งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ภาพแห่งประวัติศาสตร์ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน 2549 ยังเป็นภาพแห่งความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งมีการจัดพระราชพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่การจัดพระราชพิธีบวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร การจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ตลอดจนงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ

โดยเฉพาะในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ ออกสีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชทานวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี เลขาธิการพระราชวัง ราชเลขาธิการ สมาชิกราชสกุล และสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ และพสกนิกร เข้าเฝ้าฯ ทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีพสกนิกรใส่เสื้อสีเหลืองเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ร่วมใจเดินทางมาถวายพร เป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

ขณะเดียวกัน งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีพระราชคันตุกะจากประเทศที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ของรัฐบาลไทย เพื่อร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสนี้ อย่างเป็นทางการ จำนวน 25 ประเทศ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินี ที่จะเสด็จฯ มาด้วยพระองค์เอง เป็นจำนวน 13 ประเทศ นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก

ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทองบนพื้นสีน้ำเงินเจือทอง อันเป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะ หมายว่า เหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหาร ข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฏิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง เหล่านี้เปรียบด้วยเพชรอันชื่อว่ารัตนะ แวดล้อมประดับพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้นอันเหนือยิ่งกว่าเพชรอันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวงคือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราฎร์ ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุข เป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นกว่าปวงพระสกนิกรซึ่งต่างเชื้อศาสนาในพระราชอาณาจักรของพระองค์

อนึ่ง อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. นี้ ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎประพระอุณาโลม อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจสิริราชกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรีและพระแส้ขนหางจามรีทอดสอดอยู่ในกงพระที่นั่งภัทรบิฐ เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขามทอดสอดอยู่เบื้องขวาแห่งกงพระที่นั่งภัทรบิฐอันประดิษฐานบนฐานเขียง ซึ่งทอดฉลองพระบาทประดิษฐานอยู่ เหล่านี้รวมเรียกว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยสิ่งอันแสดงความเป็นกษัตริย์ทั้ง 5 คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ 1 พระแสงขรรค์ชัยศรี 1 ธารพระกร 1 พัดวาลวิชนีและพระแส้ 1 ฉลองพระบาท 1 หมายถึงปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ

ล่างลงมาเป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทองเขียนอักษรสีทอง ความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีพุทธศักราช 2549 ปลายแห่งแพรแถบผูกเป็นภาพกระบี่ เป็นวานรกายขาว มือถือก้านลายซุ้มอันเป็นกรอบลายของตราสัญลักษณ์ ฯ อยู่ด้านขวา

ส่วนด้านซ้ายปลายแพรแถบผูกเป็นภาพครุฑ เป็นครุฑหน้าขาวกายสีเสนปนทอง มือถือก้านลายกรอบแห่งตราสัญลักษณ์ ฯ พื้นภาพตราสัญลักษณ์ ฯ เฉลิมพระเกียรติทั้งหมดสีเขียวปนทอง อันหมายถึงสีสันอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงสีของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งผืนภูมิประเทศที่ทรงปกครองทำนุบำรุงอย่างหนักยิ่งมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริาชสมบัติมา ณ บัดนี้ถึงมหามงคลสมัยที่จะฉลองเฉลิมพระเกียรติในการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อันยาวนานที่สุดยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในพระราชพงศาวดารในสยามประเทศ