เทียบฟอร์ม Flash VS Kerry ยูนิคอร์นไฟเเรงกับเเบรนด์หุ้น IPO ในสงครามขนส่ง ‘ตัดราคา’

ธุรกิจขนส่งพัสดุ’ ในไทย เติบโตตามอีคอมเมิร์ซที่พุ่งพรวดในวิกฤตโรคระบาด เเบรนด์เล็กเเบรนด์ใหญ่ งัดสารพัดวิธีครองใจลูกค้า ทั้งทุบราคา ยกระดับบริการ ขยายสาขา เเย่งชิงพนักงาน อัดโฆษณาโหมพรีเซ็นเตอร์

ไม่กี่วันที่ผ่านมา สงครามของธุรกิจนี้ก็ดุเดือดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อน้องใหม่ค่ายสีเหลืองที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 3 ปีกว่าๆ อย่าง ‘Flash Express’ (แฟลช เอ็กซ์เพรส) เขย่าบัลลังก์เจ้าตลาด ด้วยการปิดระดมทุนได้ 4,700 ล้านบาท ขึ้นเเท่นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกของคนไทย

ดีลนี้เป็นหมัดหนักที่สะเทือนคู่เเข่งค่ายสีส้มอย่าง ‘Kerry Express’ (เคอรี่ เอ็กซ์เพรส) ได้ไม่น้อย หลังโดนตีตื้นจนอยู่ไม่สุขมานาน ไปจนถึงสร้างความกังวลใจให้พี่บิ๊กเบอร์หนึ่งอย่างไปรษณีย์ไทย ที่ต่อไปนี้ต้องดิ้นรนหาอะไรมาสู้บ้างเพื่อไม่ให้โดนเเซงไปได้ในที่สุด

เเบรนด์เก๋าติดตลาด ปะทะ ยูนิคอร์นไฟเเรงเฟร่อ 

Kerry ดำเนินกิจการในประเทศไทยมาตั้งเเต่ปี 2549 เพิ่งระดมทุนหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อช่วงปลายปี 2563 ภายใต้ชื่อ KEX มีมูลค่าบริษัทล่าสุดอยู่ที่ราว 75,000 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 13,565.35 ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,185.10 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 19,894.60 ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,328.55 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 19,010.05  ล้านบาท กำไรสุทธิ  1,405.02 ล้านบาท

ส่วน Flash เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาด ก่อตั้งเมื่อปี 2560 เพิ่งระดมทุนซีรีส์ D และ E ได้สำเร็จ เป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่ากิจการเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 31,000 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 47 ล้านบาท ขาดทุน 183 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,123 ล้านบาท ขาดทุน 1,666 ล้านบาท
ปี 2563 ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เเต่จากข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า บริษัทมียอดส่งรวมทั้งปี 2563 มากกว่า 300 ล้านชิ้น หรือเติบโตขึ้นกว่า 500% ทำให้คาดว่าจะมีรายได้รวมจะเยอะขึ้นหลายเท่าตัว

ดังนั้น Kerry จึงมีมูลค่าบริษัทมากกว่า Flash กว่าสองเท่า เเต่ตอนนี้กำลังประสบภาวะราคาหุ้นขาลง(วันที่ 4 มิ.ย. อยู่ที่ราว 40 บาท) ผลประกอบการยังทำกำไรสุทธิในช่วงโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้น เเต่ในส่วนรายได้ลดลง จากการปรับราคาต่อพัสดุเชิงรุกและการเจาะกลุ่มตลาดจัดส่งราคาประหยัด ชี้ให้เห็นสัญญาณการเเข่งขันในตลาดที่คู่เเข่งกำลังไล่เบียดมาติดๆ

ส่วน Flash กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น’ รายได้พุ่งสูงเเต่ยังขาดทุน ตามเเบบฉบับของสตาร์ทอัพที่ต้องเผาเงินเพื่อเอาฐานลูกค้า โดยมีจุดเเข็งคือการเป็น ‘ดาวรุ่งเนื้อหอม’ ที่มีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทระดับท็อปของไทย ต่างมุ่งหวังผลักดัน ยูนิคอร์นตัวนี้ให้มีอนาคตไกล

ชิงเเต้มต่อ ‘เเบ็กอัพใหญ่’ 

คมสันต์ แซ่ลีซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Flash Express ยืนยันว่า ธุรกิจของเขาเป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งและดำเนินงานโดยคนไทยไม่ใช่กลุ่มทุนต่างชาติเเม้ช่วงเเรกๆ จะมีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เเต่ในการระดมทุนซีรีส์ D และ E เป็นนักลงทุนจากไทยมากขึ้น

เมื่อพูดถึงเเบ็กอัพของ Flash ก็ต้องบอกว่าเป็นบริษัททุนหนาที่มีเงินลงทุนในมือหลายหมื่นล้าน มุ่งหา New Business เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจเดิม หลีกหนีการถูกดิสรัปต์ในยุคใหม่

เริ่มจาก SCB 10X บริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ปลุกปั้นขึ้นมาเพื่อพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีเเละลงทุนในธุรกิจใหม่ มีเป้าหมายลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลก การมีส่วนสร้างยูนิคอร์นในไทยคือหนึ่งในภารกิจหลัก ซึ่งการได้ Flash มาเป็นลูกรัก ก็คงจะได้เห็นการต่อยอดร่วมกันอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะบริการทางการเงิน 

ถัดมาคือบิ๊กพลังงานอย่าง OR บริษัทลูกของ ปตท. ที่เพิ่งขายหุ้น IPO สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การจับมือกับ Flash จะช่วยขยายอีโคซีสเต็มได้ดี ทำให้ปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ทั่วประเทศมาเป็นศูนย์กระจายสินค้าเเละจุดรับส่งพัสดุภายในร้าน Café Amazon เป็นการเพิ่มทราฟฟิกลูกค้าไปในตัว รวมไปถึงการบริการน้ำมันให้กับรถขนส่งของ Flash ที่มีมากกว่าหมื่นคัน

นอกจากนี้ยังมีกรุงศรีฟินโนเวตในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) อีกเเบงก์ที่มอบทุนก้อนใหญ่ให้สตาร์ทอัพ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง E-commerce Ecosystem ที่สมบูรณ์ในเมืองไทยร่วมกัน เเละ Durbell ธุรกิจกระจายสินค้าในเครือกลุ่ม TCP เจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง สปอนเซอร์ ฯลฯ ที่มาช่วยเสริมเเกร่งกันในด้านโลจิสติกส์ให้พร้อมขยายต่อไปในอาเซียน

ส่วน Kerry Express มีบริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ถือหุ้นใหญ่ ตามมาด้วย บมจ. วีจีไอ (บริษัทที่แยกออกมาจาก BTS) เเละกัลฟ์ โฮลดิ้งส์ โดย Kerry ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่ทำกำไรให้กับเครือ BTS 

สงคราม ‘ตัดราคา’ เปิดสาขาที่ไหน…ไปด้วย 

Kerry Express บุกเบิกตลาดขนส่งพัสดุโดยเอกชนรายเเรก เป็นช่วงโอกาสธุรกิจที่ไปรษณีย์ไทย ณ ขณะนั้น ยังไม่ทรานส์ฟอร์มองค์กร ประเดิมด้วยการจัดส่งแบบ ‘Next Day’ เเละเป็นเจ้าแรกที่ให้บริการรับชำระเงินปลายทาง 

ผู้บริหาร Kerry เคยให้สัมภาษณ์กับ Positioning ว่าต้องการขยายจุดส่งพัสดุให้เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด จากตอนนี้ที่มีจุดให้บริการตามถนนสายหลักต่อไปจะเข้าไปหาลูกค้าตามซอกซอยให้ได้

ทั้งนี้ จุดให้บริการราว 15,000 ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศนั้น เป็นสาขาที่เคอรี่ดำเนินการเองราว 2,000 เเห่ง เป็นการจับมือกับพันธมิตรอีก 3,000 เเห่ง เเละที่เหลืออีกกว่า 1 หมื่นเเห่งเป็นสาขาของ SME รายย่อย มีจำนวนรถรับส่งพัสดุราว 25,000 คัน มียอดจัดส่งราว 1.9 ล้านชิ้นต่อวันทำการ ส่วนในไตรมาส 1/64 ปริมาณพัสดุเพิ่มสูงขึ้น 13% (หากเทียบกับไตรมาส 1/63)

เมื่อถามถึงการเเข่งขันด้านราคาที่หลายคนมองว่า Kerry อาจจะมีค่าบริการที่สูงกว่าเจ้าอื่นในตลาดนั้น ผู้บริหารตอบว่า บริษัทมีการดูเเลเรื่องนี้โดยตลอด เช่นการจัดเรตราคาตามหมวดหมู่ของสินค้า โดยอยากให้ผู้บริโภคเห็นถึงคุณภาพในการจัดส่งว่ามีความชัวร์เเละคุ้มค่า ในราคาที่ไม่เเพงไปกว่ากันมากนัก 

ท่ามกลางคู่แข่งที่เต็มไปหมด การบริการขยับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ Kerry ไม่อาจดำเนินกลยุทธ์เเบบที่เคยทำสมัยบุกเบิกตลาดได้ จึงต้องหาลูกเล่นใหม่ๆ มาทดลองตลาด อย่างการสร้างแบรนด์ให้เป็น Lifestyle & Creative Logistics ขณะที่บริษัทหน้าใหม่ๆ เน้นใช้การ ‘ตัดราคาเป็นตัวนำในการเจาะธุรกิจนี้

Flash Express ก็ใช้กลยุทธ์เรื่องราคา มาจับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการลดต้นทุนการส่ง ด้วยการเป็นเจ้าเเรกที่ ‘รับพัสดุฟรีถึงที่ตั้งแต่ชิ้นแรก ให้บริการ 365 วันไม่หยุด’ ไม่ว่าลูกค้าจะส่งที่ช็อป หรือเรียกให้ไปรับ ค่าบริการไม่บวกเพิ่ม โดยในปี 2564 บริษัทมีจำนวนพัสดุเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 ล้านชิ้น เติบโตจากเดิมที่มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน

ตลาดขนส่งพัสดุในปีนี้ยังจะมีการแข่งขันกันใน 3 เรื่องหลัก คือ ราคา คุณภาพ และความคุ้มค่าในการให้บริการ ซึ่งน่าจะเป็น 3 เรื่องหลักที่ผู้เล่นทุกรายในตลาดยังคงต้องโฟกัส รวมไปถึงเรื่องความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการที่สุด

เเละตอนนี้ไม่ใช่เเค่คู่ปรับอย่าง Kerry เเละ Flash เท่านั้น ขนส่งเอกชนยังต้องสู้กับ J&T Express , Nim Express , SCG Express , Ninja Van เเละเจ้าอื่นๆ ที่พร้อมตัดราคากันเพื่อเเย่งลูกค้า ไม่เว้นเเม้เเต่ไปรษณีย์ไทย โดยมีราคาเริ่มต้นที่ราว 18-30 บาท

ส่วนใครขยายสาขาไปที่ไหน ก็พร้อมเฮตามกันไปที่นั่น เราจึงได้เห็นร้านข้างๆ กันที่มีทั้งค่ายสีส้ม สีเหลือง สีเเดง ฯลฯ โดยเริ่มขยายเป็นโมเดลแฟรนไชส์ ธุรกิจ Drop-Off มากขึ้น เพราะบริษัทเจ้าของเเบรนด์ไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก

ขณะเดียวกัน Lazada เเละ Shopee ก็เป็นสองคู่เเข่งที่น่ากลัว เมื่อเจ้าของอีมาร์เก็ตเพลส ลงสนามมาเล่นธุรกิจขนส่งด้วยตัวเอง ดังนั้นก็มีเเนวโน้มที่จะ ‘จัดสรรพัสดุ’ ที่สั่งในเเพลตฟอร์มตัวเองมา ‘ส่งเอง’ ได้ด้วย

สตอรี่ ‘นักสู้’ กลายมาเป็นอีกหนึ่งจุดขาย 

ที่ผ่านมาธุรกิจโลจิสติกส์มักเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์มาเพื่อสื่อสารเเบรนด์ เน้นเป็นพระเอกดังที่ผู้คนรู้จักกันดี มีคาเเร็กเตอร์เป็นสายลุย น่าเชื่อถือ อย่าง Kerry Express ที่เลือกเวียร์ศุกลวัฒน์ คณารศ , Flash Express ที่เลือก ติ๊กเจษฎาภรณ์ ผลดี , BEST Express ขนส่งสัญชาติจีนที่เลือก ณเดชน์ คูกิมิยะ หรือ J&T Express ที่เลือกมาริโอ้ เมาเร่อ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

ตอนนี้มีกิมมิกเล็กๆ เเต่น่าสนใจคือชีวิตของซีอีโอก็มาเป็นจุดขายของเเบรนด์ได้เหมือนกัน อย่างเรื่องราวการสู้ชีวิตของคมสันต์ แซ่ลีนักธุรกิจหนุ่มวัย 29 ปี จากดอยวาวี จังหวัดเชียงราย ผู้ก่อตั้ง Flash Express ด้วยคาเเร็กเตอร์ ‘กล้าคิด กล้าทำ มุ่งมั่น’

การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถปั้นธุรกิจ 3 ปีกว่าๆ ให้โตไปถึงระดับเป็นยูนิคอร์น กลายเป็นเเรงบันดาลใจให้ใครหลายคน สร้างการรับรู้เเละภาพจำให้คนรู้จักเเบรนด์มากขึ้น นอกจากนี้ ทักษะการนำเสนอที่ดี ความฉลาดเเละการสู้ไม่ถอย ก็มีส่วนที่ทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นและยอมให้เงินลงทุนด้วย

เเต่สงครามธุรกิจขนส่งพัสดุยังต้องสู้กันอีกยาวไกล นี่จึงเป็นเเค่การเเข่งขันยกใหม่ พร้อมเงินทุนก้อนใหม่เท่านั้น…ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไป