ตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้ง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 09 Jan 2020 06:04:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เพิ่มช่องทีวี 24 ชม. รุกดิจิทัล ปรับโครงสร้างพนักงาน : กลยุทธ์ TV Direct ยุค CEO คนใหม่ https://positioningmag.com/1259773 Wed, 08 Jan 2020 16:37:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259773
  • TVD-ทีวี ไดเร็ค ยุคซีอีโอคนใหม่ รับเผือกร้อนฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ ชี้ตลาดธุรกิจโฮมช้อปปิ้งปี 2562 โต 7-8% น้อยที่สุดในรอบทศวรรษ คาดปีนี้ลดการเติบโตลงอีกเหลือ 3-5%
  • TVD วางเป้าเติบโตกว่าตลาดเล็กน้อยที่ 5-7% เน้นการทำกำไร เปิดกลยุทธ์เพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้า เพิ่มช่องทีวีขายสินค้า 24 ชม. รุกดิจิทัลมากขึ้น รัดเข็มขัดเลย์ออฟพนักงานส่วนงานที่ซ้ำซ้อน
  • ฐานลูกค้า “แม่บ้านสูงวัยในต่างจังหวัด” ยังเป็นลูกค้าหลัก แต่ที่กำลังมาแรงคือ “ผู้ชายสูงวัย” ด้วยพฤติกรรมซื้อของชิ้นใหญ่ จ่ายหนัก ตัดสินใจเร็ว
  • ปลายปี 2562 บมจ.ทีวี ไดเร็ค หรือ TVD เพิ่งแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้บริหารองค์กร โดยดัน “ทรงพล ชัญมาตรกิจ” ขึ้นเป็นกรุ๊ปซีอีโอของทั้งเครือ เพื่อให้ทุ่มเวลาไปกับการปั้นธุรกิจกลุ่ม B2B ของบริษัท และให้ “ธนะบุล มัทธุรนนท์” ลูกหม้อที่ทำงานในบริษัทมาสิบปี ขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บมจ.ทีวี ไดเร็ค และ บริษัท ทีวีดี ช้อปปิ้ง จำกัด ซึ่งทำธุรกิจ B2C ธุรกิจที่เป็นรากฐานของบริษัทตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2542

    “ธนะบุล มัทธุรนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ บมจ.ทีวี ไดเร็ค มีผล 1 ม.ค. 63

    ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งซึ่งทีวี ไดเร็คเป็นผู้นำตลาดได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน โดยธนะบุล ซีอีโอหมาดๆ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดปี 2562 อยู่ที่ 14,000 ล้านบาท เติบโต 7-8% จากปีก่อนหน้า ตัวเลขอาจจะสูงกว่าเศรษฐกิจโดยรวม แต่เป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ จากที่ผ่านมาธุรกิจโฮมช้อปปิ้งโตดับเบิลดิจิตทุกปี

    (ที่มา: ธนะบุล มัทธุรนนท์ ซีอีโอ บมจ.ทีวี ไดเร็ค)

    สาเหตุที่โฮมช้อปปิ้งชะลอตัว ธนะบุลมองว่ามาจากทั้งสภาพเศรษฐกิจเอง และสถานการณ์ช่องทีวีดิจิทัลปิดตัว ทำให้ธุรกิจนี้ขาดช่องทางทำการตลาด อย่าง TVD เองเคยมีสล็อตเวลาโฆษณาอยู่มากกว่า 10 ช่องทีวีดิจิทัล ปัจจุบันลดเหลือ 7 ช่องเท่านั้น

    ส่วนปี 2563 ซีอีโอ TVD เชื่อว่าจะยิ่งชะลอตัวลงอีก โดยคาดว่าจะเติบโตที่ 3-5% เท่านั้น จากปัจจัยลบเดิมที่สืบเนื่องมาจากปีก่อน

    กางแผน TVD ปี 2563

    จากสถานการณ์ธุรกิจอันท้าทาย โจทย์ของบอร์ดบริหารปีนี้ที่ส่งให้ธนะบุลเป็นโจทย์สั้นๆ ชัดเจนคือ “รายได้และกำไรต้องดีกว่าปีก่อน”

    “เป้ารายได้คาดว่าจะโตใกล้เคียงตลาดหรือดีกว่าเล็กน้อย ประมาณ 5-7% แต่ไปเน้นที่ bottom line (กำไรสุทธิ) ต้องดีขึ้นกว่าปีก่อน” ธนะบุลกล่าว ทั้งนี้ ปี 2562 ทีวี ไดเร็คเคยประกาศเป้ารายได้ไว้ที่ 4,450 ล้านบาท ส่วนรายได้รวม 3 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 3,237 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 19.86 ล้านบาท

    โฆษณาเว็บไซต์ tvdirect.tv ช่องทางขายออนไลน์ของ TVD (photo: YouTube@ TV Direct Public Company Limited)

    ปี 2563 TVD จึงวาง กลยุทธ์ธุรกิจ ใน 3 ด้าน ดังนี้

    1. เพิ่มช่องและเช่าเวลาทางทีวี เพิ่มพนักงาน Outbound Call Center (โทรหาลูกค้าโดยตรง) – โดยจะเพิ่มช่องทีวีขายสินค้า 24 ชั่วโมง ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมอีก 3 ช่อง รวมถึงเช่าเวลาโฆษณา ทั้งทางทีวีดาวเทียมและทีวีดิจิทัลอีก เพื่อทดแทนช่วงเวลาที่หายไปหลังทีวีดิจิทัลคืนช่องเมื่อปีก่อน ส่วน Outbound Call Center จะรุกหนักมากขึ้น โดยมีการเพิ่มพนักงานแล้ว 150 คนตั้งแต่ปลายปี 2562

    ส่วนแผนการซื้อช่องทีวีดิจิทัล หลังเมื่อต้นปี 2562 ดีลซื้อช่องสปริงนิวส์ต้องพับไปเนื่องจากเจรจาไม่ลงตัว ธนะบุลตอบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าบริษัทมีความสนใจเพราะ “การมีบ้านของเราเองนั้นอุ่นใจกว่า” แต่ทั้งนี้ดีลก็ต้องคุ้มค่ากับการลงทุน และต้องเป็นดีลที่ทีวี ไดเร็คได้ถือหุ้นส่วนใหญ่เท่านั้น

    2. รุกดิจิทัล ขายออนไลน์ หน้าร้านรีเทลขายผ่านแอปฯ แคตตาล็อกสินค้าปีที่ผ่านมา ช่องทางออนไลน์ของทีวี ไดเร็คมียอดขายเติบโต 23% ทำให้จะรุกตลาดส่วนนี้มากขึ้น ปัจจุบันยอดขายออนไลน์ของบริษัทมาจาก เว็บไซต์ tvdirect.tv 60% และมาจากมาร์เก็ตเพลซ เช่น Lazada, Shopee อีก 40% รวมถึงมีการขายแบบ Omnichannel โดยมีหน้าร้านออฟไลน์ให้ลูกค้าเข้ามาสัมผัสสินค้า หน้าร้านรีเทลเหล่านี้ พนักงานขายจะใช้แอปพลิเคชันแคตตาล็อกออนไลน์ร่วมด้วยเพื่อแสดงสินค้า

    “จุดเด่นของเราคืออยู่ในตลาดมานาน คนรู้จักแบรนด์ทีวี ไดเร็ค รู้จักคนที่ขายของให้ มีออฟฟิศติดต่อ รับประกันความพึงพอใจสินค้า ทำให้ไว้ใจได้มากกว่าการสั่งซื้อของ cross boarder มาจากจีน” ธนะบุลตอบต่อประเด็นว่าทีวี ไดเร็คจะต่อสู้กับสินค้าออนไลน์ที่ทะลักมาจากจีนได้อย่างไร

    ร้าน TVD Shop สาขาโรบินสัน ราชบุรี (photo: Facebook@TVDirect)

    3. ลดภาระค่าใช้จ่าย รีดไขมันองค์กร – ส่วนสุดท้ายคือการจัดการภายในองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่ายซึ่งจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น ธนะบุลคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้ 5-10% หลังจัดระเบียบลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน จะส่งผลให้ต้องเลย์ออฟพนักงานบางส่วนออกไป โดยปัจจุบันเฉพาะทีวี ไดเร็ค และทีวีดี ช้อปปิ้ง มีพนักงาน 1,044 คน แต่ถ้ารวมทั้งกลุ่มบริษัทมีกว่า 1,400 คน

    “ออนไลน์” ความหวังใหม่ที่ยังรอลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม

    ปัจจุบันยอดขายทีวี ไดเร็ค ยังมีช่องทางหลัก 70% จากลูกค้าที่โทรตรงเข้ามาซื้อจากการชมโฆษณาทางทีวี อีก 20% เป็นการซื้อจาก Outbound Call Center และ 10% จากช่องทางออนไลน์ แต่ช่องทางออนไลน์นั้นกำลังเติบโต โดยปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 15% ในสัดส่วนยอดขายรวม

    หากมาดู กลุ่มลูกค้า ของทีวี ไดเร็ค 6 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ 80-90% เป็นผู้ใหญ่วัย 40 ปีขึ้นไป และ 70% อยู่ในต่างจังหวัด ทำให้พฤติกรรมลูกค้ายังไม่ถนัดการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์

    อย่างไรก็ตาม ลูกค้ากลุ่มนี้สนใจซื้อแบบ Social Commerce ที่ถาม-ตอบกับผู้ขายโดยตรงบนแอปฯ Line หรือ Facebook ทีวี ไดเร็คจึงมีช่องทางเหล่านี้เพื่อเข้าหาลูกค้า แต่จุดที่ยากคือการนำลูกค้ามาคลิกซื้อผ่านเว็บไซต์ ซึ่งต้องให้เวลาลูกค้าปรับพฤติกรรมมากกว่านี้ ขณะนี้ผู้ซื้อส่วนใหญ่บนช่องทางออนไลน์จึงเป็นกลุ่มลูกค้าอายุต่ำกว่า 40 ปีซึ่งถือเป็นกลุ่มใหม่ของทีวี ไดเร็ค

    ปรับสินค้าใหม่ : ผู้ชาย ไซส์เล็ก สินค้าซื้อซ้ำ

    มาที่ตัวสินค้ากันบ้าง สินค้าของทีวี ไดเร็คมีหลากหลายมาก โดย 3 อันดับขายดี ขณะนี้คือ เครื่องออกกำลังกาย อาหารเสริม และเสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งหน้าตาของสินค้ากำลังเริ่มปรับเปลี่ยนไปให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และสภาพเศรษฐกิจ

    ธนะบุลระบุว่า ในอดีตลูกค้า TVD 80% เป็นเพศหญิง ซึ่งทำให้สินค้าส่วนใหญ่เลือกให้เหมาะกับผู้หญิง แต่ช่วงที่ผ่านมามีลูกค้าชายเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนใกล้เคียงครึ่งๆ กับผู้หญิงแล้ว ทำให้ TVD ต้องปรับหาสินค้าผู้ชายมาจำหน่ายเพิ่ม

    “เป็นเรื่องที่ดีเพราะผู้ชายมีพฤติกรรมนิยมซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ราคาสูง พวกอุปกรณ์ gadget ต่างๆ และตัดสินใจซื้อง่ายกว่าผู้หญิง จึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่ดีในการทำตลาด” ธนะบุลกล่าว

    ในขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจก็ทำให้ทีวี ไดเร็คต้องปรับพอร์ตสินค้าด้วย โดยจัดแพ็กเกจสินค้าให้เล็กลงเพื่อให้ราคาถูกลงต่อการซื้อหนึ่งครั้ง เช่น เซตหม้อทำอาหาร 4 ชิ้นปรับเหลือเซ็ตละ 3 ชิ้น รวมถึงปรับระยะเวลาผ่อนซื้อให้นานขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นลูกค้า

    นอกจากนี้ จากสถิติมูลค่าการซื้อเฉลี่ย 1,500-1,600 บาทต่อครั้ง ลูกค้าเก่าช้อปปิ้งเฉลี่ยปีละ 1.5-1.6 ครั้ง ธนะบุลมองว่าจะต้องเพิ่มความถี่ในการซื้อของลูกค้า ดังนั้นปีนี้จะเพิ่มรายการสินค้าประเภทซื้อซ้ำ เข้ามาให้มากขึ้น ที่มีจำหน่ายขณะนี้ เช่น กาแฟ อาหารสุขภาพ เครื่องปรุงรส ข้าวกล้อง แชมพู สบู่

    ส่วนในอนาคต ธนะบุลแย้มว่ากำลังปลุกปั้นดีลนำสินค้าประเภท “บริการ” เข้ามาขายผ่านช่องทางที่ทีวี ไดเร็คมีอยู่แล้ว ที่อาจจะได้เห็นในปีนี้คือ “แพ็กเกจโรงแรม” ซึ่งต้องการช่องทางขายให้มากที่สุดท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้

    ]]>
    1259773
    “ทีวีโฮมช้อปปิ้ง” ครึ่งปีหลังยอดร่วง! ผลพวง 7 ช่องทีวีดิจิทัล “ลาจอ” หันพึ่งทีวีดาวเทียม-ออนไลน์ https://positioningmag.com/1243198 Tue, 20 Aug 2019 12:50:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1243198 สื่อทีวีดิจิทัล ถือเป็นหนึ่งในช่องทางนำเสนอสินค้าของธุรกิจโฮมช้อปปิ้งและไดเร็คเซล การปิดฉากทีวีดิจิทัล 7 ช่อง จึงสะเทือนตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งครึ่งปีหลังอยู่ในอาการติดลบ

    ธุรกิจ “ทีวีโฮมช้อปปิ้ง” รายการแนะนำสินค้า มีการนำเสนอ 2 รูปแบบ คือ “โฮม ช้อปปิ้ง” เป็นช่องรายการ 24 ชั่วโมง ทั้งช่องทีวีดาวเทียมและช่องทางออนไลน์ ส่วน “ทีวี ช้อปปิ้ง” คือ การเช่าเวลาหรือซื้อเวลาโฆษณาทางสถานีทีวี เพื่อออกอากาศรายการแนะนำสินค้าเป็นช่วงๆ ปัจจุบัน “ทีวีดิจิทัล” ถือเป็นหนึ่งในช่องทางหลังรายการแนะนำสินค้าของธุรกิจไดเร็คเซล

    ครึ่งปีหลังทีวีโฮมช้อปปิ้งยอดร่วง

    สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก “ทรูซีเล็คท์-ช้อปแชนแนล-โอช้อปปิ้ง-ทีวีดีช้อป-ไฮช้อปปิ้ง-ทีวีไดเร็ค” รายงานธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง 6 เดือนแรก ปี 2562 มีมูลค่า 7,351 ล้านบาท เติบโต 12.11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

    ขณะที่แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดตลาด “ติดลบ” 5.62% หรือมีมูลค่า 6,983 ล้านบาท จากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคและปัจจัยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนช่องยุติออกอากาศ 7 ช่อง ทำให้ช่องทางนำเสนอรายการของทีวีช้อปปิ้งหายไป

    แต่หากย้อนไปช่วง 5 ปีนี้ ธุรกิจทีวีโฮม ช้อปปิ้ง เติบโตมาต่อเนื่อง ปี 2558 มีมูลค่า 8,444 ล้านบาท เติบโต 17.5% ปี 2559 มูลค่า 9,840 ล้านบาท เติบโต 14.2% ปี 2560 มูลค่า 11,670 ล้านบาท เติบโต 15.7% ปี 2561 มูลค่า 13,820 ล้านบาท เติบโต 15.5%

    ทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวว่าการเติบโตของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ช่วงที่ผ่านมามีปัจจัยจากมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 8 (อาร์เอส) เวิร์คพอยท์ทีวี โมโน อมรินทร์ทีวี และผู้ประกอบการทีวีช่องอื่นๆ ที่เริ่มเข้ามาทำธุรกิจนี้

    ทรงพล ชัญมาตรกิจ

    ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการโฮมช้อปปิ้งเอง ก็ได้เข้ามาเช่าเวลาและซื้อเวลาออกอากาศรายการแนะนำสินค้าในช่องทีวิดิจิทัลด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ผู้ชมกลุ่มหลักอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ดังนั้นการยุติออกอากาศทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ซึ่งมีรายการทีวีโฮมช้อปปิ้งออกอากาศอยู่ด้วย จึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดครึ่งปีหลัง ให้อยู่ในภาวะ “ติดลบ” และทำให้ยอดขายทั้งปีของภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ปี 2562 อยู่ที่ 14,334 ล้านบาท เติบโต 11% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

    การทำธุรกิจยุคนี้ คาดเดาตลาดได้ยาก ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งไตรมาสแรกปีนี้ ยังเติบโตได้ดี พอไตรมาส 2 กสทช. เปิดให้ทีวีดิจิทัลคืนช่อง ตลาดเริ่มชะลอตัว และครึ่งปีหลังถึงกับติดลบ

    เช่าเวลาช่องใหม่-ทีวีดาวเทียม-รุกออนไลน์

    ในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาถดถอยเช่นกัน ปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาทีวีมาจาก เอเยนซีที่ดูแลลูกค้ากลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ มีสัดส่วนราว 60% ลูกค้าซื้อตรงกับสถานีทีวี 30% และกลุ่มทีวีโฮมช้อปปิ้ง 10%

    พบว่าเม็ดเงินโฆษณาจากเอเยนซี่ผ่านทีวีลดลง เพราะหันไปใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นธุรกิจโฮมช้อปปิ้งจึงมีโอกาสไปเช่าเวลาและซื้อเวลาโฆษณาในช่องทีวีดิจิทัลที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งหันไปขยายช่องทางทำตลาดผ่านช่องทีวีดาวเทียม ซึ่งในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการรับชมอยู่ที่ 53.26% รวมทั้งช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และมาร์เก็ตเพลสต่างๆ

    ปัจจุบันธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในไทย มีสัดส่วนเพียง 0.1% ของมูลค่าค้าปลีกไทย ขณะที่เกาหลีอยู่ที่ 5% นั่นเท่ากับโอกาสเติบโตได้อีกมาก.

    ]]>
    1243198
    ก่อนจะกลายเป็นของคนอื่น! TV Direct เอา “โอ้ว พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก” กลับมาช่วยสู้ศึกทีวีโฮมช้อปปิ้ง https://positioningmag.com/1227465 Tue, 30 Apr 2019 05:55:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1227465 หากจะถามว่าภาพจำของคนทั่วไปที่มีต่อ TV Direct คืออะไร? แน่นอนคนในวัย 20 กว่าๆ ขึ้นไปคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโอ้ว พระเจ้าจอร์จ มันยอดมากซึ่งเป็นคำพูดที่จอร์จซาร่าใช้พูดบ่อยที่สุดตอนบรรยายสรรพคุณของสินค้า แต่วลีนี้ก็หายไปนานนับ 10 ปี ก่อนจะกลับมาให้เห็นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

    สำหรับจอร์จซาร่าถูก TV Direct ให้นิยามว่าเป็น Asset หรือสินทรัพย์เพราะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ที่หายไปเพราะคนข้างในมีความรู้สึกว่าเบื่อ เลยหันไปใช้อย่างอื่นแทน แต่ความเป็นจริงทั้งคู่ยังถูกลูกค้าถามถึงอยู่เสมอ จน TV Direct รู้สึกว่าก่อนที่ Signature จะกลายเป็นของคนอื่น ควรจะต้องนำกลับมาใช้แล้ว

    หลักๆ ได้ถูกแปลงจากคนไปเป็นตัวการ์ตูน ทำเป็นสติกเกอร์ติดไปกับสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภค Remind ถึง และจะโผล่เข้าไปในฉากกับโฆษณาต่างๆ ส่วนการนำคนมาสวมคาแร็กเตอร์คงจะไม่ได้เห็น เพราะ TV Host ในวันนี้ทำได้เรียลและคนเชื่ออยู่แล้ว

    จอร์จซาร่ากลับมาพร้อมกับความท้าทายของ TV Direct ที่กำลังเจอศึกใหญ่อยู่ เพราะแต่เดิมทีวีโฮมช้อปปิ้งในบ้านเรา มีผู้เล่นอยู่ประมาณ 9 ราย แต่วันนี้กลับมีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนคือทีวีดิจิทัล ซึ่งกำลังเจอภาวะช่องที่เยอะเกินไป เม็ดเงินโฆษณาที่ลดลง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เข้ามากระทบกับรายได้ จึงต้องหาแหล่งอื่นเข้ามาเสริม

    กรณีศึกษาคือช่อง 8” ที่กระโดดเข้ามาแล้วรุ่ง ใช้เวลา 4 ปีสร้างยอดขายจากหลักร้อยล้านบาท สู่ 2,127 ล้านบาท เติบโตกว่า 53% ถึงกับเปลี่ยนหมวดธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์จากหมวดธุรกิจสื่อ ไปยังหมวดธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก ความสำเร็จนี้เองทีวีดิจิลเลยเอาบ้าง

    ในวันนี้จึงมีทั้ง NEW TV, Thairath TV, MONO 29, Workpoint, Bright TV และอีก 3 ช่องในเครือนิวส์ เน็ตเวิร์ค รวมๆ กว่า 9 ช่อง

    ก่อนหน้านี้ TV Direct สนใจทีวีดิจิทัล โดยเจรจากับ Spring News ใช้เงินราว 1,080 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้น สุดท้ายดีลนี้ได้ถูกยกเลิกไป โดย TV Direct ยืนยันจะไม่กลับไปฟื้นดีลใหม่ ใช้วิธีเช่าเวลาแทน ปัจจุบันเช่าทั้งหมด 50 ชั่วโมงต่อวัน ลดลง 20 ชั่วโมงเนื่องจากทีวีดิจิทัลมาทำเอง นอกจากนี้ยังเช่าทีวีดิจิทัลตลอด 24 ชั่วโมงอีก 7 ช่อง

    แม้จะมีผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว แต่ในมุมมองของทรงพล ชัญมาตรกิจประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) บอกว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก เพราะตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งเมืองไทยมูลค่า 15,000 ล้านบาท น้อยมากเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีมูลค่า 700,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีประชากรน้อยกว่า

    ในเมืองไทยจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นกลับจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเติบโต คาดปี 2019 ทะลุ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากเมืองไทยฝั่งค้าปลีกแข็งแรงมาก และผู้บริโภคไม่ได้มีปัญหาอะไร หากจะต้องออกนอกบ้านไปซื้อของ ทีวีโฮมช้อปปิ้งจึงไม่ได้เติบโตหวือหวามากนัก ส่วนในแง่ของการแข่งขัน ถึงจะมีผู้เล่นมากขึ้น หากแต่ละรายมีฐานลูกค้าและ Positioning แตกต่างกัน

    TV Direct เคยพยายามขายเครื่องประดับแต่ไม่สำเร็จ ในขณะที่ SHOP CH กลับขายดี ช่อง 8 ขายเครื่องสำอางดีมาก ส่วนเราเองก็ขายเครื่องออกกำลังกายและสินค้าสำหรับผู้สูงอายุได้ดี ชี้ให้เห็นว่าแต่ละรายมีฐานลูกค้าเฉพาะอยู่แล้ว

    อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีฐานลูกค้าเฉพาะ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ถูกคนอื่นแย่งชิงไป หากไม่ปรับตัว สักวันก็จะถูกคนอื่นแซงไปได้ TV Direct จึงใช้โอกาสครบ 20 ปี รีแบรนด์ใหม่เปลี่ยนทั้งโลโก้ที่ใช้มากกว่า 15 ปี ใหม่

    นอกยังใช้สีน้ำเงินซึ่งมีผลวิจัยว่ากระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ามากที่สุด ได้เติมสีแดงและเหลืองเข้ามา พร้อมกับเปลี่ยนสี่เหลี่ยม เป็นปุ่มวิดีโอ 6 เหลี่ยม ซึ่งแฝงไว้ด้วยศาสตร์ฮวงจุ้ยที่เชื่อว่าจะ “ดึงพลังได้รอบทิศ”

    ปรับโมเดลธุรกิจชูความเป็น Omni Channel ใช้สื่ออนไลน์ทุกด้านทั้ง Facebook, Google, YouTube โดยปรับตัวเป็น Video Marketer ที่มีครบทั้งภาพ เสียง และคอนเทนต์ จากเดิมที่ใช้โมเดล TV Shopping

    เพื่อเจาะกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 25 – 54 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักมีประมาณกว่า 31.7 ล้านคน เน้นสร้าง Customer Experience เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มซื้อสินค้าด้วยความรู้สึกและอารมณ์เพิ่มขึ้น

    ส่วนสื่อเดิมก็ไม่ทิ้ง เพราะกลุ่มที่มีอายุ 55 – 64 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นลูกค้าหลักมีกำลังซื้อสูง มีประมาณ 15.7 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่ยังนิยมดูทีวี จึงทำให้การใช้สื่อแบบแมสมีเดียยังคงเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก 

    ด้านแคตตาล็อกก็ยังทำอยู่ เพราะแคตตาล็อกผู้บริโภคจะเปิดดูทุกหน้า ไม่เหมือนอ่านนิตยสารจึงมีโอกาสกระตุ้นให้ซื้อได้

    ปี 2019 วางรายได้ 4,800 ล้านบาท เติบโต 20% ภายใน 3 ปีต้องการ 8,000 – 9,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ออนไลน์จาก 10% เป็น 50% ด้วย

    ทีวีโฮมช้อปปิ้ง 15,000 ล้านบาท “TV Direct” มียอดขายมากที่สุด

    • TV Direct ยอดขาย 4,000 ล้านบาท
    • ช่อง 8 ขอดขาย 2,200 ล้านบาท
    • O Shopping ยอดขาย 2,000 ล้านบาท
    • 1577 Home Shopping ยอดขาย 2,000 ล้านบาท
    • TVDmomo ยอดขาย 1,000 ล้านบาท

    ประเมินโดย TV Direct, เมษายน 2019

    ]]>
    1227465
    โอ้พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก! 9 ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ฟันรายได้หมื่นล้านบาท https://positioningmag.com/1195968 Tue, 06 Nov 2018 23:00:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1195968 ผลศึกษาตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งในไทย ปี 2560 พบกิจการเติบโต มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดถึง 9 บริษัท กลุ่มทีวี ไดเร็คมาเป็นอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งสูงสุด ตามมาด้วย โอ ช้อปปิ้ง และ 1781 ของกลุ่มอาร์เอส คาดดีลทีวี ไดเร็ค ซื้อสปริงนิวส์ ช่วยติดปีก สร้างรายได้เพิ่มอีก

    จากบทวิเคราะห์ของบริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล ที่ปรึกษาการเงินอิสระของทีวี ไดเร็ค ในการเข้าไปซื้อหุ้นใหญ่บริษัท สปริงนิวส์ทีวี หรือ SPTV ให้กับผู้ถือหุ้นของของทีวี ไดเร็ค เพื่อประกอบการโหวตในการซื้อกิจการ โดยจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของทีวี ไดเร็ค ในวันที่ 23 พ.ย.นี้

    ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเวลานาน และเริ่มมีบทบาทที่มากขึ้นในธุรกิจทีวี ทั้งประเภททีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และทีวีดิจิทัลโดยเฉพาะในช่วงระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัลได้มีการปรับตัวอย่างมากในช่วงที่รายได้จากค่าโฆษณาลดลง จึงต้องมองหารายได้จากช่องทางอื่น โดยธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ทำให้ทีวีดิจิทัลสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ โดยผ่านเครือข่ายทีวีที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ

    คนไทย 13% ซื้อของผ่านทีวี ส่วนใหญ่เป็นคน ตจว. 

    ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งถูกจัดให้เป็นหนึ่งในธุรกิจยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของการเติบโตธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งที่สามารถสร้างรายได้มากถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี

    ในประเทศไทยนั้น ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งยังเป็นธุรกิจขนาดไม่ใหญ่มาก โดยมูลค่าการตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งของไทยประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวม เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้คิดเป็นร้อยละ 4.0 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวม ดังนั้น ตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งของไทยยังมีช่องทางการเติบโตอยู่มาก

    พบว่า คนไทยเคยซื้อสินค้าทางโทรทัศน์เพียง 13% ของประชากรที่มีรายได้ ของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าอายุระหว่าง 20-70 ปี โดย 60-65% อยู่ต่างจังหวัด ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลสินค้าที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายไปยังลูกค้าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ

    ส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งเติบโตได้ มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าผ่านทางโทรทัศน์มากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ รายได้ต่อประชากรสูงและตลาดมีโอกาสขยายได้มาก ระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีการพัฒนาและมีศักยภาพ และระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ทั่วถึงทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและมีโอกาสทางตลาดมากกว่าประเทศอื่น เช่น เวียดนามมีตลาดขนาดใหญ่แต่รายได้ต่อประชากรยังตํ่ากว่าประเทศไทย หรือพม่าที่เศรษฐกิจกำลังเติบโด แต่ระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์อยู่ภายใต้การควบคุมที่เคร่งครัดของรัฐบาล

    9 บริษัทโฮมช้อปปิ้งแข่งหนัก ต้อนรับน้องใหม่ ค่ายโมโน

    ปัจจุบันมีทีวีโฮมช้อปปิ้งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทในไทยเป็นจำนวนมาก เช่น GS Shopping, CJ O Shopping, Hyundai Home Shopping Network Corp., Sumitomo Corp และ MOMO.com Inc. เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและขยายฐานลูกค้าในประเทศไทย

    โดย 6 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ได้แก่ ทีวี ไดเร็ค, ทรู ซีเล็ค, โอ ช้อปปิ้ง, ทีวีดี ช็อป, ไฮท์ ช็อปปิ้ง และ ช็อป แชนแนล ได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสมาคม ทีวี โฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) เมื่อปี 2557 เพื่อสร้างเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางข้อมูล ข่าวสาร การดูแล ลูกค้า

    นอกจากนี้ยังมีคู่แข่งรายอื่นที่สนใจในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ขายสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ผ่านช่องทางสื่อของอาร์เอส ทั้งช่อง 8 ช่องทีวีดาวเทียมจำนวน 4 ช่อง และสื่อวิทยุ

    ส่วนช่อง MONO 29 ได้ร่วมมือกับโมโนทราเวล เปิด 29 Shopping โฮมช้อปปิ้ง เปิดให้บริการในวันที่ 29 มิถุนายน 2561

    นอกจากนี้ยังมี บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด (Wizard Solution) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายกระทะ Korea King, บริษัท 1577 โฮมช้อปป้ง จำกัด (1577) ขายสินค้าผ่านทางฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี และ บริษัท เลนโซ่ ไดเร็ค จำกัด (Tiger Shopping) ผ่านทีวีดาวเทียม PSI, GMMz และ BIG4 โดยบริษัทเหล่านี้เช่าเวลาออกอากาศจากสถานีอื่น ยกเว้น บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด (1781) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS) และ 29 Shopping ที่ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

    เมื่อดูส่วนแบ่งตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้ง วัดตามมูลค่ารายได้จาการขายสินค้าและบริการของแต่ละบริษัทในปี 2560 อันดับหนึ่งคือ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีวีดี ช้อปปิ้ง จำกัด (TV Direct & TVD Shop) (บริษัท ทีวีดี ช้อปปิ้ง จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของบริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนรวมเป็นร้อยละ 32.15 ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด (O Shopping) และ บริษัท ไลฟ์ สตาร์ จำกัด หรือ 1781 เป็นอันดับสองและสาม หรือคิดเป็นร้อยละ 19.65 และ 14.08 ตามลำดับ

     

    เมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมทีวีโฮมช้อปปิ้ง เริ่มมีจำนวนผู้สนใจทำธุรกิจนี้มากขึ้น และมีการเติบโตของตลาดทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่องโดยเพิ่มจาก 7,825.78 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 9,868.19 ล้านบาทในปี 2560

     

    ยิ่งจำนวนช่องทีวีดิจิทัลมากเกินไป ทำให้เกิดการแข่งขันลงทุนผลิตเนื้อหา เพื่อหวังสร้างเรตติ้ง และรายได้โฆษณา ช่องทีวีที่มีเรตติ้งน้อยจึงประสบปัญหา ไม่มีเงินทุนในการผลิต จึงถือเป็นโอกาสของทีวีโฮมช้อปปิ้งที่เข้ามาแทน เพราะเป็นธุรกิจที่ยิ่งออกอากาศมาก ก็ยิ่งมีโอกาสดึงให้ผู้สนใจสินค้ามากขึ้น การลงโฆษณาและรายการสินค้าของทีวีโฮมช้อปปิ้งจะเน้นในช่วงเวลาที่ช่องทีวีมีเวลาเหลือ เพื่อใช้เม็ดเงินใช้จ่ายในการออกอากาศได้ถูกที่สุด ดังนั้น สภาพการแข่งขันจึงเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้มากขึ้นต่อไป.

    ]]>
    1195968