กฤษณัน งามผาติพงศ์ ซีอีโอ เมเจอร์ ยุคบุกด้วยไอที

การแถลงข่าวเปิดตัวผู้บริหารใหม่ของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ของ “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร ไม่ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ ให้กับวงการธุรกิจบันเทิงเท่าไรนัก เพราะเมื่อปลายปี 2548 เมเจอร์ได้ประกาศแต่งตั้ง “กฤษณัน งามผาติพงศ์” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอให้รับทราบทั่วกันแล้ว

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยสไตล์การบริหารงานของเครือเมเจอร์ โดย “วิชา” ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าการปรับโครงสร้างองค์กร และการมีผู้บริหารใหม่เข้ามาเพิ่มนั้น คือเรื่องธรรมดา

แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือการที่ “กฤษณัน” ได้นำทีมงานอดีตผู้บริหารจากบริษัทแอ็ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสมาด้วย 3 คน “อาทร เตชะตันติวงศ์” รับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโบว์ลิ่ง “จิรเดช นุตสถิตย์” รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจและนักลงทุนสัมพันธ์ “ศักดา อู่ดาราศักดิ์” เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มโอแอล จำกัด ในเครือเมเจอร์

ทั้ง 4 อดีตผู้บริหารจากเอไอเอสแสดงฝีมือไว้ด้วยยอดลูกค้าที่ชนะคู่แข่งทุกเดือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

พร้อมดึงลูกหม้อของบริษัทแมคไทย จำกัด หรือแมคโดนัลด์มาได้อีก 1 คน คือ “อรวรรณ กอวัฒนา” มาในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ รับผิดชอบส่วนงานให้บริการของธุรกิจโรงหนัง

“วิชา” ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงสไตล์การเป็นผู้บริหารสูงสุดว่าครั้งนี้เป็นการจัดทัพใหม่อีกครั้งเพื่อรับการรุกธุรกิจในปี 2549 และไม่ได้หมายความว่าการปรับจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ ต้องมีการปรับตลอดเวลา ซึ่งแนวทางการรับผู้บริหารใหม่สไตล์ “วิชา” นั้นคือเน้นที่มีความเก่ง และต้องดี คือมีจิตใจดีด้วย เมื่อผสานกับแผนการลงทุนทั้งเรื่องระบบไอที การขยายสาขา และบุคลากรแล้วคาดหวังไว้ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2549 จากปี 2548 ที่มีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท

ภารกิจนี้ จึงท้าทาย “กฤษณัน” และทีมงานใหม่เป็นอย่างยิ่ง ด้วยแผนงานที่ภายใน 6 เดือนระบบ “Booking System” หรือการจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตและการจองตั๋วแบบเคลื่อนที่ต้องแล้วเสร็จหลังจากลงทุนวางระบบ
ไอทีไปแล้วประมาณ 30 ล้านบาท การสร้างให้บริการดูหนังเป็นบริการระดับเวิลด์คลาส ที่ทุกอย่างอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ “กฤษณัน” ตั้งเป้าหมายอย่างยิ่งคือทำให้การมาใช้บริการที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ไม่ใช่เพียงแค่การดูหนังเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นสถานที่ให้ความสุขกับทุกคนในครอบครัวได้

ครั้งนี้จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งของเขา ในการเติบโตสายงานการตลาด และการบริหาร หลังจากโด่งดังตั้งแต่เป็นกรรมการผู้จัดการในไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของโนเกีย จนปัจจุบันโทรศัพท์มือถือโนเกียเป็นเจ้าตลาดในไทย กระทั่งมาอยู่ในเอไอเอส ด้วยการยอมรับ และคัดสรรโดยตรงจากเบอร์ 1 ของกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด “บุญคลี ปลั่งศิริ” ก่อนทิ้งเก้าอี้เอไอเอสตั้งแต่มีนาคม 2548

ที่เมเจอร์เวลานี้ “กฤษณัน” บอกว่า “เป็นที่ที่ผมมาสร้างความใหม่ให้กับตัวผมเอง รับรองว่าจะมีอะไรแปลกใหม่มาให้ อย่างที่ผมบอกตลอดว่าผมเป็น Market maker”

ท้ากันขนาดนี้แล้วก็คงอดไม่ได้ที่ต้องรอดู แบบอยากให้ coming soon จริงๆ

มาร์เก็ตแชร์ธุรกิจโรงภาพยนตร์
– เมเจอร์-อีจีวี 70 เปอร์เซ็นต์
– เอสเอฟ ซีเนมา ซิตี้ 20 เปอร์เซ็นต์
– ที่เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์

สัดส่วนรายได้เครือเมเจอร์
– โรงหนัง 60 เปอร์เซ็นต์
– โบว์ลิ่ง 15 เปอร์เซ็นต์
– มีเดีย 15 เปอร์เซ็นต์
– พื้นที่ร้านค้าปลีก 10 เปอร์เซ็นต์