รางวัลสดุดี เทิดพระเกียรติในหลวง

ระดับนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ต่างแสดงความรัก และเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ด้วยเหตุผลที่ได้เห็นถึงพระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยะภาพของพระองค์อย่างเด่นชัด

รางวัลที่ยังความปลาบปลื้มต่อคนไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ต้องระบุถึงรางวัลที่โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549

อันนันได้กล่าวไว้ว่าองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยผ่านรายงานของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ทั้งระดับโลกและระดับประเทศ ผ่านโครงการพัฒนาจาก 166 ประเทศ ดังนั้นการพัฒนาคนหมายถึงลำดับความสำคัญประชาชนเป็นอันดับแรก ไม่มีสิ่งอื่นใดอีกแล้วที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคน ภายใต้แนวทางการพัฒนาคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้จากพระปฐมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงอุทิศพระวรกาย และทรงงานมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อพัฒนาชีวิตให้ปวงชนชาวไทย โดยมิเลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา จึงทรงได้รับการขนานนามจากชาวโลกว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา”

ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ มีการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2549 ไคชิโร มาตสุอุรา เลขาธิการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า อยากใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครองสิริราชสมบัติ 60 ปี ซึ่งตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์ทรงสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นบนความหลากหลายเชื้อชาติศาสนาในประเทศ

ที่ประชุมยังได้ยกตัวอย่างของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์มีโครงการในพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ เพื่อให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นต้นแบบของพระมหากษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จในโลกปัจจุบัน

นอกเหนือจากนี้ผลงานประดิษฐ์ และพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ยังได้รับการสดุดี เทิดพระเกียรติจาก คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า (Brussels Eureka) โดย The Belgian Chamber of Inventors ซึ่งเป็นสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยุโรป ทูลเกล้าฯ รางวัลในปี 2543 และ 2544

ในปี 2544 ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัลจาก 3 โครงการ ตามที่สภาวิจัยแห่งชาติได้จัดแสดงผลงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ผลงานเรื่องทฤษฎีใหม่ (The New Theory) ผลงานเรื่องน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Formula) และผลงานเรื่องฝนหลวง (Royal Rain Making)

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลถึง 5 รางวัล คือ

1. รางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน

2. รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้แก่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม

3. รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการทฤษฎีใหม่

4. รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวง

5. ถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร มอบให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีใหม่ ปาล์มน้ำมัน ฝนหลวง และประกาศนียบัตร Honored Member of BACCI โดยเป็นรางวัลจาก Bulgarina American Chamber of Commercial and Industry (BACCI)

ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2543 สภาวิจัยแห่งชาติ ได้นำผลงาน “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ในพระองค์เข้าประกวดในสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม (Pollution Control – Environment) ปรากฏว่า ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการจัดงานว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำบัดน้ำเสีย ทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลรวมทั้งสิ้น 5 รางวัล คือ

1. เหรียญรางวัล Prix OMPI (Organisation Mondiale De La Propriete Intelietuelle) หรือรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก พร้อมประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 2,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

2. เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และประกาศนียบัตรเกียรตินิยมจากบรัสเซลส์ ยูเรก้า ประจำปี พ.ศ. 2543

3. ถ้วยรางวัล Grand Prix International (International Grand Prize) หรือรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด

4. ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น

และ 5.ถ้วยรางวัล Yugosiavia หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์

พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) เสนอ โดย กำหนดให้วันที่ 2 ก.พ. ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา และทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์

king

ข้อมูลจาก : นิตยสาร POSITIONING ฉบับเดือนธันวาคม 2549