ค่าเงินบาท จุดตายเศรษฐกิจไทย

สถิติมีไว้ให้ทำลาย แต่บางสถิติสำหรับบางอย่างหากถูกทำลายบ่อย ๆ อาจเกิดหายนะขึ้นมาได้ เหมือนอย่างที่เกิดกับภาวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น “จุดตาย” ที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยอาจต้องล่มสลายลง

วิกฤตการณ์ค่าเงินบาทครั้งนี้ จะเป็นเช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ นักธุรกิจทุกคนต้องรู้ เพื่อการเตรียมพร้อมขององค์กร สำหรับ “จุดยืน”ของธุรกิจ ที่ต้องรู้ทั้งภาพด้านลึก และระดับกว้าง ระดับเศรษฐกิจมหาภาค

ปัญหาค่าเงินบาทเริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2549 จนวันที่ 19 มีนาคม 2550 ที่ค่าเงินบาทเปิดตลาดแตะระดับ 34.82-34.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 9 ปีครึ่ง

การทำนิวไฮยังไม่หยุดยั้งในวันถัดมา จนมีการคาดการณ์ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าไปอยู่ที่ 32 บาท !!!! ในไม่ช้า

สาเหตุที่ “ค่าบาทแข็ง” ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เกิดขึ้นจากปัจจัยใด และมาตรการการเข้า “สกัด” ของแบงก์ชาติ มีมาตรการใดบ้าง แน่นอนมีมากกว่า 1 แต่เหตุใดจึงยังไม่ได้ผล สุดท้ายผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจาก “บาทแข็ง” ควรช่วยเหลือตัวเองรับมืออย่างไร POSITIONING มีคำตอบ

สาเหตุปั่น “บาทแข็ง”

“เงินบาท” ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ มีความหมายถึง “เงินบาท” เป็นที่ต้องการเหมือนสินค้าที่มีผู้ต้องการมาก ก็มักมีราคาสูงขึ้น ในที่นี้คือค่าเงินบาทมีราคาสูงขึ้น เปรียบเทียบได้ว่าจากเดิมที่ต่างชาติเคยใช้เงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกเงินบาทได้ถึง 40 บาท แต่ปัจจุบันต้องใช้มากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงจะแลกได้ 40 บาท

สาเหตุที่ทำให้ “เงินบาท” เป็นที่ต้องการมาก จนแข็งค่าขึ้นมี 5 ปัจจัยคือ

1. ความไม่สมดุลของภาวะเศรษฐกิจโลก (Global Imbalance)
สาเหตุหลักของความไม่สมดุลในปัจจุบัน มาจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัว คาดจีดีพีในปี 2007 จะอยู่ในระดับ 2% เท่านั้น อันเนื่องมาจากการบริโภคชะลอตัว และในด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ขาดดุลการคลัง ขาดดุลการค้า และส่งผลไปถึงดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลถึงเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คนเริ่มไม่มั่นใจในการถือครองเงินดอลลาร์ แม้จะไม่ขาย แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะถือเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียขยายตัวดี โดยเฉพาะจีน และอินเดีย นำมาสู่สาเหตุที่ 2 คือการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ

2. การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
ไม่ว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงตามภาวะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก หรือเพราะความจงใจของสหรัฐฯ เอง แต่ขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์ได้อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ

3. การเพิ่มขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จากยอดการส่งออก และดุลบริการที่เพิ่มขึ้น นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้นในตลาด เพราะเมื่อผู้ส่งออกรับรายได้มาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ต้องแลกกลับเป็นเงินบาท

4. การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ
ปัจจัยนี้ “ธาริษา วัฒนเกส” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เหตุผลว่าเพราะโลกปัจจุบันมีการเชื่อมโยงทางการเงินสูง และประเทศไทยเอง ก็เปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้สะดวก แต่เพราะเป็นประเทศเล็ก ระบบการเงินเริ่มพัฒนา โดยผู้ร่วมตลาดยังไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือทางการเงิน และป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน จึงเปราะบางต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่รวดเร็ว และมีจำนวนสูง

แหล่งที่เงินทุนต่างประเทศไหลเข้า หากเป็นเงินทุนเพื่อลงทุนขยายธุรกิจ หรือตั้งโรงงาน เมื่อเข้ามาแล้ว แลกเป็นบาทมาลงทุน เกิดโรงงาน เกิดการจ้างงาน จ่ายผลตอบแทน หมุนเวียนกลับไปยังผู้ลงทุนเป็นดอลลาร์ จะไม่เป็นปัญหา แต่ภาวะความเป็นจริงคือ อัตราการลงทุนของภาคเอกชนไม่สูงนัก โดยเติบโตไม่ถึง 10% จากเดิมที่เคยเติบโตเกิน 20% ต่อปี

ข้อมูลจากแบงก์ชาติที่เฝ้าจับตาการไหลข้าวของเงินทุนต่างชาติ ยังพบว่ามีการไหลเข้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 และเร่งตัวมากขึ้นในปี 2549 ส่วนหนึ่งเพื่อซื้อกิจการสื่อสารขนาดใหญ่ บางส่วนมาร่วมทุนกับเอกชนไทยและสถาบันการเงิน และที่แบงก์ชาติจับตามาตลอดคือไหลเข้าเพื่อการเก็งกำไร รวม 2 ปี ไหลเข้าถึง 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. การเก็งกำไร
การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติยังพุ่งไปยังตลาดหุ้น แม้ไม่คึกคักนัก แต่ก็มีส่วนทำให้เกิดการเก็งกำไร เพราะตลาดหุ้นไทยที่ไร้ปัจจัยบวก ทำให้เป้าหมายที่ต่างชาติที่เข้าซื้อสุทธินั้นมี เหตุผลหลัก คือซื้อหุ้นเพื่อนำเงินมาพักไว้ก่อน เมื่อเงินบาทแข็งในระดับหนึ่งแล้ว ก็ขายหุ้น และนำเงินบาทไปแลกเงินดอลลาร์ที่ได้จำนวนมากขึ้น เป็นการกินกำไรส่วนต่างอย่างชัดเจน

การเก็งกำไรจนทำให้บาทแข็งค่าขึ้นมีสัญญาณที่เห็นถึงความผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม 2549 ก่อนที่แบงก์ชาติประกาศมาตรการกันสำรอง 30% โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเป็นทิศทางเดียว (One-way Appreciation) เงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก และมีลักษณะเข้าออกเป็นรายวันในจำนวนที่ผิดปกติ

จากมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อจำกัดการถือครองเงินบาทในประเทศ ให้สามารถเคลื่อนไหวในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงหนึ่ง แต่กลับทำให้เกิดช่องทางการเก็งกำไรเพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างตลาด On Shore และ Off Shore แตกต่างกัน โดยค่าเงินบาทในตลาด Off Shore แข็งกว่าตลาด On Shore

ตลาด On Shore หมายถึงการซื้อขายเงินตราต่างประเทศแลกกับเงินบาท ระหว่างคนไทยด้วยกัน หรือระหว่างคนไทยกับต่างชาติ

ตลาด Off Shore หมายถึงการซื้อขายเงินตราต่างประเทศระหว่างคนต่างชาติด้วยกันเอง

แม้จะมีเกณฑ์กำหนดจำนวนเงินที่สามารถนำออกนอกประเทศได้ แต่ไม่มีใครมั่นใจได้ว่าไม่มีการลักลอบขนเงินออกนอกประเทศไทย หากทำสำเร็จ ณ เดือนมีนาคม อัตราแลกเปลี่ยนในตลาด Off Shore 1 ดอลลาร์เท่ากับ 32-33 บาท ขณะที่อัตรา On Shore อยู่ที่ประมาณ 34-35 บาท ส่วนต่างกำไรอยู่ที่ 1-2 บาทต่อดอลลาร์ (อ่านล้อมกรอบ)

ยิ่งสกัด “บาท” ยิ่งแข็ง

จาก 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ เงินบาทแข็ง ในลักษณะผันผวนในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แบงก์ชาติต้องหันมาตื่นตัวในการหามาตรการทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือนักบริหารของทางการต่างตระหนักดีว่าค่าบาทที่มีราคามากขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้มาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้น

สิ่งที่น่ากังวลคือ ไม่ว่าบาทจะอ่อนหรือแข็ง หากอยู่ในลักษณะผันผวนเกินไป ย่อมส่งสัญญาณร้ายต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 ที่ไทยถูกโจมตีค่าเงินบาท จนอ่อนค่าไปแตะเกือบ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

บาทแข็งในรอบนี้ “ธาริษา” ระบุชัดเจนว่า การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วไม่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยเปรียบเทียบค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึง 16.5% ในวันที่ 15 ธันวาคม 2549 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2548 หรือหากเทียบกับเดือนมีนาคม 2550 แข็งค่าขึ้นกว่า 17% ขณะที่เงินสกุลอื่นแข็งค่าไม่สูงเท่าบาท เช่น เงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้น 9.5% โดยจีดีพีของไทยเติบโตเพียง 4.7% เท่านั้น และที่เห็นชัดเจนคือการเก็งกำไรจนทำให้บาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่คำถามคือ ยิ่งแบงก์ชาติพยายามออกมาตรการ หรือใช้แผนปฏิบัติการอะไร ก็ดูเหมือน “บาท” จะยิ่งดื้อยา แข็งค่าให้เห็นมากขึ้น

เกาไม่ถูกที่คัน

มาตรการที่แบงก์ชาติงัดมาใช้ และเกิดปฏิกิริยารุนแรงคือมาตรการให้ผู้นำเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ต้องกันสำรองไว้ 30% จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “ยาแรง” เกินไป เพราะผลทันตาคือดัชนีตลาดหุ้นร่วงจากนักลงทุนเทขายโดยเฉพาะต่างชาติ จนดัชนีดิ่ง และมาร์เก็ตแค็ปหายไป 8 แสนล้านบาท ที่สำคัญยังทำให้เกิดช่องการเก็งกำไรระหว่างตลาด Off Shore และ On Shore มากขึ้น จนกลายเป็นปมปัญหาที่ยิ่งรัดแน่นอยู่จนถึงทุกวันนี้

มาตรการกันสำรอง 30% ไม่ใช่ความพยายามแรกของแบงก์ชาติในการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้บาทไม่ผันผวน แต่ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ออกแรงเข้าแทรกแซง โดยลงทุนไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องในระบบ และโดยเฉพาะการนำเงินเข้าไปซื้อดอลลาร์ในตลาด เพื่อให้ดอลลาร์ในประเทศลดลง เนื่องมาจากความต้องการคนไม่มั่นใจในการถือดอลลาร์

จนปรากฏให้เห็นในฐานะการเงินของแบงก์ชาติว่ามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่มีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงของโลก โดยเงินทุนสำรองของไทย ณ 30 ธันวาคม 2547 อยู่ที่ 49,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจนถึง 16 มีนาคม 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 69,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การแทรกแซงเริ่มไม่ได้ผล โดย ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าหากมองจากมาตรการแทรกแซงที่แบงก์ชาติทำมาตลอดนั้น ถือว่าทำมานานเกินไป ซึ่งความจริงเงินบาทต้องอ่อนค่าลงบ้าง แต่กลับมีสิ่งผิดปกติคือแข็งค่าขึ้นแบบผันผวนเกินไป ซึ่งตามหลักแล้วไม่ว่าค่าเงินอ่อนหรือแข็งจะต้องไม่เร็วหรือผันผวนจนเกินไป การแทรกแซงลักษณะนี้ทำให้นักเก็งกำไรสามารถคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่แบงก์ชาติต้องการได้

มาตรการลดดอกเบี้ย เพื่อหวังกระตุ้นการลงทุน และลดแรงจูงใจของเงินทุนไหลเข้าที่จะมาเก็งกำไรจากดอกเบี้ย โดยมีเสียงเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติ ที่จะประชุมกันในเดือนเมษายนนี้ ลดแรงไปถึง 1% นั้น อาจได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น แต่ กนง.คงตัดสินไม่ง่ายนัก เพราะปัจจัยราคาน้ำมัน ที่อาจส่งผลถึงเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และพื้นฐานความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของไทยยังเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติต้องคำนึงถึง

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติยังได้เขียนบทความเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของแบงก์ชาติว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเล็ก พบว่าการขึ้นดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ย ในทางปฎิบัติอาจไม่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป เพราะส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยมีส่วนที่เป็น Risk Premium, แต่ละประเทศมีความเข้มข้นในการเข้าแทรกแซงค่าเงินต่างกัน และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศ

“แบงก์พาณิชย์” ต้องสงสัย ?

ความพยายามของแบงก์ชาติเริ่มชัดเจน และมองหาต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง เล็งไปที่ธนาคารพาณิชย์ ที่นิ่งเฉยมาโดยตลอดกับภาวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น

“แบงก์ชาติยอมรับว่า มีธนาคารพาณิชย์มีพฤติกรรมการหาประโยชน์จากค่าเงินบาท จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมธนาคารไทย ให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลกันเอง รวมทั้งขอข้อมูลการรายงานการถือครองเงินตราต่างประเทศ”

คำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมชัดเจนของธนาคารพาณิชย์ที่ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับบาทที่แข็งค่าขึ้น หลังต้องสงสัยว่าทำกำไรจากค่าเงินไปแล้วจำนวนมาก

นอกจากการให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลกันเองแล้ว การเรียกนายธนาคารมาหารือที่แบงก์ชาติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับการตอกย้ำว่าแบงก์ชาติขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทย ไม่ให้ร่วมมือในการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการเทขายเงินดอลลาร์ด้วย โดยให้ธนาคารพาณิชย์รายงานสถานะการดำรงเงินตราต่างประเทศต่อแบงก์ชาติอย่างตรงเวลา และรายงานอย่างต่อเนื่อง

จากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 ที่เลขาธิการ สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือลับเฉพาะถึงธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือในการดูแลค่าเงินบาท ใจความว่า เนื่องด้วย ธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับการดำรงสถานะการดำรงเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งให้เท่ากับวันที่ 1 มกราคม 2550 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 มีนาคม 2550 และขอให้รายงานสถานะการดำรงเงินตราต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 22-27 มีนาคมนี้ ขึ้นตรงกับผู้ว่าการธนาคารธปท.ในวันถัดไป

ปรับตัวรับมือ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับค่าเงินบาทที่มีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้ส่งออก และผู้รับรายได้ ค่าจ้างเป็นเงินดอลลาร์ แต่ก็มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือผู้นำเข้าที่ซื้อในต้นทุนถูกลง สำหรับผู้ได้รับผลกระทบเพราะเงินดอลลาร์ที่ได้รับมาแล้ว เมื่อแปลงกลับเป็นเงินบาทได้รับเงินน้อยลง จึงเกิดคำถามในกลุ่มผู้ส่งออกว่าควรปรับตัว และหาทางป้องกันต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร นอกเหนือจากการเรียกร้องให้รัฐเข้าแทรกแซงค่าเงินเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ว่าค่าเงินกลับมาอ่อนตัวลง แต่เมื่ออ่อนได้ก็แข็งค่าขึ้นได้อีก การรับมือเพื่อให้เกิดเสถียรภาพกับฐานะการเงินของตัวเองจึงน่าจะเป็นมาตรการที่ดีที่สุด

มาตรการเฉพาะหน้า คือการทำป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถือว่าคุ้มค่ากว่า, ตกลงกับคู่ค้าในการกำหนดราคาที่ชัดเจน และการกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินสกุลอื่น ที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกควรเริ่มวางแผนการทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุน การหาตลาดใหม่ การเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน

มาตรการเหล่านี้ถูกเรียกร้องจากทางการให้ผู้ส่งออกปรับนำมาใช้มาโดยตลอด แต่ไม่บรรลุผล เพราะเห็นได้จากเมื่อค่าบาทแข็งอย่างรวดเร็ว ผู้ส่งออกก็เริ่มเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือหามาตรการแก้ไข จนมีการระบุกันว่าหากค่าบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องหลุดไปอยู่ที่ 32-33 บาท จะมีบริษัทปิดกิจการมากมาย ส่งผลให้คนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทเรียนจากค่าเงินบาท ไม่ว่าจะค่าเงินบาทอ่อน หรือค่าเงินแข็งอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน น่าจะเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่ง และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวในภาคธุรกิจไทยอีกครั้ง ก่อนที่จะสายเกินไปสำหรับเศรษฐกิจประเทศไทย

นโยบายการเงินของไทยแบ่งเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรก (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2-มิถุนายน 2540 )
การผูกค่าเงินบาทกับค่าเงินสกุลอื่นหรือกับตะกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate) ช่วงแรกผูกค่าเงินไว้กับสกุลอื่นหรือทองคำ ต่อมาช่วงพฤศจิกายน 2527-มิถุนายน 2540 ผูกค่าเงินบาทกับตะกร้าเงิน

ภายใต้ระบบตะกร้าเงิน ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Equalization Fund : EEF) จะเป็นผู้ประกาศและปกป้องค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในแต่ละวัน สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ มุ่งเน้นให้ปัจจัยภายในประเทศสอดคล้องกับการกำหนดค่าเงิน ภายใต้ระบบดังกล่าวเป็นสำคัญ

ช่วงที่สอง (กรกฎาคม 2540-พฤษภาคม 2543)
การกำหนดเป้าหมายทางการเงิน (Monetary Targeting) หลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 นั้น ประเทศไทยขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(International Monetary Fund : IMF) และกำหนด Policy Anchor แบบใหม่ คือ Monetary Targeting ซึ่งกำหนดเป้าหมายทางการเงิน อิงกับกรอบการจัดทำโปรแกรมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และเม็ดเงินจากภาคต่างประเทศ หรือ ดุลการชำระเงิน และให้ได้ภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและระดับราคาตามที่กำหนดไว้ (Ultimate Objectives) ทำให้แบงก์ชาติสามารถกำหนดเป้าหมายฐานเงินรายไตรมาสและรายวัน เพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารสภาพคล่องรายวัน เพื่อปรับสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงิน มิให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวนจนเกินไป

ช่วงที่สาม (23 พฤษภาคม 2543-ปัจจุบัน)
การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) แบงก์ชาติได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ในระบบการเงิน ทั้งปัจจุบันและในอนาคตแล้วเห็นว่า การใช้ปริมาณเงินเป็นเป้าหมายจะมีประสิทธิผลน้อยกว่าการใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ การที่ระบบการเงินในประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชน รวมทั้งความสามารถของระบบการเงิน ในการขยายสินเชื่อในแต่ละช่วงมีความไม่แน่นอน แบงก์ชาติจึงเปลี่ยนมาใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันแทน

การดำเนินนโยบายการเงิน ในกรอบ Inflation Targeting นั้น แบงก์ชาติดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน โดยอาศัยอำนาจผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชุดแรกขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2543 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 9 ท่าน ในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ตลอดจนพัฒนากรอบ Inflation Targeting ให้ เหมาะสมกับประเทศไทย

*หมายเหตุ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการแบงก์ชาติยืนยันข่าวลือที่ว่าแบงก์ชาติยืนยันว่าไม่มีนโยบายตรึงค่าเงินบาทที่ 36 บาทดอลลาร์สหรัฐ (Fixed Exchange Rate) หรือกำหนดช่วงความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท (กึ่งลอยตัว) โดยระบุว่า ธปท.ไม่มีแนวคิดจะเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือการกำหนดช่วงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของไทย เพราะการผูกติดค่าเงินกับสกุลใดสกุลหนึ่งจะส่งผลทำให้ต้องผูกติดดอกเบี้ยไว้ด้วย และไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยไปตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

“แบงก์ชาติไม่เคยมีการศึกษาที่จะกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเป็นระบบที่ใช้กันเป็นการทั่วไปเกือบทั้งโลก หากกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ก็เท่ากับเป็นการประกันราคาสินค้า ณ จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ที่จะเกิดวิกฤติมาก ยกตัวอย่างการผูกติดค่าเงินไว้กับดอลลาร์ภายใต้ Currency Board เช่นเดียวกับฮ่องกง จะทำให้ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยไปตามสหรัฐฯ และจะต้องปรับราคาไปด้วย