ปรัชญา ปิ่นแก้ว แอ็กชั่น…พันล้าน

“ต้มยำกุ้ง” ถือเป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 4 ของปรัชญา ปิ่นแก้ว หลังจากสร้างผลงานอันลือลั่น พิสูจน์ในเวทีระดับโลกที่ชื่อว่า “องค์บาก”

นับเป็นผลงาน 4 เรื่องในรอบ 13 ปี ของอดีตผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ซึ่งนับว่าค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เขาอยู่ในวงการ เรื่อง “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” ซึ่งปรัชญากำกับในปี 2537 ระยะห่างจากองค์บากถึง 10 ปี ซึ่งเขาใช้เวลาระหว่างที่ว่างเว้นจากการกำกับ ดูแลฝ่ายผลิต โปรโมชั่น และควบคุมงานสร้างให้กับภาพยนตร์และดนตรี

วันนี้ “ต้มยำกุ้ง” เป็นตัวสะท้อนความคิดรวบยอดของโมเดลการทำงานทั้งในฐานะผู้สร้างมืออาชีพ และผู้กำกับที่มีแนวทางของตัวเอง ด้วยทุนสร้างถึง 200 ล้าน

“ผมได้ไฟเขียวทุกอย่างสำหรับการทำงาน จะจ่ายเงินแพงแค่ไหนก็ได้ เพราะว่าเรารู้อนาคตว่าขายได้แน่นอน มีคนรอซื้ออยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง มันก็ไม่เหมือนองค์บาก อย่างต้มยำกุ้งเนี่ย เขามาจองซื้อตั้งแต่ผมยังไม่ถ่าย พอเริ่มถ่ายเขามาซื้อกันหมดแล้ว เหลืออย่างเดียวคือ ทำให้ดีที่สุด”

โดยตำแหน่ง ปรัชญา ทำงานเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทบาแรมยู บริษัทผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ ซึ่งจับมือกับสหมงคลฟิล์มในฐานะผู้ออกทุนสร้างและจัดจำหน่าย เขาเชื่อว่าโปรเจกต์ที่นำเสนอเกิดขึ้นเพราะเขาไม่อยากทำตามหรือเอาใจตลาด เขาต้องการที่จะเป็นผู้นำตลาด และสร้าง trend หนังใหม่ๆ และองค์บากก็คือเทรนด์หนังใหม่ที่เขาคิดในเวลานั้น

“หนังต้องเรื่องของมาร์เก็ตติ้งใส่เข้าไป เพราะมันเป็นหัวใจของการลงทุน เราเอาเงินเขามาทำ ถ้าอยากทำหนังอาร์ต แล้วไม่อยากคิดเรื่องเงิน ก็ต้องลงทุนเอง แล้วอย่าหวังรายรับ นั่นคืออาร์ตบริสุทธิ์” ปรัชญา สะท้อนความเห็น

ความคิดที่ต้องการสร้างหนังต้มยำกุ้ง เพื่อรองรับตลาดโลก หนังจึงใส่ความเป็น “สากล” ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่อง “ต้มยำกุ้ง” ที่ถูกตั้งก่อนภาพยนตร์จะทำบทเสร็จ เพราะปรัชญาเห็นว่า คำว่า “ต้มยำกุ้ง” เป็นคำที่ต่างชาตินึกถึงได้ง่ายๆ ก่อนคำอื่นๆ

แนวทางที่เป็นแอ็กชั่น ปรัชญาเสนอให้มีฉาก “เรือหางยาวพุ่งชนเฮลิคอปเตอร์” เหมือนเป็นภาคบังคับสำหรับการขาย ก่อนที่จะพัฒนาโครงเรื่องให้สอดคล้องกับความเป็นแอ็กชั่นในรูปแบบใหม่ ที่ยังไม่มีใครรู้ในตอนนั้น ผลคือ สามารถขายได้ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ถ่ายทำไม่จบ…

ต้มยำกุ้งเริ่มต้นคุมงบโปรเจกต์ที่ 100 ล้านบาท ก่อนงบบานปลายไปเป็น 200 ล้านบาท “เรือหางยาวพุ่งชนเฮลิคอปเตอร์” ถูกรื้อลงแล้วทำใหม่หลายรอบ เสียงบประมาณไปหลายสิบล้านกับฉากเดียว

“…ไม่ได้ใช้แบบทิ้งขว้าง ไม่ได้สุรุ่ยสุร่าย เราต้องการทำทุกอย่างให้ดี แบบที่ไม่เคยต้องนั่งรอแสงก็ต้องรอ ไม่ดีก็รื้อใหม่ เปลี่ยนใหม่

…ผมทำงานหนักทุกวัน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ผมพูดได้เลยว่า เต็มที่ที่สุดแล้ว สุดวิสัยของผมแล้ว คนจะวิจารณ์ จะว่ายังไง เอาไงก็เอาเถอะ ประเทศเรามันเป็นอย่างนี้ ทำได้เท่านี้จริงๆ”

เนื้อหาเรื่องราวของต้มยำกุ้งถูกพัฒนาให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ไม่ว่าจำนวน “ซีน” กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการถ่ายทำที่อยู่ในออสเตรเลีย, จำนวนนักแสดงหลักต่างประเทศ, ประเด็นต่างๆ ของเรื่องราวฯลฯ

“องค์บากโดนโจมตีเรื่องบทมากที่สุด แต่การหาคนเขียนบทดีไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างหนังต้มยำกุ้ง บอกเลยว่าไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะหาคนเขียนบทดีๆ ได้ และเราคงต้องยอมรับในระดับหนึ่งว่า หนังแบบนี้พลาดเรื่องบทได้ แต่จะพลาดแอ็กชั่นไม่ได้ คนมักจำฉากต่อสู้ได้ แต่ถ้าถามว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร รับรองว่าคิดไม่ออก หนังแนวนี้จะไม่พูดถึงผู้กำกับ จะพูดถึงตัวเอก แล้วใครเป็นออกแบบท่า ส่วนหนึ่งทำให้เราทุ่มลงไปกับตรงนี้มาก

…เวลานี้เราไม่ต้องกังวลเรื่องการยอมรับความเป็นมวยไทยของจา แต่ขึ้นอยู่ทำอย่างไรให้หนังสนุก มีอะไรมากกว่าองค์บาก ตอนถ่ายทำก็มีคนต่างชาติมาบอกว่าให้ดูแลจาดีๆ เพราะเขาเชื่อแล้วว่าเราเอาของจริงมา เพราะฉะนั้นคำโฆษณาประเภทนี้ไม่ต้องพูดแล้ว เราเลยกลับไปพูดศิลปะท่าต่อสู้อันใหม่ อย่างทุ่มทับจับหัก”

ในครั้งนี้ ศิลปะการต่อสู้ที่ใช้ในการดำเนินเรื่อง ถูกเลือกมาอย่างมีเหตุผล เพราะหนังเรื่องนี้ขายคอแอ็กชั่นในต่างประเทศ การเลือกตัวแทนศิลปะการต่อสู้ที่หลากหลายที่คุ้นตาในวงกว้าง ทำให้ศาสตร์มวยไทยต้องหาวิธีเทคนิคพิชิต นั่นคือสิ่งที่ขายคนดู นอกจากนั้น ตัวแสดงที่ถูกเลือกมาจากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน อเมริกา อังกฤษ บราซิล หรือเวียดนาม ก็เป็นการเจาะกลุ่มคนดูเป้าหมายในแต่ละประเทศ

“วิธีนี้ เป็นวิธีที่หวังผลตอนขายให้กับต่างชาติได้ง่ายขึ้น มันเป็นวิธีการที่ฮอลลีวู้ดเขาทำกัน เอาคนดำมาผสมคนขาวแล้วก็ขายคนดำได้ อยากขายคนเอเชียก็ผมคนเอเชียในเรื่อง

…มันต้องมีความสมดุลเกี่ยวกับความเป็นไทย ตอนองค์บากพูดเกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องใหญ่ๆ ต้องมีเรื่องศรัทธาของชาวพุทธ อย่างเรื่องเศียรพระ คนต่างชาติเขาไม่เข้าใจ เอาไปวางไว้ในห้องน้ำ ตู้โชว์รองเท้า แต่พอดูองค์บาก นอกจากเพื่อความบันเทิงแล้ว เขายังแมสเสจทั่วโลกให้เข้าใจมากขึ้น ผมก็อยากใช้วิธีคิดนี้ไปในต้มยำกุ้ง

ตอนแรกผมเคยคิดพูดเรื่องโสเภณีข้ามชาติ แต่ประเด็นนี้ถูกเสนอว่ามันเก่าไป มาเจอเรื่องช้าง ปรากฏว่ามันน่าสนใจ เพราะประเทศอื่นก็ไม่มีที่ช้างอยู่กับคน บางอย่างสื่อสารกับคนไทย บางอย่างสื่อสารกับต่างชาติ

แต่ฉากต่อสู้ชนิดเลือดท่วมจอ ต้องลดลง เพราะติดเงื่อนไขของบางประเทศ ที่ไม่ให้นำเสนอฉากความรุนแรง

“แต่ที่เลี่ยงไม่ได้ คือ หักกระดูก ผมจะสื่อสารให้หวาดเสียว ไม่ใช่เรื่องของภาพ อย่างตอนองค์บากผมได้แขนปลอมก็เลยเต็มที่เลย แต่ต้มยำกุ้งใช้แขนจริง การบิดมันก็จะไม่ได้โหดไป แต่ด้วยเสียงที่ใส่เข้าไป ก็ลุ้นอยู่ว่าจะผ่านเซ็นเซอร์บางประเทศหรือเปล่า อย่างเห็นเสพยาต้องไม่มี โป๊ต้องไม่มี….”

ความคิดในการทำหนังสำหรับตลาดต่างประเทศของปรัชญาเริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปี มาจากความสำเร็จของ “นางนาก” ที่สามารถขายในต่างประเทศ ปรัชญามองว่า การนำไปเสนอนายทุนต้องไปที่ต่างประเทศเผื่อไว้ด้วย และมวยไทย ก็เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ มีโรงเรียนมวยไทยในยุโรป และอเมริกา อย่างน้อยก็มีคนดู หรือขายได้บ้าง 4-5 ประเทศ พอจะนำเงินกลับเข้ามาได้

“ค่านิยมของมวยไทยในประเทศนั้นแย่มาก ถ้าไปขอนายทุนทำหนังมวยไทย คงไม่มีใครจ่ายตังค์หรอก เพราะคนชอบมวยไทยไม่ใช่กลุ่มคนดูหนัง แต่เรื่องนี้มันเป็นมวยไทย ความเป็นหนังแอ็กชั่นต้องพูดด้วยภาพ เราต้องทำลายกำแพง อคติต่อมวยไทย”

ผลตอบรับที่ได้จากตลาดในประเทศประมาณ 200 ล้าน “องค์บาก” ก็เริ่มแสวงหาหนทางออกนอกประเทศ โดยเปิดตัวครั้งแรกในระดับนานาชาติที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองโตรอนโต โปรแกรมมิดไนต์แมดเนส (midnight madness) และประสบความสำเร็จท่วมท้าน เมื่อคนดูลุกขึ้นยืนตบมือกว่า 15 นาที

“ทีมงานก็เข้ามาแสดงความยินดี ร้องไห้ น้ำตาไหล บอกว่า นี่คือการยืนนานที่สุดตั้งแต่มี (midnight madness) มา ตอนแรกผมคิดว่าเป็นคำหวาน เพราะว่ามันมีหนังอยู่ทุกคืน มีหลายเรื่อง มีมาหลายปีแล้ว ตรงนั้นคือจุดเปลี่ยน จากนั้นแบบว่ากระแสข่าวในอินเทอร์เน็ตออกมาเยอะมาก ”

จนเมื่องานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ผ่านมา สหมงคลฟิล์มปล่อยกระแสข่าวภาพยนตร์เรื่องที่สามของจา พนมออกไป โดยยังไม่ให้รายละเอียด ยังไม่เปิดเผยอะไรมากนัก

“เรื่องใหม่ เป็นย้อนยุคดาบไทย เราเห็นดาบซามูไร ดาบจีนมาเยอะแล้ว ดาบไทยต่างกันยังไง มันคือศาสตร์ แล้วเรื่องนี้ก็คงเป็นงานที่พิถีพิถันและเนี้ยบมากขึ้นไปอีก จังหวะมันดี ตรงที่เราทำหนังกึ่งโชว์ได้ แล้วทำโลเกชั่นไทย อันซีนไทยแลนด์ เป็นประวัติศาสตร์แน่นอน อาจจะอิงหรือไม่อิงก็ได้ กำลังดูอยู่ ต้นปีหน้าจะเปิด” ซึ่งจะกลายเป็นโปรเจกต์ทุนสร้างหลายร้อยล้านที่ต้องเตรียมการเป็นปีอีกโปรเจกต์หนึ่ง

“รูปแบบที่คิดไว้ คือหนังของจางอี้โหมว (กังฟูใช้สายตัวอย่างจอมใจบ้านมีดบิน) มาผสม แต่เป็นแบบจา พนม โชคดีที่โลเกชั่นในบ้านเรามันยังไม่พรุน มันเป็นทางเดียวที่ทำให้หนังแอ็กชั่นไปอยู่ในกลุ่มของการยอมรับ ว่ามันเป็นมากกว่าแอ็กชั่น คือความเป็นอาร์ตมันมากขึ้น โปรดักชั่นมันต้องเนี้ยบมากขึ้น ตอนนี้อยู่ในช่วงทุ่มไปกับการจ้างเค้าเขียนบทอยู่”

จากผลงานความสำเร็จที่ผ่านมา ปรัชญาสามารถแจ้งเกิดและประสบความสำเร็จจากหนังแนวนี้ แต่เขายืนยันว่า ยังไม่อยากเป็นอย่างจอห์นวู (ผู้กำกับภาพยนตร์แอ็กชั่นชื่อดัง) ยังรู้สึกมีไอเดียที่ยังอยากทำอีกมาก

“ถ้าเราทำกับจา พนม ก็ต้องทำหนังแอ็กชั่น ถ้าต่างชาติจะเอาจาไปเล่นหนัง เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะรู้จักมันมากแค่ไหน มีแค่คนไทยที่รู้จักมันดี มันต้องเป็นหน้าที่ของคนไทย ซึ่งอาจจะมีผู้กำกับอื่นๆ คนไทยมาทำก็ได้…ผมยินดี”