ตลาดการขนส่งพัสดุ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 23 Jul 2021 13:03:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ซีอีโอ ‘Flash Express’ ส่งจดหมายขอโทษลูกค้า เหตุค้างส่งพัสดุ ตั้งงบ 200 ล้าน ออกมาตรการ ‘ชดเชย’ ความเสียหาย https://positioningmag.com/1343967 Fri, 23 Jul 2021 12:17:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1343967
ซีอีโอ ‘Flash Express’ ส่งจดหมายขอโทษลูกค้า หลังศูนย์กระจายพัสดุสาขาวังน้อย ต้องปิดชั่วคราว เนื่องจากพนักงานติดโควิด-19 ทำให้มีพัสดุค้างส่งจำนวนมาก พร้อมตั้งงบ 200 ล้าน ‘ชดเชย-เยียวยา’ ความเสียหาย

วันนี้ (23 ก.ค. 64) คมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ส่งจดหมายถึงลูกค้า Flash Express ถึงกรณีปิดศูนย์กระจายพัสดุสาขาวังน้อย ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมชี้เเจงรายละเอียดการเยียวยาต่างๆ โดยระบุว่า

“จากผลกระทบการปิดศูนย์กระจายพัสดุ (Hub) ที่วังน้อย และเพื่อนร่วมงานของเราหลายคนติดเชื้อโควิดในสาขาต่างๆ ทำให้พัสดุของท่านได้รับการจัดส่งล่าช้า หรือเสียหายจากความล่าช้าในช่วงเวลาหลายวันที่ผ่านมานี้

ผมและเพื่อนร่วมงานแฟลชทุกคนเสียใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และอยากชี้แจงว่าพวกเราไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะเร่งแก้ไขปัญหาครับ

ผมและเพื่อนร่วมงานต่างทราบดีว่าการขนส่งคือหน้าที่ของเรา เพราะเราคือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเราทราบมาตลอดว่า ยิ่งเวลานี้ลูกค้าของเราทุกท่านต่างได้รับผลกระทบจากโควิดไม่น้อยกว่าเรา

แต่ภาพเพื่อนร่วมงานที่ต้องติดเชื้อจำนวนมากและหลายท่านที่ต้องแยกกักตัว รวมถึงทีมงานที่เร่งติดต่อหน่วยงานในท้องที่เพื่อให้พวกเขาได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เป็นภาพที่ผมไม่อยากให้เกิดครับ

ยิ่งไปกว่านั้นภาพที่ผมเห็นพัสดุของทุกท่านคงค้างอยู่ในคลังสินค้า และเราไม่สามารถกระจายออกไปได้ (เนื่องจากเราจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานต่างๆ ในท้องที่) เป็นภาพที่ผมปวดใจเกินกว่าจะอธิบายได้ในช่วงเวลานี้ครับ

ผมจึงอยากขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เรายังทำได้ไม่ดีพอในการป้องกันผลกระทบจากโรคร้ายนี้ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าของเราและเพื่อนร่วมงานครับ

ก่อนหน้าที่เราจะต้องปิดศูนย์กลางกระจายพัสดุ เราพยายามเร่งระบายพัสดุอย่างเต็มกำลัง และหลังจากที่ศูนย์ฯ วังน้อยของเราถูกปิดพื้นที่ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา เราได้แก้ไขปัญหาของพัสดุที่ถูกส่งใหม่ด้วยการส่งพัสดุไปคัดแยกและกระจายต่อในพื้นที่ศูนย์อื่นๆ แทน รวมถึงจัดเตรียมศูนย์ฯ ใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับพัสดุ

เราพยายามจัดหาผู้คัดแยกและทำงานในศูนย์ฯ เพิ่มเพื่อแทนเพื่อนร่วมงานของเราที่ถูกกักตัว แต่เป็นไปได้ยากมากครับ เพราะพี่น้องทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะมาร่วมงานต่างติดเชื้อมากเหลือเกิน และเรายังรีบจัดหารถขนส่งและถ่ายสินค้าเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน เพื่อระบายสินค้าในศูนย์กระจายสินค้าอื่นๆ ครับ อยากให้ทุกท่านเข้าใจว่าเราได้ทำงานอย่างเต็มกำลังครับ
.
สำหรับความกังวล ความเดือดร้อนใจของทุกท่านในพัสดุที่คงค้างที่ศูนย์ฯ วังน้อย และผลกระทบจากความล่าช้าจากสถานการณ์นี้ ผมขอดูแลและชดเชยด้วยงบประมาณมากกว่า 200 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเสียหายที่ท่านได้รับไม่มากก็น้อย จากความจริงใจของเรา ตามนโยบายดังนี้ครับ

1. สำหรับผู้ส่งพัสดุ-สินค้าที่ถูกจัดส่งระหว่างวันที่ 16 – 31 กรกฎาคม 2564 หากเป็นปัญหาที่พัสดุอยู่ที่ศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) (ยกเว้น ช่วงขารับและขานำส่งพัสดุ) เกินกว่า 3 วัน ทางบริษัทฯ ยินดีคืนเงินค่าขนส่ง 100%

2. หากลูกค้าปลายทางปฏิเสธการรับพัสดุเนื่องจากความล่าช้าของปัญหาจากศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าตีกลับไปยังผู้ส่งต้นทาง และบริษัทฯ จะคืนเงินค่าขนส่ง 100%

3. หากผู้รับปลายทางที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการส่งล่าช้าจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ จะมอบคูปองของแฟลช เอ็กซ์เพรสมูลค่ารวม 50 บาท

4. หากพัสดุเสียหายหรือสูญหายเนื่องจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้นทางบริษัทฯจะชดเชยค่าเสียหายเต็มจำนวนอย่างเร็วที่สุด (ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทฯ ที่กำหนด)

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดอื่นได้เพิ่มเติม ที่ www.flashexpress.co.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน แฟลชเอ็กซ์เพลส รวมถึงติดต่อทีม Customer Support ที่พร้อมแก้ไขปัญหานี้ให้ท่านอย่างเต็มความสามารถครับ

ผมเข้าใจอย่างดีครับว่า การชดเชยเท่าใดก็ไม่เพียงพอต่อความไว้วางใจที่ทุกท่านเคยให้เราดูแลพัสดุของท่านครับ ในช่วงที่ผ่านมาเราได้พยายามกระจายพัสดุที่คงค้างภายในศูนย์ฯ วังน้อยอย่างเต็มที่ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทำให้ยังมีพัสดุคงค้างอยู่ เมื่อบริษัทฯ ได้รับการอนุญาตให้กลับเข้าไปทำงานในพื้นที่จากคณะกรรมการควบคุมโรคแล้วเราจะเร่งดำเนินการจัดส่งในส่วนที่เหลือไปยังผู้รับปลายทางให้เร็วที่สุด

ผมหวังว่าทุกท่านจะยังเปิดโอกาสให้เราได้แสดงคำขอโทษด้วยการให้เราได้รับใช้ทุกท่านเหมือนเคยครับ
สุดท้ายนี้ สถานการณ์โควิดในครั้งนี้เป็นปัญหาหนักที่สุดที่บริษัทของเราเคยเจอ และเป็นเรื่องที่พี่น้องคนไทยไม่อยากให้เกิดขึ้น ผมอยากขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องคนไทยทุกคน ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันแก้ไขและผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

ผมขอบคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงานที่ช่วยเหลือเราในด้านต่างๆ เพื่อให้เราแก้ไขความเดือดร้อนของลูกค้าของเราให้ได้เร็วที่สุดครับ

ผมขอขอบคุณทุกความเข้าใจและกำลังใจ ที่ส่งถึงเพื่อนพนักงานของผมที่ยังคงตั้งใจทำงานบริการทุกท่านครับ พวกเราเข้าใจว่างานของเราคือภารกิจสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนี้ และที่สำคัญที่สุดคือ ผมขอน้อมรับทุกคำติเตียนที่ลูกค้าทุกท่านมีต่อผมและบริษัทแฟลช เอ็กซ์เพรสครับ ผมน้อบรับทั้งหมดเพื่อจะแก้ไขและปรับปรุงต่อไปครับ

“ขอโทษและขอบคุณจากใจครับ” คมสันต์ ลี

สำหรับ ‘Flash Express’ เป็นบริษัทขนส่งพัสดุที่เพิ่งขึ้นเเท่นสตาร์ทอัพ ‘ยูนิคอร์น’ รายแรกของคนไทย ด้วยมูลค่ากิจการเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมมีบริษัทยักษ์ใหญ่เป็น ‘เเบ็กอัพ’ ร่วมลงทุนด้วยอย่าง SCB 10X , OR บริษัทลูกของ ปตท. , กรุงศรีฟินโนเวต เเละ Durbell ฯลฯ

โดยในปี 2563 บริษัทมี ‘ยอดส่ง’ มากกว่า 300 ล้านชิ้น ส่วนในปี 2564 บริษัทมีจำนวนพัสดุเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 ล้านชิ้น เติบโตจากเดิมที่มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน

‘Flash Express’ ใช้กลยุทธ์เรื่อง ‘ราคา’ มาจับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการลดต้นทุนการส่ง ด้วยการเป็นเจ้าเเรกที่ ‘รับพัสดุฟรีถึงที่ตั้งแต่ชิ้นแรก’ พร้อมขยายสาขาไปตามชุมชน เเละธุรกิจ Drop-Off มากขึ้น

]]>
1343967
“ไปรษณีย์ไทย” ยุคซีอีโอใหม่ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น-เน้นจับมือพันธมิตร https://positioningmag.com/1291377 Thu, 06 Aug 2020 11:20:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291377 ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2563 โจทย์ใหญ่ที่ต้องเผชิญคือการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงจน ปณท. อาจจะรักษาตำแหน่งมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ไว้ไม่อยู่ คำตอบที่ก่อกิจมุ่งไปเพื่อแก้โจทย์นี้เป็นการตัดรายจ่ายไม่จำเป็นและหารายรับเพิ่มผ่านการจับมือพันธมิตร มากกว่าการลงไปแข่งขันสงครามราคา พร้อมเรียกร้องให้มีการกำกับการทุ่มตลาดของบริษัทคู่แข่ง ซึ่งอาจจะทำให้คนไทยเผชิญปัญหาแบบเดียวกับที่ Grab กลืนกิน Uber และเป็นผู้กำหนดราคา

เป็นครั้งแรกที่แม่ทัพคนใหม่ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกพบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ แต่เขาเป็นคนหน้าเก่าที่สื่อคุ้นเคยกันดีเพราะตำแหน่งก่อนหน้านี้คือ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) รวมถึงเป็นซีอีโอ ปณท. คนแรกที่ไม่ใช่คนภายในมาก่อน

ก่อกิจฉายภาพก่อนว่า DNA ขององค์กรไปรษณีย์ไทยที่เป็นมาตลอด 137 ปี ตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นกรมสู่รัฐวิสาหกิจ คือเป็นหน่วยงานที่คำนึงถึงประโยชน์สังคมเป็นหลัก แม้ปัจจุบันจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงในตลาด แต่ ปณท. ยังต้องสร้างสมดุลทั้งการทำกำไรและบริการประชาชนด้วย

ในมุมของการทำกำไร จะเกิดขึ้นได้ต้องสมดุลทั้งสองทางคือ “ตัดรายจ่าย” และ “เพิ่มรายรับ” โดยก่อกิจกล่าวว่า อยู่บนฐานที่ท้าทายมาก เพราะองค์กรต้องปรับสิ่งเหล่านี้ให้เร็ว แต่เร็วมากก็ยากด้วยธรรมชาติของความเป็นรัฐวิสาหกิจ มีขั้นมีตอนในการจัดซื้อ และงบประมาณยังถูกวางไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปีในโลกที่ปรับตัวกันเร็วกว่านั้น อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้วางแผนสารพัดอย่างไว้ให้ ปณท. แล้ว ทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง และที่เป็นไอเดียที่ต้องการไปให้ถึง

 

ตัดรายจ่ายที่ “ไม่เพิ่มประสิทธิภาพ” การทำงาน

“โลกหลัง COVID-19 ทำให้เรายิ่งเห็นว่าต้องรักษากระแสเงินสด อย่าให้เป็นภาระกับชาติ อะไรไม่จำเป็น ไม่ได้สร้างผลตอบแทนกับบริษัทในระยะยาวก็ไม่ต้องทำ อย่างพวก hard asset โครงการก่อสร้างที่ทำการใหญ่แห่งใหม่ก็ไม่จำเป็น นำเงินไปลงทุนกับเรื่องดิจิทัลหรือเทคโนโลยีดีกว่า” ก่อกิจกล่าว

สิ่งแรกที่ก่อกิจลงมือทำในช่วงรับตำแหน่งซึ่งตรงกับช่วง COVID-19 ระบาด ทำให้บริษัทพิจารณาแผนลงทุนใหม่ ยกเลิกโครงการก่อสร้างที่ทำการสำนักงานใหญ่แห่งใหม่มูลค่า 3,000 ล้านบาททันที จะลดเหลือแค่การรีโนเวตอาคารเดิม

อาคารที่ทำการสำนักงานใหญ่ไปรษณีย์ไทย ถนนแจ้งวัฒนะ

งบลงทุนที่ยังใช้อยู่คือไปลงทุนกับเทคโนโลยี Sorting Belt สายพานคัดแยกพัสดุใหม่ 8 ไลน์ มูลค่ารวมประมาณ 1,200 ล้านบาท (ตามราคากลางจากการจัดทำทีโออาร์) เพื่อทำให้ทำงานคัดแยกได้เร็วขึ้น รับงานได้มากขึ้น ลดการใช้คนในจุดนี้ นำคนไปทำงานส่วนอื่นที่ยังต้องมีทักษะมนุษย์เกี่ยวข้อง

 

ตู้แดงติดเซ็นเซอร์ IoT ลดเวลาทำงานบุรุษไปรษณีย์

ไปรษณีย์ไทยยังจะมีการใช้เทคโนโลยี IoT ที่ “ตู้แดง” ในนามโครงการ “ตู้ไปรษณีย์ชาญฉลาด” เนื่องจากปัจจุบันมีบุคคลนำส่งไปรษณีย์ติดแสตมป์ทางตู้แดงน้อยลงมาก แต่พนักงานยังต้องไขตู้ 22,000 แห่งทุกวัน วันละ 2 เวลา ทั้งที่เป็นตู้ว่างเปล่า ทำให้ “เสียเวลาและพลังงานมาก”

เซ็นเซอร์ IoT นี้จะตรวจจับว่ามีผู้ส่งจดหมายนำจดหมาย/ไปรษณียบัตรมาส่งลงตู้หรือไม่ แล้วส่งสัญญาณบอกไปที่บุรุษไปรษณีย์ซึ่งจะมาไขตู้ว่าตู้นี้มีของรออยู่ ก่อกิจบอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาว่าพนักงานพบตู้เปล่ามากแค่ไหน แต่เชื่อว่าการไม่ต้องไขทุกตู้และไม่ต้องออกไปทุกเวลาเหมือนเดิม จะช่วยลดค่าเสียโอกาสเรื่องเวลาได้มากกว่า 50% ทำให้นำพนักงานไปทำงานส่วนอื่นเพิ่มได้

ตู้ไปรษณีย์ชาญฉลาด ติดตั้งเซ็นเซอร์ IoT ไว้ในตู้เพื่อตรวจจับว่ามีจดหมายถูกหย่อนลงไปในตู้หรือไม่

ส่วนการลงทุนเซ็นเซอร์และระบบส่งสัญญาณนี้ ปณท.ร่วมกับหน่วยงาน บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดย ปณท. เช่าเซ็นเซอร์ราคาต่ำกว่า 100 บาทต่อตู้ต่อเดือน ปีนี้จะทดลองติดตั้งก่อนประมาณ 1,000 ตู้ในเขตกรุงเทพฯ และ CAT จะมีระยะให้ทดลองใช้ฟรีก่อนขยายไปติดตั้งทั่วประเทศ ดังนั้น ปณท.จึงไม่ต้องลงทุนสูงตั้งแต่แรก

 

หา “รายได้” เพิ่มผ่านการเป็น “ตัวกลาง”

ด้านการหารายได้ ปณท.ใช้ข้อได้เปรียบของการเป็นหน่วยงานรัฐในการเจรจากับรัฐด้วยกัน โครงการที่ทำมาแล้ว 3-4 เดือนคือ จับมือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1,000 แห่งทั่วประเทศ รับส่งพัสดุยาประจำเดือนให้กับคนไข้ โดยคนไข้ไม่ต้องมารับที่โรงพยาบาล เนื่องจากตรงกับช่วง COVID-19 ทำให้โครงการนี้ “เกิด” ทันที เพราะทุกฝ่ายต้องการลดจำนวนคนไข้มาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด โครงการนี้สร้างรายได้ให้ ปณท. แล้ว 3-4 ล้านบาทต่อเดือน

โครงการต่อไปที่จะทำคือจับมือพันธมิตรธนาคารกรุงไทยทำระบบเรียกเก็บเงินภาษีให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เริ่มต้นจากเก็บ “ภาษีที่ดิน” ซึ่งเริ่มปีนี้เป็นปีแรก

ข้อได้เปรียบของไปรษณีย์ไทยคือความใกล้ชิดและผูกพันกับชุมชน

แนวคิดคือปกติหน่วยงาน อปท. จะต้องส่งเอกสารแจ้งให้ประชาชนมาชำระภาษีที่ดินทางไปรษณีย์อยู่แล้ว แต่การมาชำระหากจะต้องเดินทางไปชำระที่ อปท. ประชาชนจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ปณท.ร่วมกับ ธ.กรุงไทย จึงเสนอตัวเป็นตัวกลางรับชำระภาษีที่ดินได้ที่ไปรษณีย์ไทยและสาขา ธ.กรุงไทย ทุกแห่ง ภาษีที่ได้รับมา ปณท.จะหักค่าใช้จ่ายการส่งเอกสารเรียกชำระและค่าธรรมเนียมตัวกลาง ส่วนที่เหลือส่งให้กับ อปท.

แนวคิดคล้ายกันนี้ ก่อกิจยังนำไปเจรจากับ “ไมโครซอฟท์” ที่สิงคโปร์ กล่าวถึงช่องว่างในระบบราชการไทยบางแห่งไม่มีบัตรเครดิตขององค์กรรูดจ่ายค่าซอฟต์แวร์ได้เหมือนเอกชน แต่จะต้องมีบริษัทออกบิลเรียกเก็บเงิน ซึ่ง ปณท.เสนอตัวเป็นตัวกลางในระบบนี้เพื่อให้ผู้ซื้อที่ไม่มีบัตรเครดิตทั้งรัฐและประชาชนทั่วไปซื้อซอฟต์แวร์ง่ายขึ้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเจรจาดีล

 

ไอเดียอนาคต ร่วมลงทุนทำ “ร้านกาแฟ” ในที่ทำการ

ก่อกิจยังคิดไกลถึงการหาลำไพ่พิเศษให้กับที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งมักจะมีพื้นที่ว่าง คือการทำ “ร้านกาแฟ” โดยไม่ต้องการให้เช่าที่เท่านั้น แต่ต้องการร่วมลงทุนกับเอกชน เพื่อโอกาสได้รายได้มากกว่าค่าเช่า

โมเดลที่ต้องการคือนำระบบร้านกาแฟเอกชนมาลงในร้านแต่ใช้ชื่อร้านว่า Post Cup ตกแต่งในแบบไปรษณีย์ไทย รายได้ที่ได้แบ่งกันตามตกลง สิ่งที่เอกชนจะได้คือทำเลไปรษณีย์ไทยซึ่งคนในชุมชนรู้จักอยู่แล้ว และทาง ปณท.จะมีพื้นที่ร้านกาแฟที่เปิดเช้ากว่าหรือปิดช้ากว่าเวลาทำการปกติ ใช้ต่อยอดโครงการอนาคต

ขณะนี้บริษัทมีเจรจาร้านกาแฟ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือ Bellinee’s ในเครือซีพี ส่วนอีกเจ้าขอไม่เปิดเผย ทั้งนี้ หากทั้ง 2 เจ้าไม่สามารถจบดีลภายในเดือนตุลาคมนี้ จะเดินหน้าหาพันธมิตรอื่นต่อไป

 

จุดรับพัสดุด้วยตนเอง iBox แก้ปัญหาคนไม่อยู่บ้าน

อีกโมเดลที่กำลังศึกษาอยู่คือโครงการ iBox เป็นตู้ลักษณะคล้ายตู้ล็อกเกอร์ สำหรับให้บุรุษไปรษณีย์นำจ่ายพัสดุในตู้นี้แทนเมื่อผู้รับไม่อยู่บ้าน และให้ผู้รับนำรหัสที่ได้ทางโทรศัพท์ไปไขล็อกตู้รับพัสดุที่ iBox ใกล้บ้านได้ตลอด 24 ชม. ปัจจุบันมีทดลองใช้แล้ว 10 ตู้

ตู้ไปรษณีย์ไทย iBox รับพัสดุได้ด้วยตนเอง

ก่อกิจกล่าวว่าโมเดลเบื้องต้นคือการตอบโจทย์เรื่อง Last Mile มีเป้าหมายขยายเป็น 30,000 ตู้ภายใน 3 ปี (2564-66) ขณะนี้กำลังศึกษารูปแบบ เนื่องจากหวังให้ตู้เหล่านี้เป็นตู้รักษาอุณหภูมิด้วยสำหรับกรณีพัสดุเป็นยารักษาโรคหรือของเน่าเสียง่าย รวมถึงโมเดลค่าใช้จ่ายหากผู้รับมารับพัสดุออกจากตู้ช้ากว่าเวลาที่กำหนด

ส่วนมุมมองอนาคต ตู้ iBox แบบนี้อาจจะพัฒนาไปทำหน้าที่ First Mile ด้วย คือเป็นตู้ส่งพัสดุด้วยตนเอง และจะไปผูกกับร้านกาแฟ ณ ที่ทำการ ปณ.ดังกล่าว คืออาจจะมีตู้ iBox ที่ร้านกาแฟและสามารถชำระค่าส่งไปรษณีย์กับแคชเชียร์ร้านกาแฟได้เลย

 

ห่วงเอกชน “ทุ่มตลาด” ระยะยาวเกิดปัญหา

ปิดท้ายในแง่การทำตลาดลูกค้ารายย่อย ก่อกิจกล่าวว่าตลาดปัจจุบันแข่งขันดุเดือดจริง โดยเฉพาะเรื่องสงครามราคา ทำให้ ปณท. ต้องลดราคาลงบ้างแม้จะยังไม่ถึงระดับขาดทุนต่อชิ้น แต่จะทำให้รายได้และกำไรบริษัทลดลง ช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 บริษัททำรายได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท และกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งปีอาจจะต่ำกว่าปีก่อน ด้วยตัวเลขนี้ มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทลดลงเหลือต่ำกว่า 50%

ประเด็นนี้ ก่อกิจแสดงความกังวลต่อการทุ่มตลาดของเอกชน เพราะขณะนี้หลายเจ้าลดราคาต่ำกว่า ปณท. ไป 5-10 บาทต่อชิ้นซึ่งอาจจะเป็นราคาที่บิดเบือนความเป็นจริง

“การแข่งขันเยอะเราโอเคนะ แต่ที่ไม่โอเคคือการทุ่มตลาด มองระยะยาวผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ Grab ควบรวมกิจการ Uber ทำให้เหลือเจ้าเดียวที่ทำธุรกิจประเภทนี้และเป็นคนกำหนดราคาได้ อนาคตอาจจะเห็นการควบรวมแบบนี้เหมือนกันในธุรกิจขนส่ง” ก่อกิจกล่าว “ดังนั้นมองว่าควรจะต้องมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแล เหมือนกับสัญญาณโทรคมนาคมหรือพลังงาน ถ้ายึดโมเดลคล้ายกับต่างประเทศ หน่วยงาน กสทช. น่าจะเป็นผู้ดูแล”

ระหว่างร้องเรียนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอยู่ ไปรษณีย์ไทยก็ยังต้องแข่งด้วยอาวุธเท่าที่ตนเองมีไปก่อน โดยจุดแข็งที่สุดที่ก่อกิจมองเห็น ก็ต้องย้อนกลับไปที่ DNA ที่บ่มเพาะมาตลอด 137 ปีและความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้บุรุษไปรษณีย์เป็นพนักงานประจำ อยู่กันยาวๆ ในพื้นที่ รู้จักบ้านทุกหลังและคนทุกคนเหมือนเป็น “ญาติ” คนหนึ่งของชุมชนนั่นเอง

]]>
1291377
ไปรษณีย์-เคอรี่ว่าไง ! แฟลช เอ็กซ์เพรส ร่วมชิงเค้กขนส่งพัสดุ มูลค่า 7 แสนล้าน รับถึงบ้าน 45 บาท https://positioningmag.com/1169456 Thu, 10 May 2018 11:18:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1169456 แม้จะมีผู้เล่นในตลาดไม่น้อย แต่ตลาดขนส่งพัสดุของไทยมูลค่า 7 แสนล้านบาท ก็ยังหอมหวนในสายตาผู้ประกอบการรายใหม่อย่าง แฟลช เอ็กซ์เพรส ที่ประเมินแล้วว่า อัตราเติบโตไม่น้อยกว่า 20%

คมสันต์ แซ่ลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุทั่วประเทศของไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มของตลาดขนส่งพัสดุในไทยมีมูลค่าประมาณ 700,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นปีละกว่า 20% 

โดยในช่วงเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดขนส่งพัสดุรายย่อยในไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-20% ต่อปี ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ในรูปแบบค้าปลีกค้าส่ง ที่ในแต่ละปีเติบโตสูงถึง 30%

คมสันต์ แซ่ลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด

ทำให้คมสันต์ ซึ่งอดีตเคยมีธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมาก่อน จึงก่อตั้งธุรกิจขนส่งรายย่อย โดยมีคนไทยถือหุ้นหลัก 70% และทุนจีนถือหุ้น 30% โดยใช้เงินลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท ให้บริการส่งพัสดุ เปิดตัวบริการเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2561 นี้ จากนั้นจะเพิ่มบริการให้ลูกค้าได้ใช้คลังสินค้า เป็นต้น จากนั้นจะขยายตลาดอาเซียนและการจัดการบริการทางการเงินด้วย เป็นต้น

ช่วงแรกจะให้บริการใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ โดยลงทุนเปิดสาขาเอง ไม่มีการขายไลเซนส์หรือแฟรนไชส์ และมีคลังสินค้าอยู่ที่จตุโชติ ตั้งเป้าหมายจะมีคลังสินค้าภาคละ 1 แห่ง 

ปัจจุบันเริ่มทดลองตลาดให้บริการเฉลี่ย 200-300 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 5,000 ชิ้นต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-30% วัน ในปีที่ 2 และ 3 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท ในปีแรก และเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี และสูงถึง 4,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-30% วัน ในปีที่ 2 และในอีก 5 ปีข้างหน้า และวางแผนที่จะเข้ารับพัสดุได้ครอบคลุมทั่วประเทศ 77 จังหวัดในอนาคต

พัฒนารูปแบบการส่งพัสดุแบบ Non-stop คือให้บริการจัดส่งพัสดุแก่ลูกค้า 365 วัน ไม่มีวันหยุด เพื่อสนับสนุนธุรกิจ E-Commerce ที่กำลังเติบโต รวมถึงบริการรับฝากพัสดุที่คลังสินค้าฟรี ตอบสนองความต้องการพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

สิ่งที่จะเป็นจุดแข็ง คือ ทีมงานที่มีประสบการณ์ในวงการขนส่งพัสดุทั้งในประเทศและเคยร่วมงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีกับบริษัทอาลีบาบา และอาลีเพย์ 

ที่สำคัญ คือ การรับพัสดุถึงบ้านของลูกค้าฟรีโดยที่ลูกค้าไม่ต้องมาที่ศูนย์ส่งเหมือนแบรนด์อื่นๆ เริ่มต้นที่ราคา 45 บาท สามารถจัดส่งพัสดุถึงมือลูกค้าได้ในวันถัดไป

โดยแฟลช เอ็กซ์เพรส ตั้งเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นท็อปทรีภายใน 3 ปีจากนี้ จากนั้นโมเดลในไทยไปเปิดให้บริการขนส่งพัสดุ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน.

]]>
1169456
น้องๆ เซเว่นฯ ! “Kerry” ลุยเพิ่มจุดรับส่งสินค้าถี่ยิบ 2,300 จุด รับอีคอมเมิร์ซเดือด ดันธุรกิจส่งวัสดุโต 2 หมื่น https://positioningmag.com/1152627 Thu, 04 Jan 2018 09:09:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1152627 มีการประเมินว่าตลาดการขนส่งพัสดุมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท ถือเป็นเป็นอีกหมวดธุรกิจที่มี “ขนาดใหญ่” ไม่ใช่เล่น และนับวันแนวโน้มการเติบโตของตลาดมีแต่จะ “เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย” เพราะถ้าไปดูตัวเลขของบรรดาผู้ประกอบการในตลาด ไม่ว่าจะเป็น เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, ไดนามิค แมนเนจเม้นท์ หรือ ม้าขาว ของซีพีออลล์ เจ้าตลาดอย่างไปรษณีย์ไทย รวมถึง Black Cat หรือ แมวดำ ของเอสซีจีและพันธมิตร นิชิเร โลจิสติกส์ (ญี่ปุ่น) ก็ล้วนมีทิศทางการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะ 3 รายแรก รายได้และกำไรโตแบบ “ก้าวกระโดด”

เมื่อ “ขุมทรัพย์” การส่งพัสดุด่วนมีมูลค่ามหาศาล ทำให้ผู้ประกอบการต้องติด “สปีด” ขยายธุรกิจ เพื่อช่วงชิงโอกาสให้เร็วกว่าคู่แข่งในสมรภูมิเดียวกัน

หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ ที่เปิดเกมรบรุกตลาดให้บริการส่งพัสดุด่วนรับศักราชใหม่ปี 2561 ต้องยกให้ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ที่ประกาศเดินหน้าเปิดจุดให้บริการจัดส่งพัสดุใหม่ เพื่อตอบโจทย์การส่งสินค้าแบบบุคคลถึงบุคคล หรือเรียกว่า เอ็กซ์เพรส พาร์เซลชอป และร่วมกับพันธมิตรเปิดจุดบริการในห้างรวมกว่า 2,300 แห่ง จากปัจจุบันมีจุดที่ให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไปมาใช้บริการส่งพัสดุทั้งสิ้นกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ และยังเตรียมเปิดศูนย์กระจายสินค้าย่อยอีกกว่า 300 แห่งด้วย เพิ่มจากปัจจุบันมีศูนย์ฯกว่า 600 แห่งทั่วทุกจังหวัด

การชิงจังหวะดังกล่าว เพื่อเป็นการขยายตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายทุกที่ทั่วไทยยิ่งขึ้น และยังเป็นรับการแข่งขันส่งพัสดุด่วนที่ทวีความรุนแรงทุกขณะ

อานิสงส์ที่ทำให้การส่งพัสดุด่วนเติบโต มาจากหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญ คือ  ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การขายสินค้าผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งบนมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ Lazada, 11street, shopee ตลอดจนโซเชียลคอมเมิร์ซอย่าง Facebook, Line, Instagram เป็นต้น ชนิดที่ได้เห็นแม่ค้าแม่ขายโพสต์กองพัสดุมหึมาอยู่บ่อยครั้ง

เคอรี่ ประเมินแล้วว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซนับวันจะยิ่งแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้อัตราเติบโตสูงตามไปด้วย จึงอัดฉีดเงินหลายพันล้าน เพื่อขยายงานล่วงหน้าถึง 2 ปี ทั้งการเพิ่มเครือข่ายจุดรับส่งพัสดุ รวมถึงการเพิ่มรถจากปี 2560 ที่ผ่านมา เคอรี่ฯ มีรถส่งสินค้าทั้งรถทรัค จักรยานยนต์กว่า 6,500 คัน

รวมถึงยังเพิ่มศูนย์คัดแยกสินค้าขนาดใหญ่เพิ่ม 3 แห่ง และขยายศูนย์คัดแยกสินค้าบางนา กม.19 ในเฟส 2 ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่ใช้สอยรวมมากกว่า 36,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยสร้างเสร็จพร้อมใช้งานได้ในเดือนมีนาคมนี้ อนาคตพื้นที่ดังกล่าวยังรองรับการขยายศูนย์คัดแยกสินค้าได้อีกกว่า 40,000 ตารางเมตรด้วย

อเล็กซ์ อึ้ง ผู้อำนวยการบริหารสายงานธุรกิจรับ-ส่งพัสดุ เคอรี่ โลจิสติกส์กรุ๊ป ประจำสาขาประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดส่งพัสดุที่มีศักยภาพสูง บริษัทจึงให้ความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางสำหรับการบริหารจัดการเครือข่ายของเคอรี่ในภูมิภาคทั้งฮ่องกง, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย รวมถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างภายในองค์กร ระบบปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ใช้ในตลาด ล้วนออกแบบ พัฒนา และประยุกต์ใช้โดยสำนักงานในประเทศไทย โดยจะเพิ่มพนักงานอีก 100 อัตรา

ขณะที่บริการในไทยเรียกว่ากินรวบเกือบทุกตลาด ตั้งแต่ธุรกิจถึงบุคคล เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายค่ายโฮมช้อปปิ้งต่างๆ และอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจส่งถึงธุรกิจ (B2B) จับกลุ่มลูกค้าองค์กร ภาคธุรกิจต่างๆ ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 1,000 ราย ครอบคลุมธนาคาร สำนักงานกฎหมาย ร้านค้าปลีก ขายตรง ส่งสินค้าต่างประเทศ บริการส่งสินค้าจากบุคคลถึงบุคล ผ่านพาร์เซลชอป ตลอดจน แบงคอค เซมเดย์ ที่ส่งสินค้าภายในวันเดียว เป็นต้น

ปัจจุบัน บริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด มีจุดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไปกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ และศูนย์กระจายสินค้าอีกกว่า 600 แห่งอยู่ในทุกจังหวัด เพื่อให้ส่งได้ในวันถัดไป มีอัตราการจัดส่ง หลักแสนชิ้นต่อวัน อัตราความสำเร็จในการจัดส่งพัสดุถึงมือผู้รับในครั้งแรกอยู่ระดับ 97% ส่วนพัสดุที่ไม่สามารถจัดส่งได้มีไม่ถึง 1% ของจำนวนพัสดุทั้งหมด โดยวางจุดขายของการจัดส่งพัสดุด่วนภายในวัน ในเขตกรุงเทพฯ หรือเรียกว่า แบงคอค เซมเดย์ (Bangkok Sameday) อีกด้วย

เพื่อตอกย้ำว่าธุรกิจส่งพัสดุด่วนเป็น “ขาขึ้น” อย่างแท้จริง ผลการดำเนินงานคงตอบได้ดี

  • ปี 2559 บริษัทมีรายได้รวมมากกว่า 3,228 ล้านบาท เติบโต 112.44% 
  • ปี 2558 มีรายได้กว่า 1,519 ล้านบาท เติบโต 182.79% 
  • ปี 2557 มีรายได้กว่า 537 ล้านบาท 
]]>
1152627