คุณเคยได้ยินเพลงเหล่านี้ไหม เพลงฮิตของสมัยก่อนๆ คุณเคยได้ยินแม้แต่ชื่อวงดนตรีหรือไม่ แม้คุณเป็นนักวิจารณ์ คุณอาจไม่เคยรู้จักวงพวกนี้ ที่สร้างปรากฏการณ์ One Hit Wonder แบบคล้ายๆ กัน
(รายชื่อเพลงจาก Onehitwondercentral.com)
ยุค 50 The Chords เพลง Sh-Boom ถือเป็นเพลงริธึ่มแอนด์บลูส์ของคนผิวดำเพลงแรกที่คนผิวขาวหันมาฟัง, The Penguins เพลง Earth Angel เพลงรักหวานที่ขายได้กว่าสี่ล้านชุด จากสังกัดอินดี้เป็นครั้งแรก กลายเป็นเพลงเอกในอัลบั้มรวมเพลงโอลดี้ ริธึ่มแอนด์บลูส์ ตลอดกาล, Joan Weber เพลง Let Me go Lover เพลงรักสลายที่ได้รับการขอให้เปิดแทบจะมากที่สุดในทศวรรษ, Lenny Dee เพลง Plantation Boogie เพลงแนวบูกี้หรือดนตรีแบบต้นแบบของร็อกแอนด์โรล
ยุค 60 Ron Holden and the Thunderbirds เพลง Love You So เพลงรักเอกในยุคซิกซ์ตี้, Bob Luman เพลง Let’s Think About Livi’ หนึ่งในเพลงร็อกแอนด์โรลที่ดีที่สุดของอเมริกา, Troy Shondell เพลง This Time ที่ติดอันดับเพลงฮิตนานถึงสี่เดือน, Billy Joe & The Checkmates เพลง Percolator (Twist) เพลงป๊อปร็อกยอดนิยมเพลงหนึ่งในยุคซิกซ์ตี้ ทำนองเพลงแบบบีท ร็อกหรือเซิร์ฟฟิ่ง มิวสิก
ยุค 70 Frijid Pink เพลง House of the Rising Sun เพลงโฟล์กซองทำนองพื้นเมืองที่มีศิลปินจำนวนมากนำมาขับร้องใหม่ สำหรับวงนี้เป็นวงแนวฮาร์ด ร็อก ทำเพลงนี้ดังทั่วโลก, Wadsworth Mansion เพลง Sweet Mary เพลงรักร็อกแห่งยุคเจ็ดศูนย์ที่นักกีตาร์ชอบนำมาเล่นกันมาก, Free เพลง All Right Now, The Tee Set เพลง Ma Belle Amie เพลงป๊อปร็อกจากวงฮอลแลนด์ที่ไปดังในอเมริกา
ยุค 80 Korgis เพลง Everybody’s Got to Learn Sometime วงนิวเวฟ ป๊อป จากอังกฤษ ที่มีเพลงนี้เป็นเพลงดังมาก, Lipps, Inc. เพลง Funkytown เพลงดิสโก้ที่ดังมากยุคแปดศูนย์ ถ้าได้ยินเพลงขึ้นว่า “ฟังกี้ทาวน์” แล้วอาจนึกกันออก, Devo เพลง Whip It วงซินธิไซเซอร์ ฮิตเพลงเดียวที่ขายได้ล้านชุด แล้วหายไปเลย, Joey Scarbury เพลง Believe It or Not ป๊อปร็อกจากนักร้องเปียโนของแคนาดา
ที่ใกล้ตัว คือ ยุค 90 Michael Penn เพลง No Myth หนึ่งในเพลงรักที่ฮิตที่สุดในทศวรรษ, Biz Markie เพลง Just a Friend จากศิลปินแร็พติดอันดับเพลงป๊อปฮิต, 2 in a Room เพลง Wiggle It เพลงที่ทำให้วงฮิพ ฮอพ แดนซ์ ดังที่สุด จากนั้นมามีเพลงอื่นฮิตอีกแค่เล็กน้อย, Faster Pussycat เพลง House of Pain หนึ่งในเพลงบัลลาดเฮฟวี่เมทัลที่ดีที่สุด, Lightning Seeds เพลง Pure หนึ่งในเพลงโมเดิร์นร็อกที่ดีที่สุด
คุ้นๆ แต่อาจนึกไม่ออก เพราะวงเหล่านี้เป็นเจ้าของเพลงฮิตมากๆ แค่เพลงเดียวทั้งชีวิต เวลาที่เหลือส่วนใหญ่แทบไม่มีคนรู้จักวงเลย ส่วนน้อยฮิตกะปริบกะปรอยอีกเพลงสองเพลง แต่ถ้าได้ฟังเพลงจะคุ้นหู และเข้าใจว่าฮิตได้อย่างไร
จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า เพลงฮิตไม่ได้ขึ้นกับชื่อเสียงศิลปิน ใช่ว่าฮิตแล้วจะได้ฮิตอีก ไม่เกี่ยวกับการผลักดันของต้นสังกัด ไม่อย่างนั้นทุกอัลบั้มจากค่ายใหญ่ในโลกคงฮิตหมด ไม่ได้ขึ้นกับความสามารถของศิลปินด้วย เพราะพวกเขาออกเพลงอีกมากเท่าไร แทบทั้งหมดก็ไม่เคยติดหูคนฟังอีกเลย
สุดท้าย เพลงฮิตไม่ได้ขึ้นกับหน้าสวย หน้าหล่อ อันนี้เป็นที่ทราบกันของประชาชน แต่ค่ายเพลงก็มัก จะเผลอใจให้คะแนนกับความสวย ความหล่อ ของพวกเขามากกว่า ไม่ว่า ค่ายไหน ประเทศไหน
ถ้าเราวิเคราะห์เพลงฮิตครั้งเดียวตลอดกาลพวกนั้น หรือแค่เพลงฮิตประหลาด จากศิลปินไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่เกิดขึ้นเช่นเคยในสมัยนี้ คงเห็นด้วยว่าเพลงฮิตขึ้นอยู่กับ เนื้อหา Catchy (ติดหู), ความหมายเพลง Sentimental (กินใจ) และ ทำนองเพลง Motivate (กระตุ้นความรู้สึก) ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เลย ถ้ามีครบสามสิ่งเป็นฮิตแน่นอน และถ้ามีคุณลักษณะประการที่สี่คือ Inspire (เป็นแรงบันดาลใจ) ยิ่งฮิตมาก
เมื่อตีความได้ตามนี้แล้ว จึงมีผู้กล้าคิด “ศาสตร์เพลงฮิต” ขึ้นมา แต่เป็นศาสตร์ที่ไม่เปิดเผยเชิงวิชาการ แต่ทำเป็นเว็บไซต์ hit song science ขายบริการประเมินเพลงฮิต โดยรับงานวิเคราะห์ว่าเพลงหนึ่งๆ จะฮิตได้หรือไม่
เว็บไซต์นี้ มีสำนักงานอยู่ที่บาร์เซโลนา แต่ดูเหมือนจะฮิตเพลงฝรั่งมากกว่า โดยเน้นเปิดบริการให้ค่ายเล็กๆ ที่ลังเลจะเซ็นสัญญากับศิลปินใหม่ และศิลปินที่อยากเข้าค่ายง่ายๆ
การวิเคราะห์นั้น หลักเกณฑ์ไม่เปิดเผย ดูเผินๆ เหมือนจะทำกันอย่างละเอียดอ่อน เพราะมีการให้คะแนน แบบมีเศษจุดทศนิยม อ้างว่าใช้คอมพิวเตอร์แกะรูปแบบดนตรีของแต่ละเพลงเทียบกับฐานข้อมูลเพลงฮิตเดิม ถ้าซ้ำมาก ก็คะแนนมาก
ทั้งนี้ ทางเว็บไซต์ยืนยันเรื่องที่น่าจะเป็นจริงว่า เพลงฮิตทั้งหมดที่มีมาในโลกนั้น ซ้ำรูปแบบ และแนวทาง หรือที่พวกเขา Mathemetic Precison กับเพลงฮิตเดิมๆ ซึ่งสร้างความคุ้นเคยกับหูมนุษย์มาก่อนๆ
เพราะฉะนั้นเพลงจะฮิต คือต้องมี “ท่อนดนตรี” หรือ music clusterซ้ำๆ กับเพลงฮิตเดิมๆ อยู่มากถึง 7 ใน 10 ส่วน จึงให้นักวิทยาศาสตร์หลายสาขา ช่วยคิดซอฟต์แวร์จับดนตรีขึ้นมา
ถ้าต่ำกว่านี้อยู่ที่ 4-7 โอกาสฮิตมีบ้าง ถ้าได้การโฆษณาถูก แต่ถ้าต่ำกว่า 4 โอกาสมีน้อยมาก ยกเว้นแต่จับแนวตลาดได้ ซึ่งถ้าจ่ายค่าบริการเพิ่ม ทางเว็บไซต์ก็จะมีบริการให้ด้วย
แต่ยืนกรานด้วยว่า จุดมุ่งหมายนั้นไม่ได้ตื้นๆ แค่หาเพลงฮิต แต่เพื่อส่งเสริมให้เกิดเพลงฮิตใหม่ที่เป็น “ออริจินัล” หรือ “สร้างสรรค์” เพราะวงดนตรีใหม่ๆ ที่ทำเพลงในรูปแบบแปลกๆ หูจากของเดิมในท้องตลาด มักถูกปฏิเสธ จึงช่วยวิเคราะห์ว่ามาแปลกๆ แบบนี้ แตกต่างกับท้องตลาด ไม่แน่อาจมีโอกาสฮิตได้ เพราะจริงๆ แล้วมีความซ้ำกับเพลงฮิตเดิมอยู่มาก
โดยบริษัทมีการอัพเดตเพิ่มข้อมูลเพลงฮิตใหม่เรื่อยๆ ฐานข้อมูลเพลงฮิตก็จะเปลี่ยนไป (เพราะแพตเทิร์นเพลงฮิตเก่า 7 ใหม่ 10 นั้น มี 3 ส่วนที่เป็นสำเนียงใหม่เข้ามาเพิ่ม) ฉะนั้นจึงเก็บเพลงฮิตตามชาร์ตอังกฤษ และอเมริกาไว้เพียงห้าปีหลังเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป คะแนนของเพลงๆ หนึ่ง อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้
ออกตัวมาด้วยว่า เพลงที่ได้คะแนนสูงอาจไม่ฮิตก็เป็นไปได้ (เพราะส่วนของคะแนนที่ขาดหายไป อาจแปร่งหูจนไม่น่าฟัง) จึงแนะนำว่าเพลงนั้นต้องถูกหูเออาร์หรือฝ่ายจัดหาศิลปิน หรือให้มนุษย์ตัดสินใจก่อน
นอกจากนั้นต้องโปรโมตให้ดี (จุดนี้เหมือนจะขัดแย้งกับสิ่งที่เราๆ รับรู้กันว่า เพลงบางเพลงอินดี้แท้ๆ ยังฮิตขึ้นมาเองได้ แต่ที่จริงแล้ว อินดี้อาจมีวิธีโปรโมตดีๆ อีกแบบที่ไม่ต้องใช้เงิน เช่น การเข้าหาดีเจตามคลับ หรือ การนำวงไปเล่นฟรี)
สรุปแล้ว ค่ายเทปก็ยังต้องออกแรง ผลที่เห็นง่ายๆ คือ ช่วยค่ายคิดได้เร็วขึ้นว่าจะตัดเพลงไหนเป็นซิงเกิล และช่วยวงคิดได้ดีขึ้นว่าเพลงไหนที่แปลกหูมนุษย์เกินไป
ช่วยเพียงแค่นี้ แต่ลูกค้าเริ่มมีมามาก เมื่อได้เป็นข่าวตามสื่อ หลังเปิดเผยว่าทำการวิเคราะห์ นอราห์ โจนส์ ก่อนผลงานของเธอออกจำหน่าย ทั้งที่แนวเพลงเธอต่างกับผู้หญิงร้องเพลงป๊อปในอดีตมาก แต่คอมพิวเตอร์ยืนยันไว้แล้วว่าต้องฮิตแน่ถึงแปดเพลง ซึ่งเป็นความจริง
ตัวค่ายเพลงถ้ามาใช้บริการคงมีแต่ได้ แต่สำหรับศิลปิน ถ้าเว็บไซต์นี้ทำนายว่าไม่ฮิตทุกเพลง ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรต่อ เปลี่ยนแนว เรียบเรียงใหม่ เปลี่ยนสมาชิก หรือหาเพลงใหม่ หรือไปทำมาหากินอย่างอื่น
เมื่อเกิดอยากดัง หรืออยากรวย งานศิลปะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ ชีวิตก็ยุ่งยากขึ้นแบบนี้เอง