้านค้าย่อย เน้นตลาดแมส
ปณต บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การทำธุรกิจของ ทีซีซี แอสเซ็ทส์ จะมุ่งเน้นพัฒนาโครงการแนว Mix used เน้นความหลากหลาย ในทำเลต่างๆ ของกรุงเทพฯ แต่จะต้องเป็นทำเลที่ขนส่งมวลชนเข้าถึง เช่น ย่านรัชดาภิเษก และพระราม 4 ที่จะทยอยเปิดตัวต่อไป
เพราะนอกจากเดอะสตรีท รัชดาแล้ว ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ยังมีอีก 3 โครงการในมือ อยู่ในทำเล พระราม 4 คือ โครงการเทพประทาน อยู่ติดกันศูนย์ประชุมสิริกิติ์ , โครงการสามย่าน และ โครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ ซึ่งเป็นที่ดินเตรียมทหารเก่า ที่เพิ่งประมูลมาได้ไม่นาน
ตามแผนแล้ว คาดว่า โครงการเทพประทานจะเปิดได้ก่อนในปี 2559 ตามมาด้วยโครงการมิกซ์ยูส บนที่ดินขนาดพื้นที่ 13 ไร่ ตลาดสามย่านเก่า และสวนลุมไนท์บาซาร์ หรือที่ดินเตรียมทหารเก่า อยู่ระหว่างจัดหาผู้ออกแบบ ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่
3 โครงการรวมกัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้าน ทั้ง 3 โครงการ จะเป็นแนวคอมเพล็กซ์ หรือแนวมิกซ์ยูส คือ มีทั้ง อาคารสำนักงาน โรงแรม และรีเทล ส่วนจะเป็นรูปแบบไหน หรือการออกแบบอย่างไร จะไม่มีโมเดลตายตัว ทุกโครงการจะออกแบบตามกลุ่มเป้าหมายในแต่ละทำเล
โครงการตลาดสามย่าน ประกอบไปด้วยศูนย์การเรียนรู้ โรงแรม ออฟฟิศ ค้าปลีก ส่วนโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์จะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว ธุรกิจรีเทล ก็จะถูกพัฒนาไปตามกลุ่มเป้าหมายในย่านนั้น
ในแต่ละโครงการ ภายใต้การบริหารงานของปณต จะแบ่งมอบหมายให้ผู้บริหารหลักรับผิดชอบโครงการ จากนั้นจะมีผู้บริหารรับผิดชอบตามธุรกิจ เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และรีเทล เข้ามารับผิดชอบโดยตรงอีกทอด
ในอีกด้านหนึ่ง ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ได้เปิดเกมรุกเต็มพิกัด หลังจากลงทุนธุรกิจศูนย์การค้า 5 แบรนด์ในมือ คือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์, เซ็นเตอร์พอยท์ออฟ สยามสแควร์, พันธุ์ทิพย์ และบ็อกซ์ สเปซ รวมมูลค่าโครงการกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายได้ปีนี้ 2,000 ล้านบาท
ตั้งแต่ปีหน้าจะเป็น Big Step ของทีซีซี แลนด์ตั้งเป้าเตรียมลงทุนธุรกิจรีเทลรวม 10,000 ล้านใน 5 ปีข้างหน้า จากการลงทุนขยายสาขาของ 4 แบรนด์ รวม 14 โครงการ เอเชียทีค 6 โครงการ งบลงทุน 3,500 ล้านบาท เกตเวย์ 2 โครงการ งบลงทุน 5,000 ล้านบาท รีโนเวตพันธุ์ทิพย์ 4 โครงการ และบ็อกซ์ สเปซ 2 โครงการ งบลงทุน 1,500 ล้านบาท
เอเชียทีค ในทำเลใหม่ รวม 6 แห่งทั่วประเทศ เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต สมุย และขยายเอเชียทีคเจริญกรุง เฟส 2 ในแต่ละแห่งของเอเชียทีคจะมีธุรกิจโรงแรมอยู่ด้วย ใช้งบลงทุน 3,500 ล้านบาท ลงทุนเกตเวย์ 2 โครงการใช้งบ 5,000 ล้านบาท
การรีโนเวตห้างพันธุ์ทิพย์ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ประตูน้ำ งามวงศ์วาน บางกะปิ และเชียงใหม่ จะเสร็จทั้งหมดใน 2 ปีข้างหน้า และโครงการ Box Space คอมมูนิตี้มอลล์ แนวคนเมือง และวัยรุ่น จะขยายเพิ่มอีก 2 โครงการ งบลงทุน 1,500 ล้านบาท ส่วนเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ติดลิขสิทธิ์ชื่อ ไม่สามารถนำไปขยายต่อได้
ทำให้มีพื้นที่ขายจะรวมกันมากกว่า 350,000 ตารางเมตร จากที่ปัจจุบันมี 150,000 ตารางเมตร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นที่ดินที่เป็น Land Bank อยู่แล้วที่มีราว 300,000 ไร่ทั่วประเทศ
ณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ในเครือกลุ่มทีซีซี แลนด์ บอกว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นสร้างแบรนด์ให้แต่ละแบรนด์แข็งแกร่งอยู่ได้ด้วยตัวเอง สั่งสมประสบการณ์ และสร้างทีม ในปีหน้าพร้อมเดินอย่างเต็มตัวแล้วและขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โฟกัสที่ 5 แบรนด์นี้ เพราะถ้าแตกไลน์ไปเรื่อยๆ เราจะไม่เจอตัวตน
เขามองว่าตลาดค้าปลีกในตอนนี้มีการแข่งขันที่สูงมาก แบรนด์ใหญ่ก็มีการลงทุนต่อเนื่อง รวมทั้งมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาด โพสิชันของกลุ่มทีซีซีจะอยู่ในที่ที่ไม่มีใครยืน หาความแตกต่างในตลาด หรือหาช่องว่างตามความต้องการของผู้บริโภค เทรนด์ค้าปลีกในปีหน้ายังคงอยู่ที่ไซส์ขนาดใหญ่อยู่
ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทีซีซีแลนด์ ยังเตรียมผุดอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เรียกกันว่า High Way เป็นเหมือนจุดพักรถบริเวณทางหลวง แต่ยังไม่มีชื่อโครงการที่ชัดเจน โดยที่โครงการนี้จะประกอบไปด้วยร้านอาหาร จำหน่ายสินค้าโอทอป โรงแรมขนาดเล็ก ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงคิดโมเดล คาดว่าจะก่อสร้างภายในปี 2560 เริ่มต้นที่ 5 โครงการ จากนั้นค่อยขยายไปทั่วประเทศ
เรียกว่าเป็นการขยายทั้งห้างสรรพสินค้า มีความหลากหลาย ทั้งสเกลใหญ่และเล็ก เพื่อให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น
การลงทุนทั้งหมดนี้ จะทำให้พื้นที่รีเทลของกลุ่มสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในอีก 5ปีข้างหน้า
สัดส่วนรายได้ที่มาจากศูนย์การค้า 5 แห่งที่ลงทุนไปแล้ว จะทำเงินได้ 6,800 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธุ์ทิพย์ 40% เอเชียทีค 30% เกตเวย์ 20% และเซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ 10%
จะเห็นได้ว่า ทั้งทีซีซีแลนด์ และทีซีซี แอสเซ็ทส์ ดำเนินธุรกิจในแนวที่ใกล้เคียงกัน เรียกว่าเป็นการทำคู่ขนานกันไป ผู้บริหารของทีซีซี แอสเซ็ทส์เองก็บอกไม่ได้ว่าแบ่งแยกธุรกิจกันอย่างไร จะขึ้นอยู่กับว่า “เสี่ยเจริญ” จะมอบที่ดินที่มีอยู่ในมือไปให้กับลูกคนไหนพัฒนาต่อ
อย่างที่ดินย่านพระราม 4 ที่เสี่ยเจริญมอบให้กับ ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ไปคนเดียว ทั้ง 3 โครงการ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันเต็มที่
ส่วนที่ดิน เวิ้งนครเกษม ที่ดินเก่าแก่ประมูลมาได้ มอบหมายให้ ทีซีซีแลนด์ไปพัฒนาต่อ
ดังนั้นการทำงานทีซีซีแลนด์ และทีซีซี แอสเซ็ทส์ จะมีทั้งเกื้อกูลกัน และแข่งขันกัน ซึ่งผู้บริหารเองก็บอกไม่ได้ว่า 2 บริษัทแบ่งแยกธุรกิจกันอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า ที่ดินที่ “เสี่ยเจริญ” จะมอบให้มา
และการแบ่งด้วย “ทำเล” ของที่ดิน ทั้งคู่ก็ไม่ต้องมากังวลว่า ธุรกิจจะทับซ้อนกัน หรือมาแข่งกันเอง เพราะทำเลใครทำเลมัน แต่เป้าที่ต้องแข่งขันกัน คือ ยอดขายและการเติบโตของธุรกิจ
ใครๆ ก็รู้ดีกว่า เสี่ยเจริญ ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแลนด์ลอร์ดตัวจริงเสียงจริง มีที่ดินอยู่ในมือมากมาย การมีถึง 2 กำลังทัพ ย่อมต้องดีกว่าทัพเดียว เพราะสิ่งที่ตามมา คือ ปริมาณ และความเร็ว และการจัดการที่เป็นระบบยิ่งขึ้น