ถอดความจากนิตยสาร TIME ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2509
ในช่วงเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างของไทย (ในปี 2509) กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ความยากจน ความทุกข์ยาก ความไม่รู้หนังสือ การปกครองที่ล้มเหลว และการล่มสลายของความรู้สึกของการเป็นชาติ
แต่ประเทศไทยกลับโดดเด่นอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง ที่ชาติเพื่อนบ้านที่รายล้อมไทย กำลังเผชิญอยู่
เพราะไทยมีสิ่งที่หายากและมีค่า นั่นคือ เสถียรภาพทางการเมือง แต่สิ่งที่หายากยิ่งกว่า และมีค่ายิ่งไปกว่า และไทยก็มีเช่นกัน คือ ความรู้สึกที่คนไทยรู้สึกว่าตนเป็นคนไทย และเป็นของประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช
ถึงแม้ว่าอำนาจของกษัตริย์ไทยตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะสิ้นสุดลงด้วยฝีมือของทหาร จากการปฏิรูปการปกครองแผ่นปี 2475 และหลังจากนั้น ไทยก็มีผู้นำประเทศที่มาจากกองทัพหลายต่อหลายคน ซึ่งน่าจะทำให้กษัตริย์และทหารของไทย เป็นเหมือนขั้วอำนาจที่อยู่ตรงข้ามและขัดแย้งกัน
แต่พระมหากษัตริย์กษัตริย์ของไทยกลับทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ในการทรงประสานกับทหาร และสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจทั้งสองได้ในแบบของไทยเอง ซึ่งทำให้เกิดความราบรื่นในการปกครองประเทศของรัฐบาล
ความรู้สึกของการเป็นชาติของคนไทยนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใครติดต่อกันเกือบ 7 ศตวรรษ ซึ่งต่างจากชาติเพื่อนบ้านที่รายล้อมอยู่ แต่ที่สำคัญ เป็นเพราะการที่ไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ และฐานะของพระมหากษัตริย์ไทย ได้รับการตอกย้ำด้วยความเชื่อในเชิงเทววิทยาของศาสนาพุทธ ซึ่งยกย่องกษัตริย์เป็นสมมติเทพ และเชื่อว่า ทรงมีบุญญาธิการและพระบารมีเหลือล้น ที่สั่งสมมาแต่อดีตชาติ จึงทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนและสักการะบูชาของคนไทยทั้งปวง
ในยุคที่สถาบันกษัตริย์ในโลกนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว และพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ก็ได้ถูกลืมเลือนไป แต่ประเทศไทยกลับโชคดี และเป็นโชคดีของโลกเสรีด้วย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชของไทย ไม่ได้ทรงเพียงตั้งพระทัยที่จะทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีเท่านั้น หากแต่ยังทรงถือเป็นพระราชภาระ ที่จะทรงหล่อหลอมประเทศไทยขึ้นใหม่ ซึ่งไทยจัดเป็นประเทศที่เพิ่งจะเกิดใหม่ในสมัยนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งมีอายุยืนยาวมา 184 ปีแล้ว (เมื่อปี 2509) ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในโลก ที่ประสูติในสหรัฐ ที่โรงพยาบาล Cambridge มลรัฐ Massachusettes โดยทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปี 2470 ในขณะที่พระบรมราชชนก คือเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งเป็นพระยศในขณะนั้น ทรงศึกษาทางการแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Harvard
ชีวิตในวัยทรงพระเยาว์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ชีวิตในบรรยากาศของชานเมืองใน Brookline รัฐ Massachusetts หลังจากพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตในเวลา 2 ปีต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงนำพระราชโอรสธิดาทั้ง 3 พระองค์ เสด็จนิวัติประเทศไทย
แต่หลังจากเกิดการปฏิรูปการปกครองปี 2475 สมเด็จศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงอพยพพระราชโอรสและพระราชธิดา เสด็จฯ ออกห่างจากความไม่แน่นอนในประเทศไทย ไปประทับยังเมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเติบใหญ่และทรงศึกษาที่โรงเรียน Ecole Nouvelle de Chailly โดยทรงศึกษาทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน
ในปี 2488 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา ได้เสด็จกลับประเทศไทย เพื่อทรงรับสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ
แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต หลังจากทรงครองราชย์ได้เพียง 6 เดือน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงเป็นพระอนุชา และขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา ทั้งยังทรงเป็นน้องเล็กของครอบครัว ที่ยังทรงโปรดปรานความสนุกสนามตามประสาวัยรุ่น จึงกลับต้องทรงขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย สืบต่อจากพระเชษฐา
การที่ทรงใช้ชีวิตวัยรุ่นอยู่ในยุโรป ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดปรานดนตรีแจ๊ซ ภาพยนตร์เขย่าขวัญของ Hitchcock และทรงโปรดปรานความเร็วของการขับรถ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ บนถนนสายหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ และเกือบต้องสูญเสียพระเนตรข้างหนึ่ง
พระองค์เคยทรงศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์ในปี 2489 หลังจากเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อให้จบ แต่ได้ทรงเปลี่ยนสายจากวิทยาศาสตร์ไปเป็นกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ทรงละทิ้งสิ่งที่ทรงโปรดปราน อย่างเช่นการถ่ายภาพ ดนตรี และรถยนต์ ทรงสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ทั้งกลอง เครื่องเป่าและเปียโน และยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงเต้นรำ ทั้งในแบบเพลงสากลและเพลงไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ในขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุเพียง 14 ปี และพระบิดาทรงเป็นเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็โปรดปรานดนตรีเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อเสด็จฯ กลับไปยุโรปหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสานต่อความสัมพันธ์กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ผู้ทรงสิริโฉมงดงาม และทั้งสองพระองค์ทรงอภิเษกสมรสในเดือนเมษายนปี 2493 หนึ่งเดือนก่อนที่มีพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการ
การครองราชย์ในช่วงต้นรัชกาล ผ่านไปอย่างเงียบสงบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ต่างทรงโปรดการเขียนภาพ และภาพเขียนฝีพระหัตถ์บางภาพถูกอัญเชิญไปประดับในพระราชวังสวนจิตรลดา
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใช้เวลาในช่วงต้นรัชกาลนี้ ฝึกฝนทักษะการเล่นแซ็กโซโฟน และพระปรีชาสามารถในด้านการพระราชนิพนธ์เพลง ซึ่งทรงมีพรสวรรค์อยู่แล้ว จนถึงขั้นสมบูรณ์ที่สุด และเพลงพระราชนิพนธ์ Blue Night ได้ถูกอัญเชิญไปประกอบละคร Broadway เรื่อง Peep Show ของ Mike Todd ซึ่งแสดงในปี 2493
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี โดยทรงออกผนวชในปีที่ 10 ของรัชกาลของพระองค์ และทรงออกรับบิณฑบาตในตอนรุ่งสาง เช่นเดียวกับพระสงฆ์ทั่วไป
บททดสอบพระปรีชาสามารถในฐานะพระมหากษัตริย์ของไทยบทแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญ เกิดขึ้นในปี 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีท่าทีสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งทำให้จอมพลสฤษดิ์ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และท่านยังพบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแม้จะยังทรงพระเยาว์ แต่ทรงมีพระสติปัญญาและพระปรีชาสามารถ มากเกินกว่าที่จะทรงเป็นเพียงพระประมุขในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
เมื่อศาลโลกตัดสินให้เขาพระวิหารตกเป็นสิทธิ์ของกัมพูชา จอมพลสฤษดิ์มีทีท่าที่จะไม่ยอมส่งมอบเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า คำตัดสินของศาลโลกควรได้รับการเคารพ จอมพลสฤษดิ์ก็เชื่อฟังพระองค์แต่โดยดี
ในช่วงเวลาแห่งการปกครองประเทศไทยของจอมพลสฤษดิ์ ท่านได้ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้เจริญรุ่งเรือง และมีการจัดทำโครงการพัฒนามากมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งกำลังถูกภัยคอมมิวนิสต์คุกคามอย่างหนักในขณะนั้น
“ไทม์” ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์มีภรรยามากมาย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับทรงเคร่งครัดในแนวทางของการมีคู่เพียงคนเดียว และทรงมีสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะตรงข้ามกับจอมพลสฤษดิ์แล้ว ยังอาจนับได้ว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ สำหรับพระมหากษัตริย์ของไทย ซึ่งเคยทรงมีพระมเหสีและพระชายาหลายพระองค์ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นพุทศาสนิกชนที่ทรงประพฤติปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
ในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลสฤษดิ์ “ไทม์” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ต่างทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของคนไทย และทรงใช้โอกาสทุกโอกาสที่มี ในการแสดงพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศไทย เพื่อให้โลกได้รู้จักประเทศไทยและความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จฯ เปิดเขื่อนใหม่หรือทางหลวงสายใหม่ การที่ทรงเข้าร่วมในพระราชพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ หรือทรงรับการถวายช้างเผือก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทุกโอกาสเหล่านี้ ในการเน้นย้ำให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีอยู่อย่างล้นเหลือของไทย และเพื่อแสดงเห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยทั้งชาติ จึงไม่แปลกเลย ที่คนไทยทุกบ้านล้วนมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ไว้เทิดทูนบูชา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งในการสร้างชาติให้เป็นหนึ่งเดียว โดยทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารอันห่างไกลของประเทศไทยอยู่มิได้ขาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่โปรดทรงขับรถจี๊ปส่วนพระองค์ โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตามเสด็จฯ โดยทรงมีห่อพระกระยาหารกลางวันของทั้งสองพระองค์ อยู่ในกระเป๋าที่ทรงสะพายอยู่บนพระปฤษฎางค์
และในการเสด็จฯ ท้องถิ่นทุรกันดารเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรนี้ “ไทม์” รายงานว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ คงจะทรงเป็นสมเด็จพระราชินีผู้ทรงพระสิริโฉม เพียงไม่กี่พระองค์ในโลกนี้ ที่ทรงฉลองพระองค์อย่างง่ายๆ และทรงฉลองพระบาทรองเท้าผ้าใบยาง ได้อย่างสวยงามและน่ารัก โดยที่ยังทรงสามารถติดอยู่ในอันดับสตรีผู้แต่งกายดีเด่นของโลก อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ในการเสด็จฯ เยือนพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารครั้งหนึ่ง ทั้ง 2 พระองค์ต้องทรงพระดำเนินเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน เพื่อทรงนำอาหารและยาไปพระราชทานต่อชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ที่ปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก และมักตกเป็นเป้าหมายการครอบงำของคอมมิวนิสต์ แต่การเสด็จฯ เยือนราษฎรชาวไทยภูเขา ได้ทรงทำให้หัวหน้าเผ่าชาวเขาเหล่านั้น รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเทิดทูนเหรียญเงินพระราชทานเหรียญเล็กๆ ที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่าเป็นสิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด และรู้สึกภาคภูมิใจว่า ตัวเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง
ในยามว่างจากพระราชกรณียกิจที่แสนหนักหน่วงนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดงานอดิเรกที่หนักหน่วงไม่แพ้พระราชกรณียกิจ ทรงสร้างเรือใบขนาดยาว 13 ฟุต ซึ่งทรงแล่นมันไปทั่วอ่าวไทย โดยใช้เวลาถึง 16 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังทรงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมอเตอร์เรือด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงต่อเครื่องเฮลิคอปเตอร์ด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสว่า “ความแข็งแกร่งของไทยอยู่ที่ความรู้สึกรักชาติของคนไทย” และบรรดาผู้นำการเมืองของไทย (ในขณะนั้น) ก็ตระหนักแน่แก่ใจดีว่า พระมหากษัตริย์หนุ่มพระองค์นี้ เปรียบประดุจสมบัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทั้งของคนไทยและของประเทศไทย***
ข้อมูลจาก : นิตยสาร POSITIONING ฉบับเดือนธันวาคม 2549