ดีแทค – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 10 Jan 2025 01:10:56 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ซิกเว่ เบรกเก้ Come Back ประเทศไทย คุม ‘กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือ CP’ มีผล 1 มี.ค. เป็นต้นไป https://positioningmag.com/1505884 Thu, 09 Jan 2025 07:44:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1505884 ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ หรือ ‘เครือ CP’ ประกาศแต่งตั้ง ‘ซิกเว่ เบรกเก้’ (Sigve Brekke) ให้ดำรงตำแหน่ง ‘ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือ CP รับผิดชอบการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตรงกับ ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยจะมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2568

 

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือ CP เปิดเผยว่า การเข้ามาของซิกเว่ เบรกเก้ครั้งนี้ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเครือ CP ซึ่งมั่นใจในวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของซิกเว่ที่จะพาเครือ CP สู่การเป็น Technology Company ชั้นนำระดับโลก พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

 

สำหรับบทบาทและความรับผิดชอบของซิกเว่ จะครอบคลุมถึงการดูแลรับผิดชอบธุรกิจที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีโทรคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจด้านการเงินดิจิทัล เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ซิกเว่ เบรกเก้ เคยดำรงตำแหน่ง ‘ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร’ ของเทเลนอร์กรุ๊ปเป็นเวลา 9 ปี จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2024 ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่ง ‘รองประธานบริหารและหัวหน้าภูมิภาคเอเชีย’ รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ‘ดีแทคในประเทศไทย’ และเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทต่าง ๆ หลายแห่งในกลุ่มเทเลนอร์ ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการของ GSMA ตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2024

 

ที่มา : เว็บไซต์ We are CP

]]>
1505884
‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ยังไม่ฟันอนาคตยุบเหลือ ‘แบรนด์เดียว’ ย้ำ 3 ปีนี้ ‘ทรู-ดีแทค’ ยังต้องแข่งหาลูกค้า https://positioningmag.com/1421654 Thu, 02 Mar 2023 11:34:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1421654 เริ่มสตาร์ทวันที่ 1 มีนาคม สำหรับ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ ที่เกิดจากการควบรวมของ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ ซึ่งนับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ (Market Capitalization) ที่รวมกันถึงประมาณ 2.94 แสนล้านบาท แล้วหลังจากควบรวมขุมพลังของ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีอะไร ลูกค้าจะได้อะไรเพิ่มเติม ไปหาคำตอบกัน

โรมมิ่งคลื่น แต่ไม่รวมคลื่น

แม้ทรู-ดีแทค จะควบรวมกัน แต่การรวม คลื่นความถี่ เป็นสิ่งที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ย้ำว่า ห้ามรวมกันเด็ดขาด ดังนั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงเปิดบริการโรมมิ่งข้ามเครือข่ายในชื่อสัญญาณ ‘dtac-true’ และ ‘true-dtac’ โดยลูกค้าทั้ง 2 ค่ายที่รวมกันกว่า 55 ล้านราย (ทรู 33.8 ล.) (ดีแทค 21.2 ล.) จะใช้งานได้ ผ่านการเปิดโรมมิ่งข้อมูล โดยจะครอบคลุม 77 จังหวัดภายในกลางเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ในปี 2569 อีกด้วย

ทั้งนี้ หลังการควบรวม ทรู คอร์ปอเรชั่น มีคลื่นความถี่ทั้งหมด ได้แก่

  • ย่านความถี่ต่ำ ได้แก่ 700 MHz, 850 MHz และ 900 MHz ที่มีความสามารถในการทะลุทะลวง ครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง
  • ย่านความถี่กลาง 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz 2600 MHz
  • ย่านความถี่สูง 26 GHz สำหรับใช้งานในภาคธุรกิจ

ใช้ชื่อทรูเพราะฉายภาพนวัตกรรมชัดกว่า

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ เมื่อควบรวมกัน ทำไมชื่อบริษัทกลับมีแต่ทรู โดย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า เนื่องจากแบรนด์ทรูมีโปรดักส์ด้านดิจิทัลที่ครอบคลุมกว่า เช่น เรื่องของคอนเทนต์ ดังนั้น บริษัทใหม่ที่ต้องการสื่อสารว่าเป็นบริษัท โทรคมนาคม-เทคโนโลยี จึงเลือกใช้ชื่อของทรู

“บริษัทใหม่จะได้ประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) ทั้งด้านการลงทุนและรายได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เครือข่ายไอที การจัดซื้อ การขาย การตลาด ช่องทางการค้าปลีก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยจะนำสู่สมดุลความเสมอภาคและความเท่าเทียมในการแข่งขัน และจะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดของลูกค้า

ยังไม่ฟันอนาคตเหลือแบรนด์เดียว

ฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด กล่าวว่า ตามกฎของกสทช. ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อรวมกิจการแล้วต้องคงแบรนด์ไว้ 3 ปี ทำให้แบรนด์ทรู-ดีแทคยังคงอยู่ในตลาด ลูกค้าทั้งสองไม่ต้องเปลี่ยนซิมการ์ด สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง แพ็กเกจและอายุการใช้งานยังเหมือนเดิม รวมถึงช่องทางติดต่อหรือศูนย์บริการก็ยังใช้ของค่ายเดิมได้เลย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่เคาะว่าในอีก 3 ปีจากนี้จะไปในทิศทางไหน จะรวมเป็นแบรนด์เดียว หรือ สร้างเป็นแบรนด์หลัก-แบรนด์รอง ซึ่งทั้ง 2 โมเดลก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน แต่ปัจจุบันการทำตลาดของ 2 แบรนด์ยังต้องทำคู่ขนานกันไป ยังต้องแข่งขันในการหาลูกค้าตามปกติ ขณะที่พนักงานก็ยังทำงานแยกกัน ดีแทคยังทำงานที่จามจุรี ส่วนพนักงานทรูยังอยู่ที่ตึกทรู

“เรากำลังศึกษาอยู่ว่าจะรวมเป็นแบรนด์เดียวหรือสร้างเป็นแบรนด์หลัก-แบรนด์รองเหมือนโตโยต้ากับเลกซัส”

ทั้งนี้ แม้แบรนด์จะแยกกันทำ แต่สิ่งที่ลูกค้าทั้ง 2 ค่ายจะได้เพิ่มเติมคือ สิทธิประโยชน์ที่รวมกัน เช่น ดีแทคจะสามารถเข้าถึงบริการคอนเทนต์ของทรู หรือลูกค้าทรูจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากแบรนด์พันธมิตรของดีแทคได้ โดยหลังจากควบรวม ทางบริษัทได้เพิ่ม Better Together Gifts ได้แก่ ดูฟรี บอล หนัง และคอนเทนต์ระดับโลก นาน 30 วัน ผ่านแอปฯ ทรูไอดี, เน็ตฟรี 10GB นาน 7 วัน ทั้งเติมเงิน และรายเดือน และดื่มฟรี 1 ล้านแก้ว เลือกรับฟรี All Cafe, KOI The, DAKASI วันที่ 10 และ 24 มี.ค. ให้กับลูกค้าทั้ง 2 ค่าย

วาง 7 กลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กร

  1. ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง (Be the Undisputed Network and Digital Infrastructure Leader ) – การผสานศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทใหม่ ทั้งโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์มาตรฐานสากล ระบบคลาวด์ การต่อยอดนวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆ เพื่อคนไทย ทั้ง IoT, AI Analytic, Machine Learning, Cyber Security ที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนวิถีดิจิทัล (Digital Transformation) ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
  2. เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก (Champion Growth Beyond the Core) – มุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชัน รวมถึงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน (Digital Inclusion) สร้างประสบการณ์ใหม่ไร้รอยต่อให้กับลูกค้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมสนับสนุนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้น
  3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย (Set the Bar for Customer Experience in Thailand) – ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการวิเคราะห์ เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น ทั้งการนำเสนอสินค้าบริการ การมอบสิทธิพิเศษ ตลอดจนช่องทางการเข้าถึง O2O ผ่านการผนึกพลังทั้งออฟไลน์ในเครือทั่วประเทศและออนไลน์แบบ 24 ชม.
  4. เติมเต็มชีวิตอัจฉริยะยิ่งขึ้นเพื่อทุกสไตล์ลูกค้าชาวไทย (Enhance Smart Life for Customers) – ทรู คอร์ปอเรชั่น จะส่งมอบประสบการณ์ชีวิตอัจฉริยะเพื่อคนไทย ยกระดับวิถีชีวิต และไลฟ์สไตล์ทั้งความสะดวกสบาย การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า
  5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร (Raise Standards for Enterprise Customers) – บริษัทใหม่จะเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจทั้งลูกค้า SME ธุรกิจองค์กรและภาคอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics และ Blockchain พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สู่การพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครอบคลุมทุกมิติ
  6. สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน (Build the Best Place to Work) – บริษัทใหม่จะเป็นองค์กรแนวหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ดึงดูดคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก
  7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว (ESG Best in class: Sustainable Organization to Create Long Term Value) – มุ่งเน้นการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาร่วมสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับทุกชีวิต นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

เราตั้งเป้าจะก้าวไปเป็นหนึ่งในองค์กรนายจ้างที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราได้เพิ่มสวัสดิการให้เท่าเทียมทุกเพศ รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+”

]]>
1421654
สนับสนุน “ความเท่าเทียม” อย่างไรไม่ให้เป็นแค่การตลาด ศึกษาจาก แสนสิริ-ยูนิลีเวอร์-ดีแทค องค์กรต้นแบบ UNDP https://positioningmag.com/1387741 Mon, 06 Jun 2022 04:06:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387741 ถ้าองค์กรเอกชนสักแห่งลุกขึ้นมาออกนโยบายด้าน “ความเท่าเทียม” ทั้งทางเพศ ชาติ ศาสนา ฐานะ ผลกระทบจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในสังคม เพราะเอกชนเกี่ยวพันกับทั้งพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าตลอดซัพพลายเชน เอกชนจะเป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้ UNDP เลือกจัดพันธกิจส่งเสริมการสร้างนโยบายความเท่าเทียมผ่านองค์กรเอกชน และคัดเลือก 3 องค์กรต้นแบบในไทย ได้แก่ แสนสิริ, ยูนิลีเวอร์ และ ดีแทค เพื่อร่วมมือกันส่งแรงบันดาลใจและแนวทางปฏิบัติให้องค์กรอื่นๆ

“ประเทศไทยนั้นมีความอดทนอดกลั้นต่อ LGBTQ+ แต่ไม่ใช่การโอบรับความหลากหลายนั้นเข้ามา” เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) กล่าวโดยสรุป

ความหมายของเขาคือประเทศไทยมีความอดทนต่อ LGBTQ+ เพศที่สามไม่ต้องหวั่นกลัวอันตรายต่อชีวิตหากเปิดเผยตัวตน แต่ที่ทางในสังคมยังมีส่วนที่ปิดกั้นไม่ให้เข้าถึง บางอาชีพยังไม่ต้อนรับ LGBTQ+ แม้กระทั่งเพศหญิงเอง ประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้บริหารหญิงในองค์กรเอกชนที่มากกว่าหลายประเทศในโลก แต่ในวงการการเมืองการปกครองระดับสูงนั้นมีผู้หญิงอยู่น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่เป็นปัญหาในประเทศ

“ไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศ เราเปิดกว้างกว่าคนอื่น แต่ยังมีจุดที่พัฒนาได้อีก” เมแยร์กล่าว

 

3 องค์กรต้นแบบทำอะไรเพื่อ “ความเท่าเทียม” ?

เพื่อให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว UNDP มองเห็นความสำคัญของการผลักดันผ่านองค์กรเอกชน โดยมีการจัด Roundtable Discussion รวมองค์กรเอกชนและภาครัฐมาพูดคุยเพื่อศึกษาแนวนโยบายและการปฏิบัติด้านความเท่าเทียม เพื่อให้ UNDP ได้รวบรวมองค์ความรู้ เป็นแกนกลางเครือข่ายในการให้คำปรึกษาองค์กรที่ต้องการจะสร้างความเท่าเทียมในอนาคต

UNDP ความเท่าเทียม แสนสิริ ยูนิลีเวอร์ ดีแทค
(จากซ้าย) ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, ณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย, เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP)

โอกาสนี้ UNDP คัดเลือก 3 องค์กรต้นแบบความเท่าเทียมขึ้นมาเพื่อจะเป็น ‘พี่ใหญ่’ ที่ให้คำแนะนำองค์กรอื่นได้ ได้แก่ แสนสิริ, ยูนิลีเวอร์ และ ดีแทค ด้วยนโยบายองค์กรที่ปฏิบัติจริงและได้ผลจริง ไม่ใช่การ ‘Pinkwashing’ หรือสนับสนุน LGBTQ+ เพื่อประโยชน์ทางการตลาดเท่านั้น

“แสนสิริ”

เป็นองค์กรสัญชาติไทยแห่งแรกที่ร่วมลงนามในสัญญา UN Global Standards of Conduct for Business ของ UNDP สัญญานี้คือสัญญาว่าองค์กรจะปฏิบัติต่อพนักงาน LGBTQ+ อย่างเท่าเทียม ให้สวัสดิการที่เท่าเทียมกัน เช่น ลาเพื่อจัดสมรสกับคู่ชีวิต, ลาฌาปนกิจคู่ชีวิต, ลาเพื่อดูแลคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรม และยังสามารถลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศได้ 30 วันต่อปี รวมถึงสิทธิที่บริษัทให้แก่คู่สมรส คู่ชีวิต LGBTQ+ จะได้รับด้วย เช่น วัคซีนทางเลือก ประกันสุขภาพ

ในแง่ของสินค้า แสนสิริเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ซึ่งลูกค้ามักจะมีการกู้สินเชื่อบ้าน บริษัทจึงพบปัญหาอย่างหนึ่งว่า คู่ชีวิต LGBTQ+ จะไม่สามารถกู้ร่วมกันได้เพราะไม่มีทะเบียนสมรสและไม่ถูกยอมรับว่าเป็นคู่ชีวิตทางพฤตินัย แสนสิริจึงเข้าพบกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเพื่อเจรจาขอให้ลูกค้า LGBTQ+ ที่เป็นคู่ชีวิตกัน พิสูจน์ได้ สามารถกู้ร่วมได้เป็นกรณีพิเศษ การเจรจาเหล่านั้นสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

แสนสิริช่วยเจรจาสินเชื่อบ้านให้ลูกค้าคู่ชีวิต LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมกันได้
“ยูนิลีเวอร์”

บริษัทผลิตสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อบริษัทใหญ่ขยับ จะมีผลกับลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ยูนิลีเวอร์มีนโยบายการให้ความเท่าเทียมในหลายด้าน เช่น การสร้างความหลากหลายในโฆษณา ใช้คนธรรมดาหรือคนที่มีความแตกต่างให้มากขึ้น, สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในที่ทำงาน เพื่อให้ LGBTQ+ สามารถแสดงตัวตนได้โดยไม่รู้สึกหวาดกลัวและไม่มีผลกระทบต่อการทำงานหรือการเลื่อนขั้น, ตั้งเป้าเพิ่มการจ้างงานผู้พิการให้มีสัดส่วน 5% ภายในปี 2568 เป็นต้น

ยูนิลีเวอร์ ความเท่าเทียม
โฆษณาของ Sunsilk ที่พูดถึง LGBTQ+ มาตั้งแต่ปี 2562
“ดีแทค”

บริษัทในเครือเทเลนอร์ กรุ๊ป เนื่องจากเป็นบริษัทโทรคมนาคม ทำให้ดีแทคจะให้ความสำคัญกับการกระจายการเข้าถึงโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียมในทุกกลุ่ม ทำให้จะดูแลกลุ่มที่ต้องการการดูแล เช่น โครงการ ‘ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน’ ช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โครงการ Safe Internet ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันออนไลน์ ป้องกันไซเบอร์บูลลี่ให้กับกลุ่มเยาวชน ให้ความรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่ผู้สูงวัย

ส่วนการจัดการภายในองค์กรของดีแทคก็มีนโยบาย ‘Zero-Tolerance’ ต่อการกีดกันด้วยเพศ ชาติ ศาสนา และมีสวัสดิการสำหรับ LGBTQ+ สามารถลาผ่าตัดแปลงเพศได้ และผู้หญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 6 เดือนต่อปี เพื่อให้ผู้หญิงไม่ต้องเลือกระหว่างชีวิตการงานหรือครอบครัวเมื่อวางแผนมีบุตร

ดีแทค ความเท่าเทียมนั่นคือรากฐานที่แต่ละบริษัททำมาตลอดหลายปี แต่ล่าสุดหลังจากร่วม Roundtable กับ UNDP ทำให้แต่ละบริษัทสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ และมีการประกาศจุดยืนร่วมกัน สร้างโครงการขยายผลเพื่อทำร่วมกันในประเด็นความเท่าเทียมต่อไป เช่น แนวคิดการสนับสนุนซัพพลายเออร์ในซัพพลายเชนที่เป็นบริษัทของ LGBTQ+ แต่ปัญหาคือยังไม่เคยมีใครจัดทำลิสต์บริษัทที่บริหารโดย LGBTQ+ มาก่อน ซึ่งทำให้ทุกบริษัทจะร่วมมือกันเพื่อรวบรวมฐานข้อมูลดังกล่าว

 

รู้ว่าเป้าคือ “ความเท่าเทียม” แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

แสนสิริมีพนักงานกว่า 4,000 คน ยูนิลีเวอร์มีกว่า 5,000 คน และดีแทคอีก 6,000 คน ผลกระทบที่เกิดจากสามบริษัทนี้สูงมาก แต่จะเปลี่ยนสังคมได้มากกว่านี้เมื่อบริษัทอื่นๆ มีนโยบายความเท่าเทียม ลงไปถึงบริษัทในระดับ SMEs

“จากที่ได้พูดคุยมา บริษัท SMEs จะบอกว่าอุปสรรคหลักของเขาคือ ‘เงินทุน’ ทำให้เขาไม่พร้อมจะให้สวัสดิการคนทุกกลุ่มเสมอภาคกันหมด แต่จริงๆ แล้วบางอย่างสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เงิน เป็นเรื่องที่เริ่มจากทัศนคติของผู้บริหาร สร้างการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมในชีวิตประจำวัน เพราะเรื่องแบบนี้เป็น top-down ผู้บริหารต้องแสดงให้เห็นก่อนว่าสนับสนุนการแสดงตัวตน ไม่มีการแบ่งแยกรังเกียจ หรือการโปรโมตเลื่อนขั้นก็โปร่งใสว่าไม่ใช้เรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง” ณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าว

“สังคมภายนอกอาจจะยังตัดสินตัวตนของเขา แต่ที่ยูนิลีเวอร์เราไม่ตัดสิน อย่างล่าสุดเรามีผู้บริหาร LGBTQ+ ของไทยที่ได้รับการเลื่อนขั้นไปในระดับโกลบอลแล้ว เห็นได้ว่าเพศไม่มีผลต่อความก้าวหน้า”

Photo : Shutterstock

เรอโน เมแยร์ จาก UNDP กล่าวว่า ทุกวันนี้องค์กรในไทยตระหนักรู้ถึงเรื่อง “ความเท่าเทียม” แล้ว แต่สังคมยังสงสัยว่าการตั้งเป้าต่างๆ จะเป็นแค่การพูด “บลา-บลา-บลา” แต่ไม่มีการลงมือทำหรือเปล่า ซึ่ง UNDP เชื่อว่าส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่ดี เพียงแต่ไม่มีประสบการณ์ว่าต้องทำอย่างไรมากกว่า ทำให้ดูเหมือนเป็นการ Pinkwashing อยู่บ่อยครั้ง

“ถ้าทำเรื่องความเท่าเทียมแล้วรายได้เพิ่มในลักษณะเป็นผลพลอยได้ แบบนี้โอเค แต่ถ้าทำเพื่อหาผลประโยชน์เป็นแค่การตลาดเท่านั้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง” เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริม

“ถ้าทำเรื่องความเท่าเทียมแล้วรายได้เพิ่มในลักษณะเป็นผลพลอยได้ แบบนี้โอเค แต่ถ้าทำเพื่อหาผลประโยชน์เป็นแค่การตลาดเท่านั้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง”

— เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

เมแยร์อธิบายว่า เมื่อปัญหาขององค์กรที่กำลังพยายามสร้างนโยบายความเท่าเทียมคือการไม่มีคู่มือ ไม่มีประสบการณ์ UNDP จึงเข้ามาเป็นสะพานเชื่อมให้องค์กรเหล่านี้ได้คุยกับองค์กรต้นแบบ เพื่อจะให้เห็นว่าการจัดการภายในเริ่มต้นได้จากตรงไหน เช่น การรับสมัครงานที่ไม่กีดกันทางเพศ, วิธีคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความเท่าเทียม ต้องคิดให้ถึงต้นตอที่ช่วยแก้ปัญหาได้จริง ไม่ใช่การตลาด หรือการคิดให้ครบทั้งซัพพลายเชนเพื่อพาซัพพลายเออร์มาเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

บนเวทีการพูดคุยครั้งนี้ยังมองเห็นประเด็นความเท่าเทียมที่ยังต้องพัฒนาในมิติอื่นอีก เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างรายได้ของประชาชน เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่ต้องคิดหาวิธีปฏิบัติ และการระดมสมองจากหลายๆ องค์กรจะทำให้ไปด้วยกันได้เร็วกว่าเดิม

]]>
1387741
จับตาความ Beyond ของ ‘ดีแทค’ เมื่อแอปใหม่ใช้ได้ทุกค่าย ลูกค้า ‘ค่ายอื่น’ จะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง? https://positioningmag.com/1378471 Fri, 25 Mar 2022 10:00:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1378471

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมดีแทคแอป ถึงเปิดให้ทุกค่ายใช้ได้? แล้วกลยุทธ์นี้จะช่วยให้ดีแทคแข่งขันหรือเพิ่มลูกค้าได้อย่างไร และมันสะท้อนอะไรในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่กำลังจะเปลี่ยนไป

หากพูดถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหรือเหล่าโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายหลักของคนไทยเราจะนึกถึงจำนวนคลื่นในมือ, โปรโมชั่น, การบริการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แน่นอนว่าทั้ง 3 ค่ายก็ไม่มีใครยอมใครเพื่อจะรักษาฐานลูกค้าของตัวเองให้อยู่ในมือนานที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าการจะหา ‘ลูกค้าใหม่’ ในตอนนี้แทบจะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะแค่จำนวนเบอร์ที่เปิดในตลาดก็มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศไปแล้ว

ในขณะที่ลูกค้าเปิดเบอร์ใหม่หายาก ทำให้เห็นว่าตลาดโทรคมนาคมในตอนนี้กำลังก้าวไปอยู่ในจุดที่ ยังเติบโตได้แต่น้อย แน่นอนว่าทุกค่ายก็พยายามที่จะหารายได้ใหม่ ๆ อย่างเช่นการทำ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือไปจับมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง แต่จะมีเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ที่เป็นค่ายตัวเองเท่านั้นที่ดูได้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกวิธีที่จะดึงลูกค้าใหม่เข้าค่ายไปในตัว

สำหรับดีแทคได้เลือกที่จะหันมาพัฒนา ดีแทคแอป ไม่เพียงเพื่อให้เป็นอีกทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท แต่ยังเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน และต่อยอดเป้าหมายการเติบโตด้านดิจิทัลด้วย จากตอนแรกดีแทคแอปนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าใช้บริการทำธุรกรรมพื้นฐาน อาทิ ชำระค่าบริการรายเดือน เติมเงิน รับสิทธิ์ดีแทครีวอร์ด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับดิจิทัลมากขึ้น จนทำให้ลูกค้าคุ้นเคยกับการใช้งานธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น และความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่ม ดังจะเห็นได้ว่าลูกค้ากลุ่ม ดังจะเห็นได้ว่าลูกค้ากลุ่มเติมเงินใช้งานแอปดีแทคเพิ่มขึ้น 3 เท่า และเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 124% ในกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด

ในเมื่อบริษัทมีฐานลูกค้า 20 ล้านราย แม้ตอนนี้จะยังไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่ใช้แอป แต่โอกาสที่จะเข้าใช้งานมากขึ้นก็มี ดังนั้น ดีแทคก็เดินเกมต่อไปโดยการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มากกว่าโทรคมนาคม เพื่อตอบสนองการใช้งานดิจิทัลที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการร่วมมือกับ พันธมิตร ที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ ต่อยอดสู่บริการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม

อย่าง ดีแทค ดีชัวรันส์ บริการประกันออนไลน์ ที่ร่วมกับพันธมิตรประกัน 11 ราย เพื่อคัดสรรกรมธรรม์ที่คุ้มค่าและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่สุด หรือล่าสุด บริการ dtac Safe สำหรับปกป้องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยการร่วมมือกับ Cyan ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มาตรฐานยุโรป นอกจากนี้ก็มีบริการอย่าง Gaming Nation จุดหมายปลายทางเพื่อคอเกมที่รวบรวมดีลเติมเกมดี ๆ พร้อมไอเทมเกมสุดเอ็กคลูซีฟ และบริการ และ Pay via dtac ให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ ได้ผ่านระบบโอเปอเรเตอร์บิลลิ่ง สะดวก ครบจบในที่เดียว

หากพิจารณากลยุทธ์ดังกล่าวถือว่า Win-Win-Win ทั้ง 3 ฝ่าย ดีแทคเองได้ต่อยอดทรัพยากรที่มี และสามารถนำไปสู่การสร้างรายได้ใหม่ ๆ สำหรับพาร์ทเนอร์ก็สามารถขายบริการได้โดยไม่ต้องไปเหนื่อยหาลูกค้าเอง และสำหรับลูกค้าดีแทคและแม้ไม่ใช่ดีแทคเอง ก็ได้ใช้บริการที่อาจกำลังมองหา แต่ยกระดับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริการประกัน ที่ในไทยมีผู้ให้บริการหลายรายมาก กว่าจะหาข้อมูลครบแต่ละรายคงจะหมดความอดทนก่อน ซึ่งบริการดีแทค ดีชัวรันส์ ก็เข้าใจปัญหานี้จึงทำให้หาง่ายและเปรียบเทียบบริการแต่ละประกันให้เสร็จ แถมยังจ่ายผ่านบิลดีแทค และทำธุรกรรมทั้งหมดนี้บนดีแทคแอปที่เดียวจบ ทั้งสะดวกทั้งปลอดภัย

ถ้าดูจากตัวเลขในช่วง 2 เดือนที่บริการดีแทค ดีชัวรันส์ให้บริการก็พบว่ามีผู้เข้าชมมากกว่า 2.5 ล้านครั้ง และที่สำคัญคือ  25% ไม่ใช่ลูกค้าดีแทคด้วยซ้ำ จากตัวเลขก็แสดงให้เห็นแล้วว่า โอกาสไม่ได้อยู่แค่ลูกค้าในค่ายอีกต่อไป ดีแทคเลยอัพเกรด ดีแทคแอปเวอร์ชันใหม่ ให้สามารถ ใช้ได้ทุกค่าย พร้อมกับรองรับการใช้งาน 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ พม่า และกัมพูชา เพื่อเปิดรับโอกาสให้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงประชากรไทยอีก 50 ล้านคน ที่อาจจะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าดีแทคในอนาคต

หากดูจากผลลัพธ์ในการเดินกลยุทธ์ Fast forward digital ที่ดีแทคจะมุ่งสู่บริการที่ ‘มากกว่าโทรคมนาคม’ โดยให้บริการดิจิทัลแบบไม่จำกัดค่าย อาจพูดได้ว่า มาถูกทาง เพราะสามารถดึงลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 7 แสนราย มีผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านคน ซึ่งถ้าหากดีแทคยังเดิมกลยุทธ์แบบเดิม ๆ มุ่งเน้นแต่ในด้านโทรคมนาคม ผลลัพธ์อาจไม่เป็นอย่างที่เห็นก็เป็นได้

ก็ต้องมารอดูกันว่าปีนี้ ดีแทคจะมีบริการใหม่ ๆ อะไรเพิ่มเข้ามาอีกบ้าง และจะไปถึงเป้าที่วางไว้ว่าต้องการเพิ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการดิจิทัล 10 ล้านคนต่อเดือน และมียอดลูกค้าใหม่ผ่านดิจิทัลมากกว่า 5 เท่า ได้ไหม แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ดีแทคแอปไม่ได้มีไว้เพื่อลูกค้าดีแทคอีกต่อไป แต่มีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทยทุกคน

]]>
1378471
ชำแหละดีลควบรวม ‘ทรู’-‘ดีแทค’ ผูกขาดหรือไม่ เสี่ยงแค่ไหน และ ‘ผู้บริโภค’ ได้หรือเสียมากกว่ากัน https://positioningmag.com/1374729 Mon, 21 Feb 2022 12:15:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374729 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา บอร์ดทรู-ดีแทค ไฟเขียวควบรวมกิจการ เคาะตั้งบริษัทใหม่เข้าตลาดหุ้น พร้อมถอนหุ้น TRUE และ DTAC ออกจากตลาด โดยทาง สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานเสวนา เรื่อง ‘ดีล True – Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค’ เพื่อสะท้อนหากเกิดการควบรวมจริงถือเป็นการ ‘ผูกขาด’ หรือไม่ และ ผู้บริโภค’ ได้หรือเสียมากกว่ากัน

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ผูกขาดชัดเจน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประโยชน์ของการควบรวมบริษัทมีอยู่ 2 ประการ คือ ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ประหยัดต้นทุนมากขึ้น ผู้บริโภคมีโอกาสได้ของดีราคาถูก อีกมุมคือ เพิ่มอำนาจการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคอาจเสียผลประโยชน์ ดังนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ต้องชั่งน้ำหนักของ 2 ข้อนี้

“ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา องค์กรที่กำกับดูแลจะพิจารณาจาก ผลกระทบต่อผู้บริโภคเท่านั้น ว่าการควบรวมก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียกับผู้บริโภคมากกว่ากัน ถ้าเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงก็จะ ห้ามการควบรวม แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นร้ายแรงก็จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม”

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สำหรับการควบรวมของ ทรู-ดีแทค นั้นส่งผลดีหรือผลเสียให้ผู้บริโภคในทางเศรษฐศาสตร์นั้นพิจารณาจาก ผู้ประกอบการรายที่เหลือ (เอไอเอส) มีท่าทีอย่างไร ถ้ามีการ คัดค้าน หน่วยงานกำกับดูแลควรอนุญาตให้ควบรวม แต่ถ้า ไม่คัดค้านหรือสนับสนุน ควร ห้ามการควบรวม กรณีนี้ไม่มีใครคัดค้าน เพราะจะทำให้ตลาดกระจุกตัวเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์

หลักฐานที่ชัดเจนคือ ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทเพิ่มขึ้น แม้ว่าเอไอเอสไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมก็ตาม นอกจากนี้ การควบรวมทรู-ดีแทค ยังถือว่าเป็นการผูกขาดในระดับ อันตรายมาก ดังนั้น จึงไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม

“ทุกอย่างชี้ว่าการควบรวมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่เป็นผลเสียกับผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องดีลกับผู้ประกอบการที่จะเหลืออยู่ 2 รายในตลาด ไม่ว่าจะเป็นดีลเลอร์ที่เหลือแค่ 2 ทางเลือก ผู้พัฒนานวัตกรรมหรือสตาร์ทอัพก็มีทางเลือกน้อยลง จะเห็นว่าทุกฝ่ายแย่ลงหมดยกเว้นผู้ประกอบการ ดังนั้น ควรระงับไม่ให้เกิดการควบรวม”

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า การควบรวมกิจการ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน เพราะเมื่อทางเลือกลดลงย่อมส่งผลต่อราคา อีกทั้งยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล สิทธิในด้านกิจการโทรคมนาคมก็จะลดลงตามไปด้วย ดังนั้น หวังว่าบอร์ดใหม่กสทช. จะพิจารณาให้ถี่ถ้วน

“จากงานวิจัยในอังกฤษพบว่า เมื่อผู้เล่นลดลงจาก 4 เหลือ 3 ราย ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นถึง 20% ดังนั้นจาก 3 เหลือ 2 ย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.

กฎหมายใหม่กสทช. มีช่องว่าง

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ทั้งทรู-ดีแทคออกมาประกาศว่า “อยู่ระหว่างการหารือเรื่องควบรวม” แต่กลับมีการเรียนอัตราการแลกหุ้นอย่างชัดเจน แสดงว่าทั้ง 2 บริษัทได้คำนวณเรื่องการควบรวมไว้แล้วแสดงว่า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน มีการเจรจากัน ก่อนที่จะมีการประกาศการควบรวม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 บริษัทตั้งใจจะควบรวมกิจการ ลึกที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ไม่ว่าจะมีการควบรวมหรือไม่นั้น กสทช. เป็นองค์กรที่ต้องออกมากำกับดูแลหากเห็นพฤติกรรมที่ส่องเค้าที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ดังนั้น กสทช. ไม่ควรรีรอบอร์ดกสทช. ชุดใหม่ ควรจะวางกระบวนการตั้งแต่วันแรกที่มีการประกาศควบรวม ต้องเรียกขอดูข้อมูล และอีกปัญหาคือ ประกาศกสทช. ฉบับปี 2561 มีช่องว่างก่อให้เกิดความเสี่ยงในการควบรวมเมื่อเทียบกับประกาศของปี 2553 จากเดิมจะ ต้องมาขออนุญาตก่อน แต่ประกาศฉบับปี 61 แค่รายงานให้ทราบ

“เห็นชัดเจนว่าถ้าจาก 3 เหลือ 2 การแข่งขันน้อยลงอย่างแน่นอน ดังนั้น ถ้าปล่อยให้ทั้ง 2 บริษัทเดินหน้าควบรวมโดยที่ไม่มีหน่วยงานไหนเลยเข้ามากำกับก็จะนำไปสู่ภาวะการผูกขาดหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่ก่อนที่การควบรวมจะสิ้นสุดด้วยซ้ำ เพราะแค่เจรจาก็สุ่มเสี่ยงแล้ว”

กสทช. รับต้องรอบอร์ดใหม่พิจารณา

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช ยอมรับว่า ตั้งแต่มีข่าวการควบรวม กสทช. ได้เรียกผู้ประกอบการมาชี้แจงบ้าง รวมถึงได้ประสานงานกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) แต่ช่วง 3 เดือนที่มีข่าว ทางกสทช. ไม่เคยนำเสนอเรื่องการควบรวมให้เป็นวาระการประชุมเลย เพิ่งมี 2 ครั้งหลังสุดที่มีการรายงานด้วยวาจา โดยไม่มีเอกสารวาระก่อนปิดประชุมทั้ง 2 ครั้ง

ดังนั้น กรรมการกสทช. จึงไม่มีเวลาถกแถลง หรือ หารือว่าจะทำอย่างไรต่อ และเป็นปัญหาที่ตัวข้อเท็จจริงยังอยู่ในชั้นสำนักงานทั้งหมด ซึ่งปัญหาที่เกิดถือเป็น จุดอ่อนของการบริหารของสำนักงานกสทช. อีกปัญหาคือ ตัวกฎหมายผู้ร่างคือสำนักงานกสทช. ซึ่งประกาศฉบับแก้ไขการรวมกิจการปี 61 ก็ร่างโดยสำนักงานกสทช. ซึ่งส่วนตัวนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายปี 53 มีความเสี่ยงในการควบรวมได้ทันที

“หลายคนไม่เอะใจเลยว่า กฎหมายปี 61 เป็นแค่การรายงานให้ทราบ แต่ไม่มีอำนาจในการพิจารณา ถือเป็นประกาศที่อำนวยความสะดวกให้ธุรกิจไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบในการควบรวม ดังนั้น ตรงนี้ตรงไปตรงมามาก และผมไม่ได้เห็นด้วย”

อีกปัญหาสำคัญคือ การควบรวมมาในช่วงคาบเกี่ยวการแต่งตั้ง กสทช. ชุดใหม่ ซึ่งทางกรรมการชุดปัจจุบันไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติเรื่องการควบรวม ดังนั้น เมื่อมีการเสนอคำขอควบรวม จึงทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อหากบอร์ดทั้ง 2 ชุดเห็นไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ ขณะที่การควบรวมคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 65

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องการควบรวมจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากมาประกอบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ไม่เช่นนั้นจะเกิดการลำเอียงในการพิจารณาในภายหลัง ผู้ที่ขอยื่นอาจขอค้านทางปกครองในภายหลังว่าเราไม่มีความเป็นกลาง ดังนั้น โดยหลักแล้วทำให้กสทช. ต้องรอข้อมูลผลการศึกษาให้ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันข้อถกเถียงเรื่องผลดีผลเสียจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ยังเป็นแค่การพยากรณ์ทั้งสิ้น เพราะยังไม่เกิด แต่ถ้าปล่อยให้ควบรวมก็จะสายเกิดไปในการรับมือ

และทางกสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยมีการประสานงานกับ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยได้หารือว่าจะรับมืออย่างไร นอกจากนี้ คณะสภาผู้แทนราษฎรณ์ก็มีการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทางกสทช. ก็ได้หารือกันทุกสัปดาห์ มีการศึกษาผลระยะยาวสภาพตลาด ภายหลังจากการควบรวม เบื้องต้นพยายามรวมประเด็นเพื่อทำการวิเคราะห์ในทุกด้าน

“โดยสรุปแล้ว กสทช. ยังไม่ได้ฟันว่าจะไม่ให้ควบรวม หรือให้ควบรวม แต่ต้องปกป้องประโยชน์ต่อประชาชน และต้องคำนึงถึงมาตรการในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น สิ่งที่เป็นไปได้คือ ถ้าจะพิจารณาเรื่องนี้ต้องวิเคราะห์โครงสร้างตลาดที่เหมาะสมในประเทศไทย มีมาตรการเชิงโครงสร้าง และสิ่งสำคัญต้องติดตามผลกระทบจากการควบรวมจริง ๆ”

แนะ 3 ข้อ ป้องกันผูกขาด

ดร. สมเกียรติ ได้เสนอ 3 แนวทาง สำหรับป้องกันการผูกขาดที่จะเกิดจากการควบรวมทรู-ดีแทค ดังนี้

  1. ไม่อนุญาตให้ควบรวม : โดยหากดีแทคต้องการจะเลิกกิจการในประเทศไทย ควรให้ขายกิจการกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรู
  2. ควบรวมได้ แต่ต้องคืนคลื่น : อนุญาตให้ควบรวมได้แต่ต้องคืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือเหมือนเดิม
  3. ควบรวมได้แต่ต้องส่งเสริมให้เกิด MVNO หรือผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายฯ ของตัวเอง : ทางเลือกนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่มีความเหมาะสม เนื่องจาก MVNO ไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลยากมาก ดังนั้น ควรป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะเป็นเรื่องที่ยากมาก

สุดท้าย ผศ.ดร. กมลวรรณ จิรวิศิษฏ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะยังไม่ควบรวมแต่การมีการ แบ่งปันข้อมูล อาจนำไปมาซึ่งการ ไม่แข่งขัน เพราะอาจมีการ ฮั้ว กันเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เรื่องนี้หน่วยงานกำกับดูแลต้องนำมาพิจารณาด้วย

]]>
1374729
‘อีริคสัน’ มองในปี 68 คนไทยใช้ 5G เกิน 50% พร้อมประเมินควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ตลาดยิ่งแข่งสูง https://positioningmag.com/1364923 Wed, 01 Dec 2021 14:05:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364923 รายงานเชิงลึกระดับโลกของอีริคสัน (NASDAQ: ERIC) เปิดเผยว่าตั้งแต่อีริคสันจัดทำและเผยแพร่รายงาน Ericsson Mobility Report ครั้งแรกในปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีปริมาณ การใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นเกือบ 300 เท่า โดยในรายงานฉบับครบรอบสิบปีนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับเครือข่ายมือถือทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์ไปจนถึงปี 2570

ผู้ใช้ 5G ทั่วโลกแตะ 660 ล้านบัญชีในสิ้นปี

จากการคาดการณ์ที่ระบุว่า ยอดผู้ใช้บริการ 5G จะสูงแตะ 660 ล้านบัญชีภายในสิ้นปีนี้ เป็นการตอกย้ำสมมติฐานที่ว่า 5G เป็นเจเนอเรชั่นเครือข่ายไร้สายที่มีการนำมาใช้งานรวดเร็วที่สุด โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอุปกรณ์ 5G ที่ลดลง อีริคสันยังพบว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ทั่วโลกมียอดผู้ใช้ 5G มีจำนวนเพิ่มขึ้นสุทธิที่ 98 ล้านบัญชี เทียบกับผู้สมัครใช้ 4G รายใหม่ที่ 48 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ยังคาดว่าเครือข่าย 5G จะครอบคลุมผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ล่าสุดที่ระบุว่าภายในปี 2570 เครือข่าย 5G จะกลายเป็นเครือข่ายหลักของโลกเพื่อใช้เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ  ซึ่ง ณ เวลานี้ผู้ใช้ 5G มีสัดส่วนประมาณ 50% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมดทั่วโลก โดยครอบคลุมประชากรโลกถึง 75% และคิดเป็น 62% ของปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนทั่วโลก

ดีไวซ์มีจำนวนมากในราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2554 การนำเครือข่าย 4G LTE มาใช้งานได้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่เพิ่มยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกพุ่งเป็น 5.5 พันล้านคน และเกิดอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 4G ขึ้นในตลาดมากกว่า 20,000 รุ่น ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าวงจรเทคโนโลยีของอุปกรณ์ 5G นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่า ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือ 5G คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมือถือทั้งหมดทั่วโลก เทียบกับโทรศัพท์มือถือ 4G ที่มีเพียง 8% ณ จุดเดียวกัน

สิ่งนี้กระตุ้นให้การใช้ปริมาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากพิจารณาการเติบโตแบบปีต่อปี จะพบว่าปริมาณการใช้เน็ตมือถือ ณ ไตรมาส 3 ปี 64 เติบโตที่ 42% หรือประมาณ 78 เอกซะไบต์ (EB) ซึ่งนับรวมปริมาณอินเทอร์เน็ตจากบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตไร้สาย (Fixed Wireless Network) นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการใช้เน็ตมือถือในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีปริมาณเทียบเท่าปริมาณเน็ตที่เคยมีมาทั้งหมดจนถึงปี 2559 ซึ่งจากการคาดการณ์ล่าสุดยังเผยว่าในปี 2570 จะมีการใช้เน็ตมือถือเพิ่มขึ้นสูงถึง 370 เอกซะไบต์ (EB)

ไทยเป็นผู้นำ 5G เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดผู้ใช้มือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มเป็น 1.1 พันล้านราย โดยมียอดผู้สมัครใช้บริการ 5G สูงแตะ 15 ล้านราย และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยคาดว่าในปี 2570 จะมียอดผู้ใช้ 5G ถึง 560 ล้านราย

นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะมีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในโลก แตะ 46 กิกะไบต์ (GB) ต่อเดือน ภายในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้งหมดที่เติบโตต่อปีที่ 39% ส่งผลให้มียอดการใช้เน็ตต่อเดือนสูงถึง 46 เอกซะไบต์ (EB) เป็นผลมาจากจำนวนผู้สมัครใช้บริการ 4G และ 5G ที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่เปิดให้บริการ 5G

สำหรับประเทศไทย คือ หนึ่งในประเทศที่มีประชากรใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก โดยมีการประเมินว่าภายในปี 2568 การใช้งานจะคิดเป็น 50% ส่วน 4G จะมีการใช้งานประมาณ 40% นอกจากนี้ ไทยคือหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค โดยมีธุรกิจที่มีศักยภาพจำนวนมากที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความทันสมัย ดังนั้น อุตสาหกรรมการผลิต, ยานยนต์ และเฮลท์แคร์ จะเป็นอุตสาหกรรมที่นำ 5G มาใช้โดยเฉพาะในเรื่องของออโตเมชั่นและการแพทย์ทางไกล ซึ่งการใช้งาน 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การใช้งาน 5G ไทยเป็นช่วงเออรี่สเตจ ตอนนี้โอเปอเรเตอร์มองไปที่โคเวอเรจพื้นที่ใช้งานเป็นหลัก ขณะที่ผู้ใช้ในปัจจุบันมีประมาณ 3 ล้านราย ดังนั้นมองว่า โอเปอเรเตอร์ควรไปเน้นที่ คุณภาพ มากกว่าโคเวอเรจด้านพื้นที่เพื่อให้คนมาใช้ 5G เนื่องจากปัจจุบัน สิ่งที่ขับเคลื่อนการใช้งานคือ คอนเทนต์ และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือ แพ็กเกจใหม่ ๆ ในราคาที่จับต้องได้

“ตลาดไทยแอคทีฟมาก และ 5G ก็ไปเร็วกว่าที่อื่น ถือเป็นผู้นำด้วยซ้ำ แต่จะทำอย่างไรให้ประสบการณ์ 5G ดีกว่านี้ และผลักดันให้ผู้บริโภคมาใช้มากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคไทยมีการใช้งานหลากหลายและคาดหวังกบบริการสูง ดังนั้น ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้” อิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยกล่าว

อิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทย

ควบรวมทรู-ดีแทค อาจทำให้ตลาดแข่งสูงขึ้น

สำหรับประเด็นที่โอเปอเรเตอร์เบอร์ 2 และ 3 อย่าง ทรู-ดีแทค ควบรวมกัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดจาก 3 เหลือ 2 รายที่ต้องแข่งขันกัน แน่นอนว่าผู้เล่นที่น้อยลงแปลว่าตัวเลือกที่น้อยลง แต่แปลว่าเส้นแบ่งระหว่างเบอร์ 1 และ 2 ก็ยิ่งน้อย ดังนั้น การแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านของคุณภาพสัญญาณและโปรโมชัน เพราะผู้บริโภคไทยมีความคาดหวังสูงและใช้งานหลากหลาย ดังนั้น ในส่วนนี้ทางด้านผู้กำกับดูแลต้องมาดูว่าโอเปอเรเตอร์ให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคหรือยัง

สำหรับอีริคสันเอง การควบรวมนี้นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งใน ระยะสั้น มองว่าการควบรวมจะนำไปสู่การ ลดต้นทุน จะมีการรวมทรัพยากรกัน แต่ใน ระยะยาว โอเปอเรเตอร์จะต้องพยายามหาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า ดังนั้น อีริคสันต้องเกาะติดลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความต้องการของเขา และนำเสนอโซลูชั่นที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ซึ่งสิ่งที่อีริคสันกำลังมองก็คือ เทคโนโลยี สแตนด์อะโลน หรือก็คือ การใช้เทคโนโลยี 5G ที่ไม่ได้ไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีเก่าอย่าง 4G

]]>
1364923
‘เอไอเอส’ ไม่ขออยู่เฉยส่งแคมเปญ ‘อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด’ พร้อมอัดส่วนลด 50% ดึงย้ายค่าย https://positioningmag.com/1363591 Tue, 23 Nov 2021 13:59:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363591 ในช่วงสัปดาห์นี้ ในแวดวงโทรคมนาคมคงไม่มีข่าวไหนจะใหญ่ไปกว่าการที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ dtac จะควบรวมกัน แน่นอนว่าหลังจากมีข่าว หลายคนต่างก็ต้องคิดแล้วว่าการแข่งขันจากนี้จะเป็นอย่างไร และพี่ใหญ่อย่าง ‘เอไอเอส’ (AIS) จะงัดไม้ไหนออกมาสู้

ในตลาดโทรคมนาคมที่ผ่านมา เอไอเอสถือว่าเป็นเบอร์ 1 ที่แข็งแรงมาโดยตลอด หากอ้างอิงจากตัวเลขไตรมาส 3 ปี 64 เอไอเอส มีลูกค้าทั้งสิ้น 43.7 ล้านเลขหมาย มีคลื่นความถี่รวม 1,420 MHz และมีรายได้ รายได้ 130,995 ล้านบาท ขณะที่เบอร์ 2 อย่าง ทรูมูฟ เอช มีลูกค้า 32 ล้านเลขหมาย มีคลื่นรวม 990 MHz มีรายได้ 96,678 ล้านบาท ส่วน ดีแทค มี 19.3 ล้านเลขหมาย มีคลื่นรวม 270 MHz และมีรายได้ 78,818 ล้านบาท

แน่นอนว่าหากทรูและดีแทคควบรวมกันแล้วจะพลิกขึ้นนำเอไอเอสทันที แต่ในส่วนของจำนวนคลื่นความถี่ยังถือว่าน้อยอยู่ ดังนั้น ก่อนที่ทั้ง 2 บริษัทจะควบรวมกันอย่างสมบูรณ์ เอไอเอสก็ไม่รอช้าที่จะสื่อสารไปยังผู้บริโภคด้วยการใช้จุดแข็งของ จำนวนคลื่นความถี่ ว่ามีมากที่สุดพร้อมทั้งขยี้ด้วยแคมเปญ อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด

โดยเอไอเอสถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่กวาดเอาดาราตัวท็อปมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้มากเบอร์ต้น ๆ ของไทย ไม่ว่าจะ เจมส์ จิรายุ, เป๊ก ผลิตโชค, เวียร์ ศุกลวัฒน์, เบลล่า ราณี, น้องเทนนิส, แบมแบม กันต์พิมุกต์, ลิซ่า ลลิษา และน้อง ๆ BNK48 ดังนั้น เอไอเอสจึงได้ปล่อยภาพเหล่าพรีเซ็นเตอร์เพื่อสื่อสารถึงความเป็น เบอร์ 1 เผยแพร่ลงในโซเชียลทุกช่องทาง โดยในทวิตเตอร์ก็ขึ้นเทรนด์เป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว

ไม่ใช่แค่ย้ำว่า อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด แต่ถ้าย้ายมาอยู่ด้วยกันมันก็จะดีนะ เพราะมีความเห็นในโซเชียลบางส่วน ที่รู้สึกอยากย้ายค่ายหากทรูและดีแทคควบรวมกัน ดังนั้น เอไอเอสจึงอัด โปรย้ายค่าย โดยโปร 4G มีส่วนลด 50% แถมใช้ฟรี 1 เดือนด้วย ส่วนโปร 5G ลด 25%

ก็ไม่รู้ว่ากว่าจะถึงเวลาที่ทรูและดีแทคควบรวมกันเสร็จ เอไอเอสจะสามารถดึงลูกค้าย้ายค่ายไปได้มากน้อยแค่ไหน และไม่รู้ว่าทางทรูและดีแทคจะออกแคมเปญอะไรออกมารักษาลูกค้าไหม หรือจัดหนักทีเดียวตอนควบรวมไปเลย คงต้องรอดูกัน

]]>
1363591
‘ดีแทค’ ย้ำกลยุทธ์ดิจิทัล ‘มัดใจลูกค้า’ ปักเป้าผู้ใช้ 10 ล้านราย/เดือน ในสิ้นปี https://positioningmag.com/1355289 Wed, 06 Oct 2021 14:22:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355289 ต้องใช้คำว่า ก่อน ที่ทั่วโลกจะเจอกับการระบาดของ COVID-19 แบบนี้ เกือบทุกอุตสาหกรรมก็ต้องการจะทรานส์ฟอร์มองค์กรหรือบริการไปสู่ดิจิทัล เช่นเดียวกันกับ ‘ดีแทค’ (Dtac) ซึ่งไม่ได้ปักธงแค่การนำดิจิทัลมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า แต่ต้องต่อยอดสู่บริการที่มากกว่าโทรคมนาคม ดังนั้น ที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นว่าดีแทคเองเริ่มแตกบริการอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ลูกค้าเกือบครึ่งใช้ดิจิทัล

ฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของการแพร่ระบาดของ COVID-19 การใช้งานบริการดิจิทัลของลูกค้าดีแทคก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันลูกค้ากว่า 46% ใช้งานดิจิทัลแอคทีฟต่อเดือน และด้วยกลยุทธ์ที่เน้นให้ลูกค้าทุกกลุ่มเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะ dtac app Lite โมบายแอปที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแต่ให้บริการได้เหมือนดีแทคแอป ทำให้มีลูกค้าเข้าถึงบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากขึ้น โดยแต่ละวันมีลูกค้าราว 1 ล้านคนใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ขณะที่กลุ่มลูกค้าเติมเงินใช้งานเพิ่มขึ้น 3 เท่า และเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 124% ในกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ศูนย์บริการดีแทคได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบดิจิทัลเป็นแบบไร้กระดาษ 100% ร้านตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 90% ได้ใช้เครื่องมือดิจิทัลในกิจกรรมการขายและบริการในแต่ละวัน ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายดีแทคดิจิทัลทะลุ 70% ทั้งแบบเติมเงิน ชำระค่าบริการ และการซื้อบริการเสริมผ่านช่องทางของดีแทคเองและช่องทางอื่น ๆ

“ลูกค้าไทยมีความพร้อมและความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัล เรามีการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ตอนนี้ขึ้นอยู่กับเราว่าเราทำได้ดีแค่ไหนให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างดี”

ฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

เพิ่มกิจกรรม ตรึงลูกค้า ใช้แอป

ที่ผ่านมา ดีแทคเพิ่มกิจกรรมในรูปแบบของ เกม และสิทธิพิเศษจาก ดีแทครีวอร์ด Coins เป็นการดึงดูดให้ลูกค้าให้สนุกสนานในการใช้งานดิจิทัล ได้มีส่วนร่วม และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มและเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นดิจิทัลในวงที่กว้างขึ้นด้วยรูปแบบการเล่นเกมลุ้นรางวัล

นอกจากนี้ยังใช้ AI ที่สามารถวิเคราะห์และนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงช่องทางดิจิทัลเท่านั้นแต่ยังสามารถขยายการให้บริการไปในช่องทางร้านค้าอื่น ๆ ทั้งหมดได้อีกด้วย และเพื่อเข้าถึงลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน รวมถึงเจาะลูกค้ารุ่นใหม่ ด้วยการขยายสู่ตลาด เช่น Shopee, Lazada และ JD Central รวมถึงโซเชียลมีเดียอย่าง LINE , Facebook และ WeChat

“จุดสำคัญของการผลักดันลูกค้าใช้งานดิจิทัลคือ เอนเกจเมนต์ ยิ่งสามารถสร้างปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าอยู่กับเรานานขึ้น ใช้งานกับเรามากขึ้น ก็จะยิ่งสร้างความยั่งยืนให้ทั้งลูกค้าและองค์กร แต่ปลายทางเราต้องการเป็นมากกว่าโทรคมนาคม”

ต้องโตจากบริการอื่นที่ไม่ใช่โทรคมนาคม

ทั้งดีแทคและเทเลนอร์บริษัทแม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งที่จะโตในบริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โทรคมนาคม โดยที่ผ่านมา ดีแทคมีความร่วมมือจากบริการใจดี มีวงเงินให้ยืม ร่วมกับ LINE BK และเว็บเติมเกม Gaming Nation ที่ถือเป็นก้าวแรกในการขยายบริการที่ ‘มากกว่า’ โทรคมนาคม

โดยในไตรมาส 4 จะได้เห็นบริการใหม่ ๆ แน่นอน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบริษัทไม่สามารถไปได้ทุกทาง ดังนั้นจะเน้นโฟกัสในส่วนที่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดก่อน ทั้งนี้ ดีแทคตั้งเป้าให้มีผู้ใช้งานผ่านดิจิทัลที่ 10 ล้านคน/เดือน และการเข้าซื้อผ่านดิจิทัลเติบโต 5 เท่าภายในปี 2566 และเป็น ‘ซูเปอร์แอป’ ในอนาคต

]]>
1355289
“ดีแทค” ผนึก “เอบีบี” เชื่อมต่อหุ่นยนต์-เครือข่ายความเร็วสูง กระตุ้นอุตสาหกรรมสู่ 4.0 https://positioningmag.com/1338950 Mon, 28 Jun 2021 05:00:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1338950

ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับทุกสิ่ง ทุกๆ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ยิ่งโลกหมุนเร็วเท่าไหร่ ธุรกิจต้องหมุนตามให้ทัน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเติบโตเท่าทันได้ ยิ่งเมืองไทยเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรม ยิ่งจำเป็นต้องอัพเกรดให้เข้ากับยุค 4.0 ให้ได้

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญล่าสุดในวงการเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัท เอบีบี ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MOU) ในการนำ ABB Robotics และ ABB Remote Insights เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโครงข่ายดีแทค และต่อยอดสู่ 5G โครงข่ายส่วนตัว (5G Private Network)

เท่ากับว่านี่คือกุญแจสำคัญที่กระตุ้นธุรกิจให้เดินหน้าการผลิตทุกวิกฤต แม้เจอโรคอุบัติใหม่ทำให้ต้องล็อกดาวน์จนธุรกิจสะดุด แต่ก็มีความพร้อมในการควบคุมการผลิตได้ทุกที่อย่างแม่นยำ และปลอดภัย พร้อมทำ Proof of Concept (POC) ทดสอบให้กลุ่มผู้ประกอบการพร้อมโซลูชั่นต่อยอดอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจองค์กรและธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า

“ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทย คือ การที่วันนี้ต้องเร่งนำเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาปรับใช้เพื่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตครั้งใหญ่ และใช้การเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีความเร็วสูง ซึ่งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมถึง 5G โครงข่ายส่วนตัว (5G Private Network) จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมไทย และก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงจะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนเลือกย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเอบีบี”

ทางด้าน เจียนอังเดร บรุซโซเน กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เอบีบี ประเทศไทย กล่าวว่า

“พวกเรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกับดีแทคร่วมผลักดันอุตสาหกรรมของไทย โดยเอบีบีเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ อุปกรณ์เสริมและแอปพลิเคชันในการใช้งาน และได้ให้บริการมากถึง 53 ประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันเราได้ติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไปแล้วมากกว่า 500,000 โซลูชั่น โดยเอบีบีมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับความความร่วมมือในครั้งนี้ที่ต้องการใช้ศักยภาพของเครือข่าย dtac 4G/5G ในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ผ่านกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการพัฒนาและต่อยอดสู่ ABB Solution เพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศไทย”


พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย 2 ปัจจัยสำคัญ

1. ความร่วมมือ ABB Robotics

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของ ABB Collaborative Robot ซึ่งเป็น Solution ของกลุ่มธุรกิจ Robotics & Discrete Automation บนโครงข่ายส่วนตัว dtac 5G Private Network เพื่อทดสอบการใช้หุ่นยนต์ และแขนกลอัตโนมัติสำหรับนำไปใช้งานในกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่เฉพาะ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมจำกัดที่เป็นอันตราย

โดยการเชื่อมต่อกับโครงข่ายของดีแทคจะเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อที่ควบคุมได้แบบเรียลไทม์ แม่นยำ และปลอดภัยในการรับส่งข้อมูล ที่สำคัญ 5G มีประสิทธิภาพสูงและตอบสนองที่รวดเร็ว หุ่นยนต์จึงสามารถทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงได้ ในขณะที่ผู้ควบคุมสามารถสั่งงานจากระยะไกลได้อย่างปลอดภัย

2. ความร่วมมือ ABB Remote Insights

เป็นการพัฒนา และต่อยอดโซลูชั่นของกลุ่มธุรกิจ Process Automation ร่วมกับโครงข่ายดีแทค 4G/5G ที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย เพื่อนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความต้องการโซลูชั่นที่เพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการทำงาน

โดยแอปพลิเคชันที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารโต้ตอบระยะไกลระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ จะใช้เทคโนโลยีการแสดงภาพเสมือนจริง หรือ  Augmented Reality (AI) บนโครงข่ายดีแทคในการให้ข้อมูล และคำแนะนำเพื่อการแก้ไขปัญหาแบบเรียลไทม์

ความร่วมมือของดีแทค และเอบีบีในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และธุรกิจของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาดเพื่อกลุ่มธุรกิจภาคการผลิต และอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจที่มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยี 5G กับ Robotic ที่จะเป็นการขับเคลื่อนครั้งสำคัญให้แข่งขันได้ทั้งในประเทศ และภูมิภาค

ถือว่าเป็นการผสานจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ความเชี่ยวชาญทางด้านหุ่นยนต์ของเอบีบี สู่การเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลของดีแทค จะสามารถเพิ่มศักยภาพ และสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยข้อมูลจากเอบีบีรายงานว่า สิงคโปร์ และไต้หวันนำหุ่นยนต์ใช้งานทดสอบ COVID-19 ลดความเสี่ยงชีวิตผู้ปฏิบัติงาน เพิ่มขีดความสามารถ รวดเร็ว และแม่นยำสูง ได้อีกด้วย

]]>
1338950
กางแผน ‘Dtac’ ปี 64 เดินหน้าปูพรม ‘5G’ ทั่วไทย มัดใจผู้ใช้ต่างจังหวัด https://positioningmag.com/1320456 Mon, 22 Feb 2021 12:19:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320456 ค่ายสีเขียวเพิ่งประกาศแผน 5G ไปหมาด ๆ ล่าสุดก็ถึงคิวของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘Dtac’ (ดีแทค) ที่ออกมากางแผนกลยุทธ์ปี 2564 โดยเฉพาะเรื่องของ ‘5G’ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรบ้างในปีนี้

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเพราะ COVID-19

เน็ตภูธรหน้าใหม่ (THE NEW RURALS) ดีแทคพบว่ามาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมของปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อการใช้มือถือของประเทศไทย โดยจากการย้ายถิ่นฐานของคนเมืองและการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของชุมชน ส่งผลให้การใช้งานดาต้าในส่วนภูมิภาคโตมากกว่าการใช้งานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 9 เท่า สอดคล้องกับทิศทางการเพิ่มขึ้นของการใช้งานสมาร์ทโฟนเร็วขึ้น โดยในส่วนภูมิภาคก็เติบโตเร็วกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า

ขยันผ่านเน็ตทางไกล (THE REMOTE DESKERS) กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปรับตัวรับกับยุค New Normal โดยทำงานและเรียนที่บ้าน ซึ่งมีความต้องการใช้งานดาต้าจากชุมชนที่พักอาศัย โดยใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อสร้างผลผลิตและการทำงานร่วมกันแม้อยู่คนละพื้นที่ ตามข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 2563 – ม.ค.2564 พบว่า งาน Zoom เพิ่มขึ้น 5050% และ Google Hangouts 740%

อยู่ติดบ้านด้วยเน็ตบันเทิง (THE NON-STOP STREAMER) จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ หรืออยู่บ้านพบว่ากลุ่มผู้ใช้งานที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแอปพลิเคชันเพื่อบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง และช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านแอปเพื่อตอบโจทย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น อาทิ YouTube และ TikTok

เน็ตคือหัวใจสำคัญ (THE CRITICAL USER) กลุ่มผู้ใช้งานที่พึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจ ให้บริการแก่ประชาชนและชุมชน เช่น โรงพยาบาลและบริการฉุกเฉิน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจ เป็นต้น

กำหนดกลยุทธ์อิงพฤติกรรม

เมื่อผู้ใช้ในภูมิภาคและพื้นที่ห่างไกลหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น ดีแทคจึงได้เร่งนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะขยาย 4,400 สถานีฐานทั่วประเทศภายในไตรมาสที่ 1/2564 โดยดีแทคเปิดให้บริการ 5G และ 4G บนคลื่น 700 MHz ด้วยเทคโนโลยีใหม่ Dynamic Spectrum Sharing (DSS) ที่ทำให้ใช้งานทั้ง 5G และ 4G ไม่ต้องแบ่งแบนด์วิดท์ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด

ที่ผ่านมา ดีแทคเร่งขยายเทคโนโลยี 5G-ready massive MIMO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานดีขึ้น 3 เท่า และเปิดให้บริการ 4G-TDD บนคลื่น 2300 MHz (ให้บริการบนคลื่น NT หรือ ทีโอที เดิม) อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณ 20,400 สถานีฐาน ทั้งนี้ Opensignal ให้ดีแทคเป็นผู้ชนะรางวัลด้านดาวน์โหลดเร็วสุดในประเทศไทยติดต่อกันจาก 2 รายงานประจำเดือนเมษายน และพฤศจิกายน 2563 นอกจากนี้ ยังนำคลื่น 26 GHz มาทดสอบใช้งานบริการต่าง ๆ อีกด้วย

“การเชื่อมต่อสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน และสร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่งผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงคือจุดมุ่งหมายที่ผลักดันทิศทางการดำเนินธุรกิจของดีแทค นอกจากบริการการสื่อสารไร้สายทั้ง 5G และ 4G ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ดีแทคยังพัฒนาบริการใหม่หลากหลายที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านผู้ใช้งานสู่ชีวิตดิจิทัล” ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าว

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

เทรนด์ผู้บริโภคที่สำคัญ 5 ประการที่สนับสนุนการใช้มือถือในยุคนี้

“Digital-First Experiences”: เน้นการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคแบบ Digital First เช่น การซื้อทางออนไลน์และการรับสินค้าในร้าน การให้บริการในภาษาเดียวกับลูกค้า เช่น WeChat mini program แอปในภาษาจีน ดีแทคแอป ภาษาพม่า และรวมถึงรูปแบบการสื่อสารใหม่ถึงลูกค้า เช่น Facebook Live และ TikTok

“Digital Inclusion”: เน้นใช้ช่องทางดิจิทัลในดีแทคแอป โดยมีกิจกรรมจาก dtac reward สำหรับลูกค้าระบบเติมเงิน ที่สามารถสะสม dtac reward coins แลกสิทธิพิเศษได้อย่างคุ้มค่า

“360-degree Personalization”: ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ออกแบบข้อเสนอที่ตอบสนองแต่ละบุคคล โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าข้อเสนอทั่วไปมากถึง 3 เท่า ทำให้การใช้งานดีแทคแอปรายเดือน เติบโตขึ้น 40% ในปี 2563

“New Business Normal”: โมเดลธุรกิจวิถีใหม่ โดยดีแทคร่วมมือพันธมิตรเพื่อนำเสนอบริการใหม่ ๆ แก่ลูกค้า เช่น ประกันสุขภาพ ส่วนลดร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต หรือการโอนเงินที่มั่นใจได้ บริการเหล่านี้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางดิจิทัลให้กับผู้ใช้งาน

“Trust Matters”: แบรนด์ที่มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ คิดดี ทำดี ไว้ใจได้ในทุกบริการ เพื่อให้เกิดความสบายใจสำหรับผู้ใช้ดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและผลประโยชน์ของลูกค้า พร้อมมีบริการช่วยเหลือลูกค้า เช่น บริการใจดีให้ยืม ใจดีให้โอน และบริการดิจิทัลอื่น ๆ

“ผู้ใช้บริการของเรามีความคาดหวังบริการที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล เรานำระบบปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพได้ดีกว่าข้อเสนอทั่วไปได้มากถึง 3 เท่า ดีแทคแอปยังเปิดประสบการณ์ บริการที่มีประโยชน์และให้ความบันเทิง ที่มีทั้งเกมและส่วนลดอาหาร รวมถึงประกันสุขภาพและบริการโอนเงิน ทำให้ลูกค้าของเราปลอดภัยและมีความสุข รวมถึงคุ้มค่าในการใช้จ่ายอีกด้วย” ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค กล่าว

ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค

ไม่ทิ้งการสนับสนุนสังคมไทย

ดีแทคเพิ่งเปิดตัวโครงการ ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ (Net for Living) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มล่าสุด ที่ช่วยฝึกอบรมผู้ค้ารายย่อย 100 ราย ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และขยายผลให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบธุรกิจค้าขายได้บนพื้นที่ออนไลน์ มุ่งมั่นช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากพื้นที่ขายออนไลน์ 15% ต่อปี

สำหรับเยาวชน ดีแทคจะยังคงดำเนินโครงการ Safe Internet ซึ่งได้สอนทักษะด้านดิจิทัลให้กับนักเรียนและครูในปีนี้อีก 200,000 คน และในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ดีแทคมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 50% ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573

“เราอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเดินหน้าฟื้นตัวในปี 2564 โดยมุ่งมั่นตามกลยุทธ์ของเราที่จะนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่ทุกคน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ใช้งานดิจิทัลของลูกค้าเรา จากข้อมูลและความเข้าใจของลูกค้าเราใส่ใจ เปรียบเสมือนเราได้นำความสุข ความก้าวหน้า ความโชคดี และที่ยืนหยัดทุกสถานการณ์ส่งมอบให้กับลูกค้าเราตลอดปีฉลูอีกด้วย”

]]>
1320456