ชีวิตสับสน เศรษฐกิจดิ่ง ฉุดจิตตก

“วันนี้ออกจากบ้านไปแล้ว ขอให้กลับเข้าบ้านอย่างแคล้วคลาดปลอดภัย…”
“วันนี้วันที่ 1 ขอให้ลูกถูกหวยด้วยเจ้าค่า โอมเพี้ยง…”
“ขอให้ขายดี ขายคล่อง ลูกค้าเข้าร้านเยอะๆ ด้วยเถอะ…”
หรือแม้แต่
“ขอให้เจอเนื้อคู่ซะทีเถิดดด…”

และอีกมากมายหลายคำอธิษฐานที่ถูกวอนขอจากผู้คน รวมทั้งเรา และท่าน… หรือคุณจะปฏิเสธว่าไม่เคยอธิษฐาน…

แม้คำขอเหล่านี้จะมีมานานและตลอดเวลา แต่สังเกตได้ชัดเจนว่ายุคนี้ได้ยินดัง และถี่มากยิ่งขึ้น

สาเหตุหลักที่พบจากการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีความสุขลดลง เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่นำไปสู่ความสับสนในนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อการกิน การอยู่ของผู้คน กระทั่งนำไปสู่ความตกต่ำของสังคมเกิดอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ และรุนแรงมากขึ้น ความสุขสบายไม่เป็นอย่างที่หลายคนคาดหวังหนัก โดยเฉพาะชนชั้นระดับล่างจนถึงระดับกลาง

การเมืองไร้เสถียรภาพ

หากมองไปที่ปัจจัยแรกอย่างเรื่องของการเมืองนั้น ความคาดหวังที่การเมืองควรจะนิ่ง เพื่อให้ระบบการเมืองเดินต่อไปได้ตามครรลองประชาธิปไตย กลับไม่เป็นเช่นนั้น การเมืองภายใต้การบริหารของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยการสนับสนุนเต็มที่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. กำลังเผชิญปัจจัยมากมายที่ก่อกวนเสถียรภาพสั่นคลอนตลอดเวลา โดยเฉพาะสถานการณ์ทางภาคใต้ที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง และระเบิดที่เคยบึ้มกลางกรุงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 คืนส่งท้ายปี ยังคงเป็นฝันร้าย และเป็นเชื้อที่ยังคงถูกเพาะกลายเป็นคำเตือนตลอดเวลาว่าอาจมีบอมบ์เกิดขึ้นได้อีกในช่วงเทศกาลสำคัญๆ หรือแม้แต่ธรรมชาติที่ลงโทษคนไทยมากยิ่งขึ้น

เรียกได้ว่านอกจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์มีภาระที่ต้องบริหารประเทศให้พ้นวิกฤตแล้ว ยังมีภาระต้องจัดการกับกลุ่มเครือข่ายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่คงส่งคลื่นแทรกมาเป็นระยะๆ รวมไปถึงต้องพิสูจน์เหตุผลเรื่องการคอรัปชั่นของรัฐบาลชุดที่แล้วเพื่อให้การรัฐประหารสมเหตุสมผล และยังต้องสนับสนุนกระบวนการส่งคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศโดยเร็ว ผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

ขณะที่มีเรื่องราวมากมายให้เร่งดำเนินการ แต่ผลที่ออกมา คือความไม่ทันใจ เชื่องช้า จนยิ่งนานวันคะแนนนิยมของรัฐบาลขิงแก่ยิ่งลดลง

ความเชื่องช้าไม่ทันใจยังส่งผลให้เห็นถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ อันเกี่ยวข้องกับปากท้องของชาวบ้านโดยตรง

เศรษฐกิจทรุด

ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มส่อเค้าถึงปัญหา เริ่มมาตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ราคาน้ำมันอันเป็นพลังงานและทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ของโลกถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างราคาน้ำมันเบนซินที่ใช้เติมรถยนต์จากลิตรละประมาณ 15 บาท มาจนปัจจุบันเกือบ 30 บาท เช่นเดียวกับราคาดีเซล ที่เป็นทั้งทุนของโรงงานอุตสาหกรรม และการขนส่งที่สูงขึ้นเท่าตัว แม้การส่งออกเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20% หรือโครงการเอื้ออาทรต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ก็ไม่อาจชดเชยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่วัดจากตัวเลขจีดีพีกระเตื้องขึ้น

เมื่อสถานการณ์การเมืองเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น ด้วยปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลชุดที่แล้ว กับจริยธรรมของผู้นำ คนไทยเริ่มแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง ทำให้การบริโภคของผู้คนชะลอตัว แม้การรัฐประหารจะช่วยเคลียร์สถานการณ์ให้ชัดเจนระดับหนึ่ง แต่การยึดอำนาจโดยไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ทำให้สังคมโลกไม่ยอมรับ ต่างชาติถอนทุนไปบางส่วน ปัญหายิ่งรุมเร้าเมื่อมีระเบิด และปัญหาภาคใต้ยิ่งทำให้การลงทุนชะลอตัว

พิษบาทแข็ง

วงจรของเศรษฐกิจขาลงมาถึงชัดเจน เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะการบริโภคในสหรัฐอเมริกาไม่กระเตื้อง สัญญาณชัดเจนเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง ขณะที่เงินสกุลอื่นแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก สูงกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ทำให้เสียเปรียบในการค้าระหว่างประเทศ หากเทียบกับช่วงเดือนกันยายน 2006 จนถึงมีนาคม 2007 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปแล้วเกือบ 20%

แม้จะมีผู้ได้เปรียบจากการแข็งค่าของเงินบาท เช่น ผู้นำเข้า หรือต่างชาติที่ควรจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น แต่เมื่อการบริโภคในประเทศไม่กระเตื้อง การลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆ ชะลอตัว นักลงทุนไม่กล้ามาท่องเที่ยว เพราะไม่มั่นใจในความมั่นคงของประเทศ ความได้เปรียบนี้จึงไม่มีประโยชน์เท่าไหร่นัก ขณะที่ผู้เสียเปรียบโดยเฉพาะผู้ส่งออกได้รับผลกระทบมากกว่า

แม้ทางการโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะพยายามแก้ปัญหาออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนยิ่งพยายามยิ่งล้มเหลว บทพิสูจน์เห็นได้จากมาตรการบังคับผู้นำเงินเข้าจากต่างชาติต้องกันสำรอง 30% ก่อนสิ้นปี 2006 จนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลงต่ำสุดขีด มูลค่าตลาดหายไปกว่า 8 แสนล้านบาท หรือการนำเงิน 1 ล้านล้านบาทของแบงก์ชาติแทรกแซงไม่ให้ค่าบาทแข็งจนเกินไป ก็กลับยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย

ไม่เพียงนโยบายทางการเงินที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์แล้ว การเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนรถไฟฟ้าเมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ลาออกกะทันหันมาเป็นฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนสับสนมากยิ่งขึ้น

เมื่อบรรยากาศไม่มีความแน่นอน ไม่เอื้อต่อการลงทุน การอยู่นิ่งเฉย ไม่ขยายธุรกิจ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้

แต่การเลือกชะลอลงทุน ชะลอการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ในที่สุดได้ส่งผลต่อคนทั่วไป ลูกจ้าง แรงงาน หลายแห่งเริ่มปิดกิจการ หรือเริ่มลดจำนวนพนักงาน หาเครื่องจักรแทนแรงงานเพื่อลดต้นทุน ผู้คนเริ่มเกิดความไม่แน่นอนในอาชีพ และอนาคตของตัวเอง หรือแม้ว่าหลายคนจะเลือกลงทุนเป็นเจ้าของกิจการเอง แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังไว้

คำอธิษฐาน เครื่องรางของขลัง และความศรัทธา คือหนทางหนึ่งที่ช่วยทรงความหวังไว้ได้ นี่คือปรากฏการณ์อันนำไปสู่ช่องว่างทางการตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อมากมาย

ภาวะเศรษฐกิจมหภาค
———————————————————————————————————–
รายการ 2005 2006 2007
———————————————————————————————————

อัตราเติบโตกับคู่ค้า 11 ประเทศ ( % ปีต่อปี) 3.5 4.5 3.7
ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) 49.0 61.5 56.0
อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ดอลลาร์) 40.3 38.0 36.0
งบประมาณภาครัฐ (บาท) 1.24 ล้านล้าน 1.39 ล้านล้าน 1.49 ล้านล้าน
จีดีพี (% ปีต่อปี) 4.5 5.0 4.2
อัตราการบริโภคแท้จริง (% ปีต่อปี) 5.5 3.2 4.4
อัตราการลงทุน (% ปีต่อปี) 11.1 4.0 5.3
การส่งออก (% ปีต่อปี) 4.3 8.5 6.9
การนำเข้า (% ปีต่อปี) 9.3 1.6 8.4
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์) -8.5 2.2 2.2
ดุลบัญชีเดินสะพัด -7.9 3.2 2.6
(พันล้านดอลลาร์)
เงินเฟ้อ 4.5 4.7 2.8

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ณ กุมภาพันธ์ 2550

ดัชนีวัดความสุขของประเทศต่างๆ
———————————————————————–
ประเทศ อันดับ คะแนน
วานัวตู 1 68.2
โคลัมเบีย 2 67.2
เวียดนาม 12 61.2
ภูฎาน 13 61.1
จีน 31 56.0
ไทย 32 55.4
อินเดีย 62 48.7
ญี่ปุ่น 95 41.7
อังกฤษ 108 40.3
อเมริกา 150 28.8

จัดลำดับโดยองค์กรจัดทำดัชนีวัดความสุข (www.happy planet index.org ) คำนวณจากผลสำรวจระดับความพอใจของชีวิต x ความคาดหวังในชีวิต หารด้วยระดับของความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่ และสิ่งแวดล้อม

ดัชนีชี้วัดคนไทยจนลง
รายการ สิงหาคม 20006 มกราคม 20007
ยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคล (คัน) 14,272 11,059
ยอดขายรถจักรยานยนต์ (คัน) 163,502 140,325
ยอดขายรถรวมทุกประเภท 39,383 27,580
ยอดสร้างบ้าน/อาคารใหม่ (พันตรม.) 1,585.2 1,283.1 (ธ.ค.20007)
จำนวนโรงงานใหม่ 124 54
(ได้รับอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรม)
มูลค่าการลงทุน (ล้านบาท) 26,762.0 3,408.8
คอนโดมีเนียมจดทะเบียนใหม่(ยูนิต) 3,067 472
ผู้มีงานทำทั่วประเทศ(ล้านคน) 36.682 35.470
ผู้ว่างงาน 509,000 590,000
ที่มา : รวบรวมจากธนาคารแห่งประเทศไทย