มิติที่เหนือกาลเวลา

หลายเดือนนี้ ไม่รู้เป็นเพราะบรรยากาศร้อนแรงทางการเมืองเกี่ยวกับ ”นายเหลี่ยมจัด” หรือเปล่า ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องโฆษณาของบรรดาครีเอทีฟไทยหดหายไปตามๆ กัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสิ้นไร้เสียทีเดียว เพียงแต่หายากกันสักนิด ต้องทนดูโฆษณาอุจาดใจอย่างต้องใช้ขันติมากเป็นพิเศษ

โฆษณาทางโทรทัศน์ที่เตะตาและโดนใจชิ้นนี้ เป็นของค่ายมือถือ DTAC อีกแล้ว ไม่รู้เป็นอะไร ไอเดียลึกซึ้งไม่มีหดหายสำหรับค่ายนี้กันเลยจริงๆ ไม่ชมตอนนี้ ก็ไม่รู้จะชมตอนไหน

เห็นโฆษณาชิ้นนี้โผล่มาทีแรกก็แสนจะสะดุดตา ด้วยภาพของนาฬิกาติดผนัง พร้อมด้วยข้อความในคำพูด “อยู่เหนือการควบคุมของกาลเวลา”

คิดไม่ถึงเลยจริงๆ ว่า นี่คือโฆษณาสงครามราคาของค่ายมือถือธรรมดา เพราะว่ากันตามจริงแล้ว มันชวนให้ย้อนระลึกถึงงานเขียนแบบเซอร์เรียลลิสม์ของ อีตา ซัลวาดอร์ ดาลี ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ The Persistence of Memory (แปลว่า ความเที่ยงตรงของความทรงจำ) ที่ติดตราตรึงใจ และเย้ยหยันจิตวิญญาณของมนุษย์ได้ลึกซึ้งยิ่งนัก

พูดก็พูดเถอะ ซัลวาดอร์ ดาลีนั้น คือ จิ๊กโก๋อัจฉริยะรุ่นก่อนสงครามโลกที่ระดับเหนือชั้นกว่า เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และถวัลย์ ดัชนี ในวันนี้รวมกันหลายขุมนัก ไม่เชื่อดูรูปประกอบก็ได้

นาฬิกานอนเค้เก้กับพื้นบ้าง พาดกิ่งไม้บ้าง โดนแดดกลางทะเลทรายแผดเผาเสียจนหลอมไหล แต่ยังไม่ละลาย ห้อยย้อยหมดสภาพ แต่ก็ดูเหมือนจะยังเดินอยู่ ไม่ยอมหยุดตาย บ่งบอกให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอย่างไร และในสถานการณ์ใด กาลเวลาก็เคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำหน้าที่ของมันโดยไม่อนาทร

จิตรกรรมที่เจาะลึกเข้าไปในก้นบึ้งของจิตใต้สำนึกของมนุษย์อย่างนี้ ทำให้ดาลีกลายเป็นตำนานที่นำเอางานด้านจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ออกมาตีแผ่ถูกใจผู้คนที่ร่านทุรนกับสังคมเมืองใหญ่ในโลกทุนนิยมร่วมสมัยได้ดียิ่งนัก เทียบได้กับบทกวีเพื่อนเพื่อนร่วมสมัยของเขา การ์เซีย ลอร์ก้า ที่ว่า

….A wall of nightmares
separates me from the dead.

Mist covers the gray valley
of your body in silence.

Hemlock is growing over
the arch of the trysting-gate.

But it lets in your memory,
lets it only into my heart….

มีแต่คนอัจฉริยะระดับเฉียดบ้า ที่เรียกว่า The Thin Red Line เท่านั้นที่จะนำเสนองานเช่นนี้ออกมาได้ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการเล่นกับจิตวิเคราะห์ของจิตใต้สำนึกเท่านั้น แต่ยังเล่นกับสายตาของคนที่สัมผัสงาน ด้วย มายาทัศน์ หรือ Optical Illusion ที่สร้างภาพในระนาบ 2 และ 3 มิติ เอามาเล่นกับกระบวนการรับรู้ของคน เพื่อกระตุ้นญาณทัศนะที่มากกว่าอารมณ์หยาบในเบื้องต้น

งานแบบนี้ ถือว่าเป็น ”ลูกเล่น” ของศิลปินยุคใหม่ที่หลายครั้งทำเอาผู้บริโภคงานศิลปะฝันร้ายไปได้หลายคืน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นการกระตุ้นทางอารมณ์ที่ ”แรง” ได้ระดับเกินขีดปกติ และชวนให้จดจำไปนาน

ขอให้ทำได้ ”ถึง” (ความหมายนี้ ต้องถามคนที่อยู่ในแวดวงเอาเองว่ามันล้ำลึกแค่ไหน) เถอะ เป็นเรื่องทุกที

กลับมาที่งานโฆษณาชิ้นนี้ต่อ การนำเอาเรื่องเวลา มาเล่นกับผู้บริโภคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งที่ว่าไปแล้ว จิตใต้สำนึกของผู้คนร่วมสมัยปัจจุบัน กำลังถูกกระตุ้นให้บ้าคลั่งไปกับการแข่งขัน ช่วงชิง และไขว่คว้าหาความสำเร็จจนแทบจะไม่เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว

ความหมายของเวลาสำหรับคนเมืองใหญ่ จึงค่อนข้างมีความหมายทางลบ และส่งผลสะเทือนที่คับข้องใจไม่น้อยเมื่อเอ่ยถึงขึ้นมา

มือใครยาว สาวได้สาวเอา
ถึงก่อนได้ก่อน หรือ First Come, First Serve
ตอกบัตรเข้าทำงาน ตอกบัตรเมื่อกลับบ้าน
ทำงานให้ทันเส้นตายนะ ไม่งั้น…
ฯลฯ

จิปาถะที่ชีวิตคนเราถูกกำหนดด้วยเวลา และไม่กำหนดเปล่าๆ หากยังนำไปเชื่อมโยงเข้ากับผลประโยชน์ตอบแทนในการทำงานด้วย บางครั้งถูกหักเงินเดือน บางครั้งต้องทะเลาะกับฝ่ายบุคคล บางครั้ง…แทบจะเป็นบ้าไปเลยเพราะงานเสร็จไม่ทัน

แรงบีบคั้นจากกาลเวลานี้คือแอกสำหรับคนสังคมเมืองที่ยขากจะปลดทิ้งไปได้ง่ายๆ

โฆษณาชิ้นนี้ จึงเจาะเข้าไปในจิตใต้สำนึกของคนหนุ่มสาวและคนเมืองที่กำลังมองหาทางออกเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากข้อจำกัดเรื่องกาลเวลาได้ตรงเป้า และแม่นยำยิ่งนัก

ทั้งในตอนที่นาฬิกาไร้เข็ม และกลุ่มคนที่เงาขยับไปมาหลายทิศทางได้ ตอกย้ำโลกดิจิตอลที่ท้าทายเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ติดยึดในจารีตดียิ่งนัก

ยิ่งตอนจบ ก็ยังมีคำพูดและอักษรขึ้นมาปิดท้ายก่อนจาก ที่ถือว่าฉมังยิ่งนัก “…ท้าทายอำนาจของกาลเวลา…”

อะโห…คิดได้ยังไงเนี่ย!

พูดก็พูดเถอะ ผมว่า หาก ซัลวาดอร์ ดาลี ฟื้นขึ้นมาจากหลุม มาดูโฆษณาชิ้นนี้ แกอาจจะร้องไห้ใหญ่ที่มีคน ”รู้ทันดาลี” เสียแล้ว ดีไม่ดี จะพาลเผางานเก่าๆ ทิ้งเสียน่ะไม่ว่า

มีคะแนนเท่าใด เทใจให้ครีเอทีฟงานชิ้นนี้หมดเลยครับ ไม่ต้องรอรางวัลจากสมาคมหรือการประกวดที่ไหน

แถมยังอยากแนะนำให้หันไปใช้บริการค่ายมือถือนี้เพิ่มขึ้นด้วย เผื่อว่าจะได้แบ่งกำไรมาสร้างสรรค์งานที่ทรงภูมิและ ”เซอร์” อย่างนี้ไปอีกเรื่อยๆ

ใครไม่รู้สึกรู้สา และไม่ฉุกคิดขึ้นมาได้บ้าง หลังจากมองเห็นโฆษณาอันโดดเด่นชิ้นนี้ ควรต้องกลับไปทบทวนตัวเองได้แล้วว่า อารมณ์ตายด้าน (ไม่ว่าด้านไหนๆ ก็ได้ รวมทั้งเรื่องนั้น…)ไปเสียแล้วหรืออย่างไร?

หากทบทวนแล้ว และเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริง ก็ควรหารือจิตแพทย์กันบ้าง ก่อนจะสติแตกกันไปใหญ่

ภาพยนตร์โฆษณาแคมเปญ : แพ็กเกจ “maximize” จาก DTAC

เจ้าของผลิตภัณฑ์ : Total Access Communication PLC.
ผลิตภัณฑ์ : แพ็กเกจ maximize จากดีแทค
ชื่อชุดโฆษณา :
– “Signature – ชีวิตจะเปลี่ยนไป” (15 Sec.)
– “Beyond Time – อำนาจเหนือเวลา” (30 Sec.)
– “Secret Help – อำนาจแห่งความสบาย” (30 Sec.)
เอเยนซี่ :Creative JuiceG1
ผู้อำนวยการสร้างสรรค์ :กำภู หุตะสังกาศ
ผู้กำกับศิลป์ :สุวิทย์ จตุริยสัจจกุล พิรพัฒน์ ลิ้มสวัสดิผล
ผู้เขียนบทโฆษณา : สายรุ้ง มหาเปารยะ
ฝ่ายบริหารงานลูกค้า :
– สงกรานต์ เศรษฐสมภพ
– หรรษา วงศ์สิริพิทักษ์
– เบญจมาภรณ์ ตั้งเจริญเสถียร
– หทัยนันท์ หาญศิริพงษ์สกุล
ฝ่ายควบคุมดูแลการผลิต : จุฑารัตน์ ชิงดวง อรุณศรี ศรีโรจนันท์
ผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา : GOODBOY’Z HOUSE CO.,LTD.
ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา :ธนพงษ์ ทรัพย์เหลือหลาย