ฉบับปลายปี 2548 (ค.ศ. 2005) หนังสือพิมพ์-นิตยสารจีนหลายต่อหลายเล่ม ไม่มีเล่มใดที่จะไม่กล่าวถึงความร้อนแรงของละครโทรทัศน์สัญชาติเกาหลีนาม ‘ต้าฉางจิน ‘
ละครโทรทัศน์จากเกาหลีใต้ ‘ต้าฉางจิน’ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม ‘แดจังกึม’ ออกฉายในประเทศจีนผ่านสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง ฉายวันละสองตอน ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมกระทั่งเดือนตุลาคม รวม 70 ตอน ช่วงหัวค่ำของทุกวัน ทำนองเพลง ‘แดจังกึม’ ที่ถูกขับร้องในเวอร์ชั่นภาษาจีนกลางโดย ดารา-นักร้องสาวชาวฮ่องกง เฉินฮุ่ยหลิน (Kelly Chen) ลอดบานหน้าต่างออกมาจากบ้านเรือน จนถึงริมถนน
ขณะที่บนท้องถนน ร้านขายวีซีดี-ดีวีดี รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ภาพของลียองเอ นางเอกของเรื่องในชุดประจำชาติเกาหลีก็พบได้ในทุกหนทุกแห่ง
กระแสเกาหลี-กระแสลมหนาวสำหรับจีน
สื่อมวลชนจีนทุกแขนงต่างไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ปี 2548 นี้เป็นของ ‘หานหลิว’ ในภาษาจีนกลาง หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ‘กระแสเกาหลี’ ในสังคมจีน
แม้วัฒนธรรมเกาหลีไม่ว่าจะเป็นทางตรงอย่างเช่น แฟชั่น เพลง ละครโทรทัศน์ อาหาร ฯลฯ จะแพร่เข้ามาในประเทศจีนนานแล้ว แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่กระแสเกาหลีจะรุนแรงเท่ากับ ‘แดจังกึม’ จนถึงกับมีนักวิชาการชาวฮ่องกงผู้หนึ่งกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า
“ละครโทรทัศน์เรื่องนี้เป็นหนังสือแถลงการณ์ทางการเมืองถึงการผงาดขึ้นมาของเกาหลีใต้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เป็นประกาศนียบัตรถึงการลุกขึ้นมาเผชิญกับโลกภายนอกของเกาหลีใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแย่งชิงสิทธิ์ในการเป็นศูนย์กลางการอรรถาธิบายจิตวิญญาณของวัฒนธรรมขงจื๊อกับประเทศจีน”
จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี เป็นกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ที่เดิมต่างก็ใช้อักษรฮั่นเป็นภาษาเขียน และได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของลัทธิขงจื๊อมายาวนานกว่า 2,000 ปี
แต่ก่อนจีนถือเป็นต้นแบบและเป็นพี่ใหญ่ที่ถ่ายทอดเอาวัฒนธรรมขงจื๊อไปให้กับเหล่าน้องๆ ญี่ปุ่นและเกาหลีมาโดยตลอด เช่น คุณธรรมขั้นพื้นฐาน ความกตัญญู ความเคารพนบนอบต่อผู้อาวุโส วัฒนธรรมด้าน ภาษา อาหาร สิ่งก่อสร้าง เครื่องแต่งกาย ดนตรี ประเพณีดั้งเดิม ระบอบกษัตริย์ ฯลฯ
กระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ญี่ปุ่นเริ่มก้าวมามีบทบาทการเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเหนือจีน จวบจนถึงปัจจุบันคือต้นศตวรรษที่ 21 ที่มังกรหลับอย่างจีนเริ่มฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง… ไม่มีใครนึกถึงว่า วัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 50 ล้านคน และเป็นดินแดนที่เป็นผู้รับอิทธิพลจากแหล่งอื่นมาตลอดโดยเฉพาะจากจีนและสหรัฐฯ จะสามารถก้าวขึ้นมาส่งอิทธิพลต่อจีนและเอเชียมากถึงเพียงนี้
ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี ฐานะของเกาหลีใต้ที่ก้าวกระโดดขึ้นมาอย่างกะทันหัน ส่งให้คนจีนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า ‘กระแสเกาหลี’ ครั้งนี้เป็น ‘กระแสลมหนาว’ (ในภาษาจีนกลางสองคำนี้เป็นคำพ้องเสียง โดยออกเสียงว่า “หานหลิว” ทั้งคู่) ที่พัดมาจากทางตะวันออก อย่างเช่นที่นักวิชาการชาวฮ่องกงกล่าวไปข้างต้น
มีคำกล่าวกันว่า หากภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะไอที คือศักยภาพของเกาหลีใต้ กระแสวัฒนธรรมเกาหลีก็คือ เสน่ห์ของชาวเกาหลี คำกล่าวนี้มีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัด และที่สำคัญ ต่างก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างแน่นแฟ้น
เกาหลีใต้กับการส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม
จากข้อมูลใน ‘สมุดปกขาวภาคการผลิตเชิงวัฒนธรรมประจำปี ค.ศ. 2004’ โดยกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ระบุว่า ในปี 2546 (ค.ศ. 2003) ภาคการผลิตเชิงวัฒนธรรมของจีนที่รวบรวมไปถึงอุตสาหกรรมหนังสือ หนังสือการ์ตูน เพลง เกม ภาพยนตร์ ภาพยนตร์การ์ตูน โทรทัศน์ โฆษณา อินเทอร์เน็ต และที่เผยแพร่ผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่ จำนวนสิบอุตสาหกรรมนั้นมีมูลค่าทางการตลาดมากถึงราว 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 1.48 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับ ร้อยละ 6 (สัดส่วนดังกล่าวนี้เฉลี่ยแล้วทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 4)
ทั้งนี้นอกจากภาคการผลิตวัฒนธรรมจะสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวเกาหลีใต้แล้วยังถือเป็นสินค้าที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้ได้เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยในปีเดียวกัน เกาหลีใต้ส่งสินค้าเชิงวัฒนธรรมออกไปยังต่างประเทศรวมมูลค่า 630 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 25,200 ล้านบาท) ขณะที่ในปีถัดมา (พ.ศ. 2547) เพียงแค่มูลค่าการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมไปยัง 5 ประเทศ/พื้นที่เพื่อนบ้าน คือ จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่น ไทย ฮ่องกง และไต้หวัน ก็ทำรายได้เข้าเกาหลีใต้ได้มากถึง 918 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 36,720 ล้านบาท) แล้ว
สำหรับสินค้าเชิงวัฒนธรรมที่ส่งออกหลักๆ 3 ประเภท ของเกาหลีใต้นั้นได้แก่ เกม ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์
ปี 2546 มูลค่าการส่งออกเกมของเกาหลีใต้เท่ากับ 181 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7,240 ล้านบาท) เกมอย่างเช่น Ragnarok มิว Linage ฯลฯ เป็นที่รู้จักของนักเล่นเกมชาวไทยและชาวเอเชียเป็นอย่างดี ปีเดียวกันมูลค่าการส่งออกละครโทรทัศน์ของเกาหลีนั้นตามมาห่างๆ อยู่ที่ 33.08 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,300 ล้านบาท) ส่วนมูลค่าการส่งออกภาพยนตร์นั้นตามละครโทรทัศน์มาติดๆ 30.98 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,240 ล้านบาท) โดยในปี 2546 มีภาพยนตร์เกาหลีใต้ถูกส่งออกไปฉายยังต่างประเทศรวม 164 เรื่อง
ตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา ขณะที่เกมออนไลน์จากแดนโสมเป็นที่ร่ำลือ ติดลมบนในวงการเกมโลกไปแล้ว สินค้าเชิงวัฒนธรรมอันดับรองลงมาอย่าง ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์จากแดนโสมก็เริ่มกวดไล่ขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว ความแรงของภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ส่งให้นิตยสารระดับโลกหลายฉบับอย่างเช่น Newsweek ฉบับ เดือน เมษายน 2547 นั้นถึงกับจับขึ้นปกแล้วพาดหัวว่า ‘ฮอลลีวู้ดตะวันออก (Hollywood East)’
สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีนั้นไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมเฉพาะในเอเชียตะวันออก แต่ยังเป็นที่จับตาของชาวโลก และดูเหมือนว่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการก้าวขึ้นมาเบียดกับบอลลีวู้ดของอินเดีย และอาจจะข้ามขั้นขึ้นไปแข่งกับยักษ์ใหญ่อย่างฮอลลีวู้ดก็เป็นได้
ในช่วงปี 2546-2547 เมื่อภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl (ชื่อภาษาไทยคือ ‘ยัยตัวร้าย กับ นายเจี๋ยมเจี้ยม’) ที่ใช้ชื่อภาษาจีนว่า แฟนตัวแสบของผม ได้รับความนิยมในประเทศจีนมาก คำว่า “แฟนตัวแสบ” นั้นกลายเป็นศัพท์ฮิตในสังคมวัยรุ่นจีนอยู่พักใหญ่ และเป็นศัพท์ใหม่ที่ใช้บ่งบอกถึงลักษณะของเด็กสาวที่ดู บู๊ๆ ไม่ยอมใคร คล้ายกับจอน จี ฮุนนางเอกในเรื่อง My Sassy Girl
ศัพท์แสงที่เกิดใหม่นี้บ่งบอกให้เห็นถึงอิทธิพลของภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมจีนอย่างเป็นรูปธรรม
ละครเกาหลี และผลกระทบลูกคลื่น
ตลาดส่งออกหลักสินค้าเชิงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้นั้นส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้าน คือ จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม (สังเกตว่า 6 ประเทศ/พื้นที่ข้างต้นนั้นเป็นกลุ่มที่ใช้อักษรฮั่น หรือคุ้นเคยกับภาษาจีนเป็นอย่างดี) นอกจากนี้แล้วก็ยังมีไทย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เกม ละคร ภาพยนตร์ของเกาหลีใต้เมื่อถูกส่งออกไปเผยแพร่ยังประเทศเพื่อนบ้านย่อมไม่เพียงเป็นการนำรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมนั้นๆ ในทางตรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลพลอยได้ให้แก่อุตสาหกรรม ธุรกิจ สินค้าอื่นๆ ของเกาหลีใต้อีกด้วย
การท่องเที่ยว หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540-2541 ที่เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ตกอยู่ในภาวะซบเซาติดต่อกันเป็นเวลาถึง 5 ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 การท่องเที่ยวของเกาหลีก็กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง โดยหนึ่งในแรงกระตุ้นนั้นก็มาจากละครเกาหลีนั่นเอง
ในปี 2547 มีการสำรวจพบว่า ในจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ร้อยละ 27.1 (หรือราว 710,000 คน) นั้นเดินทางมายังเกาหลีก็เพราะเป็นแฟนละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้มาก่อน
มากกว่านั้นหากในช่วงที่ผ่านมาใครติดตามข่าวสารด้านบันเทิงบ้างคงทราบว่า เบยองจุน นักแสดงหนุ่มชาวเกาหลีใต้ ผู้นำแสดงเรื่อง ‘เพลงรักในสายลมหนาว’ (Winter Love Song) นั้นเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาสาวๆ และเหล่าแม่บ้านชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยเคยมีการประเมินไว้ว่าในญี่ปุ่นแฟนๆ ละครของเบยองจุนน่าจะมีจำนวนมากกว่าหลักล้าน ด้วยเหตุนี้เองหลังละคร เพลงรักในสายลมหนาวจบ สถานที่ถ่ายทำละครเรื่องนี้บนเกาะแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้จึงมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาเยี่ยมเยือนอย่างไม่ขาด
เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้หลังละครแดจังกึมออกอากาศไปทั่วเอเชีย ‘สวนสาธารณะแดจังกึม’ ที่เปิดขึ้นในเกาหลีก็มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่ขาดสาย
เครื่องสำอาง-ธุรกิจศัลยกรรม หลังจากละคร ‘เพลงรักในสายลมหนาว’ ออกอากาศ สาวๆ ที่ชมละครเรื่องนี้แล้วติดใจกับหน้าตาจิ้มลิ้มของนางเอกต่างก็วิ่งไปสรรหาเครื่องสำอางของเกาหลี โดยเฉพาะเครื่องเกาหลีที่นางเอกชาวเกาหลีเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณามาใช้เป็นจำนวนมาก ส่งให้กระแสการเติบโตของเครื่องสำอางเกาหลีนั้นรวดเร็วมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 นั้น เครื่องสำอางจากเกาหลีใต้ส่งออกไปยังประเทศในเอเชียเป็นมูลค่ามากถึงเกือบ 94 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,760 ล้านบาท) โดยในไต้หวันนั้นยอดการเจริญเติบโตมากกว่าเท่าตัว ขณะที่ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่นั้นอยู่ที่ร้อยละ 82 และร้อยละ 58 ตามลำดับ
ในขณะเดียวกัน ชาวจีนที่ต่างเชื่อกันว่าสาวเกาหลีใต้โดยเฉพาะดารา-นักแสดงนั้นนิยมทำศัลยกรรมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อดูละครชมภาพยนตร์จากเกาหลี ต่างก็นิยมใช้บริการคลีนิก-โรงพยาบาล ที่ระบุว่าเป็นสาขา ใช้ศัลยแพทย์และเทคโนโลยีการทำศัลยกรรมจากเกาหลีใต้
หลายปีมานี้มีศัลยแพทย์ชาวเกาหลีใต้ถูกดึงตัวมาทำงานในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ โดยแม้ราคาค่าทำสวยโดยฝีมีดศัลยแพทย์เกาหลีจะแพงกว่าฝีมีดของศัลยแพทย์ชาวจีนกว่า 2 เท่า อย่างเช่น ราคาค่าทำตาสองชั้นโดยแพทย์เกาหลีจะแพงถึง 7,500 หยวน (37,500 บาท) แต่สาวจีนรุ่นใหม่ก็ไม่หวั่น โดยต่างก็หวังว่า ตัวเองจะสวยเหมือน คิมฮีซอน (ดาราสาวผู้แสดงคู่กับเฉินหลงจากเรื่อง The Myth) ซองเฮเคียว (นางเอกจากละครเรื่อง Full House) หรือ ลียองเอ นักแสดงสาวจากเรื่องแดจังกึม บ้าง
อาหาร-ยา-สมุนไพร หลังการออกอากาศของแดจังกึมใน จีน-ฮ่องกง-ไต้หวัน อาหารเกาหลีรวมไปถึงยาและสมุนไพรจากแดนโสมก็มียอดจำหน่ายดีขึ้นราว ร้อยละ 10-20 ส่วนชาวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังเกาหลีต่างก็ถามหาโสมเกาหลีกันอย่างไม่ขาดสาย
การเรียนการสอนภาษาเกาหลี นับจากปี 2540 เป็นต้นมา ด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้จำนวนผู้เรียนภาษาเกาหลีนั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากสถิติระบุว่า จำนวนผู้เข้าสอบวัดระดับภาษาเกาหลีนั้นจาก 2,274 คนในปี 2540 เมื่อถึงปี 2547 ผู้เข้าสอบก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 15,279 คน หรือภายใน 7 ปีเพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า โดยหากแยกตามสัญชาติของผู้เข้าสอบแล้วก็เพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 16 ประเทศ ส่วนในประเทศจีนเองนั้นก็มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 30 แห่งแล้วที่เปิดสอนภาษาเกาหลีให้กับนักเรียน
นอกจากอุตสาหกรรม ธุรกิจ และสินค้าที่ว่ามาข้างต้นแล้ว สินค้ายี่ห้อเกาหลีอื่นๆ อย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าไอทีอื่นๆ ต่างก็ได้รับอานิสงส์จากละครและภาพยนตร์เกาหลีตามไปด้วย
การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้วิเคราะห์ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงคือ
ช่วงที่หนึ่ง ทศวรรษที่ 1960-1970 เป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรม
ช่วงที่สอง ทศวรรษที่ 1980-1990 เป็นสมัยแห่งการใช้เทคโนโลยีพัฒนาชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอที
และ ช่วงที่สาม คือในปัจจุบันนั้นเป็น เป็นยุคของการสร้างวัฒนธรรมของเกาหลีให้เข้มแข็งควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในยุคที่วัฒนธรรมเกาหลีกำลังรุกไล่วัฒนธรรมจีนอยู่ในปัจจุบัน หากมองให้ลึกลงไปแล้ว แดจังกึม มิได้เป็นเพียงแค่ละครโทรทัศน์ที่ให้ความบันเทิงเรื่องหนึ่ง หากแต่ละครเรื่องนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอันเข้มแข็งของชาวเกาหลี ที่เติบโตมาด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่ง และมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมในการพัฒนาขึ้นเป็นหนึ่งในตัวแทนสำคัญของวัฒนธรรมเอเชียในอนาคต