ถึงเวลาแอปเปิลครองโลกดนตรี!?

สงครามมิวสิก สตรีมมิงเริ่มร้อนแรงมากขึ้นในปีนี้ และแอปเปิลเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งค่ายยักษ์ใหญ่ของผู้ให้บริการเพลงในรูปแบบดิจิตอลที่ไม่ยอมแพ้ต่อตัวเลขดิจิตอลดาวน์โหลดของ iTunes ที่ตกลงทุกเดือน ด้วยการคลอดบริการมิวสิก สตรีมมิงเหมาจ่ายรายเดือนในนาม Apple Music พร้อมไม้ตายล่าสุดกับการนำ Apple Music บุกแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่างแอนดรอยด์ด้วย
 
เพราะส่วนแบ่งการตลาดแอนดรอยด์สูงกว่าแอปเปิล
 
“ถ้าอยากครองใจคนทั้งโลกก็ต้องยอมสูญเสียความเป็นตัวเองไปบ้าง” จึงไม่แปลกที่แอปเปิลจะยอมนำ Apple Music วิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่างแอนดรอยด์ เพราะถ้ามองตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดจากการสำรวจของ IDC ในทุกไตรมาสปีนี้ แอนดรอยด์ครองส่วนแบ่งมากกว่า 80% ในขณะที่ไอโอเอสมีอยู่เพียงแค่ 13-16% และแพตฟอร์มอื่นเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3-6% เท่านั้น
 
อีกทั้งแอปเปิลเองน่าจะเชื่อว่าเหล่านักฟังเพลง รวมถึงผู้ใช้สมาร์ทดีไวซ์แอนดรอยด์ส่วนใหญ่เคยใช้บริการ iTunes จากพีซี หรือแมคมากกว่าบริการอื่น เพราะด้วยมาตรฐานไฟล์เพลงที่แอปเปิลเป็นผู้ควบคุม ไม่ว่าจะเป็น Masterd for iTunes ไปถึงรูปแบบไฟล์ AAC ที่แอปเปิลคุยว่าเทียบเท่า CD แต่ขนาดไฟล์เล็กกว่า สิ่งเหล่านี้คือคุณงามความดีที่ iTunes ทำมาตรฐานไว้ดี จนมาถึง Apple Music แอปเปิลก็ยังคงรักษามาตรฐานเหล่านั้นไว้เกือบทั้งหมด และเชื่อว่าผู้ใช้ที่ หลงรัก iTunes ก็ต้องหลงรัก Apple Music ด้วย
 

 
iCloud Music ไปทุกที่ไม่เว้นแอนดรอยด์
 
แอปเปิล พยายามหลอมรวม Apple Music และ iTunes ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน คุณฟังเพลงจาก Apple Music ถ้าถูกใจสามารถกดซื้อเพลงนั้นได้จากทาง iTunes และอีกทางหนึ่งผู้ซื้อเพลงจาก iTunes ไม่ว่าจะบน iPhone iPad Mac AppleTV หรือ Windows ก็สามารถกดซื้อเพลงจากiTunes และนำมาฟังผ่าน Apple Music ทั้งบนไอโอเอส หรือแอนดรอยด์ผ่านระบบ iCloud Music ด้วย Apple ID เดียวกัน
 
โดยสาเหตุที่แอปเปิลนำ iCloud Music มาใช้กับ Apple Music ทุกแพลตฟอร์มก็เพื่อทำให้ฐานข้อมูลเพลงสมบูรณ์แบบ และเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากลิขสิทธิ์เพลงระหว่างมิวสิก สตรีมมิง กับเพลงซื้อขายปกติมีเงื่อนไขแตกต่างกัน บางครั้งเพลงของศิลปินบางคนไม่สามารถฟังบนสตรีมมิงได้ ต้องซื้อแบบดิจิตอล ดาวน์โหลดผ่าน iTunes อย่างเดียว การนำ iCloud Music เข้ามาใช้งานจะช่วยให้เพลย์ลิสต์จากทั้ง 2 บริการไปถึงการใช้งานจากหลายแพลตฟอร์มสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น
 
ทดสอบ Apple Music for Android
 
ปัจจุบัน Apple Music for Android อยู่ในสถานะ Public Beta พร้อมใช้งานฟรี 3 เดือน
 
สำหรับการฟังเพลงผ่าน Apple Music บนแอนดรอยด์สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.สตรีมมิงสดๆผ่าน WiFi หรือดาต้าอินเตอร์เน็ต 2.ดาวน์โหลดแล้วเก็บไว้ฟังในเครื่องแบบออฟไลน์
 
โดยคุณภาพไฟล์เสียงจะถูกเข้ารหัส AAC 256 Kbps ไม่มี Mastered for iTunes ขนาดไฟล์ประมาณ 8-10 MB ยกเว้นถ้าเลือกฟังแบบสตรีมมิงผ่านสัญญาณ 3G/4G ระบบจะลดคุณภาพไฟล์เสียงลง แต่ผู้ใช้ก็สามารถปรับให้ระบบใช้คุณภาพเสียงสูงสุดได้เพียงเลือก High Quality on Cellular ในหน้า Settings แต่ก็ต้องระวังเรื่องแพกเกจดาต้าอินเทอร์เน็ตที่อาจหมดเร็วกว่าปกติ
 
อีกจุดเด่นหนึ่งของ Apple Music บนแอนดรอยด์ ก็คือ สามารถเลือกขนาด Cache เพื่อความลื่นไหลในการเล่นไฟล์เสียงเวลาอินเทอร์เน็ตเกิดมีปัญหา โดยระบบจะให้ผู้ใช้เลือกขนาดแคชได้ตั้งแต่ 0 MB 200 MB 500 MB และ 1GB
 
สุดท้ายด้านคลังเพลง ด้วยการที่แอปเปิลอยู่ในธุรกิจขายเพลงดิจิตอลมานาน จึงส่งผลให้ Apple Music มีเพลงในคลังทั้งไทย และต่างประเทศมากที่สุดในตอนนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย แอปเปิลถือลิขสิทธิ์เพลงของค่ายเพลงเกือบทุกค่าย (ยกเว้น RS)
 
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของแอปเปิลกับบทบาทใหม่ ผู้ให้บริการเพลงแบบเหมาจ่าย ที่ในครั้งนี้แอปเปิลยอมทิ้งความเป็นตัวของตัวเองวิ่งเข้าสู่แพลตฟอร์มของคู่แข่งอย่างเต็มรูปแบบ การตัดสินใจครั้งนี้ของแอปเปิลถือเป็นการสร้างรากฐานที่ดีสำหรับบริการที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต เพราะดูจากแนวทางการพัฒนา Apple Music บนแอนดรอยด์แล้ว แอปเปิลเดินเกมมาค่อนข้างดี จุดขายสำคัญของสตรีมมิงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเรื่องการเป็นผู้ให้บริการ เพราะคู่แข่งสตรีมมิงก็สามารถทำได้เหมือนแอปเปิล แต่จุดหนึ่งที่แอปเปิลอยู่เหนือกว่าก็คือ Apple Music และ iTunes สามารถทำงานสอดประสานกันผ่าน iCloud Music ได้ทุกแพลตฟอร์ม
 
ลองคิดดู ในสถานการณ์วงการเพลงปัจจุบัน ศิลปินหลายคนยังไม่ยอมรับมิวสิก สตรีมมิงมากนัก และยังคงจำกัดให้เพลง หรืออัลบั้มใหม่ของตนวางจำหน่ายในรูปแบบดิจิตอลดาวน์ โหลดก่อนคู่แข่ง Apple Music ไม่ว่าจะเป็น Deezer, Tidal, Spotify และอื่นๆ ต้องเจ็บนักเพราะไม่สามารถดึงเพลงของศิลปินเหล่านั้นมาให้สมาชิกฟังได้ ในขณะที่แอปเปิลไม่ต้องบาดเจ็บอะไร เพราะตนมี iTunes ที่วางขายเพลงของศิลปินเหล่านั้นอยู่แล้ว แค่ยอมกดซื้อ และดาวน์โหลดมาไว้ใน Apple Music เพลงของศิลปินเหล่านั้นก็สามารถนำมาฟังร่วมกับบริการเพลงอื่นๆ ที่อยู่ใน มิวสิก สตรีมมิงของแอปเปิลได้ทันที
 
และในอีกทางหนึ่งการเกิดของ Apple Music บนแอนดรอยด์ก็อาจกระทบต่อ Google Play Music ได้โดยตรง เพราะ iTunes และ Apple Music สามารถใช้งานในหลายประเทศได้มากกว่า Play Music ของกูเกิล