คำสอน “ในหลวง” จุดเปลี่ยนชีวิต บุญชัย เบญจรงคกุล

“10 ปีที่ผ่านมาผมไม่เคยซื้อรถเบนซ์ใหม่เลย ตอนนี้ที่ใช้อยู่ประจำก็โตโยต้า อย่างหนึ่งเราก็ควรทำตัวเป็นตัวอย่างให้คนอื่นทำตามได้”

จากนักธุรกิจ และผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยที่รู้จักกันดีในชื่อ ”ยูคอม” และ ”ดีแทค” มีชีวิตประจำวันในห้องประชุม อยู่กับการตัดสินใจ กู้เงินมาลงทุน การสั่งจ่ายเงินจัดซื้ออุปกรณ์ และรับรายได้มูลค่านับหมื่นล้านบาท ไม่เพียงนั่งรถยนต์แบรนด์ดังจากยุโรป แต่ยังมีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ติดอันดับต้นๆ ในทำเนียบเศรษฐีเมืองไทย และร่วมสังสรรค์งานดินเนอร์หรูทั้งเพื่อธุรกิจและงานสังคม

ปัจจุบันเขาหันมาทำธุรกิจขนาดย่อมลงมากว่าเดิม ด้วยการลงทุนตามศักยภาพเงินลงทุนที่เพียงพอจะทำได้ และรอจังหวะที่เหมาะสมในการบุกธุรกิจ ชีวิตส่วนตัวส่วนใหญ่หมดไปเพื่องานสังคม โดยเฉพาะการเกื้อกูลต่อชาวไร่ ชาวนา ด้วยระบบสหกรณ์ ในนามของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน รับซื้อข้าวหอมมะลิที่เขาตั้งใจทำให้สำเร็จด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนกว่าเป้าหมายทางธุรกิจ การผลักดันให้ทุนนักเรียนในชนบท ศึกษาจบแล้ว กลับบ้านพัฒนาท้องถิ่นในโครงการ ”สำนึกรักบ้านเกิด”

นี่คือเส้นทางของ ”บุญชัย เบญจรงคกุล” ที่พลิกผัน และแจ่มชัด เป็นจุดเปลี่ยนจากการน้อมนำมาปฏิบัติอย่างเต็มที่ตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกเหนือจากการศึกษาธรรมะผ่านธรรมกายแล้ว

“บุญชัย” อธิบายปรากฏการณ์ที่ได้รับด้วยตัวเองว่า “เป็นเพราะสิ่งที่ในหลวงทรงสอน พิสูจน์แล้วว่า Work ช่วยชาติให้พ้นภัยได้ อย่างเรื่องพลังงาน เราขับรถกัน เราไม่สามารถซื้อน้ำมันดิบได้มากกว่านี้อีกแล้ว

พวกเราควรทำให้พระองค์ท่านดีใจ เหมือนอย่างช่วงเดือนมิถุนายน (ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี) ที่ทำให้พระองค์ท่านมีความสุข พระองค์ท่านทรงเสียสละให้กับพวกเรา แล้วพวกเราจะตอบแทนพระองค์ท่านบ้างไม่ได้หรือ”

“บุญชัย” หรือ “พี่ใหญ่” ในเจนเนเรชั่นที่ 2 ของตระกูล ”เบญจรงคกุล” ผ่านพ้นความรู้สึก ”ยึดติด และยอมยุติความเป็นเจ้าของในธุรกิจที่รุ่นพ่อสร้างมาก่อน โดยตัดใจขายทิ้งทั้งยูคอม และดีแทค เพราะไม่อาจต่อสู้กับกระแสการแข่งขันในธุรกิจสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือได้ เมื่อตุลาคม 2548 ซึ่งในที่สุดกลุ่มเทเลนอร์ที่ได้เข้าถือหุ้นในยูคอมและดีแทคส่วนหนึ่งมาตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็เทกโอเวอร์ทั้งหมด ด้วยมูลค่าการซื้อขายหุ้นครั้งนั้นประมาณ 9,000 ล้านบาท

“ท่านทรงให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางดำเนินชีวิตสำหรับคนไทย โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540”

“บุญชัย” เล่าต่อถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า ”ปี 2540 ฝ่ายการตลาดมารายงานผมว่าลูกค้ากำลังหายไปเดือนละ 10% ก็ตกใจ เดือนที่ 2 มารายงานว่า หายอีก 10% ตอนนั้นก็เลยกังวลว่าแล้วอีก 10 เดือนต้องปิดดีแทคหรือเปล่า ทำให้เราเกิดความรู้อย่างหนึ่งว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คนอื่นวินาศเราก็วินาศด้วย ถ้าเราจะไม่วินาศ เราก็ต้องไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไปอยู่ต่างประเทศ เราก็ต้องคิดถึงบ้าน เพราะไปอยู่เมืองนอก ก็ไม่เหมือนอยู่บ้านเราเอง หน้าที่ผมตอนนั้นก็ต้องหาคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เข้ามา และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้องค์กรยั่งยืน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับดีแทคช่วงนั้น สอนให้เรารู้ว่าเราโง่ เรายืมเงินมาลงทุนเยอะ คาดหวังว่าจะดี ทั้งโง่ และทั้งยอมรับว่าตนเองโง่ เมื่อเมื่อยอมรับแล้วว่าโง่ ต่อไปก็ฉลาดได้”

พระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดำเนินชีวิตของ ”บุญชัย” อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเขาบอกว่า ”เพราะท่านคือพระมหากษัตริย์ที่เสียสละ และคำสอนของท่านทำให้เราเชื่อด้วยเหตุและผล ท่านทรงให้เรามีคุณธรรม ดังนั้นทำธุรกิจก็ต้องคิดถึงคุณธรรม แม้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องผลประโยชน์ และกำไร ก็ต้องมีคุณธรรม”

ความเป็นองค์กรที่เน้นเรื่องกำไรเป็นหลัก ตามแนวทางของทุนนิยมนั้น บางครั้งอาจทำให้คุณธรรมนั้นขาดหายไป ทำให้ในที่สุด ”บุญชัย”ยอมรับว่าไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับตัวเอง ที่จะเป็นนักธุรกิจในองค์กรขนาดใหญ่ ในเมื่อทัศนคติในการทำธุรกิจ และระบบทุนนิยมของตัวเองนั้นเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงวิถีชีวิตส่วนตัว และรสนิยมของเขาก็เปลี่ยนแปลงไป

“ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองไปบ้างพอสมควร โดยปริยาย เชื่อไหม 10 ปีที่ผ่านมาผมไม่เคยซื้อรถเบนซ์ใหม่เลย ตอนนี้ที่ใช้อยู่ประจำก็โตโยต้า อย่างหนึ่งเราก็ควรทำตัวเป็นตัวอย่างให้คนอื่นทำตามได้”

”บุญชัย” ย้ำความรู้สึกที่เกิดนี้ว่าพระองค์ท่านทรงมีเมตตากับทุกสรรพสิ่ง คนไม่ดีท่านก็ทรงเมตตา คนที่อยู่สุดชายแดน ท่านก็เสด็จไปดูปัญหาของเขา ท่านทรงเสียสละทุกอย่างเพื่อพสกนิกรชาวไทย เพราะฉะนั้นจึงทำให้ท่านทรงอยู่ในหัวใจของทุกคนได้

Profile

บุญชัย เบญจรงคกุล เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2497 ในระดับมัธยมศึกษาเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากนั้นบินไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาตรีด้านการบริหารที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

กลับมาดูแลกิจการของครอบครัว ท่ามกลางการแก้ปัญหาวิกฤตด้วยหนี้สินประมาณ 300 ล้านบาทขณะที่เขามีอายุเพียง 27 ปี เข้าสู่ธุรกิจสื่อสาร และทำให้ยูคอมและบุญชัยเป็นที่รู้จักจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือ กระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2537-2538 และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ปี 2542 ปี 2548 ตัดสินใจขายหุ้นในยูคอมและดีแทคให้กลุ่มเทเลนอร์เมื่อตุลาคม 2548 นอกเหนือจากนี้ยังสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อเนื่องในฐานะศิษย์ธรรมกาย ก่อตั้งมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน และโครงการสำนึกรักบ้านเกิด