ภายหลังที่กระแส “เกาหลี ฟีเวอร์” ระบาดไปทั่วเอเชีย และทั่วโลก ผ่านสื่ออย่างหนัง ละคร และเพลง ปรากฏการณ์เหมือนๆ กันที่ตามมาในทุกประเทศที่ “คลื่นเกาหลี” (Hallyu) ถาโถมซัดใส่ นั่นก็คือ ความต้องการเข้าใจและเรียนรู้ภาษาเกาหลี ส่งผลให้หลายสถาบันลุกขึ้นมาเปิดหลักสูตรสอนภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี
สถาบันทองอินทร์โฟน ตั้งอยู่บริเวณสะพานหัวช้าง เป็นสถาบันสอนภาษาต่างประเทศหลายภาษาอายุร่วม 30 ปี เป็นอีกหนึ่งแห่งที่เพิ่งเปิดสอนภาษาเกาหลีเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่ “กระแสเกาหลี” เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในเมืองไทย ประจวบกับที่ “เทป สุ่นสวัสดิ์” ลูกชายผู้ก่อตั้งสถาบันในฐานะรองผู้อำนวยการ จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์มาหมาดๆ จาก Hankuk University of Foreign Studies ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี
“ช่วงก่อนไปเรียน ตอนนั้นกระแสเกาหลีในบ้านเรายังมีน้อยมาก หาสถานที่เรียนภาษาเกาหลีได้ยากมาก” เทปเล่าย้อนกลับไปราวปี 2542-2543 ด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศเกาหลีที่โดดเด่นเข้าตา กลายเป็นความสนใจให้เทปเลือกที่จะสอบทุนเรียนต่อในประเทศเกาหลี แทนที่จะไปญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้น J-trend ยังอยู่ในกระแส
เทปยอมรับว่า ช่วงก่อนกลับประเทศไทย แม้จะได้รับรู้มาบ้างว่าคนไทยเริ่มสนใจวัฒนธรรมและประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้น แต่ก็นึกภาพไม่ออกว่าจะความสนใจที่ว่าจะมากมายขนาดที่จะกลายเป็นความคลั่งไคล้เช่นทุกวันนี้ ทั้งนี้ เกือบ 2 ปีก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นช่วงแรกที่เทปเริ่มเปิดหลักสูตรภาษาเกาหลี เขาให้ภาพว่า “ช่วงนั้นดีมานด์ก็มีมาพอสมควร เปิดห้องเรียนภาษาเกาหลีได้หลายห้องเหมือนกัน”
ราว 2 ปีก่อน นักเรียนภาษาเกาหลีของเทปส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียนที่เคยไปเรียนภาษาอังกฤษในต่างประเทศ และมีเพื่อนสนิทเป็นชาวเกาหลี แล้วเกิดชอบหรืออยากเรียนรู้ภาษาเกาหลีเพื่อพูดคุยกับเพื่อนชาวเกาหลี และอีกส่วนก็เป็นกลุ่มนักเรียนที่จะไปเรียนต่อหรือไปทำงานที่เกาหลี หรือต้องทำงานกับบริษัทเกาหลีในเมืองไทย จากวันนั้นก็มีนักเรียนสนใจเรียนภาษาเกาหลีเข้ามาเรื่อยๆ
ทว่าระยะหลังจนถึงปัจจุบัน เทปบอกว่า กลุ่มแฟนคลับหนังละครและแฟนเพลงเกาหลีมีเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า 2 กลุ่มแรก ทั้งนี้ นักเรียนกลุ่มที่เป็นแฟนคลับเกาหลีนี้มีลักษณะที่น่าสนใจคือ เกาะกลุ่มกันมาเรียน ช่วยเหลือและชักชวนกันลงเรียนต่อ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่ามีความพยายามสูง แต่ความอดทนอาจเปลี่ยนแปลงตามระดับความหลงรักในดารา นักร้อง หรือหนังละครที่ตนชอบ
ส่วนกระแส “เกาหลีฟีเวอร์” ที่มหาศาลเช่นทุกวันนี้ เทปบอกว่า มันอาจไม่ได้ส่งผลต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นมากมายจนเห็นได้ชัด แต่กระแสนี้มีส่วนที่ทำให้จำนวนนักเรียนที่ลงเรียนต่อในระดับที่ยากขึ้นมีจำนวนสูงขึ้น “จำนวนนักเรียนคงก็เพิ่มขึ้นมานิดหน่อยราว 20% เพราะฐานเดิมก็เป็นจำนวนที่เยอะมากอยู่แล้ว เทียบกับความสามารถในการรองรับของสถาบันในวันนี้ แต่อย่างน้อยนักเรียนที่พยายามจะเรียนต่อไปเรื่อยๆ ก็มีเยอะขึ้น”
ดัชนีความนิยมเกาหลีที่เทปบอกว่ามีอัตราที่น่าสนใจก็คือ จำนวนนักเรียนที่เรียกร้องอยากไปทัศนศึกษาที่ประเทศเกาหลีมีมากขึ้น และปริมาณความต้องการไปเรียนต่อในประเทศเกาหลีมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “ความต้องการตรงนี้เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นกว่า 50% เลยทีเดียวหลังจากที่กระแสหนังเกาหลีดังขึ้น”
จากประสบการณ์ในเกาหลีกว่า 4 ปี เทปให้มุมมองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังในเกาหลีว่า “ในเกาหลี หนังโรงส่วนใหญ่จะเป็นหนังที่คนเกาหลีสร้าง มีหนังจากฮอลลีวู้ดเข้ามาบ้างแต่ไม่มากเหมือนในประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลของเขา ขณะเดียวกัน รัฐก็สนับสนุนเอกชนในการส่งหนังออกไปต่างประเทศอย่างมาก”
สำหรับจุดแข็งของหนังหรือละครเกาหลีนั้น เทปเชื่อว่าอยู่ที่เอกลักษณ์ในการผลิต “ที่นี่เขาให้ความสำคัญตั้งแต่การเขียนและคัดบท ระยะหลังที่เห็นมา จะมีการโพสต์นิยายในอินเทอร์เน็ต ให้คนอ่านเข้ามาโหวตและออกความเห็นว่าเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี เนื้อเรื่องช่วงไหนดีหรือไม่ดี ดังนั้นกว่าจะได้เป็นบทหนังบทละครเรื่องหนึ่ง เขาก็เอาคอมเมนต์ของคนอ่านมาจัดอันดับและปรับปรุง”
เทปเป็นอีกหนึ่งคนไทย และถือเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเกาหลี ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย Hankuk University of Foreign Studies ที่กรุงโซล
ทุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาเป็นเพียงหนึ่งโครงการในหลากหลายความพยายาม ที่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (Ministry of Culture and Tourism) ของเกาหลีใช้เป็นสื่อชักนำให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจภาษาและเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลีอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง ทว่า นอกจากนี้ Korean Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมระหว่างนานาชาติกับประเทศเกาหลียังมีอีกหลายแคมเปญ
เช่น การสนับสนุนเปิดหลักสูตรสอนภาษาเกาหลี และการช่วยเหลือเพื่อผลิตผู้ชำนาญภาษาเกาหลีในมหาวิทยาลัยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก การเปิดโอกาสให้ผู้สอนภาษาเกาหลีและนักเรียนนักศึกษาวิชาเกาหลีได้ไปสัมผัสประเทศเกาหลี หรือไปเรียนภาษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยในเกาหลี รวมถึง การพัฒนาและผลิต Textbook ที่ใช้อ้างอิงได้อย่างถูกต้องออกมาในหลากหลายภาษาให้เพียงพอกับความต้องการจากทั่วโลก เป็นต้น
ปัจจุบัน นอกจากการเป็นอาจารย์สอนภาษาเกาหลีที่สถาบันทองอินทร์โฟน เทปยังทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาเกาหลีให้กับเจ้าหน้าที่ผู้วางระบบในตลาดหลักทรัพย์ และยังรับแปลหรือเป็นล่ามภาษาเกาหลีให้กับบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย อีกด้วย โดยเทปทิ้งท้ายว่า “ณ วันนี้ คนที่รู้ภาษาเกาหลีดีถือว่ามีโอกาสกว่า เพราะเมืองไทยยังมีคนที่รู้ตรงนี้ยังน้อย ขณะที่ความต้องการยังมีอยู่มาก และมากขึ้น”