ปี 2549 ต้องนับว่าเป็นปีที่มีความสำคัญต่อปวงชนชาวไทย เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
ปี 2549 จะเป็นปีที่มีความสำคัญ เมื่อพระองค์ทรงมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ จนนำพาให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์การเมืองกลับมาสู่ความสงบได้อีกครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการรัฐประหารล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คนไทยยังเชื่อมั่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าจะทรงเป็นที่ยึดใหม่ให้คณะปฏิรูปคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนตามที่ได้ให้สัตย์ปฏิญาณ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อชาวไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้ ปี 2549 จึงเรียกได้ว่าเป็น “ปีทอง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และของประเทศไทย ที่จะต้องถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ตลอดช่วงเวลาแห่งการครองราชย์ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาตลอด ไม่เคยละทิ้งประชาชน ในยามที่ประเทศต้องประสบปัญหาวิกฤตต่างๆ ทรงเป็นหลัก คุ้มครองชาวไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ตลอด
ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พระองค์ทรงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ทรงชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ มาตั้งแต่ปี 2540 ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นปรัชญาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนา และบริหารประเทศ รวมถึงการดำรงชีวิตของคนไทย
กระทั่ง โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากการที่พระองค์ทรงอุทิศพระวรกาย พัฒนาชีวิตให้กับปวงชนชาวไทย ไม่เลือกวรรณะ เชื้อชาติ ทรงได้รับการขนานนามจากชาวโลกว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา”
พระองค์ทรงให้นานาประเทศตื่นตัวในการปรับรูปแบบการพัฒนาภายใต้แนวคิดใหม่โดยเฉพาะปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่มุ่งเน้นความสมดุล องค์รวม และยั่งยืน ที่เน้นหลักความพอประมาณที่มีภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัตน์
หรือแม้แต่กรณีของ “คุณทองแดง” สุนัขที่พระองค์ทรงเก็บมาเลี้ยง ก็เป็นหลักธรรมง่ายๆ ที่พระองค์ทรงใช้ถ่ายทอดให้ชาวไทยได้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นไทย โดยไม่จำเป็นต้องเน้นความหรูหรา ฟุ่มเฟือย หรือใช้ของต่างประเทศ
ปี 2549 จะเป็นปีที่คนไทยต้องจดจำไปอีกนานแสนนาน ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง จนทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้อีกครั้ง หลังจากที่พระองค์ทรงเคยแก้ปัญหามาแล้ว กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535
ด้วยทศพิธราชธรรมในการปกครองประเทศเหล่านี้เอง พระองค์ ไม่เพียงแต่ประทับอยู่ในใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ พระองค์ยังได้รับยกย่องจากนิตยสารระดับโลก “ไทม์เอเชีย” ให้เป็นหนึ่งใน “วีระบุรุษแห่งเอเชีย” สาขาผู้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อฉลองวาระ 60 ปีของนิตยสาร
ตลอด 60 ปีของการครองราชย์ เป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงพระปฐมบรมราชโองการ ในการขึ้นเฉลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ที่ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”
เอื้อเฟื้อภาพ และข้อมูล
– หนังสือตามรอยพระยุคลบาท ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
– หนังสือ คงธรรม ครองไทย จากสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี
– หนังสือในหลวงของฉัน เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
– หนังสือความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระนางฯ เจ้าพระบรมราชินีนาถ
-หนังสือนิทรรศการศิลปกรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน
โอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“พระอัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญ”
พระองค์ทรงใช้อัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาวิกฤติการเมือง 3 ครั้ง ครั้งแรก คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เหตุการณ์การเมืองปี 2549 โดยทุกครั้งที่ทรงลงมาแนะนำทางออกเพื่อแก้วิกฤตด้วยพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลัก 2 ประการ คือเพื่อความสุขสงบของประเทศ และความอยู่รอดปลอดภัยของประชาชน พระองค์ทรงระมัดระวังที่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ทรงแก้โดยปลอดจากการเมือง และทรงเป็นกลาง จะไม่ทรงลงมาในลักษณะที่จะทำให้ข้างใดข้างหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าถูกหรือผิด หรือในลักษณะที่เท่ากับว่าเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ทรงทำให้เห็นว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งยากลำบากมาก แต่เพราะเหตุนั้นจึงทำให้เป็นที่ยอมรับได้
วิกฤตการณ์การเมืองปี 2549
สำหรับวิกฤตการณ์บ้านเมือง เมื่อต้นปี 2549 มาจากกระแสต้านระบอบทักษิณรุนแรง สังคมแบ่งเป็นสองขั้ว เดินกันคนละทางดั่งเส้นขนาน มองไปทางไหนมุมไหนของประเทศมีแต่ความขัดแย้งที่ปรากฏเด่นชัด
แม้ว่าทักษิณ ชินวัตรจะประกาศยุบสภา ปัญหากลับไม่ยุติ เมื่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เชื่อถือของพรรคการเมืองและภาคประชาชน ให้จัดการการเลือกตั้งอีกต่อไป แต่ กกตก็ไม่อินังขังขอบ กลับจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และเลือกตั้งซ่อม ท่ามกลางผลการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการโมฆะ ไร้ความชอบธรรม จนสังคมเกือบถึงทางตัน กระทั่งมีเสียงเรียกร้องถึง ”นายกพระราชทาน” ที่อาศัยตามมาตรา 7 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา พระราชทานแนวทางการแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองผ่านพระบรมราโชวาทที่พระราชทานต่อคณะตุลาการ ศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษา ศาลฎีกา จนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์กร ”ศาล” ทำหน้าที่ร่วมกันหาทางออก จนสังคมได้รับรู้ถึงความเป็นธรรม และความไม่ชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้ง และ กกต. ที่ไม่เคยคิดว่าตนเอง ”จะพ่ายแพ้” ก็ต้องเข้าไปใช้ชีวิตในคุก
ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อโทรทัศน์ในช่วงค่ำของวันที่ 25 เมษายน 2549 เป็นรายงานข่าวที่ส่งความหวังถึงคนไทยทั่วประเทศในช่วงนั้น ด้วยรายละเอียดของภาพ และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
เมื่อเวลา 17.45 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่งความว่า
“ในเวลานี้ เมื่อเช้านี้เอง การเลือกตั้ง และโดยเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เลือกตั้งคนเดียว ซึ่งมีความสำคัญที่ว่าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็คนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์ ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ก็กลายเป็นว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้ แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณตนเองก็เป็นหมัน ถึงบอกว่าจะต้องทำเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ และถ้าท่านทำงานไม่ได้ ท่านอาจจะต้องลาออก ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ต้องหาทางแก้ไขได้”
ไขรหัส “นายกฯ พระราชทาน”
ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โอกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า
“เมื่อก่อนนี้มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่าง เรื่องนี้ก็ต้องให้ดำเนินการไป ศาลจะเป็นผู้ทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯ พระราชทาน เพราะขอนายกฯ พระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมากที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทาน นายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 ว่าอะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีตามที่ควรทำไป ไม่มี
เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทานกัน ขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของนายกฯ ที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ แบบมั่ว คือแบบไม่มีเหตุมีผล การที่ท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่จะใส่ สามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือปกครองต้องมีสภาให้ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ไม่ได้ อาจจะหาวิธีที่จะทำสภาที่มีครบถ้วน และทำงาน ก็รู้สึกว่ามั่ว ไม่ทราบ ใครจะทำมั่ว ปกครองประเทศมั่วไม่ได้ คิดอะไร แบบทำปัดๆ ไปให้มันเสร็จๆ ไป ถ้าไม่ได้เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่ว ต้องขอร้องให้ศาลคิด เดี๋ยวนี้ประชาชนประชาธิปไตยเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกาที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผล ท่านมีความรู้ ท่านได้เรียนรู้กฎหมายมาก และพิจารณากฎหมายที่ ศึกษาดีๆ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักการปกครองประเทศชาติไปไม่รอด”
หลังจากนั้นไม่กี่วันคณะผู้แทนศาล อันประกอบด้วยศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ร่วมกันหาทางดำเนินการเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ด้วยการส่งสัญญาณให้ กกต. ลาออกจากตำแหน่ง หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มที่สนับสนุน กกต. และต่อว่า ”ศาล”
ปลดล็อก “เลือกตั้ง”
สัญญาณแรก มาจากดาบแรกของศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา โดยชี้ขาดการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ว่าเป็นโมฆะ
หลังจากนั้นไม่กี่วันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ลงมติเสียงข้างมากให้การจัดการเลือกตั้งของ กกต.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง การจัดคูหาเลือกตั้ง และการที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ว่าจ้างผู้สมัครจากพรรคการเมืองเล็ก และการที่ กกต. ลงมติรับรองการเลือกตั้งโดยไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์
คำวินิจฉัยนี้ส่งผลให้ต้องเพิกถอนการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงการปิดฉากการทำหน้าที่ของ กกต.
ผลการวินิจฉัยดังกล่าว กกต. ทั้ง 4 คนประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ปริญญา นาคฉัตรีย์ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ นายวีระชัย แนวบุญเนียน ในฐานะผู้ซึ่งต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่กลับกระทำผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 104 วรรคสาม และมาตรา145 (4) เสียเอง
นอกจากนี้ กกต. ยังถูกฟ้องดำเนินคดีที่ศาลปกครองอีก ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาอีกหลายคดี และอาจจะมีผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นภาษีอากรประชาชนกว่า 2,000 ล้านบาทอีกด้วย
จึงถือว่า กกต. ทั้ง 4 คนหมดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งอีกต่อไป โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี กกต. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แล้วเปิดทางให้มีการสรรหา กกต. ชุดใหม่
แต่อดีต กกต. ยังไม่ลาออก และยืนยันทำหน้าที่ ในที่สุด อดีต กกต. ก็ถูกตอกฝาโลง ในเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 จากคำพิพากษาศาลอาญาให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปริญญา นาคฉัตรีย์ และวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. จำเลย ทำผิดกฎหมายในการเลือกตั้งในวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 จำคุกคนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี ตามคำยื่นฟ้องของโจทก์ คือ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
เป็นการสิ้นสภาพของ กกต. เป็นภาพที่ไม่มีคาดคิดมาก่อนว่า อดีต กกต. ผู้ทรงคุณวุฒิ และวัยวุฒิ ต้องเดินเรียงแถวเข้าไปนอนในคุก เพราะศาลปฏิเสธการประกันตัว กระทั่งยอมเซ็นหนังสือลาออก และรับปากว่าจะไม่สร้างความวุ่นวายใดๆ ศาลจึงให้ความปรานีได้ออกมาใช้ชีวิตภายนอกได้ตามปกติ
หากไม่มีพระบรมราโชวาทจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 25 เมษายนนั้น คงไม่มีการคลายปมวิกฤต ที่มี กกต. เป็นตัวล็อกในช่วงเวลานั้น และทำให้ในเวลาต่อมาเมื่อศาลได้ใช้อำนาจตามกฎหมายสรรหา กกต. ชุดใหม่
แต่เมื่อต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ก็มีกระแสเสียงการบล็อกโหวต กกต. ชุดใหม่ และได้ กกต. ชุดใหม่แล้ว ท่ามกลางเรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ เว้นวรรคทางการเมือง แต่คำตอบคือความไม่แน่นอน
ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงเดินหน้าเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง นัดชุนมนุมใหญ่วันที่ 20 กันยายน 2549 พร้อมกับกระแสข่าวหนาหูว่า อาจเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย และหากเกิดขึ้นจริงย่อมหมายถึงการเสียเลือดเนื้อของประชาชน จนเป็นที่มาของทหารตัดสินใจทำการรัฐประหารอีกครั้งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
การปฏิวัติครั้งนี้ประชาชนคนไทยยังเชื่อมั่นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นที่ยึดใหม่ให้คณะปฏิรูปคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน ตามที่ให้สัตย์ปฏิญาณไว้
นอกจากนี้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ทรงชี้แนะแนวทาง มาเป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ทั้งหมดนี้ ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ให้เมืองไทยสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ไปได้อีกครั้ง