“ไม่หลับ ไม่นอน ภาพเธอยังสะท้อน ติดอยู่ ในใจ” ท่อนฮุคติดหูที่หลายคนนึกว่า “Sleepless Society” เป็นชุดใหม่ของ มาช่า แต่เมื่อได้ยินเพลงหลากจากนักร้องหลาย ในชื่ออัลบั้มเดียวกัน อาจเริ่มสงสัยว่าอะไรคือ “Sleepless Society by Narongvit” ?
รูปแบบอัลบั้มรวมเพลงใหม่จากหลากหลายศิลปินนั้น ค่ายอินดี้เล็กๆ ทำมาก่อนนี้แล้วเช่นเบเกอรี่มิวสิค, สมอลรูม ตามด้วยยักษ์ใหญ่แกรมมี่เอง เพื่อใช้เปิดตัวศิลปินใหม่ๆ หลายรายพร้อมกันในอัลบั้มเดียว ลดความเสี่ยง และใช้ทดสอบตลาดได้ว่าวงไหนใครจะ “ขาย” บ้าง
แต่สูตรการรวมเพลงแบบใหม่ที่โฟกัสไปที่อารมณ์เพลง ที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งชุด อย่าง Sleepless Society ยังค่อนข้างใหม่และขายดีเกินคาด ล่าสุด 2 แสนกว่าชุดอยู่ในระดับสูงของแกรมมี่ ยังไม่รวมริงโทน คาราโอเกะ วีซีดีคอนเสิร์ต
ลักษณะเด่นของอัลบั้ม Sleepless Society
• รวมเพลงใหม่ล้วนๆ (ไม่ใช่รวมฮิต) ของนักแต่งเพลง (เนื้อเพลง) คนเดียว
• ใช้ชื่อนักแต่งเพลงเป็นชื่อศิลปิน
• ผสมผสานนักร้องสามรุ่น คือ รุ่นดังแล้ว รุ่นกลาง และหน้าใหม่
• แทบทุกเพลงมีเนื้อหาเรื่องเดียวกันคือความเหงาและตอนกลางคืน
จับกระแสความสำเร็จ Sleepless Society
• ได้แฟนเพลงของทั้ง มาช่า , แอน ธิติมา, บอย พีซเมกเกอร์ , ไอซ์ เฟิร์สสเตต มาไว้ในมือ
• ทั้งชุดมีอารมณ์เดียวกัน ทำให้น่าซื้อทั้งชุดมากกว่าหาฟังหาก๊อบปี้เป็นเพลงๆ ไป
• เล่นกับ “ความเหงา” ซึ่งขายได้ตลอดมาในสังคมเมือง (เพลง “แอบเหงา” ของเสนาหอย แห่งค่าย Lux Music ทำไปก่อนนี้ไม่นาน)
• มีศิลปินหน้าใหม่เสียงดี บุคลิกเด่น มาดึงดูดคนที่ชอบความแปลกใหม่
ฯลฯ
หลายคนอาจคิดว่าอัลบั้มที่มีลักษณะใหม่ๆ เฉพาะตัวนี้เกิดจากการวางแผนและวิจัยตลาดมาจากแกรมมี่ แต่ความเป็นจริงแล้วเริ่มจากจุดเล็กๆ คือความเบื่องานของนักแต่งเพลงคนหนึ่ง…
จุดเริ่มต้น …
“เริ่มจากความเบื่องานที่ไม่ถนัด คือต้องแต่งเนื้อร้องให้เพลงแดนซ์วัยรุ่น 2-3 ชุดติดๆ กัน ทำออกมาก็ไม่ดี ไม่ผ่าน เครียดจนไม่เข้าออฟฟิศไปช่วงหนึ่ง และคิดจะลาออก พี่เอก (กฤษณา วารินทร์) หัวหน้าขณะนั้นทัดทานไว้ แล้วหาทางออกให้กลับมาทำสิ่งที่เป็นตัวเองที่สุด คือแต่งเพลงช้าเกี่ยวกับความรู้สึก อย่างที่เคยแต่งแล้ว ‘โดน’ มาหลายเพลง โดยจะปล่อยเต็มที่ ไม่มาตรวจว่าผ่านไม่ผ่าน”
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ณรงค์วิทย์ใช้ตัวตนตีโจทย์นี้ออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ “เพลงกลางคืน” ถ่ายทอดความเหงา 10 เพลง
“ไม่ยากเพราะเราไม่ต้องประดิษฐ์อะไรขึ้นมาเลย มันคือตัวเรา เป็นคนหลับยาก ชอบอยู่ดึก เป็นอัลบั้มส่วนตัวคล้ายกับที่คุณบอย โกสิยพงษ์ เคยทำ แต่ถ้าผมจะทำบ้างต้องแตกต่าง คือเป็นบรรยากาศกลางคืนทั้งชุด เช่นเพลงเรื่องบนเตียง แรงบันดาลใจจากหนัง “Somewhere In Time” พระเอกในเรื่องเขาหลับแล้วไปพบนางเอกในโลกอดีต ก็เลยอยากนอนตลอดไปไม่อยากตื่น เพราะตื่นแล้วคือต้องจากกัน แต่ไม่แต่งเพลงเศร้าทั้งชุดเพราะกลัวว่าจะออกมาน่าเบื่อ ต้องมีเพลงสนุกสลับบ้าง”
“ชุดนี้เป็นการแอบทำ ไม่ได้บอก ‘ผู้ใหญ่’ ให้รู้เลย คิดแบบอินดี้ คือทำสิ่งที่อยากทำและเป็นตัวตนของเรา ไม่ได้หวังอะไรมากนัก คาดหวังยอดขายคงไม่เกินห้าหมื่น”
แต่งเนื้อ เลือกทำนอง …
ณรงค์วิทย์เลือกนักแต่งทำนองเพลงที่เขารู้จักและมีสไตล์ “ลายมือ” ที่ไปกันได้กับเนื้อหาเพลง
“ผมจะหาแนวเพลงอ้างอิง เพื่อบรีฟให้นักแต่งทำนองเข้าใจ อย่างเพลง ‘เรื่องบนเตียง’ ก็ส่งเนื้อเรื่องเนื้อหาให้นักแต่งทำนองและทำดนตรี แล้วเพิ่มเติมว่าอยากให้เป็นเพลงช้า ใช้เปียโน คล้ายเพลงหนังฮ่องกงโรแมนติก ได้ทำนองมาแล้วถึงจะมาแต่งเนื้ออย่างที่เราเห็น ยกเว้นเพลง ไม่หลับไม่นอน ที่ทดลองวิธีใหม่ คือเขียนเนื้อเพลงไปเป๊ะเลย แล้วให้นักแต่งทำนองยึดเนื้อเพลงตามนั้น”
“เพลงไทยยุคนี้จะขายได้ ทำนองต้องแข็งแรงมากๆ เพลงดีต้องดีตั้งแต่ทำนองมาแล้ว อย่ามาหวังพึ่งเนื้อเพลงอย่างเดียว”
ผสมผสานนักร้อง ดัง-กลาง-หน้าใหม่…
ณรงค์วิทย์ตั้งใจแบ่งนักร้องเป็น 3 รุ่น รุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงแล้วคือ มาช่า, แอน ธิติมา, และบอย วงพีซเมกเกอร์ ผสมผสานกับหน้าใหม่ๆ ทั้งที่เคยและไม่เคยออกผลงาน
“ถึงจะเอาคนดังมาร้องทั้งชุดแต่ถ้าไม่ลงตัวกับเพลงก็ตายได้ สำคัญคือนักร้องต้องเหมาะกับเพลง หรือถ้านักร้องดังทั้งชุดอาจทำให้ตัวงาน ‘จม’ ภาพรวมเบลอ ควรให้เป็น ‘เขามาร้องเพลงเราแล้วดัง’ ไม่ใช่ ‘เอาเขามาทำให้เพลงเราดัง’ อย่างหลังแปลว่าเพลงเราไม่ดีพอเลยต้องให้คนดังร้อง”
หลังจากได้ 2 เพลงแรก “ไม่หลับไม่นอน” กับ “เรื่องบนเตียง” ณรงค์วิทย์รู้สึกว่า “มีของดี” อยู่ในมือแล้ว จึงเริ่มหานักร้อง เหมือนเขียนบทละครแล้วแคสติ้งหาตัวแสดง
“เพลงแรกรู้สึกว่าถ้ามาช่าร้องจะเท่ แต่ไม่รู้จักกันมาก่อน อยู่คนละสังกัดย่อย เลยทำเดโม่ร้องไกด์ไปให้ฟัง บอกเลยว่าลักษณะอินดี้โปรโมตน้อยนะ ซึ่งเขามีสิทธิปฏิเสธเราได้ อีกไม่กี่วันมาช่าก็โอเคมาว่าชอบเพลง และบอกทีหลังว่าก็อยากพิสูจน์ว่าทำงานแบบอินดี้โปรโมตน้อยได้เหมือนกัน พอมีมาช่าก็เหมือนได้การันตีว่าขนาดมาช่ายังมาร้อง จะไปหานักร้องคนอื่นก็ง่าย”
แอบทำ…
“เช่าห้องบันทึกเสียงส่วนตัวที่บ้านของโปรดิวเซอร์ซึ่งก็คนรู้จักกันทั้งนั้น ไม่ใช้สตูดิโอของบริษัท ได้เพลงออกมาก็ไปลองฟังที่เครื่องเสียงธรรมดาๆ ที่บ้านและในรถแล้วอยากเปลี่ยนอะไรก็บอก sound engineer ไปให้มิกซ์จัดเสียงใหม่ให้พอดี ลำโพงดีๆ ในห้องอัดใช้ฟังอะไรก็เพราะ แต่คนซื้อส่วนใหญ่จะใช้ชุดเครื่องเสียงธรรมดาๆ ฟังกัน นี่เป็นเทคนิคของผม”
ออกขาย…
“เมื่องานเสร็จ ผู้ใหญ่ก็เปิดใจกว้างให้ขายกับแกรมมี่ เพราะเห็นความตั้งใจทำทั้งสิบเพลง ไม่มีเพลงไหนที่แต่งแค่ให้ครบสิบ ยอดขายออกมาผู้ใหญ่ก็พอใจ รวมถึงยอดจากริงโทน คาราโอเกะ ผลตอบรับเกินต้นทุนมากๆ”
“งบโปรโมตน้อยสุดๆ แค่เปิดทางวิทยุซึ่งคนฟังก็ขอกันมาก มิวสิกวิดีโอเพลง ‘ไม่หลับไม่นอน’ มาช่าก็มาถ่ายทำที่ห้องผมเอง คอนเสิร์ตก็มีไปแค่สองครั้ง เพราะนักแต่ละคนติดงานหลักของตัวเอง ครั้งแรก จัดในเรือล่องเจ้าพระยา ดินเนอร์ใต้แสงเทียนฟังคอนเสิร์ตกันไป ครั้งที่สองเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์”
เมื่อนักแต่งเพลงกลายเป็น “ศิลปิน”
“ใส่ชื่อตัวเองลงในปก ในฐานะ ‘คนเล่าเรื่อง’ ไม่งั้นจะรู้สึกแบนๆ คนอาจจะนึกว่าเป็นรวมฮิต หรือคิดว่าเป็นชุดใหม่ของมาช่า การให้สัมภาษณ์ออกรายการต่างๆ เราก็ต้องไปเป็น “ศิลปิน” เจ้าของชุดนี้”
“จากเดิมนักร้องคนเดียวใช้นักแต่งหลายคน มาเป็นนักแต่งเพลงคนเดียวใช้นักร้องหลายคน นักแต่งเพลงได้ทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ บ้าง ได้สนุกกับมัน ได้ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเอง จากที่เคยเซ็งกับการเขียนเพลงก็กลับมารักการเขียนเพลงอีกครั้ง”
Sleepless Society 2…
“ผู้ใหญ่สนับสนุนให้ทำต่อ เป็น Sleepless Society 2 แน่นอน แต่ยังไม่อยากรีบออกตามกระแสชุดแรก ชื่อเสียงเป็นสิ่งสำคัญต้องรักษาไว้ อยากให้สภาพการทำงานเหมือนชุดแรกอีก คือค่อยๆ ทำ ไม่กดดัน ไม่คาดหวัง ทำตามที่ใจต้องการล้วนๆ”
“Sleepless Society กลายเป็นแบรนด์ไปแล้ว จากนี้ไปเราต้องคุมโทนให้อยู่ เริ่มแต่งใหม่ทุกเพลง เพลงที่เหลือคัดทิ้งจากชุดแรกก็ไม่เอาเพราะไม่ดีพอ ต้องเต็มที่ทั้ง 10 เพลง ใช้สูตรเดิมคือนักร้องสามรุ่น เก่า กลาง ใหม่ โดยไม่วางตัวไว้ก่อน เพลงต้องมาก่อนนักร้อง เพื่อให้งานมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นเอกภาพทั้งชุด คอนเซ็ปต์อัลบั้มแบบนี้ จะมีอีกแน่นอนในแกรมมี่ เพราะผู้ใหญ่ก็พอใจชุดนี้”
สภาพธุรกิจเพลงไทยปัจจุบัน
“ธุรกิจเพลงไทยหลายปีหลังนี้เป็นขาลงสุดๆ ตั้งแต่ผมเคยทำอาชีพนี้มา ผมผ่านมาแล้วยุคบูมสุดๆ ยุคล้านตลับ ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว สมัยก่อนนักแต่งเพลงเดือนๆ หนึ่งได้เช็คสามแสน เดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว
เทปที่มียอดขายดีวินาทีนี้คือต้อง “โคตรดัง” ดังเฉยๆ ไม่มียอดนะครับ บางชุดแรง คนรู้จักกันทั่ว แต่ถามว่าขายไหม ต้องดูยอดขายซึ่งก็เป็นอีกเรื่อง
“ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายดีๆ ต้องตรงทาร์เก็ตชัดว่าจะขายใคร ทั้งเพลงและภาพที่ออกมา กลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจคือ “บ้าน บ้าน” ชาวบ้าน เช่นพี่เบิร์ดชุดที่ออกกับจินตหรา พูนลาภ เมื่อสองปีก่อนนี่ยอดขาย 3 ล้านชุด ยิ่งใหญ่มากในยุคนี้ หรือปีนี้อันดับต้นๆ พันซ์ ที่ทำได้แล้ว 7 แสนชุด พลพล 5 แสนชุด เสือธนพล 4 แสนชุด ก็มุ่งต่างจังหวัดกันทั้งนั้น
“สำรวจกันมาแล้วเพลงที่มุ่งกลุ่มวัยรุ่นกรุงเทพฯ ยอดขายน้อยที่สุดในตลาด เพราะซื้อแผ่นรวม MP3 เถื่อนบ้าง ไรต์แผ่นแจกกันบ้าง ก๊อบปี้ไฟล์กันบ้าง คนกรุงเทพฯ นี่ต้องวัยทำงานถึงจะซื้อ Sleepless Society เองส่วนใหญ่ก็วัยทำงาน 25 up มาซื้อ”
Profile
ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ จบปริญญาตรีด้านโฆษณา “ฝึกให้ผมคิดอย่างมีคอนเซ็ปต์” เริ่มงานแต่งเพลงตั้งแต่เรียนปริญญาตรีปี 2 ราวปี 2531 โดย “อยู่กับเพลงมากๆ ก็ซึมซับเรียนรู้ไปเอง” แล้วนำงานเข้าไปเสนอกับ Butterfly กลุ่มนักดนตรีชื่อดังสมัยนั้น แล้วได้โอกาสเขียนเนื้อเพลงให้อัลบั้มของวง Autobahn ชุดแรก
แต่เมื่อเรียนจบแล้ว ณรงค์วิทย์ก็เริ่มงานตามสายที่เรียนมาโดยเข้าเป็น AE ที่ Mccann Erikson บริษัทวางแผนสื่อโฆษณาชื่อดังอยู่ 2 ปี แล้วไปเริ่มเป็นนักแต่งเพลงอาชีพเต็มตัวกับ RS Promotion และย้ายมาอยู่แกรมมี่จนถึงปัจจุบัน
จากความสำเร็จของ Sleepless Society นอกจากณรงค์วิทย์จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากยอดขายทั้งซีดี วีซีดี ริงโทน ลิขสิทธิ์คาราโอเกะแล้ว ยังได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมนักแต่งเพลงทีมหนึ่งในแกรมมี่ หน้าที่ขยายจากการแต่งเนื้อเพลงเป็นการกำหนดภาพรวมของงาน มอบหมายให้สมาชิกในทีมไปแต่งทำนอง ทำดนตรี โดยเขาจะควบคุมการผลิตทั้งกระบวนการ